สุสานออนไลน์ หลุมศพในโลกไซเบอร์

สุสานออนไลน์ หลุมศพในโลกไซเบอร์

สุสานออนไลน์ หลุมศพในโลกไซเบอร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุสานออนไลน์ หลุมศพในโลกไซเบอร์

ผมเชื่อว่าคนที่ใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก ซึ่งทั่วโลกมีอยู่ราวๆ 1,200 ล้านคน อาจจะเคยสงสัยเหมือนกันว่าหากผู้ใช้งานเสียชีวิตไปแล้ว หน้าเฟซบุ๊กของคนๆ นั้นจะไปยังไงต่อ จากประสบการณ์เท่าที่ใช้เฟซบุ๊กมา หน้าเฟซบุ๊กคนๆ นั้นก็ยังคงอยู่ต่อไป น่าจะอยู่ไปตราบเท่าที่เฟซบุ๊กยังให้บริการอยู่ในโลกนี้ เพียงแต่จะไม่มีการอัพเดตอะไรใดๆ เหมือนเมื่อคนนั้นยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นเอง

แต่ก็จะยังคงมีการอัพเดตทางอ้อมขึ้นมาให้เห็นอยู่เหมือน อย่างเช่นเมื่อไม่กี่วันก่อน บนหน้าเฟซบุ๊กของผมก็มีข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กของคนรู้จักที่เสียชีวิตไปแล้วอัพเดตขึ้นมา ไม่ใช่ว่าวิญญาณลุกจากหลุมมาอัพเดตหรอกครับ แต่เกิดจากเพื่อนของเขาสักคนแท็กรูปภาพอะไรสักอย่างไปที่เฟซบุ๊กของเขา และเนื่องจากเขาผู้เสียชีวิตไปแล้วเป็นเพื่อนกับผมบนเฟซบุ๊ก เมื่อเขาถูกแท็ก มันก็มาแสดงที่หน้าไทม์ไลน์ของผมด้วย

นั่นหมายความว่าในสังคมเสมือนจริงอันกว้างใหญ่ไพศาลของเฟซบุ๊กนั้นมีปะปนกันไปทั้งคนเป็นและคนตาย เพียงแต่จำนวนบัญชีผู้ใช้งานที่เสียชีวิตไปแล้วมีไม่มากเพราะเฟซบุ๊กเกิดมาไม่นาน

แน่นอนว่ามีคนสงสัยว่าอีกนานไหมกว่าที่จำนวนผู้ใช้งานที่เสียชีวิตแล้วจะมีมากกว่าจะนวนผู้ใช้งานที่ยังมีชีวิต

คำถามนี้ถูกส่งไปถามที่เว็บไซต์what-if.xkcd.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริการค้นหาคำตอบจากคำถามที่ว่า "จะเกิดอะไรขึ้นถ้า..." และคำตอบจากคำถามดังกล่าวก็คือ ราวๆ ทศวรรษ 2060 หรือไม่ก็ 2130 คนเฟซบุ๊กจะมีบัญชีผู้ใช้งานที่เสียชีวิตไปแล้วมากกว่าคนที่ยังมีชีวิต

คำตอบไม่ได้มั่วๆ มาตอบนะครับ แต่คำนวณโดยหลักการทางคณิตศาสตร์และสถิติ พิจารณาอัตราการเติบโต และอายุเฉลี่ยของผู้ใช้งานประกอบ แต่ที่มีคำตอบสองคำตอบเพราะคำตอบแรกใช้แนวโน้มการเติบโตและตกต่ำหรือวงจรชีวิตโดยเฉลี่ยของเว็บไซต์มารวมเป็นปัจจัยหนึ่งด้วยขณะที่คำตอบหลังอยู่บนสมมติฐานที่ว่าเฟซบุ๊กจะเติบโตไปเรื่อยๆ

เฟซบุ๊กมีนโยบายให้บัญชีผู้ใช้งานที่เสียชีวิตแล้วเป็นเสมือนอนุสรณ์แห่งความทรงจำสำหรับญาติพี่น้องเพื่อนพ้องได้ต่อไปโดยญาติพี่น้องต้องแจ้งไปยังเฟซบุ๊ก หลังจากนั้นบัญชีจะไม่มีใครล็อกอินเข้าไปได้ แต่ยังมีอยู่ และอะไรที่ผู้เสียชีวิตเคยแชร์ไว้ก็จะยังเข้าถึงได้เหมือนเดิม

ที่สำคัญคือยังส่งข้อความส่วนตัวถึงผู้เสียชีวิตได้เหมือนเดิม

จะว่าไปแล้ววิธีนี้ก็เหมือนแปรสภาพให้เฟซบุ๊กเป็นเหมือนหลุมศพออนไลน์ของคนที่เสียชีวิตไปแล้วนั่นเองแต่ไม่ใช่สุสานออนไลน์ เพราะจะไปเปิดบัญชีให้ผู้เสียชีวิตเพื่อเป็นหลุมศพออนไลน์ไม่ได้

ถ้าสุสานออนไลน์ต้องที่เว็บ www.neshama.info ของอิสราเอลที่เพิ่งเปิดไม่นานมานี้ครับ เว็บนี้เปิดมาให้สามารถไปสร้างเพจที่เปรียบเสมือนหลุมศพหรืออนุสรณ์สถานออนไลน์สำหรับผู้ตายได้เปิดเพจ อัพโหลดภาพหลุมศพ และเปิดให้เข้าไปเขียนไว้อาลัย เรื่องราวความทรงจำ ภาพถ่าย วิดีโอ ฯลฯ ได้หมด

ปัจจุบันเนชามามีภาพถ่ายสุสานในอิสราเอล 5 แห่ง และภาพถ่ายหลุมฝังศพกว่า 120,000 หลุม

มีบริการพิเศษคือสร้างเพจล่วงหน้าของตัวเองไว้ก่อนตายด้วยครับ

แต่อย่าลืมว่าสุสานออนไลน์เนชามาเป็นเรื่องของการรำลึกผู้จากไปด้วยวิธีใหม่ในโลกออนไลน์เป็นเว็บไซต์ขึงขังจริงจัง ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แบบโซเชียลเน็ตเวิร์กทั่วๆ ไป

ที่มา : นสพ.มติชน

โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook