"ทีวีดาวเทียม" ผนึกกำลัง เปิดศึกชิง "คนดู" ดูดเม็ดเงินโฆษณา

"ทีวีดาวเทียม" ผนึกกำลัง เปิดศึกชิง "คนดู" ดูดเม็ดเงินโฆษณา

"ทีวีดาวเทียม" ผนึกกำลัง เปิดศึกชิง "คนดู" ดูดเม็ดเงินโฆษณา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ทีวีดาวเทียม" ผนึกกำลัง เปิดศึกชิง "คนดู" ดูดเม็ดเงินโฆษณา

หลายคนคงเริ่มนับถอยหลังรอดู "ทีวีดิจิทัล" ที่มีคิวเปิดประมูลปลายปีนี้ (ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด) ล่าสุด "กสทช." เพิ่งออกใบอนุญาตให้ผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ Multiplexer (MUX) 4 ราย (เดิม) คือ ช่อง 5 ช่อง 9 ช่อง 11 และ Thai PBS พร้อมเตรียมอนุญาตให้ผู้ผลิตกล่องแปลงสัญญาณ (Set-top-Box) และเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลนำสินค้าเข้ามาวางจำหน่ายได้เดือน ก.ค.นี้


คำถามที่ตามมาก็คือ "ทีวีดาวเทียม" ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว มีช่องรายการหลายร้อยช่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจะเป็นเช่นไร

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) หรือ STAT จัดงานสัมมนาในหัวข้อเข้ากระแสเป็นอย่างยิ่ง "ทางรอดทีวีดาวเทียม"

"มานพ โตการค้า" ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด หรือที่รู้จักกันดีกับจานสีส้ม กล่าวว่า ทีวีดิจิทัลมีข้อดีอยู่มาก เพราะแพร่ภาพได้หลายรายการเมื่อเทียบกับระบบแอนะล็อก ด้วยการบีบอัดสัญญาณแบบใหม่ยังทำให้เกิดช่องรายการความละเอียดสูง หรือ HD ได้ด้วย แต่เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นแล้วผ่านการให้บริการเพย์ทีวี เช่น ทรูวิชั่นส์ ที่ให้บริการช่อง HD ทั้งมีรายการจำนวนมาก ทางทีวีดาวเทียมที่ไม่เสียค่าบริการจึงมองว่าถ้าทีวีดิจิทัลเปิดใช้งานในช่วง 5 ปีก่อนคงได้ความนิยมแน่นอน แต่ถึงตอนนี้ยากที่จะทำได้

ทั้งมีเรื่องความครอบคลุมของการให้บริการ เพราะระยะการส่งสัญญาณแอนะล็อกไปได้ไกล 100 กม.ต่อสถานี แต่เป็นระบบดิจิทัลระยะส่งแคบ ขณะที่เทคโนโลยี DVBT-2 มีความจุมากเพื่อใส่รายการเข้าไปได้เยอะ ขณะที่เทคโนโลยีก่อนหน้านี้ หรือ DVBT-1 ส่งได้ 67 กม. แต่มีระยะที่รับชมได้แน่นอนประมาณ 20 กม.โดยรอบ

"แค่ความสามารถในการส่งก็ต้องขยายสถานีเพิ่มแล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ยากที่จะให้การรับชมไปถึง 95% ของประชากรภายใน 5 ปี เรื่องที่ยากคงเป็นเรื่องกล่อง เพราะเมื่อเลือกเทคโนโลยีใหม่เซตท็อปบ็อกซ์จะมีราคาแพงขึ้น ดังนั้นจะคุ้มหรือไม่ที่ผู้ชมต้องไปซื้อกล่องราคามากกว่าพันบาท เพื่อรับชมรายการ 48 ช่อง คอนเทนต์จะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เทียบกับทีวีดาวเทียมดูได้หลักร้อยช่อง และมีศูนย์บริการอยู่ทั่วประเทศ จึงไม่ต้องกังวลหากมีปัญหาในการรับชม"

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีแผนที่จะเข้าประมูลช่องทีวีดิจิทัลด้วย เพราะเป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่ด้วยราคาค่าบริการโครงข่ายยังไม่ชัดเจนทำให้มีโอกาสไม่เข้าร่วม เพราะถ้าคำนวณค่าบริการ

โครงข่าย รวมกับค่าให้บริการทีวีดาวเทียมแล้วออกมาไม่คุ้มก็ไม่ทำ จึงอยากให้ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมที่มีแผนเข้าประมูลทีวีดิจิทัลนำเงินที่จะไปลงทุนในธุรกิจใหม่ 1 ใน 3 มาลงทุนทำให้รายการบนดาวเทียมมีคุณภาพดีกว่า เพราะมั่นใจว่าหากทำได้ดีสู้ทีวีดิจิทัลได้แน่

ด้าน "อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ" กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือ NBC กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ระบบทีวีดิจิทัลเป็นเรื่องดี เพราะประเทศอื่นใช้มากว่า 10 ปี ในประเทศพัฒนาแล้วช่วง 3 ปีแรกก็มีปัญหาในการเปลี่ยนผ่าน แต่หลังจากนั้นผู้บริโภคเริ่มเข้าใจมากขึ้น และใช้งานจนถึงปัจจุบัน แต่จะมีการออกอากาศควบคู่ไปกับทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี โดยสองแบบหลังมีรายการที่น่าสนใจกว่าทำให้ยังดำเนินธุรกิจอยู่ได้

กลับมาที่ประเทศไทยบ้าง ถ้าอ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทวิจัยนีลเส็นจะพบว่า ปัจจุบันจำนวนครัวเรือนไทยมีประมาณ 22 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้มีบ้านที่มีจานดาวเทียม 44% มากกว่าบ้านที่ใช้

เสาก้างปลาหรือหนวดกุ้งที่มีอยู่ 36% ที่เหลือเป็นเคเบิลทีวี 11% และทรูวิชั่นส์ 9% ดังนั้นกลุ่มที่จะเปลี่ยนมาใช้เซตท็อปบ็อกซ์เพื่อชมทีวีดิจิทัลคงมีแค่ 36% เท่านั้น

ถ้า กสทช.มีความชัดเจนเรื่อง Must Carry หรือให้ทุกช่องทางต้องรับชมรายการของทีวีดิจิทัลได้ บ้านที่ดูดาวเทียมหรือช่องทางอื่นอยู่ก็ไม่ต้องเปลี่ยนกล่อง ต้องขึ้นอยู่กับ กสทช.ว่าจะเอารายการประเภทใดเป็น Must Carry บ้าง

"วิธีนี้อาจเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ทุกบ้านรับชมทีวีดิจิทัลได้เร็วขึ้น เพราะบังคับให้ทุกระบบต้องแพร่ภาพรายการของทีวีดิจิทัล แต่การนำรายการต่าง ๆ ขึ้นไปแพร่ภาพเป็นการเพิ่มการใช้งานแถบคลื่นเพื่อส่งรายการลงมาให้ผู้ชมดูเช่นกัน

ดังนั้นจะบอกว่าเป็นภาระคงไม่แปลก ผู้ประกอบการอาจส่งสัญญาณขึ้นไปก็จริง แต่อาจไม่ยิงลงมาให้คนที่บ้านรับชมก็ได้ เพราะรายการที่แพร่ภาพอยู่ก็เพียงพอต่อการรับชม"

ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบทีวีดิจิทัล ผู้ที่ลำบากที่สุดในธุรกิจนี้เป็นผู้ประกอบการรายเก่า เพราะเมื่อก่อนนั้นอาจมีช่องรายการเพียง 6 ช่อง ทำให้ไม่ต้องแข่งขันมากก็มีคนมาดูแน่นอน

แต่จากนี้จะมีตัวเลือกจำนวนมาก และหน้าใหม่พร้อมลงทุนโปรดักชั่นเพื่อดึงผู้ชมมาดู พร้อมนำจำนวนผู้ชมมาแลกกับค่าโฆษณาที่จะหลั่งไหลเข้ามาด้วย ถ้าผู้เล่นรายเก่าไม่เปลี่ยนแปลง เร็ว ๆ นี้อาจไม่แตกต่างจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ที่แต่ก่อนเป็นเสือนอนกิน ตอนนี้ต้องดิ้นรนสุดชีวิตเพื่อความอยู่รอด

"เอกชัย ภัคดุรงค์" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานกิจการองค์กร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ในฐานะแพลตฟอร์มผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดาวเทียม ทำให้รู้ถึงความต้องการรับชมของผู้บริโภค รวมถึงความต้องการของผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมรายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมาจำนวนมากเพื่อตอบโจทย์การรับชมเหล่านั้น เมื่อมีทีวีดิจิทัลไม่ใช่จะมาแย่งผู้ชมจากผู้ครองตลาดเดิมไปทั้งหมด ปัจจุบันมีหลายรายการที่มีผู้ชมติดตามจำนวนมาก รวมถึงมีสินค้าเข้าไปโฆษณา แม้เม็ดเงินที่เข้ามาจะค่อนข้างน้อย แต่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

"ดิจิทัลทีวีในประเทศไทยไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะความต้องการ แต่เกิดขึ้นเพราะภารกิจของ กสทช.มากกว่า ถ้ามองกันดี ๆ ทุกอย่างของทีวีดาวเทียมตอบโจทย์การใช้งานอยู่แล้ว ถ้า กสทช.ออก Must Carry ให้ดูทีวีดิจิทัลได้ก็แทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไร กล่องที่มีอยู่ที่บ้านก็ดูทีวีดิจิทัลได้ ดังนั้นการมีทีวีดิจิทัลไม่ได้ทำให้ทีวีดาวเทียมหายไป แต่ทำให้เกื้อหนุนกันและโตไปด้วยกันมากกว่า"

ในส่วนเทคโนโลยีน่าจะเป็นเรื่องที่ทุกเจ้าต้องเตรียมตัว เพราะอีก 10 ปีจะมีระบบการออกอากาศแบบภาพคมชัดสูง หรือ 4K ที่ชัดกว่า HD ถึง 4 เท่า และชัดกว่า SD ถึง 10 เท่า ซึ่งการออกอากาศแบบนี้ต้องใช้แถบความถี่มาก ทุกคนต้องวางแผน เพื่อนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาเป็นจุดทำตลาดเพื่อสร้างรายได้ให้ริษัทต่อไปอีกด้วย

ปิดท้ายที่ "นิพนธ์ นาคสมภพ" นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาประมูลช่องธุรกิจของดิจิทัลทีวีเมื่อคำนวณออกมาแล้วค่อนข้างสูง ไม่คุ้มต่อการลงทุน เช่น ช่องทั่วไปความละเอียด HD ราคาประมูล 1.5 หมื่นล้านบาท ถ้าค่าเชื่อมต่อ MUX มีราคาสูง โอกาสคุ้มทุนน้อยไปด้วย ดังนั้นค่อนข้างเสี่ยง แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงทางสมาคมก็เตรียมจับมือกับสมาชิกเพื่อสร้างช่องรายการคุณภาพ 20 ช่องออกมาสู้กับดิจิทัลทีวี และช่องอื่น ๆ ในทีวีดาวเทียมจะทยอยเปลี่ยนเช่นกัน แต่จะเกิดขึ้นหลังจากครัวเรือนในประเทศไทยมีโทรทัศน์แบบนี้เกิน 70% ปัจจุบันกำลังสำรวจอยู่ เพื่อให้รู้ว่าครัวเรือนไทยมีโทรทัศน์แบบนี้มากแค่ไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook