สัมภาษณ์คุณกฤตธี มโนลีหกุล กับภารกิจพาเว็บไซต์อันดับหนึ่ง Sanook เข้าสู่ยุคใหม่

สัมภาษณ์คุณกฤตธี มโนลีหกุล กับภารกิจพาเว็บไซต์อันดับหนึ่ง Sanook เข้าสู่ยุคใหม่

สัมภาษณ์คุณกฤตธี มโนลีหกุล กับภารกิจพาเว็บไซต์อันดับหนึ่ง Sanook เข้าสู่ยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สัมภาษณ์คุณกฤตธี มโนลีหกุล กับภารกิจพาเว็บไซต์อันดับหนึ่ง Sanook เข้าสู่ยุคใหม่

เมื่อพูดถึงเว็บไซต์อันดับหนึ่งของประเทศไทย หลายคนคงนึกถึง Sanook.com เว็บไซต์ท่า (portal) เบอร์ต้นๆ ที่เพิ่งมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังจาก Tencent ยักษ์ใหญ่วงการดิจิทัลของจีนทุ่มเงินกว่า 10.5 ล้านเหรียญเข้าถือหุ้นส่วนเกือบครึ่งหนึ่งไปเมื่อปี 2010


ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปมากจากการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ และสมาร์ทโฟน ทำให้ยักษ์จากยุคเว็บไซต์เดสก์ท็อปอย่าง Sanook ต้องปรับตัวอย่างมาก หนึ่งในการเคลื่อนไหวสำคัญคือการแต่งตั้งคุณกฤตธี มโนลีหกุล ผู้เคยทำงานร่วมกับซัมซุงสำนักงานใหญ่ และบริษัทท่องเที่ยว Expedia ที่ฮ่องกงมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแผนกเนื้อหา และบริการของ Sanook ซึ่งครอบคลุมในส่วนของเว็บไซต์ท่า ส่วนมือถือ และแอพ รวมถึงโฆษณา

เดือนกรกฎาคมนี้นับเป็นการครบรอบหนึ่งปีตั้งแต่คุณกฤตธีรับตำแหน่งมา ทางเราจึงถือโอกาสไปพูดคุยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง และแผนการณ์ในอนาคตของ Sanook ว่าเป็นอย่างไรบ้างครับ

การเปลี่ยนแปลงของ Sanook

ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา หลายคนคงติดภาพของ Sanook ในฐานะของเว็บไซต์ท่าผู้รวมเนื้อหาหลายอย่างมาโดยตลอด และนั่นคือสิ่งที่ Sanook ในตอนนี้มองว่าต้องเปลี่ยน เปลี่ยนจากบริษัทที่มีภาพลักษณ์เป็นเนื้อหานำ ไปสู่บริษัทที่ใช้เทคโนโลยีนำหน้า

เหตุผลที่ Sanook ตั้งเป้าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีเนื่องมาจากการบริโภคเนื้อหาของผู้ใช้ในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทั้งอุปกรณ์เข้าถึง และวิธีการที่หลากหลายกว่าในอดีต หากมีเพียงแต่เนื้อหาอย่างเดียว จะไม่สามารถตอบโจทย์ได้เพียงพอ จึงต้องนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการทำให้เนื้อหาในมือไปได้ไกลที่สุด

การจะพลิกบริษัทจากหน้ามือเป็นหลังมือไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ในตอนนี้ Sanook มีทั้งแรงสนับสนุนจาก Tencent ก็ตาม ภายในจึงมีการสร้างแนวคิดให้พนักงานสร้างนวัตกรรมด้วยโมเดลที่คล้ายกับกูเกิล คือใช้เวลาว่างทำโปรเจคขึ้นมา

แม้จะมีการกระตุ้นจากภายใน แต่การจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีได้ จำนวนแรงงานไอทีในปัจจุบันก็ยังไม่เพียงพอ Sanook จึงเลือกเข้าไปให้แนวคิดกับนักศึกษาเพื่อชักจูงให้สนใจในนวัตกรรม รวมถึงไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับงานสายนักพัฒนาอย่าง Web Wednesday อีกด้วย จนถึงปัจจุบัน Sanook มีพนักงงานส่วนไอที และไม่ไอทีในอัตราส่วน 50/50 แล้ว

เป้าหมายใหม่ของ Sanook

Sanook ในตอนนี้ถือว่ามีแบรนด์แข็งมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน เป้าหมายต่อไปคือการรุกไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ ด้วยวิธีใหม่ และคู่ค้ารายใหม่

เริ่มต้นกันด้วยวิธีใหม่ของ Sanook จากเดิมที่เป็นแหล่งรวมข่าว อนาคต Sanook จะมีบริการของตัวเองมากขึ้น ตั้งแต่ข่าวที่เขียนเอง เปิดเซคชันใหม่เพื่อตอบสนองกับกระแส รวมถึงบริการใหม่ๆ ซึ่งส่วนที่เน้นตอนนี้มี 4 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

  • ส่วนคอนเทนต์ ทั้งเนื้อหาแบบเดิม และเนื้อหาแบบใหม่ (Sanook เรียกตรงนี้ว่าเพลย์) รวมถึงข่าวภาษาต่างประเทศที่จะเริ่มในเดือนกันยายนนี้
  • บริการแบบเรียลไทม์ ทั้งเกาะติดกระแส รายงานสด และทีวีที่เพิ่งเพิ่มเข้ามา
  • WeChat แอพแชทจาก Tencent ที่ทุ่มโปรโมตในปัจจุบัน
  • บริการใหม่ๆ และแอพ เช่น Trendzap เว็บไซต์รวมร้านอาหารที่อนาคตจะมีบริการจองร้านอาหารเข้ามา

กลุ่มผู้ใช้ใหม่ที่ Sanook เล็งอยู่ในตอนนี้คือนักเรียน นักศึกษาก่อนวัยทำงาน วิธีที่ใช้คือการเปิดเซคชันมหาวิทยาลัย (Campus) ที่รวมไลฟ์สไตล์ในรั้วมหาวิทยาลัย แหล่งบันเทิงที่วัยรุ่นสนใจอย่างเดอะสตาร์ จากการจับมือกับแกรมมี่ และอคาเดมี่ แฟนตาเซีย จากการจับมือกับทรู ซึ่งการหาพาร์ทเนอร์รายใหม่ๆ ก็เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของ Sanook เช่นกัน

ในทางธุรกิจเอง การทำเงินจากเนื้อหาเหล่านี้ยังต้องมาจากโฆษณาดังเดิม แต่บริการใหม่อย่าง Trendzap ก็หวังว่าจะสามารถทำเงินจากการจองร้านอาหารได้ (แม้ว่าจะไม่ใช่เร็วๆ นี้ก็ตาม) ส่วนทางฝั่ง WeChat จะเน้นไปที่ Official Account และเกมเป็นส่วนใหญ่ โดยมีรายได้จากสติ๊กเกอร์บ้าง แต่ไม่ใช่ส่วนที่หวังมาก

คู่แข่งของ Sanook

จากแรงสนับสนุนของ Tencent และแนวทางเปลี่ยนบริษัทไปสู่บริษัทเทคโนโลยี ทำให้คู่แข่งของ Sanook เปลี่ยนไปอย่างมาก จากเดิมที่เป็นเว็บไซต์ท่าขนาดใกล้เคียงกันในประเทศ ก็จะกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีในระดับนานาชาติแทน

ระหว่างสัมภาษณ์เราได้ถามถึงการที่ Sanook จะก้าวไปเป็นคู่แข่งกับเว็บไซต์ระดับโลกอย่างเฟซบุ๊ก หรือกูเกิล แต่คุณกฤตธีบอกว่าด้วยขนาดของ Sanook ในตอนนี้แม้จะใหญ่จนไม่อาจเรียกว่าเว็บไซต์ท้องถิ่นได้แล้ว แต่ก็ยังไม่ใหญ่จนถึงระดับโลกเช่นกัน การจะเป็นคู่แข่งกับยักษ์ไอทีอย่างเฟซบุ๊กหรือกูเกิลจึงเป็นเรื่องไกลตัวเกินไป (ถ้าถามในมุมของ Tencent อาจจะใช่)

แนวทางที่ Sanook เลือกมาใช้กับสองยักษ์ใหญ่ที่ถูกมองว่าดึงผู้ใช้ออกไป คือการดึงผู้ใช้กลับมาเสียมากกว่า โดยเฉพาะในส่วนของเฟซบุ๊ก ส่วนฝั่งกูเกิลเองถึงจะทำให้ยอดคนเข้าหน้าแรกตกลงไป แต่ก็ทำให้มีผู้ใช้เข้ามาในหน้าอื่นมากขึ้นเช่นกัน แม้จะขัดกับแนวคิดเดิม (ที่ว่าหน้าแรกสำคัญสุด) แต่มองในแง่ของการลงโฆษณาแล้วนับว่าดีขึ้น และเป็นสิ่งที่ Sanook ต้องปรับตัวต่อไป

นอกจากสองยักษ์ใหญ่ที่ว่า ยังมีบริการยิบย่อยของ Sanook ที่มีคู่แข่งทั้งภายใน และนอกประเทศอยู่พอสมควร แต่ทาง Sanook เองก็ยังมีจุดแข็งอยู่ทั้งในแง่ของแบรนด์ และเรื่องของภาษาที่ทำให้บริการจากต่างประเทศเจาะมาไม่เข้า


ทิศทางของ WeChat ในประเทศไทย

เกริ่นคร่าวๆ ก่อนว่า WeChat เป็นบริการแชทจาก Tencent ที่หลายคนน่าจะเห็นจากในโฆษณาทั้งออฟไลน์ และออนไลน์กันไปแล้ว โดยในประเทศไทย Sanook ได้รับมอบหมายให้ดูแลทางด้านธุรกิจของ WeChat โดยตรง

ผู้ใช้ WeChat ในประเทศตอนนี้เพิ่มขึ้นมาก แม้จะยังเป็นเบอร์สองรองจาก LINE แต่ทาง Sanook เชื่อว่าตลาดตรงนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประเทศข้างเคียงที่ WeChat ได้รับความนิยมอยู่มาก ในตลาดโลกก็มีสเปน อิตาลี และแอฟริกาใต้ที่มาเป็นเบอร์หนึ่งแบบทิ้งขาด นอกนั้นก็อยู่ในอันดับ 1-3 ยอดรวมในตลาดโลก (แบบไม่นับจีน) ก็อยู่ในอันดับที่สอง

สำหรับในประเทศไทย ทาง Sanook ไม่สามารถเปิดเผยจำนวนตัวเลขผู้ใช้ได้ บอกเพียงแค่ว่านับตั้งแต่แคมเปญแรกของ WeChat ในไทย (เดอะสตาร์) ก็มีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 400% และเพิ่มขึ้นอีก 60% หลังจากมีโฆษณา Messi ดูจากพรีเซนเตอร์แล้วก็น่าจะเดาไม่ยากว่า WeChat จะเน้นจับกลุ่มผู้ใช้ระดับกลาง-ล่างเสียมากกว่า

การเพิ่มจำนวนผู้ใช้ว่ายากแล้ว การทำให้ผู้ใช้อยู่กับเรายิ่งยากกว่า แนวทางของ WeChat คือเนื้อหาพิเศษจำพวกเกม สติ๊กเกอร์ อีโมติคอน (ซึ่งมีแบบขายแล้ว) และบริการเสริมจาก Official Account ซึ่งเป็นจุดเด่นมาตั้งแต่สมัยเปิดตัวบริการแล้ว

จุดเด่นของ Official Account บน WeChat คือการเป็นมากกว่าแค่ช่องทางสำหรับกระจายข่าวสารแบรนด์ แต่สามารถตอบโต้กับผู้ใช้ได้ด้วย ในไทยเองสามารถสั่งน้ำดื่มช้างได้จาก WeChat แล้ว ในอนาคตจะมีบริการอื่นเข้ามาอีก อันที่ยกตัวอย่างมาแล้วน่าสนใจก็มีธนาคารในจีน ให้ผู้ใช้ WeChat สามารถตรวจสอบข้อมูลบัญชีได้ ที่สำคัญกว่านั้นคือบริการบน WeChat สำหรับแบรนด์นั้นฟรีเกือบทุกอย่างตั้งแต่ สติ๊กเกอร์ ตัวบัญชี และบริการที่ผูกไว้ จะมีค่าใช้จ่ายก็เฉพาะที่แบรนด์ต้องให้ทาง Sanook เข้าไปช่วยจัดการ หรือช่วยพัฒนาเท่านั้น

จากการเข้าไปคุยกับ Sanook ครั้งนี้ ต้องยอมรับเป็นงานหนัก แต่น่าสนใจจริงๆ สำหรับการเปลี่ยน Sanook ให้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยี ที่ยังไม่มีบริษัทไทยโดดเด่นมากนัก คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า Sanook จะปล่อยของออกมาได้มากแค่ไหนครับ

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย: Blltz

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook