ระวัง ! ก่อน "ไลก์-แชร์-คลิก" มองสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทย

ระวัง ! ก่อน "ไลก์-แชร์-คลิก" มองสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทย

ระวัง ! ก่อน "ไลก์-แชร์-คลิก" มองสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

       ปัจจุบัน "อินเทอร์เน็ต" กลายเป็นโลกใบใหญ่ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นมากผ่านสมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ ที่มีราคาถูกลงมาก ส่งเสริมให้การใช้งานก้าวกระโดด เมื่อรวมเข้ากับกระแสความนิยมในการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก การตระหนักรู้ถึงสิทธิเสรีภาพในการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม

       เมื่อเร็ว ๆ นี้ "มูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ต และวัฒนธรรมพลเมือง" จัดสัมมนาเกี่ยวกับสถานการณ์เสรีภาพอินเทอร์เน็ตไทยปี 2558 รวมถึงคาดการณ์ปี 2559

       โดย "อานนท์ ชวาลาวัณย์" เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลกฎหมาย และคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) กล่าวว่า หลังรัฐประหารปี 2557 มีประชาชนถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ม.112 ของประมวลกฎหมายอาญาจากการ กระทำบนโลกออนไลน์ 42 ราย มาจากการใช้เฟซบุ๊ก 17 คดี, ทำรายการวิทยุออนไลน์ 17 คดี, สร้างเว็บไซต์ 14 คดี และใช้โลกออนไลน์เพื่อจัดกิจกรรมอื่น ๆ อีก 4 ราย แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในการใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นชัดเจน

       "เรากำลังติดตามตัว กม.อาญา ม.112, 116 และ 326 กับ 328 พร้อมกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ม.14, 15 เพราะค่อนข้างเซนซิทีฟ และเสี่ยงต่อผู้บริโภค แค่กดไลก์เฟซ บุ๊กก็ถือว่าผิดต่อกฎหมาย แม้เจตนาการ กดไลก์แค่อยากติดตามข้อมูล ไม่ใช่เผยแพร่ต่อ และไม่ได้หมายความว่าคนกดเห็นด้วยก็ตาม ดังนั้นในปี 2559 ผู้บริโภคจึงต้องระมัดระวังการใช้บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และคนรอบข้าง"

       "เฟซบุ๊ก" และบริการบนโลกออนไลน์อื่น ๆ ยังเป็นบริการที่ซ้อนอยู่ในระบบของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ใช้กฎหมายนำ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ม.14 ที่เกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่จริงมาใช้งานได้ ดังนั้นถึงผู้ใช้เฟซบุ๊ก และบริการอื่น ๆ จะไม่ได้นำเข้าข้อมูลที่เสี่ยงต่อการผิดกฎหมายด้วยตนเอง แต่ถ้ามีเพื่อนหรือใครก็ตามมาโพสต์ข้อความไว้จะเสี่ยงผิดต่อกฎหมาย เช่น กรณีเพจเว็บไซต์ประชาไทที่ปล่อยข้อความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้เกิน 20 วัน ทำให้โดนฟ้อง

       "ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์" นักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องศึกษา และทำความเข้าใจกฎหมายบนโลกออนไลน์มากขึ้น เพื่อระมัดระวังตนเองในเบื้องต้น ถ้าผู้เข้าจับกุมไม่มีหมายศาลก็ไม่สามารถเข้าจับกุม และร้องขอพาสเวิร์ดที่ใช้บนโลกออนไลน์ได้ เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นสามารถใช้มาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฟ้องกลับได้ทันที ที่สำคัญหากถูกจับกุม และใช้งานโซลูชั่นของไมโครซอฟท์ เจ้าของผลิตภัณฑ์พร้อมเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ให้กับคนที่ร้องขอทันที


       ด้าน "พิรงรอง รามสูต รณะนันท์" ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ไม่ใช่แค่การละเมิดสิทธิ์การใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภค แต่อุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็เป็นอีกเรื่องในปี 2559 ที่จะทำได้ยากขึ้น จากการเซ็นเซอร์ในทุกช่องทางของผู้ใช้อำนาจกฎหมาย, การสอดส่อง และการใช้กฎหมายในรูปแบบที่ไม่ควรเป็น นอกจากนี้ การเข้าถึงเนื้อหาต่างประเทศยังมีขีดจำกัด เพราะมี กสท โทรคมนาคมรายเดียวที่มีเคเบิลใต้น้ำ และมีฟิลเตอร์เพื่อเน้นปิดเว็บต่างประเทศ

       "ตอนนี้องค์กรต่าง ๆ ที่ดูแลกิจการเกี่ยวกับโทรคมนาคมเริ่มลงมาทำอะไรกับคอนเทนต์ที่วิ่งผ่านโครงข่ายของตนเองมากขึ้น เช่น กสทช.เริ่มเข้ามาบล็อกคอนเทนต์ ทั้งที่หน้าที่ กสทช.คือ การกำกับกิจการให้แข่งขันอย่างเป็นธรรม และคุ้มครองผู้บริโภค มีกระทรวงวัฒนธรรมที่เข้ามาควบคุมการเข้าถึงเนื้อหา เช่น กรณีห้ามจำหน่าย เกม Tropico 5 ที่จำลองผู้เล่นเป็นกลุ่มเผด็จการมาปกครองประเทศ ทำให้ต่างชาติกลัว และไม่มาลงทุนศูนย์ข้อมูล แม้ไทยจะมีผู้ใช้เยอะ และโลเกชั่นดีก็ตาม"

       ดังนั้น การใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคควรเซ็นเซอร์ตนเองก่อนที่จะแสดงความเห็น หรือกดไลก์โพสต์เพื่อป้องกันความเสี่ยงระดับเริ่มต้น จากข่าวในเว็บไซต์วิกิลีกส์แสดงให้เห็นว่ากองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจัดซื้อระบบสอดส่องข้อมูลจาก "แฮกกิ้งทีม" ทำให้แม้ข้อมูลบนโลกออนไลน์จะเข้ารหัสไว้ แต่ถ้ามีโซลูชั่นนี้แฝงเข้าไปติดตั้งในคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนการเข้ารหัสจะไร้ประโยชน์

       "อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล" กรรมการมูลนิธิเพื่ออินเทอร์เน็ต และวัฒนธรรมพลเมือง เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์บนโลกออนไลน์แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของผู้บริโภค ทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการพยายามหาข้อเท็จจริง เช่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ และกฎหมายดิจิทัล ซึ่งมูลนิธิยังยืนยันการกดไลก์ไม่ใช่การกระทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่การเผยแพร่เนื้อหาซ้ำ ดังนั้นไม่ได้เข้าข่ายกระทำผิดม.112 และ116


       และการแชร์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ยังเป็นอีกวิธีในการค้นหาความจริง ไม่เข้าข่ายกระทำผิดตาม ม.112 และ 116 เช่นกัน และยิ่งประเทศไทยอยู่ในภาวะไม่ปกติ การตรวจสอบโดยประชาชนยิ่งต้องเกิดขึ้น ดังนั้นการนำ ม.14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาใช้อ้างเป็นความผิดทางหมิ่นประมาทยิ่งต้องไม่เกิดขึ้น เพื่อให้การใช้อินเทอร์เน็ตของผู้บริโภค และองค์กรต่าง ๆ ทำได้อิสระตามกรอบสิทธิพลเมือง และมนุษยชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook