เที่ยวเมืองนอก "บิลไม่ช็อก" "แชะ-แชต-แชร์" สบายใจ

เที่ยวเมืองนอก "บิลไม่ช็อก" "แชะ-แชต-แชร์" สบายใจ

เที่ยวเมืองนอก "บิลไม่ช็อก" "แชะ-แชต-แชร์" สบายใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปีนี้มีวันหยุดยาวหลายช่วงทำให้หลายคนคงวางแผนเดินทางไปพักผ่อนหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ในต่างประเทศ และ "อินเทอร์เน็ต" กลายเป็นอีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์กครองใจสาวกสมาร์ทโฟนเช่นทุกวันนี้ เพราะทั้งตรวจสอบเส้นทาง หาข้อมูลท่องเที่ยวตั้งแต่สถานที่ การเดินทาง ที่พัก รวมถึง "แชะ-แชต-แชร์"

"ประชาชาติธุรกิจ" จึงรวบรวมรูปแบบการใช้อินเทอร์เน็ตในต่างประเทศมาเสนอ

- ดาต้าโรมมิ่งจากเมืองไทย

ถ้าหวังใช้ฟรี WiFi ตามสถานที่เที่ยวหรือโรงแรมอาจเสี่ยงที่จะผิดหวังได้ แต่ถ้าสมัครใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติหายห่วง มีให้เลือกได้ทั้งโทร.ออก-รับสาย (Voice Roaming) และโมบายอินเทอร์เน็ต (Data Roaming) โดยเลือก "เปิด-ปิด" เพื่อเลือกใช้เฉพาะบางบริการได้ ซึ่งผู้ให้บริการแต่ละรายมีเงื่อนไขในการใช้งานแตกต่างกัน เช่น ถ้าใช้บริการรายเดือน (โพสต์เพด) ไม่ถึง 4 เดือน ต้องติดต่อศูนย์บริการเพื่อขอเปิดใช้งาน แต่ถ้าใช้งานมานานแล้ว แจ้งขอเปิดใช้ได้ผ่านคอลเซ็นเตอร์

สำหรับผู้ใช้บริการพรีเพดทั้ง 3 ค่าย เปิดให้บริการอัตโนมัติ ฉะนั้นถ้าต้องเดินทางไปต่างประเทศอย่าลืมโทร.แจ้งคอลเซ็นเตอร์ให้ปิดระบบด้วย ถ้าไม่อยากใช้งาน

ส่วนแพ็กเกจดาต้าโรมมิ่งต่างมีแพ็กเกจประเภทใช้ไม่อั้น ไม่จำกัดปริมาณให้เลือกเหมาะกับผู้ที่นิยม "แชะ-แชต-แชร์" รวมถึงใช้แผนที่นำทางแบบเรียลไทม์ เพื่อจะได้ปลอดภัยจากปัญหา "บิลช็อก"

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการแต่ละรายมีเงื่อนไขปลีกย่อยที่ต่างกัน อาทิ ต้องเลือกใช้ให้ตรงกับเครือข่ายที่ระบุไว้ในแพ็กเกจ การนับเวลาตามแพ็กเกจ โดย "เอไอเอส-ทรูมูฟ เอช" นับ 24 ชั่วโมงตั้งแต่เริ่มสมัคร "ดีแทค" คิดเป็นวันสิ้นสุดเที่ยงคืน

นอกจากนี้การใช้แพ็กเกจแบบใช้ไม่อั้น ไม่ว่าจะใช้ชื่อว่า Unlimited, Non-Stop ในหลายแพ็กเกจจะจำกัดปริมาณการใช้งานที่จะใช้ด้วยความเร็วสูงสุดได้ ดังนั้นถ้าดาวน์โหลดอัพโหลดเกินที่กำหนดความเร็ว อินเทอร์เน็ตก็จะลดลง

ดังนั้นนอกจาก "ราคา" แล้ว ผู้ใช้ควรศึกษาเงื่อนไขการใช้งานอย่างละเอียดก่อนเดินทางทุกครั้ง เพราะหากเชื่อมต่อผิดเครือข่ายหรือใช้เลยเวลาที่แพ็กเกจระบุไว้ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่จะแพงมาก

ที่สำคัญ แต่ละค่ายมือถือจะมีโปรโมชั่นใหม่ ๆ และค่าบริการถูกเป็นพิเศษในบางประเทศหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา หากได้เปรียบเทียบอย่างถี่ถ้วนก่อนออกเดินทาง จะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก

ตามไปดูสารพัดแพ็กเกจ

แพ็กเกจดาต้าโรมมิ่ง "เอไอเอส" แบบ Non-Stop ให้บริการใน 80 ประเทศ แบ่งค่าบริการเป็น 3 โซน ได้แก่ โซน A วันละ350 บาท (3 วัน 950 บาท 5 วัน 1,400 บาท) โซนนี้มีประเทศฮิตของนักท่องเที่ยวไทย เช่นเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, มาเก๊า, ฮ่องกง, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, ลาว และกัมพูชา

โซน B วันละ 450 บาท (3 วัน 1,300 บาท5 วัน 2,000 บาท) สำหรับการใช้งานในประเทศจีน ญี่ปุ่น ทุกเครือข่าย และเมียนมา ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่เหลืออยู่ในโซน C ค่าบริการวันละ 499 บาท แพ็กเกจ 1 วันนี้จะใช้ความเร็วสูงสุดได้ในปริมาณ 500 MB ถ้าเกินความเร็วจะเหลือ 64 Kbps นับเวลาครบวันแบบ 24 ชั่วโมง ตามเวลาประเทศไทย

ส่วนแพ็กเกจของ "ดีแทค" Non-Stop Data Roaming มีให้บริการใน 15 ประเทศ เริ่มต้นวันละ 280 บาท สำหรับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ส่วนจีน และแถบยุโรป อยู่ที่ 450 บาทต่อวัน โดยแพ็กเกจแบบ 1 วัน คิดค่าบริการเมื่อมีการใช้ดาต้าโรมมิ่งในต่างประเทศ แต่แพ็กเกจอื่น รวมถึงแพ็กเกจสำหรับพรีเพดคิดค่าบริการทันทีที่สมัครใช้งาน

ฟาก "ทรูมูฟ เอช" มี Non-Stop เริ่มต้นวันละ 320 บาท (3 วัน 855 บาท 5 วัน 1,400 บาท 7 วัน 1,960 บาท) สำหรับญี่ปุ่น ฮ่องกง ส่วนโซนเอเชียวันละ 333 บาท(3 วัน 950 บาท 5 วัน 1,550 บาท 7 วัน2,150 บาท) ส่วนแบบพรีเพดกำลังมี

โปรโมชั่นสิงคโปร์ วันละ 99 บาท (3 วัน 295 บาท) เกาหลีใต้ 1 วัน 150 บาท (3 วัน450 บาท 5 วัน 450 บาท) คิดค่าบริการตามวันแบบครบ 24 ชั่วโมง เริ่มนับตั้งแต่ได้ SMS ยืนยันการสมัครใช้งาน

ซิมพิเศษ-บริการพิเศษ

นอกจากโรมมิ่งธรรมดาแล้ว แต่ละค่ายยังมีรูปแบบบริการใหม่ ๆ สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ อาทิ "VoWiFi" ของดีแทค

"ปริศนา รัตนสุวรรณศรี" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานการตลาดธุรกิจโพสต์เพดบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ลูกค้าเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานโรมมิ่งไปจากเดิม เนื่องจากมีบริการใหม่ เช่น แอปแชต และแอปคุยแบบ VoIP ค่ายมือถือจึงต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากรายได้โรมมิ่งลดลง ดีแทคลดลงราว 8.8% ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 1,336 ล้านบาท

"ดีแทคไม่ได้มีแค่แพ็กเกจดาต้าโรมมิ่งอันลิมิเต็ด แต่ทำ VoWiFi หรือเปลี่ยนสัญญาณไวไฟทั่วโลกให้เป็นสัญญาณมือถือของดีแทค เป็นรายแรกในไทย และรายที่ 6 ของโลก การโทร.รูปแบบนี้จะเหมือนการใช้งานในไทย เช่น กด 02, 08, 09 หรือเบอร์ 4 ตัว แล้วกดโทร.ออกได้ทันที ค่าบริการคิดตามแพ็กเกจปกติที่ใช้อยู่ แต่ด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยีจึงใช้ได้แค่สมาร์ทโฟนซัมซุงรุ่นไฮเอนด์ ปัจจุบันมีผู้ใช้ 3,000-4,000 เลขหมาย"

ทั้งอัพเกรดการเชื่อมต่อ Voice แบบ HD และดาต้าแบบ 4G รวมถึงมีบริการ Unlimited Voice และดาต้าโรมมิ่งในอีก 5 ประเทศ คือ เมียนมา, กัมพูชา, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา พร้อมประกันคุ้มครอง 24 ชม. ในกลุ่มผู้ใช้ Blue Member

ส่วน "เอไอเอส" มีซิมพิเศษ "Sim2Fly" สำหรับใช้ในต่างประเทศ ค่าบริการถูกกว่าโรมมิ่ง ฟาก "ทรูมูฟ เอช" มีบริการเบอร์ไทย-แดนมังกร สำหรับผู้ที่ไปจีนบ่อย ๆ



เช่า Pocket WiFi

อีกวิธีที่เตรียมตัวได้จากเมืองไทย หรือ ณ สนามบินปลายทาง ซึ่งประหยัดมากสำหรับผู้ที่เดินทางเป็นกลุ่ม คือ การเช่า Pocket WiFi เพื่อแชร์ใช้อินเทอร์เน็ต

เดิมนักเดินทางต้องหาข้อมูลจากบรรดาผู้ให้บริการในต่างประเทศแล้วไปติดต่อที่เคาน์เตอร์บริการ ณ สนามบินประเทศปลายทางเพื่อขอเช่าใช้ ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องสื่อสาร บ้างก็เครื่องหมด และเคาน์เตอร์ปิดเป็นต้น ปัจจุบันจึงมีหลายบริษัทในไทยอำนวยความสะดวกให้ด้วยการให้เช่า และรับเครื่องได้ที่เมืองไทย โดยเฉพาะในประเทศยอดฮิตของนักท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น หรือฮ่องกง มีผู้ให้บริการหลายรายให้เปรียบเทียบราคาและการบริการได้

ค่าเช่าอยู่ราว 130-350 บาทต่อวัน แตกต่างกันตามจำนวนคนที่แชร์ใช้งานต่อเครื่อง มีตั้งแต่ 2-10 คน วิธีนี้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เพียงแต่ควรสำรวจรีวิวจากผู้ใช้งานจริง รวมถึงลองติดต่อเพื่อเปรียบเทียบการบริการของแต่ละเจ้า เนื่องจากผู้เช่าต้องวางเงินมัดจำเครื่องไว้หลักพันบาท

ซื้อซิมท้องถิ่นในแต่ละประเทศ

นอกจากการเช่า Pocket WiFi แล้ว นักท่องเที่ยวที่ศึกษาข้อมูลก่อนเดินทางจำนวนไม่น้อยมักเลือกใช้วิธีซื้อซิ มการ์ดโทรศัพท์มือถือของค่ายมือถือในประเทศปลายทางเนื่องจากราคาถูกกว่าใช้ บริการโรมมิ่งโดยเฉพาะผู้ที่ต้องนำโทรศัพท์กลับไทย หรือติดต่อกับเลขหมายในประเทศปลายทางบ่อย ๆ รวมถึงค่าดาต้าด้วย ทั้งไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่ Pocket WiFi จะหมด หรือต้องเดินเที่ยวแบบเกาะกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่มีเคาน์เตอร์ให้ซื้อได้ที่สนามบินหรือตามร้านสะดวกซื้อ แต่อาจมีปัญหาเรื่องการแสดงลงทะเบียนเปิดใช้งาน หรือสื่อสาร

ปัญหานี้มีทางออกด้วยหลายบริษัทนำซิมการ์ดในประเทศฮิตมาขายในไทย ราคาเริ่มต้น 300 กว่าบาท ตามแพ็กเกจการใช้งานของซิม

ป้องกันเน็ตรั่ว-บิลช็อก

เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะใช้ อินเทอร์เน็ตในต่างประเทศด้วยวิธีไหนและตัดสินใจไม่ใช้บริการโรมมิ่งก็อย่า ลืมปิดระบบบนมือถือที่พกไปเที่ยวด้วย

"ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา"
กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ผู้ใช้สั่งปิดระบบดาต้าโรมมิ่งได้เอง โดยกดหมายเลข *106# แล้วโทร.ออก เพื่อป้องกันปัญหาบิลช็อก

"คนที่ต้องการใช้ดาต้าโรมมิ่ง มีข้อแนะนำ คือ 1.ศึกษาว่าประเทศที่ไปมีแพ็กเกจอะไรบ้าง ควรเลือกแบบเหมาวัน เพราะควบคุมค่าใช้จ่ายได้ แต่ต้องศึกษาว่า เงื่อนไขการนับวันอย่างไร 2.แพ็กเกจที่ระบุว่าต้องใช้เครือข่ายใด ให้เลือกใช้ด้วยตนเอง ไม่ควรใช้ระบบค้นหาอัตโนมัติ เมื่อเดินทางไปในเขตรอยต่อระหว่างประเทศ ควรตรวจสอบเครือข่ายให้ดีว่าเครื่องเลือกใช้เครือข่ายเดิมหรือไม่ และ 3.หากใช้ WiFi ฟรี ก็ควรปิดดาต้าโรมมิ่ง เพราะบางครั้งสัญญาณ WiFi ไม่เสถียร การเชื่อมต่อหลุด ทำให้เครื่องไปใช้การโรมมิ่งแทน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook