ราคาของ "ผู้ชนะ-ผู้แพ้"

ราคาของ "ผู้ชนะ-ผู้แพ้"

ราคาของ "ผู้ชนะ-ผู้แพ้"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ราคาของ "ผู้ชนะ-ผู้แพ้" โดย เชอรี่ประชาชาติ cheryd@gmail.com

อย่างที่รู้กันว่าผลการประมูลคลื่น 900 MHz ที่ 4 บริษัท อันประกอบด้วย 3 ค่ายมือถือเดิม เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ เอช และอีกหนึ่งน้องใหม่แต่ไม่ใช่หน้าใหม่ในสังเวียนโทรคมนาคม คือ "แจสโมบาย บรอดแบนด์" ที่ต่อสู้ขับเคี่ยวแบบไม่มีใครยอมใครจนล่วงเข้าวันที่ 4 ของการประมูล และปิดฉากลงที่การเคาะราคารอบที่ 1,900 ณ เวลา 00.15 น. วันที่ 19 ธ.ค. 2558 นั้น ผลที่ออกมาสร้างเซอร์ไพรส์ไม่เฉพาะกับคนทั่วไปเท่านั้นแต่รวมถึงผู้เข้าประมูลเองด้วย

ผู้ชนะ 2 ราย เป็น "แจส" และ "ทรู"

หมายความว่า "เอไอเอสและดีแทค" มือวางอันดับหนึ่งและสองปัจจุบันตกอยู่ในสถานะผู้ปราชัย

"พิชญ์ โพธารามิก" แม่ทัพกลุ่มจัสมินยอมรับว่า แปลกใจที่รู้ว่าอีกหนึ่งผู้ชนะ เป็น "ทรู" ไม่ใช่ "เอไอเอส"

ราคาเคาะสุดท้ายของ "เอไอเอส" อยู่ที่ 75,976 ล้านบาท ในไลเซนส์ที่ 2 น้อยกว่า "ทรูมูฟ เอช" ที่ชนะไปในราคา 76,298 ล้านบาท แค่ 322 ล้านบาท หรือเพียงเคาะเดียวเท่านั้น

เคาะเดียวเปลี่ยนชีวิต ทำให้ "เอไอเอส" ที่ใครๆ คาดคิดว่าต้องชนะกลายเป็นผู้แพ้ซะงั้น

ฟาก "ดีแทค" หนนี้สู้ขาดใจ เคาะราคาสุดท้ายที่ 70,180 ล้านบาท ในไลเซนส์ที่ 1 ต่างจากเมื่อครั้งประมูล 1800 MHz ลิบลับ ครั้งโน้นเคาะไม่กี่ครั้งก็หมอบ

ทำไมทั้ง 4 รายถึงสู้ยิบตาเพื่อชิงคลื่น 900 MHz

เพราะคลื่นความถี่ต่ำ (Low Band) มีคุณสมบัติทางเทคนิคครอบคลุมกว้างไกลทะลุทะลวงกว่าความถี่สูง ๆ เช่น 1800 MH หรือ 2100 MHz ทำให้ประหยัดต้นทุนในการลงทุนขยายโครงข่ายมากกว่า

ประกอบกับเงื่อนไขการชำระเงินค่าประมูลยืดหยุ่นกว่าครั้งที่แล้วมาก แบ่ง 4 งวด โดย 3 งวดแรกคิดจากมูลค่าคลื่น 100% ที่ 16,080 ล้านบาท จึงแบ่งจ่ายงวดแรก 50% ที่ 8,040 ล้านบาทงวดที่สองและสามที่ 25% งวดละ 4,020 ล้านบาทเท่านั้น ไปตกหนักงวดสุดท้ายในปีที่ 4

2 ผู้ชนะบอกตรงกันว่า เป็นเงื่อนไขที่จูงใจให้กล้าสู้ราคาและเอื้อรายใหม่

การแข่งขันครั้งนี้ทำให้ภาครัฐได้เงินค่าประมูลสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท สูงกว่าคลื่น 1800 MHz ที่ได้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ก็ว่ามากแล้วมาก

บ้างก็ว่าเป็น "ทุกขลาภ" ของ "ผู้ชนะ" เพราะไม่ใช่แค่ต้องแบกหนี้หลังแอ่นเท่านั้น แต่ยังต้องใส่เงินลงทุนอีกหลายหมื่นล้านติดตั้งโครงข่ายเพื่อทำให้คลื่นที่ได้พัฒนาเป็นบริการเพื่อสร้างรายได้คืนมาด้วย

เฉพาะการลงทุนโครงข่าย "แจส" ประกาศว่า จะใช้เงิน 20,000 ล้านบาท ใน 3 ปี ส่วน "ทรูมูฟ เอช" ตั้งไว้ที่ 55,000 ล้านบาท ใน 3 ปีเช่นกัน แม้ทั้งคู่จะพยายามอธิบายว่า มีหลายช่องทางที่จะหาเงินมาจ่ายค่าประมูลและลงทุน แต่หลายฝ่ายก็ยังมองว่า เป็นภาระที่หนักหนา(มาก)

เทียบสถานะทางการเงินของทั้ง 4 เจ้าแล้ว "แจส และทรู" เป็นรอง "เอไอเอสและดีแทค" (มาก)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ทรูมูฟ เอช" ก่อนหน้านี้ก็ประมูลได้คลื่น 1800 MHz ไปแล้ว ในราคา 39,792 ล้านบาท รวม 900 MHz อีกใบในราคาทะลุโลก เบ็ดเสร็จแสนกว่าล้านบาท !!!

บ้างก็ว่า ราคาที่ 7 หมื่นล้านสำหรับคลื่น 900 MHz เป็นราคาที่สูงที่สุดในโลก

"ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กล่าวว่า ผลการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ตามรายงานประเมินมูลค่าคลื่น พบว่าค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz สูงที่สุดในโลกอยู่ที่ 67,802 ล้านบาทต่อใบอนุญาตที่มีแถบคลื่น 10 MHz และราคาถูกสุดอยู่ที่ 779 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 17,659 ล้านบาท ถ้าเปรียบเทียบเฉพาะในเอเชีย-แปซิฟิก ราคาเฉลี่ยจะอยู่ราว 21,855 ล้านบาทต่อใบอนุญาตขนาด 10 MHz

"ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา" กรรมการ กสทช.ให้ความเห็นว่า รายงานของ ITU ไม่สามารถยืนยันได้ว่าราคาประมูลของไทยแพงที่สุด เพราะอาจมีประเทศที่แพงกว่าแต่ไม่ได้มีการนำมารวมในการศึกษาครั้งนี้ แต่เหตุผลที่ทำให้ราคาประมูลของไทยสูงมาก นอกจากทุกโอเปอเรเตอร์ต้องการสกัดคู่แข่งออกจากตลาดแล้ว ยังมีเหตุผลเรื่องคลื่นความถี่ที่แต่ละรายมีน้อยกว่าประเทศอื่น เช่น "เอไอเอส" มีคลื่นรวมแค่ 30 MHz ส่วน "ดีแทค" แม้มีคลื่นในมือมากกว่าใคร แต่ก็เป็นคลื่นในระบบสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุในอีก 3 ปี ถ้านับเฉพาะคลื่นในระบบใบอนุญาตมีแค่ 15 MHz

ฟาก "ทรูมูฟ เอช" มีคลื่น 30 MHz ในระบบใบอนุญาต หากต้องการก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาดต้องมีคลื่นมากขึ้น ขณะที่ "แจส" ยังไม่มีคลื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเข้าสู่ธุรกิจโมบายล์

อย่างไรก็ตาม "แจสและทรูมูฟ เอช" ให้เหตุผลคล้ายกันว่า "ราคา" ที่จ่ายไม่ใช่เพื่อซื้อ "คลื่นความถี่" แต่เป็นการซื้ออนาคต จึงไม่ได้มองว่า "แพงเกินไป"

"ผมคิดว่าทุกคนคงประเมินมาหมดแล้วก่อนที่จะเข้าประมูล เราเองก็ศึกษามาเยอะ รายอื่นที่หมอบก็คงถึงจุดที่เป็นลิมิตของเขาแล้ว รายอื่นได้คลื่นนี้ไปอาจไม่ได้ทำให้รายได้เพิ่มเข้ามามาก เป็นการรักษาฐานลูกค้ามากกว่า ต่างจากเราที่ยังไม่มีลูกค้า ทุกอย่างจึงเป็นสิ่งที่จะได้เพิ่มเข้ามา มุมมองแต่ละรายต่างกัน การได้คลื่น 900 สำหรับแจสยังถือเป็นก้าวที่สำคัญ จากนี้ไปเราไม่ต้องห่วงความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีอีกแล้ว เพราะไม่ได้มีแต่ฟิกซ์บรอดแบนด์ ที่ผ่านมาคนชอบถามว่า อีกหน่อยเราจะเจ๊งไหม เมื่อผู้บริโภคหันไปใช้งานโมบายล์ ตอนนี้เรามีครบแล้ว"

เช่นกันกับ "ศุภชัย-กลุ่มทรู" แม้จะยอมรับว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าความถี่ที่สูงกว่า 7 หมื่นล้านบาทนี้เพิ่มความเสี่ยงให้บริษัท แต่เป็นความเสี่ยงที่พิจารณาแล้วว่าบริหารจัดการได้

"ถ้าเราจะสามารถเติบโตต่อเนื่องก็ต้องมีการลงทุน การลงทุนมีความเสี่ยง แต่เราบริหารได้ และมั่นใจว่านี่คือโอกาส"

จะถูก จะแพง หรือคุ้มค่า เป็นโอกาสหรือความเสี่ยง ระหว่างผู้ชนะกับผู้แพ้ (ประมูล) ย่อมคิดแตกต่างกัน แต่เกมนี้ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ...เหนื่อยทั้งคู่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook