รวมกลโกงออนไลน์อันตรายใกล้ตัว ไม่รู้ไม่ได้แล้วจริงๆ !!

รวมกลโกงออนไลน์อันตรายใกล้ตัว ไม่รู้ไม่ได้แล้วจริงๆ !!

รวมกลโกงออนไลน์อันตรายใกล้ตัว ไม่รู้ไม่ได้แล้วจริงๆ !!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อินเทอร์เน็ตทำให้ชีวิตประจำวันของเรา สะดวกสบายมากขึ้น การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้โดยง่าย เพื่อนฝูง ญาติพี่น้อง หรือคนไม่รู้จักก็สามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว

แต่ความสะดวกสบายนี้ก็มีอันตรายแฝงมาด้วย โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้มิจฉาชีพที่อยู่ไกลจากเหยื่อสามารถเข้ามาใกล้ ชิดหลอกลวงเงินไปจากเหยื่อได้โดยง่ายหากไม่ระมัดระวัง เราลองมาทำความรู้จักกับกลโกงออนไลน์ที่พบบ่อย ๆ กัน


- หลอกขอรหัสผ่านการใช้งานบัญชีอีเมล

มิจฉาชีพจะส่งอีเมลแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมล หลอกขอชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (email address) และรหัสผ่าน (password) โดยอ้างว่าเจ้าของอีเมลจะต้องยืนยันการใช้งานอีเมล  แล้วใช้รหัสผ่านที่ได้มาเข้าใช้งานบัญชีอีเมลแทนเจ้าของอีเมลนั้น (ซึ่งถือได้ว่าเป็นเหยื่อคนที่ 1)

เมื่อเข้าใช้งานในบัญชีอีเมลของเจ้าของบัญชีอีเมลที่กลายเป็นเหยื่อคนที่ 1 ได้แล้ว มิจฉาชีพก็จะส่งอีเมลไปหาเพื่อนของเจ้าของบัญชีอีเมล แล้วหลอกขอให้เพื่อนโอนเงินให้ เช่น อ้างว่าเจ้าของบัญชีอีเมลไปต่างประเทศแล้วกระเป๋าเงินหาย จึงต้องการความช่วยเหลือเรื่องเงินโดยด่วน โดยมักจะให้โอนเงินผ่านบริการรับโอนเงินซึ่งไม่จำเป็นต้องมีเอกสารแสดงตนในการรับเงินในต่างประเทศ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามจับคนร้ายได้ และเพื่อนก็สูญเงินโดยไม่มีโอกาสได้คืน (กลายเป็นเหยื่อคนที่ 2)

ข้อสังเกต

มิจฉาชีพจะอ้างเป็นผู้ให้บริการบัญชีอีเมลแต่ชื่อบัญชีอีเมล (email address) ที่แสดง จะไม่ใช่ชื่อบัญชีอีเมลของผู้ให้บริการอีเมลจริง (อ่านเพิ่มเติมจุดสังเกตอีเมลปลอม) นอกจากนั้น ข้อความในอีเมลที่มิจฉาชีพส่งให้เหยื่อคนที่ 2 มักเป็นภาษาอังกฤษหรือเป็นภาษาไทยที่ไม่คุ้นเคย เช่น ใช้สรรพนามต่างจากที่เคยใช้สนทนากัน

- แอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ หลอกว่าจะโอนเงินหรือส่งของให้เหยื่อ

มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ แล้วหลอกเหยื่อว่าจะโอนเงิน หรือส่งของให้เหยื่อ เช่น

  • เป็นนักธุรกิจที่ต้องการสั่งซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยส่งหลักฐานการโอนเงินจำนวนมากเพื่อจ่ายค่าสินค้ามาให้เหยื่อดู
  • เป็นผู้ที่ได้รับมรดกเป็นจำนวนมาก แต่ติดเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถรับเงินได้ด้วยตนเอง จึงขอให้เหยื่อรับเงินแทน
  • เป็นผู้ใจบุญที่ต้องการบริจาคเงินเป็นจำนวนมหาศาลให้มูลนิธิหรือองค์กรการกุศลต่าง ๆ เมื่อแจ้งว่าจะบริจาคเงินให้กับเหยื่อแล้ว จะส่งหลักฐานการโอนเงินปลอมมาให้เหยื่อดู
  • เป็นชาวต่างชาติที่ต้องการหารักแท้ โดยอ้างว่าพร้อมที่จะย้ายมาอยู่กับเหยื่อเพื่อสร้างครอบครัวร่วมกัน  จึงโอนเงินค่าบ้าน ค่ารถ หรือเงินทั้งหมดที่มีมาให้เหยื่อ หรืออาจหลอกเหยื่อว่าจะส่งของหรือเงินสดมาให้เหยื่อทางไปรษณีย์

เมื่อเหยื่อได้รับหลักฐานการโอนเงินหรือการส่งของจากมิจฉาชีพ ก็มักหลงเชื่อว่ามิจฉาชีพได้โอนเงินหรือส่งของนั้นมาจริง ๆ เมื่อเวลาผ่านไป มิจฉาชีพจะแจ้งเหยื่อ หรืออาจมีมิจฉาชีพคนอื่นมาแสดงตนเป็นเจ้าหน้าที่และแจ้งเหยื่อว่าไม่สามารถโอนเงินหรือส่งของให้เหยื่อได้ เพราะติดด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น

  • ธนาคารแห่งประเทศไทยระงับการโอนเงินและขอตรวจสอบ
  • ธนาคารกลางของประเทศต้นทางระงับการโอนเงิน เพราะสงสัยว่าเป็นการฟอกเงิน
  • สหประชาชาติ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ขอตรวจสอบ
  • กรมศุลกากรขอตรวจสอบของที่ส่งมาจากต่างประเทศ เพราะมีเงินสดบรรจุมาด้วย

จากนั้นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากเหยื่อ เช่น ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน ค่าดำเนินการ ค่าทนาย โดยจะเรียกเก็บในจำนวนน้อยแล้วเพิ่มจำนวนเงินขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเหยื่อก็จะคิดว่าเป็นเรื่องจริง และเห็นว่าจ่ายอีกนิดก็จะได้รับเกินก้อนใหญ่ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็อาจหมดเงินไปจำนวนมากแล้ว และโอกาสที่จะติดตามรับเงินคืนก็เป็นไปได้ยากมาก เพราะมิจฉาชีพมักอยู่ในต่างประเทศ และให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน

ข้อสังเกต

มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพราะยากต่อการติดตาม

หน่วยงานราชการ หรือองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ยกตัวอย่างมีหน้าที่ชัดเจน และส่วนใหญ่จะไม่ติดต่อกับประชาชนโดยตรง อย่างไรก็ตาม หากหน่วยราชการใดมีกิจต้องติดต่อกับประชาชน การแจ้งให้ประชาชนดำเนินการใด ๆ จะมีเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่เหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีต้องมีการโอนเงินหรือชำระเงิน ควรตรวจสอบไปยังหน่วยงานนั้นโดยตรงก่อน โดยไม่ใช้อีเมลหรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้รับแจ้งมา

- โฆษณาปล่อยเงินกู้นอกระบบ

มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้ให้บริการเงินกู้แล้วโฆษณาผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ หรือส่งอีเมลหาเหยื่อโดยตรงว่าให้บริการเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติเงินเร็ว ไม่ต้องซื้อสินค้า ไม่ตรวจสอบเครดิตบูโร เมื่อเหยื่อติดต่อไปและขอกู้เงิน ผู้ให้กู้จะอ้างว่าจะส่งสัญญาให้กับผู้ขอกู้เพื่อลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งขอให้เหยื่อโอนเงินชำระค่าทำสัญญา ค่าเอกสาร ค่ามัดจำ หรือดอกเบี้ยภายในเวลาที่กำหนด เช่น ก่อน 18.00 น. เพื่อผู้ให้กู้จะโอนเงินกู้ให้ก่อนเวลา 20.00 น. โดยสามารถยกเลิกและขอเงินโอนล่วงหน้าดังกล่าวคืนได้

เหยื่อส่วนมากมักจะรีบร้อน และกลัวว่าจะไม่ได้เงินกู้ จึงรีบโอนเงินให้กับผู้ให้กู้ในเวลาที่กำหนด แต่เมื่อติดต่อกลับผู้ให้กู้เพื่อขอรับเงินกู้ กลับไม่สามารถติดต่อผู้ให้กู้ได้อีกเลย และสูญเงินไปโดยไม่มีโอกาสได้เงินคืน

ข้อสังเกต

มิจฉาชีพมักโฆษณาว่าปล่อยกู้นอกระบบดอกเบี้ยต่ำเกินจริง (บางรายต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ในระบบ) และให้ติดต่อผ่านโทรศัพท์หรืออีเมลเท่านั้น แม้กระทั่งขั้นตอนการทำสัญญาเงินกู้ ผู้ขอกู้ก็จะไม่มีโอกาสได้เจอผู้ให้กู้เลย นอกจากนี้จะให้เหยื่อโอนเงินจ่ายดอกเบี้ยล่วงหน้าก่อนที่จะได้เงินกู้ซึ่งจะแตกต่างจากการกู้เงินทั่วไปที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเมื่อได้รับเงินต้นไปแล้ว และมักจะเร่งการตัดสินใจโดยอ้างว่าจะทำให้ผู้ขอกู้ได้เงินกู้เร็วขึ้น

- แอบอ้างเป็นบุคคลต่าง ๆ หลอกให้เหยื่อโอนเงินให้

มิจฉาชีพอาจหลอกขายสินค้าหรือประกาศให้เช่าบ้านผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ และเมื่อเหยื่อสนใจ จะขอให้เหยื่อโอนเงินเต็มจำนวนผ่านบริการโอนเงินที่ไม่ต้องใช้เอกสารแสดงตนโดยระบุชื่อเหยื่อเป็นผู้รับเงิน ทั้งนี้ ก็เพื่อหลอกเหยื่อว่าการโอนเงินดังกล่าวเป็นเพียงการยืนยันการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการเท่านั้น แต่เมื่อเหยื่อโอนเงินพร้อมแจ้งรหัสการรับเงิน มิจฉาชีพจะรีบรับเงินนั้นออกไปทันทีโดยไม่มีสินค้าเสนอขายจริง

ในบางกรณีมิจฉาชีพอาจแอบอ้างเป็นบริษัทต่างชาติ ติดต่อไปยังเหยื่อที่ประกาศสมัครงานในอินเทอร์เน็ตแจ้งว่ารับเหยื่อเข้าทำงาน แต่เหยื่อต้องจ่ายค่าใบอนุญาตทำงานในต่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่บริษัทนั้นไม่มีอยู่จริง

ข้อสังเกต

มิจฉาชีพมักประกาศขายสินค้าดีในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก ๆ และเร่งการตัดสินใจโดยอ้างว่ามีผู้ติดต่อขอซื้อหลายรายจึงขอให้เหยื่อโอนเงินค่ามัดจำผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพราะยากต่อการติดตาม

- ขอเลขที่บัญชีเงินฝากเป็นที่พักเงิน

มิจฉาชีพจะประกาศรับสมัครงานผ่านอินเทอร์เน็ต หลอกเหยื่อว่าเป็นบริษัทต่างประเทศที่ขายสินค้าในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงขอให้เหยื่อทำหน้าที่เป็นผู้รวบรวมเงินให้ โดยอาจจ่ายค่าจ้างเป็นสัดส่วนกับเงินที่ได้รับ เช่น ร้อยละ 25 ของเงินค่าสินค้า

เมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีของเหยื่อ บริษัทจะแจ้งเหยื่อให้หักค่าจ้างไว้ แล้วโอนเงินที่เหลือทั้งหมดให้แก่บริษัทแม่ในต่างประเทศทันทีผ่านบริการโอนเงินที่ไม่ต้องใช้เอกสารแสดงตน โดยที่เหยื่อไม่รู้เลยว่า เงินที่โอนเข้ามาในบัญชีเหยื่อนั้นเป็นเงินผิดกฎหมายที่มิจฉาชีพหลอกให้คนอื่นโอนมาให้ กว่าเหยื่อจะรู้ตัวก็อาจเป็นตอนที่พนักงานธนาคารติดต่อเพื่ออายัดบัญชีของเหยื่อหรือถูกตำรวจจับแล้ว

ข้อสังเกต

หากมีการทำธุรกิจในประเทศไทยจริง บริษัทที่ทำธุรกิจนั้นสามารถเปิดบัญชีเงินฝากในประเทศไทยได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้บัญชีของบุคคลอื่นในการรับเงินจากลูกค้า นอกจากนี้ มิจฉาชีพจะให้เหยื่อโอนเงินส่งต่อให้แก่บริษัทที่ร่วมมือกับมิจฉาชีพผ่านบริการโอนเงินที่มิจฉาชีพสามารถรับเงินได้โดยไม่ต้องมีเอกสารแสดงตน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามได้

วิธีป้องกัน

1. เปิดเผยข้อมูลในโซเชียลเน็ตเวิร์คเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปแอบอ้างใช้ทำธุรกรรม

2. ควรเปลี่ยนรหัสผ่าน (password) ในการเข้าใช้บัญชีอีเมลหรือบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นประจำ

3. เมื่อได้รับการติดต่อแจ้งให้โอนเงินให้ ควรตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนโอนเงิน เช่น ติดต่อหน่วยงานที่ถูกอ้างถึงโดยตรง อาทิ กรมศุลกากร โทร. 1164 ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 1213 หรือสำนักงานตัวแทนในประเทศไทยของหน่วยงานต่างชาติ

4. ไม่โลภต่อเงินที่ไม่มีที่มา หรือผลตอบแทนที่สูงเกินจริง ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงความเป็นไปได้ในความเป็นจริง

5. ตรวจหาไวรัสในเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เพื่อป้องกันการขโมยข้อมูลการใช้งาน

6. ติดตามข่าวสารกลโกงอย่างสม่ำเสมอ

สิ่งที่ควรทำเมื่อตกเป็นเหยื่อ

1. หากถูกแอบอ้างใช้บัญชีอีเมล ควรติดต่อผู้ให้บริการอีเมลทันที เพื่อแจ้งเปลี่ยนรหัสผ่าน

2. ในกรณีที่โอนเงินให้แก่มิจฉาชีพแล้ว...

ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนและการถอนเงิน

หากไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่าง ๆ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งลงบันทึกประจำวัน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไป

แจ้งระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไปกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการ โดยสถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงจะสามารถคืนเงินได้
3. ทำใจ... เงินที่โอนไปให้มิจฉาชีพแล้ว มิจฉาชีพจะรีบถอนออกทันที ซึ่งทำให้ยากต่อการติดตาม

ที่มา: ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook