Google เผย 5 คุณสมบัติสำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จ เพราะการจับคนเก่งมารวมกันอาจไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป

Google เผย 5 คุณสมบัติสำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จ เพราะการจับคนเก่งมารวมกันอาจไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป

Google เผย 5 คุณสมบัติสำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จ เพราะการจับคนเก่งมารวมกันอาจไม่ได้ดีที่สุดเสมอไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เคยสงสัยกันไหมครับว่าองค์ประกอบของทีมที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องมีอะไรบ้าง? หลายคนอาจจะคิดว่าแค่เอาคนเก่งๆ มาอยู่ด้วยกันก็สร้างสุดยอดดรีมทีมได้แล้ว ใครๆ ก็คิดแบบนี้กันทั้งนั้น แม้กระทั่งยักษ์ใหญ่แห่งซิลิคอนวัลเล่ย์อย่าง Google เองก็เคยคิดอย่างนี้เหมือนกัน แต่หลังจากที่ได้ศึกษาอย่างจริงจังแล้วพวกเขาก็พบว่า แค่มีคนเก่งไม่ได้ทำให้ทีมประสบความสำเร็จเสมอไป มันยังมีอะไรที่มากกว่านั้น

เพื่อที่จะไขปริศนานี้ Google ได้เริ่มโครงการ Project Aristotle ขึ้นมา โดยมอบหมายให้ Abeer Dubey ไดเร็คเตอร์ฝ่าย HR ของ Google เป็นหัวหน้าทีม เขาและลูกทีมซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาได้ศึกษาทีมงานของ Google กว่า 180 ทีม สัมภาษณ์พนักงานมากกว่า 200 ครั้ง และวิเคราะห์คุณสมบัติต่างๆ ของทีมมากกว่า 250 แบบ ตลอดระยะเวลา 2 ปี จนในที่สุดก็ค้นพบ 5 คุณสมบัติสำคัญของทีมที่ประสบความสำเร็จ ดังนี้:

  1. พึ่งพาได้ (Depenability) : สมาชิกทีมทำงานเสร็จตรงเวลาและเป็นไปตามที่คาดหวัง
  2. มีโครงสร้างและความชัดเจน (Structure and Clarity) : ทีมที่มีศักยภาพสูงจะมีเป้าหมาย แผนการทำงาน และหน้าที่ของสมาชิกแต่ละคนที่ชัดเจน
  3. มีความหมาย (Meaning) : สมาชิกในทีมทุกคนรู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีความหมาย
  4. สร้างผลกระทบ (Impact) : คนในกลุ่มเชื่อว่างานที่ทำมีความหมายและส่งผลกระทบทางบวกต่อส่วนรวม
  5. มีความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety)

img_1501143188_2986259efac8

สำหรับข้อสุดท้ายเป็นข้อที่สำคัญและต้องอธิบายกันยาวหน่อย ก่อนอื่นให้ลองจินตนาการถึงบรรยากาศในห้องประชุมที่มีทั้งเพื่อนร่วมงานและหัวหน้านั่งกันอยู่ครบ ปกติแล้วบรรยากาศที่น่าอึดอัดแบบนี้จะทำให้เราไม่ค่อยอยากแสดงความคิดเห็นเท่าไหร่เพราะรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจับตามองและถูกตัดสิน อาจจะโดนเจ้านายตำหนิจนเสียหน้า หรือโดนเพื่อนร่วมงานหมั่นไส้เอา สุดท้ายก็เลยไม่ค่อยมีใครนำเสนอความคิดในห้องประชุมอย่างที่ควรจะเป็น คราวนี้ลองจินตนาการถึงบรรยากาศใหม่ เป็นการพูดคุยหารือกันในบรรยากาศผ่อนคลาย เสนอได้ทุกไอเดียทั้งเข้าท่าและไม่เข้าท่า ไม่มีใครมาคอยตัดสินหรือตำหนิ เราจะอยากนำเสนอแนวคิดภายใต้บรรยากาศแบบไหนมากกว่ากัน? แน่นอนว่าต้องเป็นอย่างหลังอยู่แล้ว เพราะบรรยากาศแบบนี้ทำให้เรารู้สึกปลอดภัยกว่าที่จะเสนอไอเดีย สิ่งนี้เองคือความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ซึ่งหัวหน้าทีมจะต้องทำให้บรรยากาศแบบนี้เกิดขึ้นในองค์กรให้ได้

อย่างไรก็ดีคุณสมบัติทั้ง 5 ประการยังไม่ใช่สูตรสำเร็จของ "ดรีมทีม" เสียทีเดียว เพราะงานแต่ละอย่างก็อาจจะต้องการองค์ประกอบของทีมที่ไม่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวคิดพื้นฐานที่ช่วยให้การฟอร์มทีมของเรามีประสิทธิภาพโดดเด่นและมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook