[Startup] VC หน้าใหม่ ใจปลาซิว

[Startup] VC หน้าใหม่ ใจปลาซิว

[Startup] VC หน้าใหม่ ใจปลาซิว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้วงการสตาร์ทอัพเริ่มจะเลิกคุยเรื่องไอเดียดีๆ บริษัทใหม่ๆ แต่สิ่งที่เม้าส์มอยส์กันก็คือ VC ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในเมืองไทย จะไม่ให้คุยถึงได้อย่างไรในเมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในแต่ละอุตสาหกรรมต่างลงเงินทำ Venture Capital กันเป็นว่าเล่น และทุกรายต่างมีผลงานระดับย่ำแย่กันทั้งนั้น

ปีที่แล้วฟินเทค หรือสตาร์ทอัพทางด้านการเงินดังมาก ในเมืองไทยธนาคารใหญ่ๆ ต่างตื่นตัวกลัวผลงานของสตาร์ทอัพทั้งหลายจะเข้ามา disrupt กิจการธนาคารของตัวเอง ต่างก็หาวิธีง่ายที่สุดก็คือ ดักซื้อกันตั้งแต่ต้นทางซะเลย

ตามต่อด้วยวงการอสังหาริมทรัพย์ หรือ พร็อพเทค กลุ่มอสังหาฯ รายใหญ่ของบ้านเราก็เลียนแบบกลุ่มธนาคารของฟินเทค ผมกำลังรอดูปีนี้ที่กลุ่ม Health Tech กำลังมาแรง จะมีพวกโรงพยาบาลใหญ่รายไหนมาตั้ง VC ของตัวเองขึ้นมาบ้างมั๊ย

ในความเห็นผม ผมไม่แนะนำให้ตัวพ่อตัวแม่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ มาตั้ง VC คอยสนับสนุนสตาร์ทอัพเท่าไหร่ เพราะข้อเสียมันมีมากกว่าข้อดี และที่สำคัญมันไม่เวิร์คโดยสิ้นเชิง อย่างไรหรือครับ ผมขออธิบาย

จากประสบการณ์ของผมที่ได้ดีลงานกับแบงค์ใหญ่ๆ ที่มาตั้ง VC ก็คือ แบงค์ส่วนใหญ่จะตั้งแผนกใหม่ของตนเองขึ้นมา โดยแนวคิดก็คือ อยากให้ VC ที่ตั้งมีความแตกต่างจากองค์กรของแบงค์ ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม แต่สิ่งที่ผมเจอมีดังนี้ครับ

พนักงานที่โยกย้ายเข้ามาทำงาน บางคนก็โอนลูกน้องเก่าที่พอมีฝีมือ บางคนก็รับเข้ามาใหม่กันเลย แต่สิ่งที่ผมเจอก็คือว่า พนักงานพวกนี้ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการให้ทุนสตาร์ทอัพมาก่อนเลย ก็จะมีความรู้ได้อย่างไรครับ ในเมือเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหม่ สตาร์ทอัพในเมืองไทยที่เข้าสู่กระบวนการซีรียส์บี มีน้อยแบบนับหัวได้ ลูกน้องที่อยู่ในสายนี้จึงเหมือนกับมีความรู้เป็นศูนย์ ต้องเข้ามาเรียนรู้กันใหม่ทั้งหมด

บาง VC ของแบงค์ ต้องจ้างพนักงานไปสัมมนาทั่วโลก เดินทางไปดูงานมากมาย เสียเงินสร้างคนเหล่านี้ขึ้นมาเพราะเห็นว่ากิจการนี้ยังไงก็ต้องมีติดเอาไว้ ทำให้ในรอบปีที่ผ่านมาผลงานของพนักงานกลุ่มนี้จึงแทบไม่ออกดอกออกผล เพราะมัวแต่เดินสายดูงานสร้างความรู้ใส่ตัว

เท่านั้นยังไม่พอ สิ่งที่สตาร์ทอัพทั้งหลายที่หวังจะเห็น VC สายแบงค์ในเมืองไทยเป็นที่พึ่งพา กลับต้องฝันสลาย เพราะพนักงานพวกนี้แหละครับ เพราะการที่มีพนักงานสายนี้โดยตรงเท่ากับพนักงานจะต้องเป็นตัวกลางระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพที่แบงค์ต้องการลงทุนกับบอร์ดของ VC แต่สิ่งที่เจอคือ พนักงานยังรู้เรื่องเกี่ยวกับสตาร์ทอัพน้อยมาก เมื่อมาคุยกับสตาร์ทอัพแล้วเอาเรื่องไปเสนอบอร์ดพิจารณา พอเจอบอร์ดซักก็ไม่สามารถตอบได้ ต้องเทียวไล้เทียวขื่อ ไปๆ มาๆ ถามกันไม่จบไม่สิ้น ทั้งที่กระบวนการให้ทุนสตาร์ทอัพนั้นต้องรวดเร็ว เพราะเวลาของสตาร์ทอัพนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก

แบงค์ไหนที่เจออย่างนี้ผมแนะนำเลยครับว่า เอาผู้บริหารสตาร์ทอัพไปนั่งคุยกับผู้บริหารของ VC ก่อนเลย คุยให้เข้าเป็นภาษาเดียวกัน และให้ผู้บริหารล็อบบี้บอร์ดทีละคน ให้เข้าไปตอบคำถามนอกรอบกันก่อน ถึงเวลาจะผ่านฉลุย

แต่ๆๆๆๆ สุดท้ายแล้วทั้งหมดจะขึ้นกับบอร์ด ซึ่งบอร์ดบริหารของ VC ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นผู้ใหญ่ในแบงค์ที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยมนั่นแหละ คนพวกนี้จะตั้งคำถามที่ป้องกันความเสี่ยงของแบงค์ตลอดเวลา กลัวพลาด ซึ่งจริงการพลาดนี่แหละคือสิ่งที่ VC ถนัด ลงทุนสิบรอดให้ได้สองถือว่าประสบความสำเร็จ

ด้วยสไตล์ของแบงค์นี่ผมแนะนำเลยครับ VC แบงค์ควรลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพระดับซีรียส์บี ไปจนถึง exit แล้วนั่นแหละถึงจะดี สตาร์ทอัพพวกนี้ไม่มีความเสี่ยง ทำกำไรมาแล้ว และเตรียมตัวที่จะขายกิจการแล้ว ดังนั้นถ้า VC แบงค์จะมาช้อนซื้อกลุ่มซีรียส์เอลงไปมันไม่เหมาะ ก็ควรจะประกาศตัวกันไป อย่ามาทำรีรอลังเลเหมือนตอนนี้เลย

แค่ตัวอย่าง VC แบงค์อย่างเดียวก็เล่นเอาสตาร์ทอัพเข็ดขยาดกันเป็นแถว การเจรจามันเสียเวลา และบริหารจัดการยากมาก สู้คุยกับ VC ต่างชาติดีกว่าจบง่าย ไม่เรื่องมาก และกระบวนการชัดเจนมากกว่า แถมยังไม่เข้ามายุ่มย่ามในเรื่องการบริหารงานอีกด้วย

นี่ผมเองยังสงสัยในกลุ่ม Constuction หรือกลุ่มก่อสร้างที่ยักษ์ใหญ่อย่าง SCG กำลังจะเข้ามา ถ้ายังเดินตามกลุ่มแบงค์ในการทำ VC ผมรู้สึกเสียดายของจริงๆ

พูดถึงองค์กรใหญ่รุกเข้ามาในด้าน VC เพื่อป้องกันการ Disrupt จากสตาร์ทอัพ ผมเองไปงานข่าวของปตท.มา เรื่องการลงทุนไอทีด้าน Big Data เพื่อใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค แว่วว่าใช้งบลงทุนไปกว่าร้อยล้านบาท โดยใช้ระบบไอทีของ Teradata ด้วยโซลูชั่น Teradata Customer Journey เพราะตอนนี้ปั้มน้ำมันแบรนด์ใหญ่ๆ ทั่วโลกมีการใช้ระบบวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าที่มาเติมน้ำมันและใช้บริการสถานีน้ำมันกันอยู่แล้ว แต่สำหรับ ปตท. จะทำแบบครบวงจร นั่นคือ ผนวกเอาข้อมูลของฝั่งค้าปลีกและบริการอื่นๆ ในสถานีน้ำมัน เข้ามาวิเคราะห์ด้วย และน่าจะเป็นรายต้นๆ ของโลก

ในระดับโลกเรายังไม่เห็นกลุ่มสตาร์ทอัพสายพลังงานเข้ามา Disrupt มากนัก ดังนั้นปตท.อาจไม่จำเป็นต้องตั้ง VC เข้ามาซื้อกิจการของใคร แต่ความจำเป็นที่จะต้องตามให้ทันเทคโนโลยีนั้นทิ้งไม่ได้  Big Data Analytics ที่เป็นการวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแผนการตลาดในระยะยาว ทำให้เก็บข้อมูลเส้นทางของลูกค้าได้ เช่น ปกติเติมน้ำมันที่ปั๊มไหนบ้าง ซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ ในวันใด ช่วงเวลาใด จากนี้จะต้องเก็บข้อมูลให้มากขึ้น คาดว่าจะเริ่มเห็นการทำตลาดจาก ปตท. มากขึ้นเรื่อยๆ เรื่องพวกนี้เหมือนเป็นพื้นฐาน แต่องค์กรใหญ่ต้องฝ่าไปให้ได้ จะได้ด้วยการซื้อกิจการเข้ามา หรือต้องไปซื้อโซลูชั่นต่างๆ เข้ามา ก็ล้วนเป็นการลงทุนทั้งสิ้น ว่าแต่อย่างไหนจะคุ้มกว่ากัน ผมตอบให้ไม่ได้หรอกครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook