บทวิเคราะห์การประมูลคลื่น 1800MHz - ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ แล้วไงต่อ?

บทวิเคราะห์การประมูลคลื่น 1800MHz - ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ แล้วไงต่อ?

บทวิเคราะห์การประมูลคลื่น 1800MHz - ใครได้เปรียบ ใครเสียเปรียบ แล้วไงต่อ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz ของ กสทช. ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายทั้งในแง่ตัวเลขเงินที่ประมูล และความยืดเยื้อยาวนานของการประมูลที่กินเวลารวมเกือบ 2 วันเต็ม

คำถามที่หลายคนสงสัยคือคลื่น 1800MHz มีอะไรน่าสนใจ จนบรรดาโอเปอเรเตอร์ต้องต่อสู้กันดุเดือดถึงเพียงนี้ อันนี้เป็นบทวิเคราะห์ขั้นต้นแบบด่วนๆ หลังประกาศผลประมูลครับ (ข้อมูลอาจไม่ครบถ้วนนัก และวิเคราะห์ด้วยยอดรวมการประมูลของแต่ละบริษัทเท่านั้น ไม่ได้สนใจจังหวะการประมูลแต่ละขั้นตอนนะครับ)

แย่งคลื่นกันไปทำไม

คำถามแรกที่ทุกคนถามคงเป็นว่าทำไมต้องแข่งประมูลกันดุเดือดขนาดนี้ คำตอบคงขึ้นกับมุมมองของโอเปอเรเตอร์แต่ละรายด้วย (เดี๋ยวคงมีบทสัมภาษณ์ตามมาในหน้าสื่อต่างๆ) แต่ในภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายมองอนาคตของธุรกิจการสื่อสารไร้สายว่ามีแต่จะโต ขึ้น ไม่มีทีท่าจะลดลง ในขณะที่ทรัพยากรคลื่นความถี่มีจำกัด ดังนั้นความอยู่รอดทางธุรกิจในระยะยาวย่อมขึ้นกับว่าโอเปอเรเตอร์แข่งขันได้ เรื่องปริมาณคลื่นในมือมากน้อยแค่ไหน

บริการโทรคมนาคมในอดีต ผูกตัวเทคโนโลยีในยุคนั้นกับความถี่แต่ละย่าน เช่น 900/1800MHz สำหรับบริการ 2G หรือ 2100MHz สำหรับบริการ 3G ส่งผลให้คลื่นช่วงความถี่ที่ไม่ได้รับความนิยม ไม่มีมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจมากนัก (เพราะได้ไปก็อาจหาอุปกรณ์รองรับยาก เช่น True 3G 850MHz ช่วงแรกๆ) อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีโทรคมนาคม ส่งผลให้ปัจจัยเรื่องย่านความถี่ไม่เป็นปัญหามากเท่าเดิม เทคนิคการรวมคลื่นความถี่หลายย่านในการส่งข้อมูลครั้งเดียว (carrier aggregation) เริ่มถูกนำมาใช้ในวงกว้าง โดยเฉพาะใน LTE Advanced ที่จะมาถึงเราในไม่ช้า

ดังนั้น ในภาพใหญ่แล้ว โอเปอเรเตอร์ย่อมต้องการสะสมคลื่นความถี่ในมือให้มากไว้ก่อน เพื่อประโยชน์ด้านการแข่งขันในระยะยาวที่ได้เปรียบคู่แข่ง ตราบเท่าที่กำลังเงินในมือจะอำนวย

ลำดับของการประมูลคลื่นในอนาคตที่มองเห็น

เมื่อเข้าใจภาพใหญ่เรื่องการสะสมคลื่นในมือให้มากแล้ว ในรายละเอียด เราต้องมาดูกันว่าแผนการประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ในอนาคตระยะที่มองเห็นนั้นเป็นเช่นไร

ตามกำหนดของ กสทช. ปี 2558 จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 2 ครั้งคือ 1800MHz ของ True/DPC เดิม (ครั้งนี้) และ 900MHz ของ AIS 2G เดิมในเดือนธันวาคม จากนั้นจะมีคลื่นสัมปทาน 2G ล็อตสุดท้ายคือ ย่าน 850MHz/1800MHz ของ dtac ที่จะหมดสัมปทานในปี 2561 ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะได้ประมูลเมื่อไร (2561 บวกลบเล็กน้อย)

คลื่นย่านอื่นที่เหลืออยู่ในการครอบครองของหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง เช่น TOT, CAT, MCOT รวมถึงหน่วยงานด้านความมั่นคงอื่นๆ ซึ่งที่ผ่านมาก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่ค่อยอยากส่งคลื่นคืนกลับ กสทช. เพื่อจัดสรรใหม่สักเท่าไรนัก ในทางปฏิบัติแล้ว เราจึงอาจถือได้ว่าคลื่นที่ว่างและรอนำมาจัดสรรใหม่ จึงมีแค่คลื่น 3 ย่านในย่อหน้าก่อนหน้านี้

การประมูลคือความเสี่ยง การจัดประมูลคือความเสี่ยงยิ่งกว่า

ประวัติการจัดประมูลของ กสทช. ที่ผ่านมาก็มีความไม่แน่นอนอยู่หลายครั้งด้วยปัจจัยหลายประการ ตั้งแต่การประมูล 2100MHz ของ กทช. ที่ถูกล้มประมูลไป, การประมูลคลื่น 1800MHz (รอบนี้) ที่ล่าช้าอันเนื่องมาจากตัว กสทช. เองและคำสั่งเลื่อนของ คสช. หลังการรัฐประหารในปี 2557 ทำให้ภาคเอกชนมีความเสี่ยงในการปล่อยให้คลื่นภายใต้สัมปทานเดิมหมดอายุ และไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีสิทธิใช้คลื่นย่านใหม่อีก "เมื่อไร"

เพราะถ้าหากคลื่นเดิมของตัวเองหมดอายุ และไม่สามารถหาคลื่นอื่นมาทดแทนได้ล่วงหน้า นั่นอาจหมายถึงโอเปอเรเตอร์รายนั้นต้องออกจากธุรกิจนี้ไปเลยด้วยซ้ำ การซื้อกิจการ Hutch ของ True เมื่อหลายปีก่อน เกิดขึ้นด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะคลื่น 1800MHz ของ True ใกล้หมดอายุ และตอนนั้นไม่สามารถการันตีได้ว่าการประมูล 2100MHz จะเกิดขึ้นเมื่อไร

การประมูลครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน โอเปอเรเตอร์ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคลื่น 1800MHz ชุดนี้จะได้ประมูลหรือไม่ (เพราะก่อนวันประมูลก็มีสหภาพของรัฐวิสาหกิจยื่นฟ้องศาลปกครอง แม้สุดท้ายศาลจะไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราว) แถมการประมูลรอบถัดไปคือ 900MHz ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้ประมูล ถ้าพิจารณาจากข่าวที่รัฐบาลเตรียม "เช็คบิล" AIS ในฐานะคู่สัมปทานเดิมของ TOT

ทางออกที่ปลอดภัยที่สุดย่อมเป็นการคว้าคลื่นที่มองเห็นและจับต้องได้ให้ อุ่นใจไว้ก่อน ดีกว่าไปหวังน้ำบ่อหน้าที่ไม่รู้ว่าจะถูกเลื่อนอีกหรือไม่ ผมเชื่อว่าปัจจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การประมูลรอบนี้เกิดการแข่งขันสูง มาก

ผลการประมูล

เราทราบกันแล้วว่า ผลการประมูลจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่ม AIS และ True โดยมียอดตัวเลขดังนี้ (เรียงจากมากไปน้อย)

  • AIS 40,986 ล้านบาท (ชนะสล็อต 2)
  • True 39,792 ล้านบาท (ชนะสล็อต 1)
  • Jas 38,966 ล้านบาท
  • Dtac 17,504 ล้านบาท

ตัวเลขนี้สามารถวิเคราะห์แนวทางการประมูลได้คร่าวๆ ดังนี้

AIS - หลังชนฝา ยังไงก็ต้องชนะ

AIS เป็นเบอร์หนึ่งของวงการโทรศัพท์มือถือไทยมายาวนาน เหตุผลสำคัญเป็นเพราะบุกเข้ามายังตลาดนี้เป็นรายแรก ภายใต้สัมปทานคลื่น 900MHz กับ TOT

อย่างไรก็ตาม ปี 2558 นี้เป็นปีที่สัมปทานดั้งเดิมของ AIS หมดลง ส่งผลให้ AIS มีคลื่นในครอบครองเพียงย่านเดียวคือ 2100MHz ที่ชนะการประมูลมาในรอบก่อน คลื่นชุดนี้มีความกว้างเพียง 15MHz ย่อมไม่เพียงพอสำหรับการให้บริการลูกค้า AIS จำนวน 37 ล้านเลขหมาย

AIS ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องชนะการประมูล เพื่อถือครองคลื่นความถี่ชุดที่สองให้จงได้ เพราะความเสียหายจากการแพ้ประมูลย่อมรุนแรงกว่าราคาประมูลมาก

True - เดินหน้าสะสมความถี่

ปัจจุบันกลุ่ม True มีคลื่นในมืออยู่ 2 ย่านคือ 2100MHz จากการประมูล และ 850MHz จากการซื้อกิจการ Hutch และเซ็นสัญญาร่วมการงานกับ CAT แถมยังมีอายุคลื่นทั้งสองชุดเหลืออีกนาน ถ้าเทียบสถานการณ์แล้ว True ถือว่า "ชิว" ที่สุดในบรรดาผู้เข้าร่วมประมูลทุกราย

แต่อย่างที่บอกไปว่าการสะสมความถี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโอเปอเรเตอร์ยุค ถัดไป อีกทั้งคลื่น 1800MHz เป็นคลื่นชุดเดิมที่ True เคยใช้งาน (กับบริการ 2G หรือ Orange เดิม) การที่ True จะเดินหน้าลุย สู้ราคาประมูลจึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก แถมฐานะทางการเงินของบริษัทก็ดีขึ้นมาก หลังจากได้ China Telecom เข้ามาถือหุ้น และจัดทัพภายในของตัวเองใหม่ โดยตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน True GIF ที่ระดมทุนมาได้พอสมควร

Jas - น้องใหม่ไฟแรงเฟร่อ

กลุ่มจัสมิน (Jas) เป็นหน้าใหม่ของวงการโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นหน้าเก่าของวงการโทรคมนาคมไทย ตั้งแต่บริการโทรศัพท์บ้าน TT&T, บริการบรอดแบนด์ 3BB และเจ้าของคนเดียวกันยังขยายมาทำธุรกิจสื่อ (Mono) ด้วย การขยับมาทำบริการโทรศัพท์มือถือจึงเป็นส่วนต่อขยายโดยธรรมชาติของ Jas และที่ผ่านมาบริษัทก็ออกตัวชัดเจนว่าต้องการประมูลคลื่นมาทำ 4G ให้จงได้

ถึงแม้ Jas จะไม่ชนะการประมูล แต่ราคาประมูลที่แพ้แบบฉิวเฉียด (38,966 ล้านบาท) ก็เป็นหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า Jas เนี่ยแหละเป็นตัวป่วนสนาม ส่งผลให้การแข่งขันดุเดือดได้ขนาดนี้ และแสดงให้เห็นถึงความจริงจังของ Jas ที่ต้องการขยายไลน์บริการของตัวเอง ไม่ได้แค่สักแต่โม้เพียงอย่างเดียว

Dtac - ยังพอยิ้มได้ แม้หมอบไพ่ก่อน

สิ่งที่หลายคนแปลกใจคงเป็น Dtac เบอร์สองของวงการมือถือไทย ที่หยุดประมูลตั้งแต่ราคา 1.7 หมื่นล้านบาท (และนั่งเล่นรอในห้องอีกข้ามวัน) คลื่นในมือของ Dtac มีย่าน 2100MHz จากการประมูล และย่าน 850MHz/1800MHz อีกชุดที่จะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2561

การที่ Dtac ทิ้งไพ่ ไม่ยอมทุ่มเงินเพื่อชิงคลื่น 1800MHz ชุดนี้มาครอง จึงพอเข้าใจได้เช่นกันว่าอยู่ในสภาพไม่ได้ไม่เสียอะไร และในแง่ของการเงินอาจดีด้วยซ้ำที่ไม่ต้องประมูลคลื่นแพง เพราะ Dtac ยังมีเวลาหายใจไปอีกราว 3 ปีก่อนคลื่นของตัวเองจะหมดอายุ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลานั้นมาถึง Dtac จะมีสภาพคล้ายกับ AIS ในการประมูลรอบนี้ คือหลังชนฝาไม่เหลืออะไรแล้ว ต้องทุ่มสุดตัวเอาคลื่นมาให้ได้ ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาคือการประมูลคลื่น 900MHz ในเดือนธันวาคม ที่ Dtac น่าจะเอาจริงมากขึ้นกว่ารอบนี้

ก้าวต่อไป จะเกิดอะไรขึ้นในการประมูลคลื่น 900MHz

เหตุการณ์ช็อตต่อไปที่ต่อเนื่องกับการประมูลคลื่น 1800MHz รอบนี้ คือคลื่น 900MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม โดยมีรูปแบบคล้ายกันคือประมูล 2 ใบอนุญาต (ช่วงกว้างคลื่น 10MHz ต่อใบอนุญาต) ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 รายจะเหมือนกับการประมูลรอบนี้

ฉากทัศน์ (scenario) ที่เป็นไปได้มี 2 แนวทาง

  • การแข่งขันลดความรุนแรงลง เนื่องจาก AIS และ True ได้คลื่น 1800MHz ไปแล้ว ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการไม่มีคลื่นสะสมในมือ และสองรายข้างต้นใช้เงินกับการประมูล 1800MHz ไปมากพอสมควรแล้ว
  • การแข่งขันรุนแรงเหมือนเดิม ด้วยเหตุผลว่าโอเปอเรเตอร์ทุกรายยังต้องการสะสมคลื่นเหมือนเดิม

คำตอบคงขึ้นกับสภาพการแข่งขันของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 4 ราย แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าสภาพการณ์จะคล้ายการประมูลครั้งนี้ (แต่อาจลดความเข้มข้นลงมาเล็กน้อย) นั่นคือ AIS จะเอาคลื่นเพิ่มอีก (ยิ่งเป็น 900MHz เดิมที่ตัวเองเคยใช้งาน) ส่วน Jas จะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วถ้าต้องการเข้าสู่ตลาด 4G ในปีนี้ (เพราะไม่รู้ว่าประมูลงวดหน้าเมื่อไร) แถมเรายังเห็น "หน้าตัก" ของ Jas แล้วว่าสามารถทุ่มได้เกือบ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นในการประมูลงวดหน้า Jas น่าจะสู้ไม่ถอยอย่างแน่นอน

ส่วนกรณีของ Dtac จะรับความกดดันสูงขึ้น เพราะพลาด 1800MHz มาแล้ว เพื่อความปลอดภัยควรครอง 900MHz ให้ได้สักใบ จะดีกว่าการมีแค่คลื่น 2100MHz แล้วไปรอคลื่น 1800MHz ของตัวเองหมดอายุสัมปทาน สุดท้ายคือ True ดูจะสบายใจที่สุด เพราะมีคลื่นในมือแล้ว 3 ย่าน (850/1800/2100) ถ้าได้ 900MHz มาอีกก็จะยิ่งแข็งแกร่ง แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เสียหายอะไรมาก

ราคาประมูลแพง ค่าบริการจะแพงด้วยหรือไม่?

คำถามอีกข้อที่คนถามกันมากคือโอเปอเรเตอร์แข่งกันกดราคาคลื่นจนแพงกว่าที่คาดมาก ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน

ถ้าใช้ทฤษฎีการแข่งขันมาอธิบาย ต้องบอกว่าค่าบริการจะถูกหรือแพง ขึ้นกับสภาพการแข่งขันในตลาด (competition) เป็นหลัก ต่อให้ประมูลคลื่นมาแพง แต่ถ้าสภาพการแข่งขันสูง ราคาจะลดลงมาเองโดยธรรมชาติ ในทางกลับกัน ต่อให้คลื่นถูกประมูลได้ในราคาถูก แต่ถ้าสภาพการแข่งขันน้อย บริษัทก็จะรวมหัวกัน "ฮั้วค่าบริการ" แบบอ่อนๆ เพื่อกินส่วนต่างกำไรที่ดีกว่า

ดังนั้นถ้าหากว่า Jas เกิดชนะการประมูล 900MHz ขึ้นมา และส่งผลให้โอเปอเรเตอร์ไทยเพิ่มจาก 3 เป็น 4 ราย สภาพการแข่งขันในตลาดย่อมเยอะขึ้นไปด้วย แต่ถ้า Jas แพ้ประมูลอีก สภาพการแข่งขันก็จะเหมือนเดิม (ในแง่นี้ก็ควรเชียร์ให้ Jas ชนะประมูลนะครับ เพื่อการแข่งขันที่มากขึ้น)

นอกจากนี้ยังมีประเด็นว่าทุกวันนี้เราไม่ได้ใช้บริการโทรศัพท์บนคลื่นชุด เดียว (เช่น True ให้บริการ 3G บนคลื่น 850MHz และ 4G บนคลื่น 2100MHz) ซึ่งคลื่นแต่ละย่านมีที่มาที่ไป มีต้นทุนแตกต่างกัน การคิดมูลค่าการประมูลคลื่นย่านเดียวกับแพ็กเกจค่าบริการทั้งหมด อาจไม่ถูกต้องนัก และในทางปฏิบัติแล้ว ค่าคลื่นเป็นแค่ต้นทุนส่วนหนึ่งของโอเปอเรเตอร์เท่านั้น ยังมีต้นทุนค่าดำเนินการ (operating cost) มาเป็นปัจจัยร่วมด้วยเช่นกัน

ส่วนการประมูลคลื่นในราคาแพง จะส่งผลต่อกำไรของบริษัทและปันผลที่จะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นหรือไม่ อันนี้คงเป็นเรื่องของผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่จะประเมินความเสี่ยงในการลงทุน ของตัวเองครับ

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย: MK

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook