เปรียบเทียบ 'ข้อดี-ข้อเสีย' เมื่อลูกเปิดประตูเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต

เปรียบเทียบ 'ข้อดี-ข้อเสีย' เมื่อลูกเปิดประตูเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต

เปรียบเทียบ 'ข้อดี-ข้อเสีย' เมื่อลูกเปิดประตูเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์กรยูนิเซฟ (Unicef) ชี้ว่า ในด้านดี เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้เด็กเข้าถึงแหล่งข้อมูลและเข้าถึงชุมชนที่ใหญ่ขึ้น ช่วยสร้างโอกาสในอนาคตด้านการงานเเละอาชีพ

แต่ยูนิเซฟยังเตือนถึงผลเสียเช่นกัน โดยชี้ว่าอินเทอร์เน็ต​อาจนำมาซึ่งสิ่งที่เป็นอันตรายเเละสร้างความเครียด โดยเฉพาะเด็กที่ไม่รู้จักใช้อินเทอร์เน็ต​อย่างรอบคอบ

ลอเรนซ์ เเชนดี้ (Laurence Chandy) ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยทางข้อมูลและนโยบายแห่งยูนิเซฟ กล่าวว่า การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์หลายอย่าง เขากล่าวว่าอินเทอร์เน็ตช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กๆ ได้ โดยเฉพาะเด็กที่มีโอกาสน้อยหรือเด็กพิการที่อาศัยในเขตห่างไกล

เเต่รายงานของยูนิเซฟประมาณว่า มีเด็กราว 1 ใน 3 ของเยาวชนทั่วโลกไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ยกตัวอย่าง ในแอฟริกา มีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมดที่มีไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ขณะที่ในยุโรป มีเด็ก 88 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงอินเทอร์เน็ต

รายงานของยูนิเซฟชี้ว่า เด็กที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้เหล่านี้ สูญเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้อินเทอร์เน็ตยูนิเซฟเรียกช่องว่างระหว่างเด็กที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย กับเด็กที่ไม่มีโอกาสใช้อินเทอร์เน็ตว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล”

บรรดาผู้เชี่ยวชาญที่ยูนิเซฟ กล่าวว่า “ช่องว่างทางดิจิทัล” ไม่ยุติธรรม เเละจะต้องปรับปรุง พวกเขาย้ำว่าเด็กในทุกหนทุกแห่งทั่วโลกจะต้องเข้าถึงเครื่องมือต่างๆ ที่จะช่วยให้มีส่วนร่วมเเละเเข่งขันในเศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่เติบโตตลอดเวลา

สำหรับผลเสีย ยูนิเซฟรายงานว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1 ใน 3 คนทั่วโลกเป็นเด็ก เเละแม้ว่ามีเด็กจำนวนมากที่ใช้อินเทอร์เน็ต องค์การยูนิเซฟชี้ว่ายังมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับผลกระทบทางลบจากเทคโนโลยีดิจิทัลต่อเด็ก

และที่สำคัญไปกว่านั้น รายงานของยูนิเซฟยังชี้ด้วยว่า ยังไม่มีการป้องกันเด็กๆ จากอันตรายของโลกดิจิทัล

ยกตัวอย่าง เด็กจำนวนมากทั่วโลกมีข้อมูลส่วนตัวปรากฏในโลกดิจิทัลก่อนที่เด็กๆ จะเดินได้หรือพูดได้เสียอีก เพราะพ่อเเม่เป็นคนโพสต์รูปลูกๆ เเละบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับลูกในโลกดิจิทัล

นอกจากนี้ อาจมีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของลูกใน cloud อีกด้วย

เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น เด็กๆ อาจจะแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวเอง หรือรูปถ่ายหรือภาพวิดีโอในโลกดิจิทัล แต่การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวต่อสาธารณะในโลกดิจิทัล อาจทำให้เด็กเสี่ยงต่ออันตราย

เเชนดี้ ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยทางข้อมูลและนโยบายแห่งยูนิเซฟ กล่าวว่า ความเสี่ยงที่ว่านี้หมายรวมถึงการนำข้อมูลส่วนตัวของเด็กไปใช้ในทางที่ผิด การเข้าถึงข้อมูลที่เป็นอันตรายเเก่เด็ก เเละการรังแกเด็กในโลกไซเบอร์

นอกจากนี้ เเชนดี้ยังชี้ว่า เด็กๆ ยังเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของเครือข่ายอาชญากรรมทางออนไลน์อีกด้วย เขากล่าวว่าเครือข่ายอาชญากรรมทางออนไลน์จ้องใช้เด็กเพื่อผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบค้ามนุษย์ และการทำร้ายทางเพศเด็กทางออนไลน์ เขากล่าวว่า การรักษาความเป็นส่วนตัวของเด็กในโลกดิจิทัลเป็นประเด็นที่สำคัญมากที่สุด

ลอเรนซ์ เเชนดี้ ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยทางข้อมูลและนโยบายแห่งยูนิเซฟ กล่าวว่า ยูนิเซฟเน้นความสำคัญของการมีมาตรการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของเด็กในโลกดิจิทัล ไม่ให้ตกไปอยู่ในมือของคนที่ไม่หวังดี และต้องปกป้องข้อมูลเเสดงตัวตนของเด็ก เขากล่าวว่าประเด็นนี้กำลังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ทางยูนิเซฟได้ขอให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ โรงเรียน และธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ความสำคัญกับสองสิ่งนี้

อย่างแรก คือให้โอกาสเด็กมากขึ้นในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเเละอย่างที่สอง ต้องปกป้องเด็กๆ เมื่อเด็กๆ อยู่ในโลกออนไลน์

 (เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook