สนุกกับการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล

สนุกกับการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล

สนุกกับการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
IT.Soft [www.itsoftmag.com] : ปัจจุบันนี้ความนิยมในการใช้กล้องดิจิตอลได้กระจายวงกว้างขวางมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและราคาที่ต่ำลง นอกจากนั้นกล้องดิจิตอลก็ยังสามารถใช้งานได้ง่ายแต่สูงด้วยคุณภาพ ทำให้ผู้ใช้งานทั้งระดับมือสมัครเล่นและมืออาชีพหันไปใช้กล้องดิจิตอลกันเป็นจำนวนมาก ในบทความนี้จึงอยากแนะนำเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ใช้ในการการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล เพื่อให้การถ่ายรูปออกมาดูดีและไม่เคร่งเครียดจนเกินไปนัก ซูมหรือขยายภาพ : ในการซื้อกล้องดิจิตอลคุณคงสังเกตเห็นว่าตัวสินค้ามักมีการพูดถึงสรรพคุณของกล้องว่ามีอัตราการซูมภาพในแบบ Optical และแบบ Digital คำว่า Optical Zoom กับคำว่า Digital Zoom มีความหมายที่แตกต่างกัน Optical Zoom ก็คือวิธีการซูมภาพเหมือนกับที่เราเคยทำกับกล้องถ่ายรูปธรรมดาซึ่งช่วยในการดึงภาพเป้าหมายให้เข้ามาใกล้กับกล้องมากขึ้น ดังนั้นเมื่อซื้อกล้องคุณสมบัติข้อนี้จึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ส่วน Digital Zoom จริงๆ แล้วไม่ใช่การซูมที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการขยายภาพให้ใหญ่ขึ้นเท่านั้น ซึ่งคุณสามารถทำได้โดยใช้ซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรเลือกใช้ออปชั่นตัวนี้ในการซูมภาพ เมมโมรี่การ์ดเจ้าปัญหา : เมมโมรี่การ์ดคืออุปกรณ์ในการเก็บข้อมูลของกล้อง ซึ่งมีค่าความจุที่แตกต่างกันออกไป การ์ดที่มีความจุสูงราคาก็สูงมากขึ้นตามไปด้วย ปกติคุณมักต้องซื้อการ์ดเพิ่มนอกเหนือจากตัวที่แถมมากับกล้องเพราะการ์ดที่แถมมามักมีความจุต่ำเกินไป คุณควรเลือกซื้อการ์ดแยกออกเป็น 2 ตัวแทนซื้อการ์ดความจุสูงๆ มาเพียงตัวเดียว เช่น ซื้อการ์ด 128 มาสองตัวแทนการ์ดขนาด 256 เพียงหนึ่งตัว เป็นต้น ทั้งนี้เพราะหากเกิดความเสียหายขึ้นกับการ์ดตัวหนึ่ง ก็ยังเหลือการ์ดอีกตัว ทำให้คุณไม่เสียรูปภาพทั้งหมดไปในครั้งเดียว คลิกที่ภาพเพื่อดูรูปใหญ่ เมมโมรี่การ์ดมีขนาดความจุแตกต่างกัน ควรซื้อสำรองไว้อย่างน้อย 2 แผ่น เลนส์ของกล้อง : กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่มักมีเลนส์ติดมาถาวร นั่นคือคุณไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้เลนส์แบบอื่นได้เหมือนกับการใช้กล้องฟิล์ม ดังนั้นในการซื้อกล้องก็ควรเลือกเลนส์ให้เหมาะกับการใช้งาน เช่น เลนส์ซูมแบบ Optical zoom 10x เหมาะสำหรับการถ่ายภาพสัตว์ในระยะไกล เป็นต้น กล้องดิจิตอลมีให้เลือกหลายรุ่น ควรเลือกประเภทที่เหมาะกับการใช้งานของเรา สำหรับมือสมัครเล่นอาจไม่จำเป็นต้องใช้กล้องมืออาชีพที่มีราคาสูงเกินไป แบตตารีก็มีปัญหาเหมือนกัน : กล้องดิจิตอลหลายตัวมักมีปัญหากับแบตตารี ที่พอถ่ายไปได้ไม่เท่าไร แบตตารีก็หมด ทำให้เกิดปัญหาจุกจิกกวนใจมาก ส่วนประกอบของกล้องที่กินแบตตารีมากที่สุดก็คือหน้าจอ LCD นั่นเอง ดังนั้นหากจำเป็นต้องประหยัดแบตตารีก็ควรปิดจอ LCD แล้วมองภาพจากกล้องมองภาพแทนจะดีกว่า แบตตารีกล้องมีให้เลือกหลายประเภท เช่น Ni MH (Nickel Metal Hydride) , Alcaline และ Lithium-ion ซึ่งแบบหลังถือว่าเป็นแบตตารี่ที่ทำงานได้ดีที่สุด และมีน้ำหนักเบา แต่ราคาก็สูงตามไปด้วย เลือกขนาดภาพอย่างเหมาะสม : การเลือกขนาดภาพมีความสำคัญในการถ่ายภาพ สำหรับภาพที่คุณคิดว่าจะนำไปใช้ในอินเทอร์เน็ต เช่น ส่งภาพแบ่งกันดูทางเว็บบอร์ด หรือนำภาพมาทำเว็บ ก็อาจเลือกขนาดของภาพให้เล็ก ซึ่งนอกจากจะไม่ต้องไปเสียเวลาปรับแต่งโดยใช้ซอฟต์แวร์พิเศษแล้ว ยังทำให้เมมโมรีการ์ดสามารถเก็บภาพได้มากขึ้นอีกด้วย แต่ถ้าต้องการนำภาพมาใช้สำหรับงานพิมพ์ ก็ควรเลือกใช้ขนาดของภาพให้มีขนาดใหญ่และคุณภาพสูงไว้ก่อน เพราะภาพขนาดใหญ่เมื่อนำมาย่อลงจะยังไม่สูญเสียความคมชัด ต่างจากการขยายภาพขนาดเล็กให้ใหญ่ที่คุณภาพจะลดลงอย่างชัดเจน เพิ่มความไวของการรับภาพ : ในการถ่ายภาพในที่ที่แสงน้อย คุณอาจเลือกวิธีเพิ่มความไวของการรับภาพแทนการใช้แฟลช เพราะแฟลชมักให้แสงที่ดูแข็งกระด้าง ความไวของการรับแสงก็คือค่า ISO ซึ่งใช้ในการระบุค่าความไวแสงของฟิล์มนั่นเอง กล้องดิจิตอลได้นำค่า ISO มาใช้เพื่อกำหนดค่าความไวในการรับภาพ ค่า ISO ปกติก็คือ 100 ถ้าหากต้องการถ่ายภาพในที่แสงน้อยโดยไม่ใช้แฟลช คุณอาจปรับให้ค่า ISO สูงขึ้น เช่น 400 หรือ 800 เป็นต้น แต่การเพิ่มค่า ISO ให้สูงขึ้นก็ส่งผลต่อคุณภาพของรูปภาพที่ได้ นั่นคือทำให้เกิด Noise หรือจุดสีเล็กๆ บนภาพถ่าย (ในกล้องฟิล์มจะเรียกว่าเกรน grain) แต่ก็อาจใช้ซอฟต์แวร์ตกแต่งภาพแก้ไข Noise ของภาพแทน ฟิลเตอร์ : กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่มักติดฟิลเตอร์เพิ่มเติมไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะขัดขวางไม่ให้คุณใช้ฟิลเตอร์พิเศษ คุณสามารถถือฟิลเตอร์ไว้หน้าเลนส์แทนก็ได้ (อาจวานให้คนที่ไปด้วยมาช่วยถือให้) หรือแม้แต่ติดเทปไว้หน้าเลนส์ (แต่ควรระวังมากๆ ไม่ไปทำความเสียหายให้กับเลนส์ของกล้อง) ฟิลเตอร์เช่น Polarise มีประโยชน์ในการลดแสงในวันแดดจ้า ทำให้ภาพมีสีสันที่อิ่มตัว และลดแสงสะท้อนจากวัตถุได้ ฟิลเตอร์หลากหลายชนิดอาจนำมาใช้กับกล้องดิจิตอลได้โดยใช้เทคนิคพิเศษส่วนตัว ถ่ายภาพบุคคล : การถ่ายภาพบุคคลควรเลือกออปชั่น Portrait ของกล้อง ยืนห่างออกมา และซูมเข้าไปเพียงเล็กน้อย แล้วจึงถ่ายภาพ การซูมภาพเข้าไปใกล้มากๆ จะทำให้ใบหน้าบิดเบี้ยว จมูกกับคางจะใหญ่ขึ้น ส่วนการซูมภาพออกมาไกลจากแบบก็จะทำให้ใบหน้าแฟบแบน อีกเทคนิคก็คือ เลือกออปชั่น Portrait หันไปทางตัวแบบตรงๆ กดปุ่มชัตเตอร์ลงมาครึ่งหนึ่งเพื่อปรับและล็อคโฟกัส แล้วค่อยหันกล้อง 90 องศาเพื่อถ่ายด้านข้างของแบบ แล้วจึงกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ การถ่ายในแบบมุมกว้างและตัวแบบอยู่ใกล้เลนส์มากเกินไปก็จะทำให้ภาพบิดเบี้ยวแบบแมวตัวนี้ แสงในการถ่ายภาพบุคคล : ลักษณะของแสงแดดมีความแตกต่างกันออกไปตามช่วงเวลา แสงตอนเช้าจะให้สีที่อมฟ้าเล็กน้อย ตรงข้ามกับแสงในตอนเย็นที่ให้แสงในโทนที่อบอุ่นกว่า ดังนั้นการถ่ายภาพบุคคลควรเลือกแสงในช่วงบ่ายแก่ๆ เพื่อทำให้สีของผิวดูเป็นธรรมชาติ และควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดก็คือแสงในตอนเที่ยงวัน เพราะจะได้ภาพที่มีแสงเงาชัดเจนจนออกแข็งกระด้าง ใส่ใจกับการเลือกแสง เพื่อให้ได้ภาพที่นุ่มนวล หันหลังให้แสงอาทิตย์ : กฏในการถ่ายรูปพื้นฐานก็คือให้ผู้ถ่ายรูปหันหลังให้แสงอาทิตย์ยังคงใช้ได้แม้ในยุคของกล้องดิจิตอล นั่นจะทำให้เป้าหมายที่จะถ่ายมีแสงเพียงพอในการถ่ายภาพ ไม่มืดจนมองไม่เห็น หากต้องการถ่ายภาพโดยให้แบบหันหลังให้ดวงอาทิตย์ (เช่น ถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก) คุณควรเปิดแฟลช แล้วค่อยถ่ายภาพ เพื่อเป็นการลบเงาออกจากตัวแบบ แต่อย่างไรก็ตามการใช้แฟลชอาจทำให้ภาพดูแข็งกระด้าง คุณอาจเลือกลดความแรงของแสงแฟลชลงเพื่อให้ภาพมีความนุ่มนวลขึ้น แต่ก็มีกล้องไม่กี่ตัวที่มีออปชั่นลดแสงแฟลช ปรับค่าให้โอเวอร์ : ในการถ่ายภาพที่มีฉากหลังสว่างกว่าตัวแบบ เช่นถ่ายตัวแบบในร่ม แต่ด้านหลังของแบบเป็นพื้นที่โล่งที่มีแสงแดดจ้า หากถ่ายออกมาปกติก็จะทำให้แบบมืดเกินไป นั่นเพราะกล้องจะทำการวัดค่าแสงจากแสงแดดด้านหลังของตัวแบบแทน ดังนั้นควรปรับให้ค่า Exposure ให้เป็น + 1 ถึง +2 เพื่อให้ภาพที่ออกมามีความสว่างมากขึ้น ใช้ขาตั้ง : ถ้าภาพที่ถ่ายออกมาไม่ชัดเจนแม้ว่าจะมีแสงพอก็ตาม ปัญหาอาจเกิดมาจากมือที่สั่นขณะกดชัตเตอร์ วิธีแก้ปัญหาก็คือใช้ขาตั้งกล้อง แต่หากไม่มีขาตั้งกล้อง คุณอาจใช้วัตถุอื่นๆ เป็นหลักที่มั่นคงแทน เช่น เอนหลังพิงกำแพง หรือวางกล้องไว้บนราวจับ หรือบนเสาแทนก็ได้ ถ่ายภาพจากจอทีวี : ถ้าต้องการถ่ายภาพบนจอทีวี ควรเลือกความเร็วของชัตเตอร์ให้ต่ำลง เช่น 1/15 (หมายถึงความเร็ว 1 ใน 15 วินาที) มิฉะนั้นอาจปรากฏแถบเส้นขึ้นบนหน้าจอได้ และควรใช้ขาตั้งกล้องช่วยในการถ่าย เพราะความเร็วชัตเตอร์ต่ำทำให้มีโอกาสที่ภาพจะสั่นไหวได้ เครื่องอ่านการ์ด : ถ้ามีงบประมาณเพียงพอ คุณอาจหาซื้อเครื่องอ่านการ์ดหรือ Card Reader มาใช้สักตัว เครื่องนี้จะทำหน้าที่อ่านข้อมูลจากเมมโมรี่การ์ดของกล้องดิจิตอล ซึ่งจะถ่ายโอนภาพลงเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เร็วกว่าการต่อตรงจากกล้องดิจิตอล เครื่องอ่านการ์ดที่จำหน่ายในท้องตลาดมีหลายยี่ห้อและหลายประเภท บางประเภทสามารถอ่านการ์ดได้หลายแบบ ทั้ง Compact Flash ,Memory Stick และอื่นๆ จัดเก็บภาพ : การเก็บภาพที่ถ่ายแล้วลงในแผ่นซีดีน่าจะเป็นวิธีที่สะดวกที่สุด การเก็บภาพไว้ในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องเสี่ยงกับการสูญหาย เพราะสาเหตุหลายประการ เช่น ฮาร์ดดิสก์เสีย, ไวรัส, และเครื่องหาย ซื้อเครื่องเขียนซีดีเพิ่มอีกสักเครื่องน่าจะดีที่สุด ปัจจุบันราคาของเครื่องเขียนซีดีก็ถูกลงมาก รวมถึงราคาของแผ่นซีดีด้วยเช่นกัน และหากเป็นไปได้ควรเก็บสำรองไว้บนซีดี 2 แผ่นเพื่อป้องกันการเสียหายและสูญหาย

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ สนุกกับการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook