ขุมทรัพย์ "ดิจิทัลคอนเทนต์" ค่ายมือถือแห่ผุด "โปรเจ็กต์สตาร์ตอัพ"

ขุมทรัพย์ "ดิจิทัลคอนเทนต์" ค่ายมือถือแห่ผุด "โปรเจ็กต์สตาร์ตอัพ"

ขุมทรัพย์ "ดิจิทัลคอนเทนต์" ค่ายมือถือแห่ผุด "โปรเจ็กต์สตาร์ตอัพ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขุมทรัพย์ "ดิจิทัลคอนเทนต์" ค่ายมือถือแห่ผุด "โปรเจ็กต์สตาร์ตอัพ"

อีกธุรกิจได้อานิสงส์จากการเปิดบริการ 3G เต็มรูปแบบ หนีไม่พ้นสารพัด "ดิจิทัลคอนเทนต์" ซึ่งมูลค่าตลาดที่ค่ายมือถือต่าง ๆ ประเมินกันแม้จะยังมีความแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ไม่หนีหลักหมื่นล้านบาท นับเป็นขุมทรัพย์ใหม่ที่ใหญ่โตมโหฬารไม่น้อย จึงไม่น่าแปลกใจที่นักพัฒนาหน้าใหม่-เก่าโดดลงมาชิงเค้กกันอย่างคึกคัก ดูอย่างตลาดโฆษณาดิจิทัลก็ได้ มีการคาดการณ์กันว่า ปี 2556 จะเติบโตกว่า 50% มีมูลค่าเฉียด 5,000 ล้านบาท

นายปรัธนา ลีลพนัง รักษาการผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานผลิตภัณฑ์และบริการดิจิทัล บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ระบุว่า มูลค่าตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ปีนี้อาจสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท โตขึ้นประมาณ 15% จากการเติบโตของสมาร์ทโฟน และการใช้งานระบบ 3G โดยปัจจุบันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต หรือคอนเทนต์ต่าง ๆ แทบจะเป็นการใช้งานผ่านสมาร์ทดีไวซ์ทั้งหมด ทำให้เวลาในการใช้งานบนหน้าจอเหล่านั้นเพิ่มมากขึ้น

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้นักพัฒนาหน้าใหม่เริ่มคิดค้นแอปพลิเคชั่น และรูปแบบบริการต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นบนเว็บไซต์ และแอปสโตร์ ทั้งบนระบบปฏิบัติการ "ไอโอเอส" และ "แอนดรอยด์" เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนี้ยังผลักดันให้โฆษณาบนสื่อเหล่านี้ได้รับความนิยมเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นควรกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้งานบริการของตนให้ชัดเจน ก่อนทำตลาดอย่างจริงจัง รวมถึงควรสร้างความแตกต่างให้แอปพลิเคชั่นที่ตนเองสร้างขึ้นด้วย เพราะถ้านำแอปพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมมาปรับให้เข้ากับประเทศไทย โอกาสสำเร็จจะค่อนข้างยาก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เอไอเอสมีกิจกรรม "AIS The StartUp Bootcamp" ซึ่งเป็นหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อกลุ่ม Startup ดิจิทัล สำหรับทีมที่ผ่านการคัดเลือกจากกิจกรรม AIS The StartUp Weekends จำนวน 5 ทีม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการก่อร่างสร้างธุรกิจรอบด้าน เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งโครงการ "AIS The StartUp Weekends" เป็นการจัดประกวดไอเดียในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นที่เอไอเอสจัดขึ้นเป็นปีที่ 2

ด้าน นายเรืองโรจน์ พูนผล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ความง่ายของซอฟต์แวร์ และการเข้ามาสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนมากขึ้น ทำให้การสร้างแอปพลิเคชั่น หรือบริการต่าง ๆ ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดการรวมตัวของนักพัฒนาหน้าใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ตอัพจำนวนมาก แต่ความง่ายทำให้การแข่งขันสูงเช่นกัน

หากนับรวมบริการต่าง ๆ ในโลกออนไลน์อาจมีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาท มีทั้งการโฆษณาออนไลน์, แอปพลิเคชั่น SOLOMO (Social, Location, Mobile), แอปพลิเคชั่นประเภทแชต และบริการเสริมของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ถ้าเจาะไปที่ VAS หรือบริการเสริม จะมีมูลค่าสูงถึง 15,000 ล้านบาท และกลุ่มสตาร์ตอัพเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดในพื้นที่นี้ด้วย ด้วยการร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์มือถือทุกราย เติบโตจากปีที่แล้ว 15-20% จาก 13,000 ล้านบาท

"ผมมองว่าปีนี้เป็นโอกาสที่ดีของการเริ่มต้นสตาร์ตอัพ เพราะทุกอย่างพร้อม และดีแทคมีการสนับสนุนสตาร์ตอัพผ่านการแข่งขัน dtac Accelerate ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชนะกว่า 20 ทีม ได้เจอนักลงทุน และเรียนรู้เรื่องแผนการตลาด และการทำแอปพลิเคชั่นที่ตรงความต้องการผู้บริโภค"

นายเรืองโรจน์กล่าวว่า เทรนด์ในการพัฒนาแอปพลิเคชั่นในปีนี้จะเป็นไปตามความเร็วอินเทอร์เน็ตจากการเกิดขึ้นของ 3G คลื่น 2.1 GHz เช่น แอปหรือบริการที่ใช้ฟังก์ชั่นสตรีมมิ่งได้, การดึงข่าวสารมาให้ผู้บริโภคอ่านผ่านอินเตอร์เฟสที่
เรียบง่าย รวมถึงการสร้างแอปที่ให้ดาวน์โหลดฟรี ถ้าต้องการสินค้าเพิ่มเติมจะมีค่าใช้จ่าย รูปแบบนี้คือ In-App Purchase ทำรายได้มากกว่า การขายแอป 4-5 เท่า โดยดีแทคพร้อมตอบโจทย์ผ่านการให้ฟังก์ชั่น Service Delivery Platform (SDP) ที่ช่วยให้การชำระเงินในแอปตัดจ่ายผ่านบิลค่าโทรศัพท์ได้ทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook