5 วิธีที่ Facebook ใช้รับมือกับปัญหาการเมืองในที่ทำงาน

5 วิธีที่ Facebook ใช้รับมือกับปัญหาการเมืองในที่ทำงาน

5 วิธีที่ Facebook ใช้รับมือกับปัญหาการเมืองในที่ทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

   หยุดปัญหาการเมืองได้ก่อนที่มันจะคุกคาม ย่อมส่งผลให้องค์กรแข็งแกร่ง และกระตุ้นให้ทีมงานทำงานร่วมกันได้ดี – ประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Facebook กล่าว การเมืองในออฟฟิศ หลายครั้งก็ส่งผลให้คนเกิดการแข่งขันจนองค์กรบรรลุเป้าหมาย แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นมลพิษทางจิตใจที่ก่อให้เกิดการแทงข้างหลัง และการสาดพฤติกรรมแย่ๆ ใส่กัน

   ข้อดีของ Startup คือพอเป็นบริษัทเล็ก เริ่มต้นจากคนไม่กี่คน ทำให้ปัญหาการเมืองไม่ค่อยมี พอเกิดปัญหาแต่ละทีก็พูดกันตรงๆ ได้ ทำให้แก้ปัญหาได้เร็ว


Jay Parikh ซึ่งเป็นประธานฝ่ายวิศวกรรมของ Facebook เล่าว่า

   “ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ก่อตั้ง Facebook ทีมงานทุกคนให้ความระมัดระวังในการวางยากันในที่ทำงาน เรารู้ว่าปัญหาการเมืองจะส่งผลเสียต่อชีวิตการทำงาน ทุกคนจึงต้องทำให้แน่ใจว่าปัญหาเหล่านี้จะมาวกกลับมาทำลายชีวิตของเรา”

   และเพื่อลดความเสี่ยงใดๆ ก็ตามที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาการเมือง Parikh ได้แนะนำ 5 เทคนิคที่ Facebook ใช้กัน

1. คิดแล้วคิดอีกก่อนจ้างใครสักคน

   การเมืองมักจะเริ่มต้นจากตัวบุคคล หรือคนที่เสพติดเรื่องดราม่าและเรื่องที่ทำให้ตัวเองไม่พอใจ ที่ Facebook จะเลือกผู้สมัครจากคนที่มีทักษะ ฉลาด และในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ซึ่งระหว่างสัมภาษณ์งาน อาจจะถามว่า “คิดอย่างไรกับการเมืองในบริษัท และคุณคิดว่ามันเป็นงานของคุณหรือไม่”

   คนที่ Facebook จะรับ คือคนที่สามารถอธิบายถึงลำดับความสำคัญได้ โดยจะเริ่มจากการให้ความสำคัญกับองค์กรเป็นอย่างแรก รองลงมาคือทีม และตัวเองเป็นลำดับสุดท้าย

2. จำกัดคำว่าความสำเร็จเสียใหม่

   อย่าให้การเลื่อนขั้นเป็นเครื่องมือวัดความสำเร็จ ที่ Facebook ไม่ได้เน้นโปรโมทให้คนกลายเป็นระดับผู้บริหาร แต่เน้นที่การเติบโตแนวราบมากกว่า โดยการสร้างทีมที่เจ๋ง และพัฒนาฝีมือของสมาชิกไปด้วยกัน

   การเป็นผู้นำไม่ได้แปลว่าต้องเป็นเจ้านาย หรือมีลูกน้องหลายคน แต่ individual contributor หรือ คนที่ไม่มีลูกน้องก็เป็นได้เช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปอย่างมีความสุข โอกาสในการคิดงานใหม่ๆ ได้ดีก็สูงขึ้น

   ส่วนการจะทำให้ทุกคนมีภาวะผู้นำได้ คือต้องให้แต่ละคนได้ฝึกปรือฝีมือ ต่อยอดในเรื่องที่แต่ละคนถนัดผ่านระดับของงานที่ยากขึ้นเรื่อยๆ

3. เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา

   Parikh เล่าว่าที่ Facebook มีการจัดการกับการรับฟังความคิดเห็น 3 วิธี

   หนึ่ง คือ สร้างกฎที่ทำให้ทุกคนแน่ใจว่า หลังจากที่เสนอความเห็น หรือเมื่อถามคำถามตรงๆ แล้ว จะไม่มีใครถูกด่าหรือถูกทำโทษ

   สอง คือ ที่ Facebook จะจัดการประชุมถาม – ตอบระดับหัวหน้าทุกอาทิตย์ ซึ่งคำตอบที่ได้รับ จะมาจาก Mark Zuckerberg หรือจากสมาชิกในทีมผู้บริหารโดยตรง

   สุดท้าย คือ ที่ Facebook จะมีการทำแบบสอบถามกันเองในองค์กร โดยใช้แพลตฟอร์มที่มีข้างใน เพื่อให้ง่ายต่อการสร้างคำถาม และแสดงความเห็นตอบกลับ

4. สร้างกฎที่ทุกคนเชื่อถือ

   Parikh ให้ความเห็นว่า “คนมักไม่พอใจ ถ้าไม่รู้ว่าทำไมถึงตัดสินแบบนั้น” การจ้างคนและการประเมินผลการทำงานจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยการลดพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการลำเอียงออกไปให้หมด

   ยกตัวอย่างการรับคนเข้าทำงาน คนที่สัมภาษณ์แต่ละคนจะไม่สามารถให้คนอื่นเห็นความคิดเห็นของตัวเองได้ จนกว่าทุกคนจะส่งผลไปแล้ว

   ในการประเมินผลการทำงานก็เช่นกัน พนักงานของ Facebook จะถูกประเมินจากบุคคลรอบด้านแบบ 360 องศา และข้อมูลจะถูกส่งไปยังหัวหน้า และแผนก HR

   กระบวนการทั้งหมดนี้ เพื่อรับประกันว่า เพื่อนจะไม่สามารถช่วยเพื่อนได้ ถ้าเพื่อนทำอะไรผิด และทุกความเห็นจะได้รับการตรวจสอบ

5. ฝึกการหลีกเลี่ยงบทสนทนาที่ก่อให้เกิดปัญหาการเมือง

   นี่คือเรื่องที่ยากที่สุดในการปฏิบัติจริง เพราะมันเป็นเรื่องง่ายมากที่จะโทษปัญหาการเมือง เมื่องานเกิดความล้มเหลว ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับหัวหน้าด้วยว่าจะสามารถจัดการปัญหาอย่างตรงจุด โดยไม่ทำให้ปัญหาการเมืองบานปลายขึ้นไปอีก

   Parikh เสริมว่า ในการขจัดปัญหาการเมืองให้หมดไป ต้องให้ความสำคัญกับการยกตัวอย่าง โดยไม่หยิบใครคนใดคนหนึ่ง หรือทีมใดทีมหนึ่งขึ้นมาเปรียบเทียบว่าดีกว่าคนอื่น

   5 วิธีนี้เป็นเพียงเทคนิคในการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา แต่สุดท้ายวิธีการที่ดีที่สุดในการขจัดปัญหาการเมือง คือการเปิดอกคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พอใจ ก็ให้นั่งคุยกันเลย การลงทุนกับเวลาในการนั่งเปิดใจจะส่งผลดีมหาศาลตามมา Parikh กล่าว

ที่มา : Fast Company


สนับสนุนเนื้อหา: thumbsup.in.th





แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook