ซิป้า ประกาศความสำเร็จจัดระเบียบซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย

ซิป้า ประกาศความสำเร็จจัดระเบียบซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย

ซิป้า ประกาศความสำเร็จจัดระเบียบซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซิป้าประกาศความสำเร็จโครงการขึ้นทะเบียนและรับรองผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย      ตบเท้าเข้ารับการขึ้นทะเบียนนับร้อยรายหลังเปิดโครงการฯ 8 เดือน พร้อมขับเคลื่อนและกระตุ้นการใช้ซอฟต์แวร์ไทย  เปิดเวทีประกวดเฟ้นหาองค์กรธุรกิจจากทั่วประเทศที่ใช้ซอฟต์แวร์เพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจและลดค่าใช้จ่ายองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ  ล่าสุดบริษัท ไอเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส ซิสเต็ม จำกัด คว้ารางวัลชนะเลิศต้นแบบการใช้ซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนธุรกิจให้มีศักยภาพและการเติบโตทางธุรกิจ


นางจีราวรรณ  บุญเพิ่ม  ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า  กล่าวว่า ซิป้าขอประกาศความสำเร็จกับภารกิจการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย  จากการดำเนินงาน "โครงการขึ้นทะเบียนและรับรองผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการให้ได้รับการยอมรับ  และมั่นใจในการใช้ซอฟต์แวร์ไทยยิ่งขึ้น  ซึ่งโครงการฯ ดังกล่าวได้จัดกิจกรรมโฟกัสกรุ๊ป เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย  พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมโร้ดโชว์ประชาสัมพันธ์ไปยังส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย  จังหวัดเชียงใหม่  ขอนแก่น ภูเก็ตและในส่วนกลางคือ กรุงเทพฯ  ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน 8 เดือนที่ผ่านมาได้รับความสนใจและตอบรับจากผู้ประกอบเข้าร่วมโครงการฯ 200 รายตามที่ตั้งเป้าไว้ในปีแรกจะมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน 200 ราย  นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งจะทำให้บริษัทต่างๆหรือองค์กรธุรกิจที่ต้องการจะเลือกซื้อซอฟต์แวร์สามารถค้นหา  ตรวจสอบ ผู้ให้บริการ จำหน่ายซอฟต์แวร์ได้สะดวกมีข้อมูลครบถ้วน และตรงกับความต้องการของบริษัทหรือผู้ใช้งานอีกด้วย 

นายมีธรรม  ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือซิป้า กล่าวว่า  โครงการขึ้นทะเบียนและรับรองผู้ประกอบการซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ไทย จัดทำขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลของกลุ่มผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการซอฟต์แวร์ เพื่อให้องค์กรธุรกิจและประชาชนที่มีความสนใจหรือกำลังมองหาซอฟต์แวร์เพื่อไปใช้งานมีข้อมูลในการตัดสินใจและยังเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเป็นการสนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อีกด้วย และยังเป็นการช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือภายในกลุ่มผู้ให้บริการและผู้ประกอบการทางด้านซอฟต์แวร์ พร้อมทั้งยังช่วยขยายฐานตลาดภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยไปสู่การแข่งขันในตลาดโลก

    สำหรับแผนการดำเนินงานโครงการฯ ในปีต่อไป ซิป้ามุ่งหวังในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการซอฟต์แวร์เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 200 รายและมีการอัพเดทข้อมูลใหม่ที่บางรายอาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีเจ้าหน้าที่ติดตาม  ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง  เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยในการส่งเสริม  สนับสนุนและพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้มาตรฐาน  พร้อมผลักดันสู่การส่งออกไปตลาดต่างประเทศ  ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทซอฟต์แวร์ไทยหลายแห่งมีลูกค้าจากต่างประเทศให้การยอมรับและเลือกใช้งานเป็นจำนวนมาก  โดยจากผลสำรวจมูลค่าการส่งออกซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ปี 2558 ของประเทศไทยมีมูลค่า 3,330 ล้านบาท เติบโต 0.3%  ขณะที่การนำเข้าซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมีมูลค่า 32,944 ล้านบาท  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบเท่านำเข้ายังแตกต่าง  หากซอฟต์แวร์ไทยได้รับการสนับสนุนและส่งเสริม  มั่นใจว่าจะสามารถผลักดันสู่ตลาดโลกได้เพิ่มมากขึ้น 

    นอกจากนี้ผลการสำรวจยังระบุเพิ่มเติมว่าในปี 2559 มูลค่าการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตราว 4.4% ด้วยมูลค่า 54,893 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโต 4.3% ด้วยมูลค่า 57,257 ล้านบาท   ทั้งนี้ซิป้ามีเป้าหมายที่จะส่งเสริมศักยภาพทั้งด้านบุคลากร  การทำตลาด  รวมถึงการจัดกิจกรรมสัมมนาให้แก่ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์  รวมทั้งองค์กรที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ธุรกิจอย่างต่อเนื่องและขยายเพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม 

    พร้อมกันนี้ทางซิป้ายังได้จัดเวทีประกวดองค์กรที่นำซอฟต์แวร์ไทยไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุนและ เวลาให้ได้ผลจริง  โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วยวัตถุประสงค์การใช้ซอฟต์แวร์  สามารถลดหรือแก้ไขปัญหาขององค์กร หรือเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินกิจกรรมขององค์กร ความสามารถในการทำงานของซอฟต์แวร์ ซึ่งสามารถตอบสนองต่อการทำงาน อำนวยความสะดวกและเกิดประสิทธิภาพในการทำงานตรงตามวัตถุประสงค์ จุดเด่นของซอฟต์แวร์ที่เลือกใช้ ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งาน ผลลัพธ์ที่ได้รับจากการใช้ซอฟต์แวร์ ซึ่งต้องมีความเปลี่ยนแปลงก่อนและหลังการใช้ซอฟต์แวร์ พร้อมด้วยการนำเสนอและการตอบคำถาม  ซึ่งในการประกวดครั้งนี้ได้รับความสนใจสมัครเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 ราย โดยผู้ชนะจะได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล โดยมีผลรางวัลดังนี้   

รางวัลที่ 1 (มี 1 รางวัล) ได้แก่ บริษัทไอเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส ซิสเต็ม จำกัด โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท ชัวร์ ซัคเซค โซลูชั่น จำกัด

รางวัลที่ (มี 1 รางวัล) ได้แก่ บริษัท สุวรรณไพศาลขนส่ง 2010 จำกัด โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท โปรจิเทค จำกัด

รางวัลที่ 3 (มี 3 รางวัล)  ประกอบด้วย  บริษัท เอสดีเอส เคอร์ จำกัด (เคอร์ ไทยแลนด์) โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท ไอ คอนเน็ค มาร์เก็ตติ้ง จำกัด  และร้าน โซนไนน์  โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท พี เอ็น พี โซลูชั่น จำกัด  และบริษัท ขอนแก่นซิตี้บัส จำกัด โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท จัมป์ อัพ จำกัด

สำหรับรางวัลชมเชยมี 5 รางวัล ประกอบด้วย

- บริษัท แฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด โดยใช้ซอฟต์แวร์ของห้างหุ้นส่วนจำกัด นีว่า เทคโนโลยี
- บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน)โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท รีเสิร์ช ฟอร์ ไลฟ์ จำกัด
- ร้าน มายเฟรนด์เบเกอรี่ แอนด์ เลิฟ เซอร์เคิล วินเทจ โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท ดีมิเตอร์ ไอซีที จำกัด
- บริษัท สตีล เมทัล จำกัด (สำนักงานใหญ่โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด
- บริษัท เทอร์ราไบท์ เน็ท โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) โดยใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัท ทีซอฟท์ จำกัด

ทั้งนี้ในการจัดทำโครงการฯ ดังกล่าวถือเป็นช่องทางสำคัญให้ผู้ประกอบซอฟต์แวร์และผู้ใช้งานได้พบกัน โดยมุ่งหวังยกระดับจัดทัพและเสริมศักยภาพซอฟต์แวร์ไทยให้แข็งแกร่งในเวทีโลก ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ต่อเนื่องเข้าไปลงทะเบียนได้ที่ http://member.sipa.or.th/register.php

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook