Robot Revolution: หุ่นยนต์ปฏิวัติโลก

Robot Revolution: หุ่นยนต์ปฏิวัติโลก

Robot Revolution: หุ่นยนต์ปฏิวัติโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์อุบัติขึ้นเป็นช่วงคลื่น ซึ่งซัดสาดเข้ามาเต็มแรงก่อนจะหายไปและทิ้งไว้เพียงร่องรอยแห่งการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมอย่างไม่มีวันหวนกลับ ที่ผ่านมาเราได้ประสบกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พกพา อาทิ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ซึ่งได้เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตคนหมู่มากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่มีผู้วิเคราะห์ว่าในวันนี้เรากำลังอยู่ในช่วงท้ายของ "การปฏิวัติมือถือ" ดังนั้นคำถามคือ อะไรที่จะเกิดขึ้นตามมา?


   คำตอบคือ "หุ่นยนต์" เพียงแต่ว่าไม่ใช่หุ่นยนต์แสนรู้อย่าง R2D2 ในจักรวาล Star Wars, Optimus Prime ใน Transformer หรือหุ่นแม่บ้านที่พร้อมปัดกวาดเช็ดถูห้องยามที่เรากำลังวุ่นวายกับงานที่ออฟฟิศ แต่คือหุ่นยนต์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเรา และคอยทำงานอยู่เบื้องหลังในหลายด้าน ทั้งขณะที่เรารู้ตัวหรือไม่ก็ตาม หลายคนเรียกมันว่า "ปัญญาประดิษฐ์" (artificial intelligence) หรือ AI ขณะที่บางคนอาจคุ้นเคยในชื่อ "ผู้ช่วยดิจิทัล" (digital assistance) แต่การปฏิวัติใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นมีแนวโน้มก้าวกระโดดไปไกลกว่าความหมายของคำทั้งสอง เพราะหมายถึงการที่เทคโนโลยีทุกอย่างในชีวิตของเราทำงานร่วมกันเพื่อรับใช้นายของมัน ดังนั้นหุ่นยนต์จะอยู่กับเราทุกที่ทุกเวลา เหมือนกับภาพยนตร์เรื่อง Her

 

เราผ่านอะไรมาบ้าง?

   ระบบเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดการปฏิวัติคอมพิวเตอร์เป็นช่วงทุก 10-15 ปี ส่งผลให้วัฒนธรรมกระแสหลักเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ผู้บริโภคมีพฤติกรรมใหม่ท้าทายนักการตลาด และเกิดธุรกิจใหม่มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ท้าทายองค์กรเดิมที่หากไม่ยอมปรับตัวต้องมลายหายไป หากมองย้อนกลับไปก็จะพบว่าเกิดคลื่นแห่งการปฏิวัติเทคโนโลยีสามครั้งด้วยกัน

   ครั้งแรกคือ"การปฏิวัติคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล" (personal computer: PC) การปฏิวัติครั้งนี้เกิดขึ้นราวทศวรรษที่ 1980 ด้วยการปรากฏตัวของคอมพิวเตอร์จาก Apple ตามมาด้วย IBM PC และบรรดาเครื่องโคลนนิ่งต่างๆ ในครั้งนี้ผู้ชนะคือ Microsoft กับ intel ซึ่งสามารถครอบครองส่วนแบ่งตลาดระบบปฏิบัติการและโปรเซสเซอร์หลักของตลาดพีซีได้ ส่วนผู้แพ้คือ IBM และบริษัทอื่นที่ยังจมอยู่กับความเชื่อเดิมๆ ว่าคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องขององค์กรมากกว่าผู้ใช้ตามบ้าน สวนทางกับความฝันของ Bill Gates ที่ต้องการนำคอมพิวเตอร์ไปไว้บนโต๊ะทุกตัวและในบ้านทุกหลัง ซึ่งก็ทำได้สำเร็จ

   ครั้งต่อมาคือ "การปฏิวัติอินเทอร์เน็ต" ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1990 เมื่อมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลไปมาหาสู่กันทั่วโลก สงครามเบราว์เซอร์อุบัติขึ้น ตามมาด้วยภาวะฟองสบู่ของตลาดดอตคอมในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ ผู้ชนะในคราวนี้คือ Amazon และ Google ที่เข้ามาพลิกโฉมหน้าการซื้อขายสินค้าและค้นหาข้อมูล ส่วนผู้แพ้นั้นก็แน่นอนว่าคือบรรดาอุตสาหกรรมสื่อ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์และดนตรี เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกในการเสพเนื้อหามากขึ้น

   ครั้งถัดมาซึ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันคือ "การปฏิวัติโมบาย" ที่เกิดขึ้นในราว ค.ศ. 2007 เมื่อ Apple เปิดตัว iPhone แน่นอนว่าผู้ชนะในครั้งนี้คือ Apple กับ Samsung ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ได้ ส่วนผู้แพ้คือ Microsoft ที่เปลี่ยนตัวเองช้า และไม่สามารถสร้างชื่อในสมรภูมินี้ให้กับผู้บริโภค ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดไม่เป็นที่ประทับใจ และปิดฉากตัวเองในฐานะผู้คุมตลาดอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ในที่สุด

   อย่างไรก็ดี ขอให้สังเกตว่าเมื่อสิ้นสุดการปฏิวัติแต่ละครั้งไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะมลายหายไปกับลูกคลื่น เพราะทุกวันนี้เราก็ยังใช้ระบบเซิร์ฟเวอร์ในการบริหารข้อมูลขององค์กร และทุกบ้านและสำนักงานก็ยังคงมีพีซีและใช้งานอินเทอร์เน็ตกันอยู่ทุกวัน เพียงแต่ว่านวัตกรรมดังกล่าวกลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญและสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่นเดียวกับที่ระบบไฟฟ้าและน้ำประปาเคยเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตบ้านเรือนในอดีต

   เพราะฉะนั้น ภายใต้คำนิยามดังกล่าวจึงอาจวิเคราะห์ได้ว่าการปฏิวัติโมบายกำลังจะสิ้นสุดหรืออย่างน้อยก็เข้าสู่จุดอิ่มตัวแล้ว เห็นได้จากยอดขายสมาร์ทโฟนของ Apple มีแนวโน้มตกลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และในปัจจุบันนี้เราก็ได้เห็นธุรกิจมากมายที่อาศัยสมาร์ทโฟนเป็นแรงขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็น Uber หรือ facebook ที่คงมีชะตากรรมไม่ต่างอะไรจาก MySpace หากไม่ได้เบนเข็มมาสู่โลกออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าสมาร์ทโฟนจะหายไปจากชีวิตประจำวันของเรา หรือ Apple จะต้องม้วนเสื่อกลับบ้าน เพียงแต่สมาร์ทโฟนจะกลายเป็นของใช้ธรรมดา ไม่น่าตื่นเต้น หรือเรียกเสียง "ว้าว" ได้อีก

   อีกประเด็นที่ต้องการจะเน้นย้ำก็คือการปฏิวัติเทคโนโลยีแต่ละครั้งยังส่งผลให้อำนาจที่เคยอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ มาอยู่ในมือของคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ในองค์กรมาอยู่ในพีซีที่บ้าน เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้ทั่วไปตั้งแต่การทำงานเอกสารไปจนถึงการเสพความบันเทิง เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ตที่ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเป็นนักข่าวพลเมือง เพิ่มอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และก่อให้เกิดการปฏิวัติทางความคิดเช่นเดียวกับที่แท่นพิมพ์เคยทำมาแล้วในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ส่วนสมาร์ทโฟนก็รวมอำนาจของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลกับอินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกัน ย่อส่วนลงมาเหลือเท่าฝ่ามือ และเปิดโอกาสให้เราพกพามันไปได้ทุกที่

 

การปฏิวัติในวันพรุ่งนี้

   การปฏิวัติแต่ละครั้งเกิดมาจากการสนธิกำลังระหว่างปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเทคนิค สังคม และระบบเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการปฏิวัติหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นมาจากปัจจัยสองสามอย่าง ได้แก่

   เซ็นเซอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมีราคาถูกลง โดยปัจจัยนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการปฏิวัติโมบายที่ก่อให้เกิดการประหยัดจากขนาด (economy of scale) ของการผลิตชิพและแผงวงจรสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และสารพันเซ็นเซอร์ช่วยเพิ่มความสามารถ ไม่ว่าจะเป็น GPS เซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว กล้องถ่ายรูป และไมโครโฟน ตลอดจนชิ้นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการเชื่อมต่อเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น Bluetooth, Wi-Fi และ  LTE นอกจากนี้การแข่งขันระหว่างหลายผู้ผลิตและความต้องการอย่างไม่หยุดยั้งจากตลาดได้ทำให้เซ็นเซอร์เหล่านี้มีประสิทธิภาพสูงมากขึ้นทุกปี อีกทั้งเซ็นเซอร์ที่เล็กลงยังเป็นการปูทางให้เกิดแนวคิด Internet of Things ที่เครื่องมือเครื่องใช้สามารถเก็บข้อมูลในชิพขนาดเล็กและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอีกด้วย

   ปัจจัยที่สองคือบริษัทชั้นนำทางด้านไอทีต่างกำลังคร่ำเคร่งกับการพัฒนา AI หรือผู้ช่วยดิจิทัลที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น Siri จาก Apple, Cortana จาก Microsoft, Google Now จาก Google, Alexa จาก Amazon และ M จาก facebook ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการทดลอง และยังไม่นับรวมถึงบริษัทเกิดใหม่มากมายที่ต่างมีเงินหนุนจากผู้ร่วมทุนใหญ่น้อย การแข่งขันพัฒนาเช่นนี้คือเครื่องบ่งชี้แนวโน้มของเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดีว่าจะเดินไปยังทิศทางใด

   ปัจจัยที่สามคือปัจจัยทางสังคมซึ่งสำคัญที่สุด หากเราเฝ้าสังเกตความเป็นไปก็จะพบว่าชีวิตของเราวุ่นวายมากกว่าแต่ก่อน เห็นได้จากชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น แต่รายได้เท่าเดิม ส่งผลให้หลายคนต้องหาอาชีพเสริมหรือทำฟรีแลนซ์เพื่อให้มีชีวิตที่ใฝ่ฝัน ขณะเดียวกันผู้ที่คิดว่าตัวเองพร้อมและแต่งงานมีครอบครัวก็มักจะพบว่าการเลี้ยงดูเด็กเป็นสิ่งที่ใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก เวลาที่มีมูลค่ามากขึ้นเป็นเหตุให้เกิดบริการประเภท "ออนดีมานด์" ไม่ว่าจะเป็น Grab หรือ Uber ที่สามารถเรียกรถได้ในทันที ตลอดจนกระแส FinTech ที่ช่วยให้การตัดสินใจเรื่องเงินๆ ทองๆ ทำได้ง่ายมากขึ้น

   ลองจินตนาการดูว่าในอีกสัก 10 ปี ทุกอย่างในชีวิตจะง่ายดายมากขึ้นเพียงแค่เดินไปที่ร้านสะดวกซื้อแถวบ้าน ซื้อผู้ช่วยดิจิทัลมาสักตัว โหลดลงมือถือ ป้อนข้อมูลให้เท่าที่มันต้องการ ปล่อยให้มันเรียนรู้ความต้องการของเราทีละน้อย จากนั้นก็เซ็ตระบบให้มันสื่อสารกับอุปกรณ์อื่นรู้เรื่อง ด้วยรูปแบบนี้ ไม่เพียงแต่คอมพิวเตอร์จะอยู่ในกระเป๋าของเราเท่านั้น แต่มันยังอยู่รอบตัวเราอีกด้วย

 

สรุป

   และนับจากนี้ต่อไป ผู้ช่วยดังกล่าวจะทำหน้าที่แทนเราทุกอย่าง เราไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุกเองก่อนนอน เพราะคอมพิวเตอร์จะรู้ว่าเมื่อไรควรปลุกโดยดูข้อมูลระยะเวลาที่เราหลับจากเซ็นเซอร์ที่อยู่ในสายรัดข้อมือ เราไม่ต้องวุ่นวายกับการชำระเงินค่าบัตรเครดิตและค่าน้ำค่าไฟทุกเดือน เพราะระบบจะหักบัญชีโดยอัตโนมัติ เราไม่ต้องกดเรียก Uber เพราะแอปจะรู้ว่าเรามักออกจากบ้านช่วงเวลาไหน และเราไม่ต้องคอยลบอีเมลขยะทิ้งเอง เพราะ AI จะเรียนรู้ว่าอีเมลประเภทใดคือขยะ และเราไม่ต้องเปิดดูรายการคุยข่าวอีกต่อไปเพราะแอปข่าวเองนั่นแหละจะเล่าข่าวยามเช้าให้คุณฟัง!

   ที่กล่าวไปอาจดูเหมือนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ แต่มันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า โดยในตอนนี้ยังมีความท้าทายและงานที่ต้องทำอีกมาก อาทิ การพัฒนามาตรฐานกลางที่เปิดโอกาสให้อุปกรณ์ต่างๆ คุยกันได้รู้เรื่อง แต่หากเราสามารถเอาชนะอุปสรรคดังกล่าวแล้ว ก็เชื่อได้เลยว่าโลกของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งแน่นอนครับ

 

สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 208

หรือทาง http://www.digitalagemag.com

บทความประชาสัมพันธ์นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 208 เดือนเมษายน 2559

ผู้เขียน : falcon_mach_v

สนับสนุนเนื้อหา:  นิตยสาร digital Age



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook