[คดีแอปเปิล-ซัมซุง] คำแถลงปิดคดีจากแอปเปิล และซัมซุง

[คดีแอปเปิล-ซัมซุง] คำแถลงปิดคดีจากแอปเปิล และซัมซุง

[คดีแอปเปิล-ซัมซุง] คำแถลงปิดคดีจากแอปเปิล และซัมซุง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

[คดีแอปเปิล-ซัมซุง] คำแถลงปิดคดีจากแอปเปิล และซัมซุง

กระบวนการพิจารณาคดีแอปเปิล-ซัมซุงเดินทางมาถึงขั้นตอนเกือบสุดท้ายแล้ว หลังการเจรจารอบสุดท้ายล้มเหลว และศาลได้ออกแบบฟอร์มการพิจารณาคดีสำหรับ คณะลูกขุน โดยในขั้นตอนสุดท้ายก่อนแถลงคำตัดสิน ศาลได้เปิดโอกาสให้คู่กรณีสองฝ่ายได้แถลงปิดคดี เพื่อสรุปข้อกล่าวหา ข้อโต้แย้ง พยาน ตลอดจนหลักฐานที่นำเสนอมาอีกครั้ง แล้วลูกขุนจะได้นำพิจารณาในขั้นตอนถัดไป

ขอบคุณภาพประกอบจาก: http://www.theverge.com

ก่อนเริ่มต้นการแถลงปิดคดี ผู้พิพากษา Lucy Koh ได้อ่านเอกสารคำสั่งข้อกฎหมาย (instruction) แก่ลูกขุนซึ่งเอกสารนี้ความยาวถึง 109 หน้า โดย Koh ขอให้ลูกขุนและผู้เข้ารับฟังการพิจารณาคดีมีสมาธิเนื่องจากมันยาวมาก เนื้อหาในเอกสารได้แยกย่อยหัวข้อการพิจารณาไว้ 84 หัวข้อ ตั้งแต่การละเมิดสิทธิบัตร การลอกเลียนแบบ ไปจนถึงแบบประเมินความเสียหายที่เป็นตัวเงิน โดยหลังการอ่านเอกสารทั้งหมดเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมง ผู้พิพากษา Koh ก็ได้สั่งพักการพิจารณาคดีเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน และเข้าสู่ขั้นตอนการแถลงปิดคดีของแต่ละฝ่ายในภาคบ่าย โดยแต่ละฝ่ายมีเวลาในการแถลงปิดคดีไม่เกิน 2 ชั่วโมง

คำแถลงปิดคดีของแอปเปิล

Harold McElhinny ทนายความของแอปเปิลกล่าวนำว่า สตีฟ จ็อบส์ได้เริ่มโครงการพัฒนา iPhone ตั้งแต่ปี 2003 โดยโครงการนี้ถูกเก็บเป็นความลับในระดับสูงสุด ซึ่งช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2004 จนถึงปี 2007 ก่อนการเปิดตัว iPhone นั้น โทรศัพท์ของซัมซุงไม่เคยมีหน้าตาใกล้เคียง iPhone เลย

จนกระทั่งสตีฟ จ็อบส์ได้เขย่าโลกใบนี้ด้วยการเปิดตัว iPhone ในปี 2007 ก็ส่งผลให้ผู้ผลิตทั้งอุตสาหกรรมโทรศัพท์เกิดอยากตามรอยสินค้าที่มีชื่อ เสียงมากที่สุดในโลกตัวหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่ซัมซุง

McElhinny ยังอ้างถึงเอกสารภายในของซัมซุงซึ่งกล่าวชื่นชม iPhone ว่าเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นของโทรศัพท์ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีตั้งแต่มี iPhone ซัมซุงก็ไม่ประสบความสำเร็จในตลาดสมาร์ทโฟน จึงเกิดเอกสารภายในที่ว่าด้วยวิกฤตการออกแบบ จนฝ่ายออกแบบของซัมซุงถูกกดดันให้ผลิตสมาร์ทโฟนที่มีหน้าตาใกล้เคียง iPhone ออกมา ซึ่งแม้จะมีหลักฐานที่กูเกิลได้เตือนซัมซุงว่า Galaxy S หน้าตาเหมือนกับสินค้าแอปเปิลเกินไป ซัมซุงก็ไม่สนใจ และใช้เวลาแค่เพียง 3 เดือนในการลอกเลียนแบบโทรศัพท์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ซึ่งพยานที่เป็นฝ่ายออกแบบของซัมซุงได้ยอมรับในเรื่องระยะเวลาต่อศาล

ซัมซุงเปิดตัว Galaxy S ในเดือนมิถุนายนปี 2010 ซึ่งมันก็ขายดีมากจนส่วนธุรกิจโทรศัพท์ของซัมซุงพลิกมีกำไรถล่มทลาย แต่แอปเปิลไม่เห็นเช่นนั้นและได้เริ่มกล่าวหาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ว่าซัมซุงเจตนาลอก iPhone อย่างชัดเจน ทนายแอปเปิลยังกล่าวว่าผู้บริหารซัมซุงเพิกเฉยกับเหตุการณ์นี้แค่ไหน ก็ขอให้ดูจากการที่ซัมซุงส่งตัวแทนมาแค่พยานและทนายความเท่านั้น

มาถึงประเด็นการละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบ แอปเปิลกล่าวว่า iPhone และ iPad ได้จดสิทธิบัตรการออกแบบหน้าตาไว้ชัดเจน พยานของซัมซุงก็ไม่มีแม้แต่รายเดียวที่บอกว่า "โทรศัพท์ของสองบริษัทนี้หน้าตาไม่เหมือนกัน" ที่หนักกว่าคือทนายซัมซุงพยายามโต้แย้งว่าซัมซุงไม่ได้ลอกเลียนการออกแบบ ด้วยรายละเอียดหยุมหยิม ที่เกินกว่ามนุษย์ทั่วไปจะใส่ใจ อันที่จริงการบอกว่าลอกหรือไม่ลอกนั้นควรพิจารณาจากภาพใหญ่ของผลิตภัณฑ์ ไม่ใช่ไปชี้จุดเล็กๆ น้อยๆ แล้วบอกว่าสองสิ่งนี้แตกต่างกัน อย่างเช่นภาพข้างล่างนี้ได้แสดงว่า UI ของซัมซุงพยายามเลียนแบบ iPhone ชัดเจน หลักฐานบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าซัมซุงลอกเลียนไปถึงโทนสีและรูปภาพในไอคอนด้วย ซ้ำ

McElhinny บอกว่าซัมซุงพยายามโจมตีแอปเปิลว่าอ้างการใช้สิทธิบัตรที่ครอบคลุมเกินไปและ ไม่สมเหตุสมผลเป็นการเลี่ยงบาลีทั้งสิ้น เพราะเวลาทำสมาร์ทโฟนขายนั้นไม่มีความจำเป็นว่าหน้าตาต้องออกมาเหมือน iPhone เสมอไป ตัวอย่างเช่น Lumia หรือ Xperia Arc ก็ไม่ต้องจำกัดว่าเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าโค้งมน การออกแบบที่จดสิทธิบัตรทุกข้อก็ไม่ได้มีลักษณะเกินเหตุ ทุกอย่างอยู่ในกรอบกติกาของกฎหมายทั้งสิ้น

มาถึงการลอกเลียนแท็บเล็ต ทนายแอปเปิลได้อ้างข้อมูลจากร้าน Best Buy ว่ามีลูกค้านำ Galaxy Tab มาขอเงินคืนเป็นจำนวนมาก ซึ่งเหตุผลหลักคือพวกเขาคิดว่ามันเหมือน iPad แต่มันไม่ใช่ นอกจากนี้เขายังสรุปไปถึงการละเมิดสิทธิบัตรส่วนการทำงานว่าซัมซุงไม่สามารถ แย้งได้เลยว่าตนไม่ได้ลอกเลียนแอปเปิล

สุดท้ายแอปเปิลได้เสนอค่าเสียหายที่ซัมซุงต้องจ่ายเป็นกรณีๆ โดยคิดจากสองส่วนคือจำนวนเครื่องที่ซัมซุงขายได้ และรายได้ที่ซัมซุงได้มาจากการขายโทรศัพท์เหล่านี้ โดยค่าเสียหายสูงสุดอยู่ที่ 2.48 พันล้านดอลลาร์ และต่ำสุด 519 ล้านดอลลาร์

ลำดับถัดไปซัมซุงจะขึ้นแถลงปิดคดี และตัวแทนฝั่งแอปเปิลสามารถโต้แย้งเฉพาะส่วนที่ถูกพาดพิงได้อีกเป็นครั้งสุดท้าย

คำแถลงปิดคดีของซัมซุง

Charles Verhoeven ทนายความของซัมซุงกล่าวเปิดการแถลงว่า เห็นได้ชัดว่าแอปเปิลเรียกทุกคนมาในศาลเพื่อขอเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ โดยอ้างเหตุต่างๆ นานาว่าเราได้ละเมิดสิทธิบัตร แต่แท้จริงคือการสกัดกั้นการแข่งขันในอุตสาหกรรมทุกรูปแบบ และคำตัดสินลูกขุนอาจส่งผลให้การแข่งขันในตลาดเสรีของประเทศนี้เปลี่ยนไป ถาวร ซึ่งในโลกอุตสาหกรรมไอทีได้พิสูจน์เป็นเวลานานแล้วว่าการมีตัวเลือกสำหรับ ลูกค้า การแข่งขันในตลาด สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลดีที่ช่วยให้ประเทศพัฒนาได้

เขากล่าวถึงตลาดโทรทัศน์ว่าที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้น โทรทัศน์ที่วางขายเป็นแบบจอแบน และมีการออกแบบสไตล์ minimalist กันทั้งสิ้น สิ่งนี้เป็นการออกแบบตามธรรมชาติและวิวัฒนาการของผลิตภัณฑ์เอง ซึ่งโทรศัพท์ก็เช่นกัน ทุกคนต่างผลิตโทรศัพท์ที่สีดำ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หน้าจอสัมผัสกันทั้งสิ้น หรือย้อนไปในอดีตที่ BlackBerry มีชื่อเสียง โทรศัพท์ทุกยี่ห้อก็ต้องมีรุ่นคีย์บอร์ด QWERTY มาขายกัน นี่คือการแข่งขันในตลาดเสรี แต่แอปเปิลพยายามยึดความเป็นผู้คิดค้นโทรศัพท์รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหน้าจอ สัมผัสสีดำไว้แต่เพียงผู้เดียว

ทนายซัมซุงยังอ้างถึงผลการทดสอบพยานจากฝั่งแอปเปิล ที่ไม่สามารถชี้แจงได้ชัดเจนว่าผู้บริโภคมีความสับสนในการเลือกซื้อโทรศัพท์ ของซัมซุงกับแอปเปิลอย่างไร ซึ่งซัมซุงเองได้พิสูจน์แล้วว่าตนมีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์อยู่มากแม้จะมี iPhone ออกมาสู่ตลาดก็ตามที ซึ่งหลักฐานที่คล้ายของแอปเปิลพยายามชี้นำให้ลูกขุนสับสน

Verhoeven ยังบอกลูกขุนว่าในเอกสารคำสั่งข้อกฎหมายส่วนของการลอกเลียนการออกแบบ ได้ระบุไว้ว่าถ้าจะสรุปว่าเหมือนกัน ก็ต้องเหมือนกันแม้รายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งพยานฝั่งแอปเปิลก็หลบเลี่ยงที่จะอธิบายว่า Galaxy S 4G ที่กล่าวหาว่าลอกเลียนนั้นเหมือน iPhone อย่างไร โดยไม่ยอมพูดถึง 4 ปุ่มในแถวล่าง หรือฝาหลังที่ไม่ได้เรียบเนียนเสมอกันหมดแบบ iPhone

ในส่วนประเด็นการลอกเลียน iPad ทนายซัมซุงได้ยกโมเดลแรกของ iPad ในการออกแบบที่แสดงต่อศาลว่าด้านหลังถูกออกแบบให้เป็นวัสดุเรียบเนียนชิ้น เดียว ขณะที่ Galaxy Tab 10.1 มีงานด้านหลังเป็นสองชิ้นส่วนประกอบกันชัดเจน สิทธิบัตรการออกแบบ iPad ที่แอปเปิลยกมาอ้างก็ระบุว่าผิวภายนอกต้องดูโปร่ง สะท้อนแสง และมันวาว ซึ่ง Galaxy Tab 10.1 ไม่ได้มีลักษณะแบบนั้นเลย นอกจากนี้ Verhoeven ยังแสดงเอกสารภายในของซัมซุงว่าได้เริ่มโครงการออกแบบแท็บเล็ต Galaxy Tab นานแล้วก่อนที่แอปเปิลจะเปิดตัว iPad เสียอีก

มาถึงการออกแบบ UI ซึ่งทนายซัมซุงได้อ้างความเห็นของพยานที่ทำการทดสอบแยกแยกความแตกต่างของไอ คอน พบว่าพยานให้ความเห็นว่าไอคอนมีความคล้ายกันแค่เพียงสองโปรแกรมเท่านั้นคือ โทรศัพท์และนาฬิกา ซึ่งหน้าตาไอคอนของสองโปรแกรมนี้ถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบมาหลายครั้ง และซัมซุงก็พบว่าหน้าตาปัจจุบันนี้ทำให้ผู้ใช้งานเข้าใจความหมายได้ดีที่สุด จึงเลือกใช้มัน

ทนายความซัมซุงยังยกอีเมลของ Eddy Cue ที่บอกว่าแอปเปิลควรทำแท็บเล็ตหน้าจอ 7 นิ้วว่า นี่ก็คือตัวอย่างของการเสนอความคิดเห็นในองค์กรทั่วไป แต่แอปเปิลได้พยายามอ้างอีเมลภายในซัมซุงมากล่าวหา และบอกว่าซัมซุงมีคำสั่งให้ลอก iPhone ซึ่งถ้าหากหลักการนี้ถูกต้อง ก็ต้องถือว่าแอปเปิลเองก็พยายามลอกแท็บเล็ต 7 นิ้วจากซัมซุงเช่นกัน

Verhoeven พูดถึงตัวเลขที่แอปเปิลเรียกเป็นค่าเสียหายว่าน่าขบขัน สูตรคำนวณของแอปเปิลก็ไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นของซัมซุงด้วยซ้ำ สุดท้ายแล้วแอปเปิลไม่มีความเหมาะสมที่จะขอค่าเสียหายที่อ้างมาทั้งหมดเลย เพราะแอปเปิลไม่ได้เป็นผู้คิดค้นหน้าจอสัมผัส ตลอดจนไม่ได้คิดค้นสมาร์ทโฟนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมโค้งเป็นรายแรกด้วยซ้ำ

การหักล้างครั้งสุดท้าย

William Lee ตัวแทนทนายของแอปเปิลได้ยื่นข้อหักล้างครั้งสุดท้าย โดยกล่าวว่าในวงการว่าคดีความนั้นมีคำพูดหนึ่งกล่าวว่า ถ้าคุณมีความจริง คุณก็ยืนอยู่บนความจริงไป แต่ถ้าไม่มี ก็ใช้วิธีโจมตีพยานหรือทนายฝั่งตรงข้ามไปเรื่อยๆ แทน ซึ่งนั่นคือวิธีที่ซัมซุงใช้ตอนนี้

Lee บอกว่าการแข่งขันนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่คุณต้องแข่งด้วยการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเอง และแอปเปิลทำก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์จากสิ่งที่บริษัทได้ลงทุนพัฒนามา หากเราไม่ทำสิ่งนี้ โลกก็จะไม่สามารถระดมคนมาสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกได้เหมือนเช่น iPhone อีก

แก้ไข: คณะลูกขุนจะเริ่มประชุมหารือเพื่อออกคำวินิจฉัยตัดสินคดีในคืนวันนี้ ตั้งแต่เวลา 23 นาฬิกาตามเวลาในประเทศไทย เป็นต้นไปครับ

ที่มา: The Verge และ All Things D

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย:

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook