RAW คืออะไร

RAW คืออะไร

RAW คืออะไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

RAW

ทั้งนิตยสารภาพและเว็บไซต์ต่างเรียกร้องให้คุณถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW แต่คุณจะถ่ายไฟล์ RAW ไปทำไม และคุณควรถ่ายอย่างไร? Chirs Rutter จะมาเปิดเผยข้อดีที่คุณจะได้รับให้คุณทราบทั้งหมด...

ผู้อ่านนิตยสาร Digital Camera จำนวนมากคงเคยลองถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW กันมาบ้างแล้ว สาเหตุก็เพราะคุณจะได้ภาพผลลัพธ์สีสันสดใสและเต็มไปด้วยรายละเอียด แต่ถ้าคุณเลือกที่จะถ่ายภาพด้วยไฟล์ JPEG ซึ่งมีความสะดวกกว่า นั่นก็หมายถึงว่าคุณจะสูญเสียรายละเอียดในภาพต้นฉบับไปอย่างน่าเสียดาย แต่กับไฟล์ RAW คุณจะไม่เสียอะไรเลย

แต่น่าเศร้า ที่ผู้อ่านจำนวนมากพบว่าไฟล์ RAW เหล่านี้มักสร้างความลำบากในภายหลัง ภาพไฟล์ RAW นั้นมีขนาดใหญ่ และก็ไม่สามารถเปิดดูได้จากโปรแกรมทั่วๆ ไป และยิ่งไปกว่านั้น ผู้ผลิตกล้องทั้งหลายยังไม่สร้างข้อตกลงให้ไฟล์มีลักษณะร่วมที่เหมือนกัน ซึ่งประเด็นนี้ก็ก่อความสับสนให้กับช่างภาพจำนวนมาก

แต่ข่าวดีก็คือ เมื่อคุณเริ่มลองถ่ายและปรับแต่งไฟล์ RAW เป็นแล้ว คุณก็จะรู้ว่ามันเป็นกระบวนการที่ไม่หนักหนาอย่างที่คิดแถมยังช่วยยกระดับการถ่ายภาพของคุณไปอีกขั้นหนึ่ง ในบทความฉบับนี้ เราจะเริ่มตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น อธิบายถึงเหตุผลและข้อดีของไฟล์ RAW ก่อนที่จะตอบคำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้

RAW คืออะไร?

ทุกสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวกับไฟล์ RAW ก่อนที่คุณจะเริ่มต้นบันทึกภาพ

 Q ไฟล์ RAW คืออะไร?

A เพื่อที่จะเข้าใจในสิ่งนี้ คุณควรทราบถึงวิธีที่กล้องสร้างภาพก่อนเป็นอันดับแรก เวลาที่คุณลั่นชัตเตอร์ ภาพที่คุณถ่ายจะถูกบันทึกบนเซ็นเซอร์กล้องของคุณ ซึ่งแสงจะถูกแปลงให้เป็นสัญญาณอิเล็กโทรนิกซึ่งกลายเป็นข้อมูลภาพ โดยที่ข้อมูล "ดิบ" หรือ "RAW" นี้เป็นส่วนประกอบหลักของไฟล์ RAW นี่คือจุดเริ่มต้นของภาพถ่าย

ขั้นตอนลำดับต่อมาเป็นสิ่งที่ทำให้ไฟล์ RAW แตกต่างไปจากไฟล์ JPEG โดยที่ไฟล์ RAW นั้นเป็นไฟล์พื้นฐานที่มีข้อมูลที่จำเป็นในการสร้างภาพและถูกบันทึกไว้ในการ์ดเมมโมรีของคุณ ขณะที่ไฟล์ JPEG นั้น ก่อนที่ภาพจะถูกบันทึกลงบนการ์ดเมมโมรี่ ข้อมูลไฟล์ดิบจะถูกนำไปผ่านกระบวนการ (ขึ้นอยู่กับค่ากล้องที่คุณตั้งไว้ เช่นค่าไวท์บาลานซ์ หรือ Picture Style ที่คุณเลือก) จากนั้นไฟล์ภาพก็จะถูกแปลงให้เป็น ไฟล์ JPEG แล้วทำการบันทึกลงบนการ์ดเมมโมรี่ สรุปง่ายๆ ก็คือ กล้องของคุณจะสร้างไฟล์ RAW เสมอ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับคุณว่าคุณจะปล่อยให้กล้องปรับภาพของคุณให้กลายเป็นไฟล์ JPEG หรือคุณจะจำกัดให้มันเป็นไฟล์ RAW ต้นฉบับ

 Q ไฟล์ RAW ทุกแบบเหมือนกันหรือไม่?

A ไม่เหมือน และนี่ก็เป็นจุดที่สร้างความสับสนของไฟล์ RAW เพราะไฟล์ RAW นี้ยังไม่มีมาตรฐานในการสร้างไฟล์จากบริษัทผู้ผลิตกล้องเหมือนกับไฟล์ JPEG ซึ่งผู้ผลิตกล้องต่างก็มีไฟล์ RAW ในแบบฉบับของตัวเอง และยิ่งไปกว่านั้น กล้องแต่ละรุ่นก็ยังมีเวอร์ชั่นไฟล์ RAW ที่แตกต่างกันอีกด้วย อย่างกล้อง Canon รุ่นล่าสุดจะมีชื่อไฟล์ RAW ที่ลงท้ายด้วย .cr2 และไฟล์ RAW จากกล้อง EOS 1100D ก็จะมีความแตกต่างไปจากกล้อง EOS 7D เล็กน้อย

ในทางปฏิบัตินั้น ความแตกต่างเหล่านี้จะมีผลกับคุณก็ต่อเมื่อคุณต้องปรับแต่งไฟล์ภาพจากกล้องมากกว่าหนึ่งตัว หรือต้องอัพเดทกล้องโดยไม่ได้ลงซอฟต์แวร์ไว้ในคอมพิวเตอร์ของคุณ เนื่องจากวิธีการทำงาน (และวิธีที่คุณใช้พวกมัน) นั้นยังเหมือนเดิม

ความซับซ้อนยังมีอีกเนื่องจากกฎของการยกเว้น อย่างไฟล์ DNG นั้นเป็นไฟล์ฟอร์แมตที่พัฒนาโดย Adobe ซึ่งผู้ผลิตกล้องสามารถนำไปใช้ได้ แต่มีผู้ผลิตกล้อง Pentax เพียงรายเดียวที่ใช้ไฟล์นี้ในกล้องของพวกเขา และแม้ว่าคุณจะใช้กล้องยี่ห้ออื่นๆ ไฟล์ DNG นี้ก็ยังมีประโยชน์ เนื่องจากมันสามารถใช้ในการเปิดภาพไฟล์ดิบจากกล้องใหม่ๆ ด้วยโปรแกรม Photoshop และ Elements เวอร์ชั่นเก่าๆ ได้

 ปัจจุบันยังไม่มีไฟล์ RAW ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากบริษัทผู้ผลิตกล้องชั้นนำ

 ภาพซ้าย การใช้ Curves หรือ Levels ในภาพ 8-บิทสามารถทำให้สูญเสียโทนภาพได้ สังเกตได้จากช่องว่างในฮิสโตแกรม

 ภาพขวา ข้อมูลในภาพ 16 -บิทที่สูงกว่าทำให้คุณได้ภาพที่มีคุณภาพสูงกว่าเมื่อคุณใช้เครื่องมือในการปรับแต่งภาพเดียวกัน

 Q เหตุใดเราถึงไม่สามารถดูไฟล์ RAW คอมพิวเตอร์ได้หากไม่ใช้โปรแกรมเฉพาะกิจ?

A นั่นก็เพราะไฟล์ RAW เป็นเพียงก้อนข้อมูลซึ่งคอมพิวเตอร์ของคุณไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับข้อมูลเหล่านี้ และนี่ก็เป็นข้อแตกต่างจากไฟล์ JPEG ซึ่งมีข้อมูลที่คอมพิวเตอร์สามารถถอดรหัสได้ ลองคิดง่ายๆ ว่า JPEG นั้นก็เหมือนกับบทความที่มีตัวหนังสือ มีย่อหน้า และมีเครื่องหมายต่างๆ ที่ทำให้คุณอ่านรู้เรื่อง ขณะที่ไฟล์ RAW เป็นตัวหนังสือแบบเดียวกัน แต่ยังไม่ได้เรียงลำดับและไม่มีเครื่องหมายใดใดที่ช่วยให้คุณทำความเข้าใจกับมันได้

 Q ดังนั้นไฟล์ RAW จึงยังไม่ถูกบีบอัดใช่ไหม?

A ใช่และไม่ใช่ การบีบอัด (Compression) ก็คือการลดขนาดของภาพโดยใช้สูตรทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน สิ่งสำคัญก็คือการบีบอัดมีสองประเภท คือแบบสูญเสียคุณภาพ และแบบไม่สูญเสียคุณภาพ

ด้วยการบีบอัดแบบสูญเสียคุณภาพ (Lossy Compression) ข้อมูลของภาพบางอย่างจะสูญหายไปในระหว่างกระบวนการบีบอัดข้อมูล อย่างไรก็ตาม ไฟล์ที่ผ่านกระบวนการนี้จะมีขนาดที่เล็กกว่าอีกแบบมาก ไฟล์ฟอร์แมต RAW อย่างเช่นไฟล์ .NEF ของ Nikon สามารถบันทึกในรูปแบบนี้ได้เพื่อช่วยให้ไฟล์มีขนาดเล็ก แต่ก็จะทำให้คุณภาพของภาพลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาพที่เป็นโทนเรียบๆ อย่างเช่นท้องฟ้า

ไฟล์ JPEG นั้นเป็นการบีบอัดข้อมูลแบบสูญเสียคุณภาพ คุณอาจสังเกตได้เวลาที่คุณจะบันทึกไฟล์ JPEG คุณจะต้องเลือกคุณภาพของการบันทึก นั่นก็เพราะยิ่งคุณเลือกขนาดบันทึกขนาดไฟล์ให้เล็กลงเท่าใด ข้อมูลก็จะหายไปมากเท่านั้น ดังนั้นไฟล์ JPEG ที่มีคุณภาพสูงจึงมีขนาดไฟล์ที่ใหญ่กว่าไฟล์คุณภาพต่ำ การสูญเสียคุณภาพเหล่านี้อาจจะยอมรับได้หากคุณทำการบันทึกไฟล์เพียงครั้งเดียว แต่ทุกครั้งที่คุณบันทึกไฟล์ภาพนั้นซ้ำๆ ข้อมูลของภาพก็จะสูญหายทุกๆ ครั้ง ส่งผลให้คุณภาพโดยรวมของภาพลดลง

ส่วนการบีบอัดข้อมูลแบบไม่สูญเสียคุณภาพ (Lossless Compression) นั้นจะเก็บรักษาข้อมูลทุกอย่างไว้ตามต้นฉบับเดิม เพียงแต่ไฟล์ที่ได้นั้นจะมีขนาดเล็กกว่าไฟล์ต้นฉบับเพียงเล็กน้อย ไฟล์ RAW เกือบทั้งหมดจะเป็นการบีบอัดประเภทนี้เพื่อคงคุณภาพไฟล์เมื่อคุณบันทึกไฟล์นั้นซ้ำๆ กัน และนั่นก็เป็นเหตุผลถึงคุณภาพที่สูงกว่า

Q ตัวเลข 8 บิท 12 บิท 14 บิท และ16 บิท มีผลอย่างไรในไฟล์ RAW?

A ภาพทุกๆ ภาพที่คุณถ่ายจะประกอบไปด้วยช่วงโทนตั้งแต่ดำสนิทไปจนถึงขาวบริสุทธิ์ และ "Bit-Depth" นี้บอกถึงค่าโทนที่แตกต่างกันในภาพๆ นั้น ไฟล์ JPEG นั้นเป็นไฟล์ 8-บิท ดังนั้นจึงประกอบด้วยโทน 256 โทน ขณะที่ไฟล์ RAW มักจะเป็นไฟล์ 12 หรือ 14 บิท ซึ่งประกอบด้วยโทนอย่างน้อย 4,096 โทน และโดยทฤษฎีแล้ว คุณจำเป็นต้องมีโทนที่แตกต่างกันประมาณ 250 โทนเพื่อสร้างภาพที่ดูนุ่มนวลเป็นธรรมชาติ และนี่ก็เป็นเหตุผลว่า เหตุใดโทนจำนวน 256 โทนในภาพ 8 บิทจึงน่าจะเพียงพอในสถานการณ์ทั่วๆ ไป

 ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อคุณเริ่มปรับแต่งภาพโดยใช้เครื่องมืออย่าง Levels หรือ Curves ในโปรแกรม Photoshop (ดูภาพหน้าที่แล้ว) คำสั่งที่ทำการบีบหรือยืดโทนภาพเหล่านี้จะก่อให้เกิดช่องว่างในกราฟฮิสโตแกรมซึ่งมักก่อให้เกิดแถบสีหรืออาการ "Posterisation" ขึ้นในภาพผลลัพธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาพส่วนที่เป็นโทนเรียบเนียนอย่างเช่นท้องฟ้าสีฟ้า ซึ่งทำให้เห็นขั้นความแตกต่างระหว่างการไล่โทนอย่างเด่นชัด แต่ด้วยไฟล์ RAW นั้นคุณจะมีช่วงโทนที่มากกว่า ซึ่งทำให้คุณสามารถทำการปรับแต่งภาพโดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา แต่โปรแกรม Photoshop ไม่สามารถปรับแต่งไฟล์ 12 หรือ 14 บิทได้ ดังนั้นโปรแกรมปรับแต่งไฟล์ RAW ทั่วไปจึงมีออปชั่นให้คุณแปลงไฟล์ภาพให้เป็น 8 บิทหรือ 16 บิทตามความเหมาะสม

ด้วยไฟล์ RAW ซึ่งมีช่วงโทนที่มากกว่า ทำให้คุณสามารถทำการปรับแต่งภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหา

 ภาพบน ไฟล์ RAW ช่วยให้คุณสามารถปรับแต่งสีสันภายในภาพได้โดยยังสามารถคงคุณภาพของไฟล์ไว้ได้เช่นเดิม

ภาพล่าง                การถ่ายด้วยไฟล์ RAW เหมาะสำหรับการบันทึกรายละเอียดและช่วงโทนในตัวแบบประเภทต่างๆ

 เครดิตภาพ All images: Chris Rutter

จำนวนบิทที่เพิ่มขึ้นคือปริมาณโทนที่มากขึ้น

Bit Depth  8-Bit   12-Bit    14-Bit     16-Bit

ค่าโทน     256     4,096    16,384   65,536

เหตุผลและวิธีการถ่ายภาพไฟล์ RAW

เมื่อทราบถึงทฤษฎีแล้ว ต่อไปคือการเรียนรู้เอฟเฟ็คท์ของไฟล์ RAW ที่มีต่อภาพของคุณ

Q อะไรคือจุดเด่นและจุดด้อยของการถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW?

A มีหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ต้องถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW แต่ก็มีเหตุผลที่ทำให้หลายๆ คนยังคงถ่ายไฟล์ JPEG อยู่เช่นกัน ไฟล์ RAW ให้อิสระในการปรับแต่งภาพรวมถึงคุณภาพของภาพผลลัพธ์โดยรวมที่เหนือกว่า

เนื่องจากการตั้งค่าต่างๆ ในกล้องของคุณ ไม่ว่าจะเป็นค่าไวท์บาลานซ์ ค่าความคมชัด และค่าความสดของสีนั้นจะไม่เกี่ยวกับไฟล์ RAW ดังนั้นคุณจึงสามารถทำการปรับแต่งค่าต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างอิสระในคอมพิวเตอร์ ไฟล์ RAW ยังบรรจุด้วยข้อมูลภาพที่มากกว่าไฟล์ JPEG เฉพาะอย่างยิ่งจำนวนช่วงโทน ซึ่งนี่ก็หมายถึงการไล่โทนที่นุ่มนวลกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโทนที่มีสีหรือโทนใกล้เคียงกัน แต่จุดเด่นเหล่านี้ก็มีสิ่งที่ต้องแลกด้วยเช่นกัน ไฟล์ RAW นี้จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าไฟล์ JPEG คุณภาพสูงถึงสามหรือห้าเท่า ดังนั้นคุณจึงไม่สามารถเก็บภาพไฟล์ RAW ในการ์ดเมมโมรรีของคุณได้มากนัก

นอกจากนั้น คุณยังไม่สามารถดูหรือพิมพ์ภาพจากไฟล์ RAW ได้โดยไม่ใช้โปรแกรมแปลงไฟล์เฉพาะกิจ (ดูหัวข้อต่อไป) ดังนั้นหากคุณต้องการแบ่งปันหรือพิมพ์ภาพของคุณ คุณก็จำเป็นต้องแปลงไฟล์ให้เสร็จเสียก่อน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนขยาดกับไฟล์ RAW ก็คือ คุณจำเป็นต้องใช้เวลามากขึ้นในการปรับแต่งภาพถ่ายของคุณ และคำสั่งการปรับแต่งจำนวนมากในโปรแกรมอย่าง Adobe Camera Raw (ACR) นั้นก็เป็นกระบวนการที่น่าปวดหัวสำหรับช่างภาพหลายๆ คน

 Q อะไรคือประโยชน์ที่เราจะได้จากไฟล์ RAW ซึ่งไฟล์ JPEG ไม่สามารถให้ได้?

A ข้อได้เปรียบสูงสุดของไฟล์ RAW ก็คือความสามารถในการเก็บกู้รายละเอียดของไฮไลต์ (และชาโดว์) รวมถึงการควบคุมค่าไวท์บาลานซ์ของภาพ ข้อมูลในไฟล์ RAW ที่มากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับไฟล์ JPEG จะทำให้คุณสามารถรับมือกับภาพทิวทัศน์ที่มีความเปรียบต่างสูงได้ดีขึ้น แม้ว่าคุณจะสามารถเร่งรายละเอียดของชาโดว์ได้ในไฟล์ JPEG ก็ตาม แต่ผลลัพธ์ที่ได้มักจะมี Noise เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่กับไฟล์ RAW นี้ คุณสามารถเปิดรายละเอียดในส่วนของชาโดว์ได้โดยที่คุณภาพของภาพยังดีอยู่

คุณสามารถใช้อุปกรณ์กู้ไฮไลต์ในโปรแกรม Photoshop CS หรือ Photoshop Elements เพื่อแก้ไขไฮไลต์จากภาพ JPEG แต่คุณจะทำได้ดีกว่านี้หากคุณถ่ายด้วยไฟล์ RAW คุณต้องจำไว้เสมอว่า ไฟล์ชนิดนี้บรรจุข้อมูลในปริมาณที่มากกว่า ซึ่งสามารถดึงกลับมาได้โดยใช้โปรแกรมแปลงไฟล์ภาพแบบ RAW

ด้วยไฟล์ RAW นี้ คุณยังสามารถเปลี่ยนค่าไวท์บาลานซ์ได้หลังถ่ายภาพแล้ว ขณะที่คุณก็สามารถปรับแต่งไวท์บาลานซ์ในไฟล์ภาพ JPEG ได้ แต่กระบวนการนี้จะทำให้คุณภาพของไฟล์ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการปรับแต่งไฟล์ RAW ใน Adobe Camera Raw

Q ช่างภาพมืออาชีพทุกคนถ่ายด้วยไฟล์ RAW หรือเปล่า?

A ก็ไม่เสมอไป แม้จะเป็นจริงที่ว่าช่างภาพมืออาชีพจำนวนมากถ่ายด้วยไฟล์ RAW แต่นั่นก็ล้วนมีข้อยกเว้น สำหรับช่างภาพมืออาชีพบางคน ความเร็วและความสะดวกของไฟล์ JEPG มีความสำคัญมากกว่าคุณภาพที่ได้จากการถ่ายด้วยไฟล์ RAW อย่างเช่นช่างภาพกีฬาและช่างภาพข่าวซึ่งต้องถ่ายภาพ คัดเลือก และส่งภาพกลับไปยังสำนักข่าวอย่างรวดเร็ว

 Q แล้วเราจะเลือกออปชั่นในการถ่ายภาพไฟล์ RAW ในกล้องได้อย่างไร?

A เมื่อคุณซื้อกล้องใหม่มา กล้องแทบทุกตัวจะปรับตั้งให้ถ่ายเป็นไฟล์ JPEG โดยอัตโนมัติ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องบอกกล้องให้ถ่ายด้วยไฟล์ RAW และวิธีนี้ก็ขึ้นอยู่กับกล้องแต่ละรุ่น ในกล้อง SLR และกล้อง CSC ( Compact System Camera ) คุณสามารถเลือกได้จากออปชั่นในเมนู (ซึ่งมักอยู่ในค่า Picture Quality หรือค่าที่ใกล้เคียง คู่มือกล้องของคุณจะบอกรายละเอียดเหล่านี้) กล้องรุ่นใหม่บางตัวอาจมีปุ่มสำหรับการเปลี่ยนค่านี้โดยเฉพาะ และเมื่อคุณปรับเลือกแล้วคุณก็สามารถถ่ายภาพได้เลย แต่คุณต้องจำไว้ว่าในกล้องบางรุ่นของ Canon อย่างเช่น EOS 60D หรือรุ่นที่สูงกว่านี้มีไฟล์ RAW ให้คุณเลือกสามระดับ ได้แก่ Raw, mRaw และ sRaw ซึ่งไฟล์ทั้งสามระดับนี้จะมีค่าความละเอียดที่แตกต่างกัน ค่า Raw จะเป็นค่าความละเอียดสูงสุด อย่างเช่น 18Mp ในกล้อง EOS 7D ขณะที่ mRaw จะอยู่ที่ 10Mp และ sRaw อยู่ที่ 4.5Mp ค่าความละเอียดที่ต่ำลงนี้จะช่วยให้คุณสามารถบันทึกภาพในการ์ดเมมโมรีได้มากขึ้นหากคุณรู้ว่าคุณไม่ต้องการความละเอียดภาพที่สูงที่สุดจากกล้อง (เช่นการขยายภาพขนาดใหญ่) แต่ยังคงต้องการข้อได้เปรียบในจุดอื่นๆ ของการถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW ในกล้อง D7000 คุณยังสามารถเลือกค่าไฟล์ RAW ในการตั้งระดับการบีบอัดหรือจำนวนบิทได้ แค่จำไว้ว่า บิทยิ่งเยอะ ไฟล์ยิ่งใหญ่!

ไฟล์ RAW ให้คุณภาพ ของภาพที่ดีกว่าเพราะ มีข้อมูลภาพที่มากกว่า ไฟล์ JPEG

 ภาพล่าง                ความสามารถในการปรับแต่งค่าไวท์บาลานซ์ในไฟล์ RAW เหมาะสำหรับการปรับภาพบุคคลให้ดูอบอุ่น

เครดิตภาพ Future Publishing

Q ค่ากล้องใดที่เราสามารถมองข้าม และค่าใดที่ต้องใส่ใจในกรณีที่เราถ่ายภาพด้วยไฟล์ RAW?

A แม้ว่าคุณจะสามารถปรับเปลี่ยนค่าต่างๆ ได้ในขั้นตอนการแปลงไฟล์ RAW ในคอมพิวเตอร์ แต่นี่ไม่ได้หมายถึงว่าคุณควรเพิกเฉยกับค่าทุกๆ ค่าในขั้นตอนการถ่ายภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของค่าการเปิดรับแสง แม้ว่าไฟล์ RAW จะสามารถบรรจุข้อมูลช่วงโทนได้ในปริมาณมาก แต่คุณก็ควรพิถีพิถันในการหาค่าการเปิดรับแสงให้แม่นยำ

 เราแนะนำให้คุณตั้งค่าไวท์บาลานซ์ให้เหมาะสมกับสิ่งที่คุณถ่ายด้วยสองเหตุผล หนึ่งคือ การมีค่าไวท์บาลานซ์ที่ถูกต้องจะช่วยคุณประหยัดเวลาที่คุณทำการแปลงไฟล์ นั่นก็เพราะโปรแกรมแปลงไฟล์จำนวนมากสามารถใช้ค่าไวท์บาลานซ์จากกล้องเป็นค่าเริ่มต้นได้ และสอง ค่าไวท์บาลานซ์ที่คุณเลือกจะส่งผลต่อช่วงโทนในภาพและส่งผลต่อค่าการเปิดรับแสงได้ ส่วนค่าอื่นๆ เช่นค่า Sharpen, High ISO Noise Reduction หรือแม้แต่ Colour Space นั้นเป็นเพียงข้อมูลที่พ่วงไฟล์ RAW เท่านั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะไม่ส่งผลใดใดต่อไฟล์ RAW ของคุณ และนั่นก็หมายถึงว่า หากคุณเปิดภาพของคุณในโปรแกรมปรับแปลงไฟล์ RAW จากผู้ผลิตกล้องที่คุณใช้ ค่าเหล่านี้จะกลายเป็นค่าเริ่มต้น แต่คุณก็ยังมีออปชั่นที่จะเปลี่ยนแปลงค่าเหล่านี้ได้ในกระบวนการปรับแปลงไฟล์ภาพ

แต่ข้อยกเว้นเดียวที่มีก็คือคำสั่ง Long Exposure Noise Reduction เพราะคำสั่งนี้จะฉายเฟรมภาพที่สองซึ่งมีความเข้มทับลงค่าการเปิดรับแสงหลักเพื่อลด Noise ในช่วงการเปิดรับแสงที่นาน และข้อมูลนี้ก็ถูกใช้ทั้งในไฟล์ RAW และไฟล์ JPEG

ภาพบน/ซ้าย  รายละเอียดไฮไลต์และชาโดว์ที่เพิ่มขึ้นในไฟล์ RAW นี้เหมาะสำหรับการบันทึกรายละเอียดของตัวแบบที่มีความเปรียบต่างสูง อย่างเช่นภาพดวงอาทิตย์ตกภาพนี้

เครดิตภาพ Chris Rutter

ภาพบน คุณสามารถเลือกใช้ไฟล์ RAW ได้จากเมนูตั้งคุณภาพของภาพ หรือในปุ่มคำสั่งเฉพาะที่อยู่บนตัวกล้อง

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook