เลาะรั้วรอบโลกเทคโนโลยี 10 เรื่องร้อน ๆ เขย่าปี 2556

เลาะรั้วรอบโลกเทคโนโลยี 10 เรื่องร้อน ๆ เขย่าปี 2556

เลาะรั้วรอบโลกเทคโนโลยี 10 เรื่องร้อน ๆ เขย่าปี 2556
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลาะรั้วรอบโลกเทคโนโลยี 10 เรื่องร้อน ๆ เขย่าปี 2556

ผ่านไปอย่างรวดเร็วสำหรับปี 2556 ซึ่งในโลกธุรกิจเทคโนโลยีช่วงเวลา 365 วันที่ผ่านมา มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย และเปลี่ยนแปลงไม่หยุดหย่อน ทั้งในระดับองค์กร, ภาพรวมของอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวจากการใช้เทคโนโลยีของผู้คนทั่วโลก

"สกอต มาร์ติน" แห่ง "ยูเอสเอ ทูเดย์" สรุปเหตุการณ์สำคัญในแวดวงเทคโนโลยีโลก 10 เรื่อง ดังนี้

เรื่องแรก คือ การเปิดโปงหน่วยงานเพื่อความมั่นคงของรัฐแห่งสหรัฐอเมริกา (เอ็นเอสเอ) ที่ "เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน" นำเอกสารความลับมาเปิดเผยให้เห็นถึงพฤติกรรมการลักลอบดูข้อมูลของภาครัฐ ซึ่งไม่เพียงทำให้ประชาชนหวาดกลัวหน่วยงานรัฐมากขึ้น แต่มีผลต่อความเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลสหรัฐ และความวิตกกังวลนี้ยังลุกลามไปถึงบรรดายักษ์ในวงการเทคโนโลยีอย่างกูเกิล, เฟซบุ๊ก, แอปเปิล, ทวิตเตอร์ และไมโครซอฟท์

ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือ มีการเปิดโปงข้อมูลจากเอกสารลับดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในรายงานระบุว่า "เอ็นเอสเอ"เก็บข้อมูลจากโทรศัพท์มือถือมากกว่า 5,000 ล้านเครื่อง และแอบดูข้อมูลในอีเมล์เป็นจำนวนมหาศาล

เรื่องที่ 2 เป็นการก้าวเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นของ "ทวิตเตอร์" ทำให้เกิดกระแสการลงทุนในบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กขึ้นมาอีกครั้ง โดยมูลค่าการระดุมทุนกว่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ช่วยเสริมแกร่งให้ทวิตเตอร์ได้เป็นอย่างดี โดย "ทวิตเตอร์"

ได้ต่อยอดตนเองจนกลายเป็นบริษัทสื่อเต็มตัวไปแล้ว เนื่องจากเป็นที่รวบรวมข้อความจากทั่วโลกที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะโค่นรัฐบาล หรือทำให้หุ้นร่วงได้ไม่ยาก

ไม่ใช่แค่นั้น "ทวิตเตอร์" ยังเพิ่งโชว์ศักยภาพในการใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อทำรูปแบบโฆษณาแบบใหม่อีกด้วย

เรื่องที่ 3 คือ การที่เรือบรรทุกสินค้าลึกลับของ "กูเกิล" ปรากฏตัวขึ้นที่อ่าวของเมืองซานฟรานซิสโก โดยไม่มีใครบอกว่า กูเกิลทำไปเพื่ออะไร ทำให้เกิดการคาดเดากันไม่หยุดหย่อนว่า ยักษ์เสิร์ชเอ็นจิ้นรายนี้ซ่อนไม้เด็ดอะไรไว้ และคำตอบของกูเกิลก็คลุมเครือ บอกแค่ว่าอาจเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ลอยน้ำ หรือเป็นห้องโชว์สินค้าเคลื่อนที่ก็ได้

เรื่องที่ 4 เป็นกระแสความนิยมในเหรียญ "บิตคอยน์" หรือเงินดิจิทัล แม้นักลงทุน

ดูจะหลงใหลเงินดิจิทัลนี้เหลือเกิน เนื่องจากมูลค่าของ "บิตคอยน์" ช่วงปลายปีนี้ทะลุ 1,000 เหรียญสหรัฐไปแล้ว จากมูลค่าเมื่อ 1 ม.ค. 2556 อยู่ที่ 13.50 เหรียญสหรัฐเท่านั้น

"บิตคอยน์" เปิดตัวเข้าสู่วงการอินเทอร์เน็ตตั้งแต่ปี 2552 แม้ในขณะนี้จะยังสามารถใช้ซื้อสินค้าหรือบริการจากพ่อค้าได้ในจำนวนจำกัดเท่านั้น แต่คงต้องดูกันต่อไปว่าค่าเงินนี้จะสามารถกลายเป็นทางเลือกการลงทุนชนิดใหม่ได้หรือไม่

เรื่องที่ 5 ได้แก่ การฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งของ "เฟซบุ๊ก" หลังเข้าตลาดหุ้นในปี 2555 ด้วยมูลค่าต่อหุ้นที่ต่ำกว่า 38 เหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม "เฟซบุ๊ก" สามารถกลับมาแข็งแกร่งขึ้นในฐานะบริษัทมหาชนด้วยผลประกอบการที่น่าพอใจ ทั้งจากการเปลี่ยนผ่านสู่แพลตฟอร์มโทรศัพท์มือถือ, แนวโน้มรายได้ และความสามารถในการสร้างผลกำไร ทำให้ซีอีโออย่าง "มาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก" กู้ชื่อเสียงกลับคืนมาได้

ที่สำคัญกว่าคือ ความมั่นใจของนักลงทุนกลับมาเต็มเปี่ยมอีกครั้ง หลังเห็นศักยภาพในการทำโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย และส่วนธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

เรื่องที่ 6 คือ มูลค่าบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กพุ่งสูงขึ้น สังเกตได้จากการที่มูลค่าบริษัทของ "เฟซบุ๊ก" พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปีนี้ จากการที่หลายฝ่ายหมดความแคลงใจเรื่องความสามารถในการสร้างรายได้ นอกจากนี้เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา "เฟซบุ๊ก" ยังตามซื้อโซเชียลเน็ตเวิร์กหน้าใหม่ "สแนปแชต" ด้วยเงินกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะต้องการซื้อแอปพลิเคชั่นยอดนิยมสำหรับส่งรูปและข้อความวิดีโอ

ก่อนหน้านี้โซเชียลเน็ตเวิร์กแนวสมุดภาพออนไลน์ "พินเทอเรสต์" ระดมทุนได้ถึง 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนแห่ลงเงินกับบริการเสียงเพลงออนไลน์ของบริษัท "สปอติฟาย" จนมีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ "ดรอปบ็อกซ์" น่าจะมีมูลค่าถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปลายปีนี้

เรื่องที่ 7 คือ ชะตากรรมที่ขมขื่นของผู้ผลิตสมาร์ทโฟน "แบล็คเบอร์รี่" เพราะปีนี้อดีตผู้นำสมาร์ทโฟนได้เปิดตัวสายผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและระบบปฏิบัติการที่ยกเครื่องใหม่ตั้งแต่ต้นปี แต่กลับเข้าสู่ตลาดช้าเกินไป และไม่สามารถปลุกชีพบริษัทให้ฟื้นขึ้นมาได้ ซ้ำร้ายยังล้มเหลวกับการขายบริษัท

บริษัทยังปลด "ทอร์สเทน ไฮน์ส" ออกจากตำแหน่ง "ซีอีโอ" และปลดผู้บริหารตำแหน่งอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ในแง่มูลค่าหุ้นของบริษัทก็ร่วงลงถึง 68% หากเทียบกับปีก่อนหน้า

เรื่องที่ 8 คือ กรณีที่ "เดลล์" กลับมาเป็นบริษัทเอกชนอีกครั้ง เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกระแสการเข้ามาของอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ทำให้ในท้ายที่สุดบรรดาผู้ถือหุ้นต้องยอมอนุมัติการนำบริษัทออกจากตลาดหุ้นสาธารณะแลกกับเงินประมูลมูลค่า 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้จากซีอีโอของ "เดลล์" และกองทุนซิลเวอร์เลก แผนการซื้อบริษัทคืนของ "ไมเคิล เดลล์" ต้องใช้เวลานานถึง 14 เดือนกว่าจะสำเร็จลุล่วง

เรื่องที่ 9 คือ สงครามกฎหมายระหว่าง "แอปเปิลและซัมซุง" โดยเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คณะตุลาการมีคำตัดสินให้

"ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์" ชำระค่าเสียหายให้แอปเปิลเป็นมูลค่า 290 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิล

ผลการตัดสินครั้งนี้ทำให้มูลค่าค่าปรับทั้งปีที่ซัมซุงต้องจ่ายให้แอปเปิลสูงถึง 929 ล้านเหรียญสหรัฐ (ก่อนหน้านี้ซัมซุงโดนตัดสินให้จ่ายค่าปรับ 599 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือน มี.ค. และอีก 40.5 ล้านเหรียญสหรัฐในเดือน เม.ย.) บ่งชี้ให้เห็นว่าแอปเปิลเป็นผู้ชนะในศึกครั้งนี้แบบขาดลอย

สุดท้าย เรื่องที่ 10 ของปีนี้คือ การปรับโครงสร้างองค์กรของ "ไมโครซอฟท์" เนื่องจากตลาดคอมพิวเตอร์พีซีโดนรุกอย่างหนัก และเสียฐานลูกค้าไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ "ไมโครซอฟท์" ต้องวัดดวงกับตลาดแท็บเลต

อย่างไรก็ตามสายผลิตภัณฑ์แท็บเลตที่จืดสนิทของ "ไมโครซอฟท์" ทำให้บริษัทต้องลงหนี้สูญเป็นมูลค่า 900 ล้านเหรียญสหรัฐ และตัดสินใจประกาศการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ แต่ยังคงขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ในการเข้ามารับหน้าที่ดังกล่าว โดยซีอีโอคนปัจจุบัน "สตีฟ บัลเมอร์"

ประกาศในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า เขาวางแผนจะเกษียณตนเองหากพบผู้สืบทอด แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันออกมาอย่างชัดเจนว่า ใครจะเป็นผู้กุมชะตา "ไมโครซอฟท์" คนต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook