ไวรัสคอมพิวเตอร์' จุดสมรภูมิร้อนตลาดซีเคียวริตี้ปี2005

ไวรัสคอมพิวเตอร์' จุดสมรภูมิร้อนตลาดซีเคียวริตี้ปี2005

ไวรัสคอมพิวเตอร์' จุดสมรภูมิร้อนตลาดซีเคียวริตี้ปี2005
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่คงจะคุ้นเคยและได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับไวรัส หนอนคอมพิวเตอร์ ไวรัสม้าโทรจัน รวมถึงอี-เมล์ขยะ และอันตรายจากนักเจาะระบบ (แฮกเกอร์) ที่สร้างความเสียหายให้กับระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลก ซึ่งปัญหาภัยคุกคามของซอฟต์แวร์ประสงค์ร้ายดังกล่าว นับวันก็ดูท่าว่าจะยิ่งทวีความเลวร้าย และมีการพัฒนาเทคนิคกลลวงที่แยบคายมากยิ่งขึ้นทุกที ทั้งนี้ หากเป็นช่วง 2-3 ปีก่อน ผู้ใช้ทั่วไปก็ยังพอยับยั้งความรุนแรงของไวรัสคอมพิวเตอร์ได้บ้าง ด้วยการหลีกเลี่ยงไม่เปิดดูอีเมล์ที่ต้องสงสัยว่าจะมีไฟล์ไวรัสแนบมาด้วย หากแต่ในปัจจุบัน ผู้พัฒนาโปรแกรมไวรัสกลับมีวิธีการใหม่ๆ ที่ใช้ล่อหลอกผู้ใช้คอมพิวเตอร์ให้กระโจนเข้าสู่กลลวงที่วางไว้ เพื่อหวังขโมยข้อมูลสำคัญ เช่น ข้อมูลการเงินของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีการที่เรียกว่า ฟิชชิ่ง (Phishing) ซึ่งเป็นอี-เมล์ที่หลอกผู้ใช้ว่าส่งมาจากธนาคาร และหากจะเข้าไปยังเว็บไซต์ของธนาคารก็ต้องระบุเลขบัญชีธนาคาร หรือข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งกลลวงดังกล่าวเกิดขึ้นให้เห็นอย่างมากตลอดช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลจากแมสเสจแล็บส์ ผู้ให้บริการระบบความปลอดภัยสำหรับอี-เมล์ ระบุว่า ในช่วงปี 2547 ที่ผ่านมา จำนวนอีเมล์ที่มีไวรัสแฝงพ่วงมาด้วยยังคงมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอี-เมล์ที่รับส่งกันในระบบเครือข่ายต่อเดือน ทุกๆ 16 ฉบับ จะพบอี-เมล์ 1 ฉบับที่แนบไวรัส ขณะที่ อี-เมล์ฟิชชิ่ง เมื่อเดือน ก.ย. 2546 บริษัทสามารถตรวจจับได้เพียง 279 ฉบับ ก่อนที่จะพุ่งขึ้นไปสูงมากกว่า 18 ล้านฉบับ ในเดือน พ.ย. 2547 ทั้งนี้ เพราะการพัฒนากลวิธีขโมยข้อมูล เพียงแค่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เปิดเข้าไปในอี-เมล์ โปรแกรมไวรัสจะทำการตรวจหาข้อมูลการเงินออนไลน์ของเจ้าของเครื่องได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการเข้าไปคลิ้กยังลิงค์ที่แนบมาในอี-เมล์ อย่างไรก็ตาม ผู้พัฒนาโปรแกรมไวรัสคอมพิวเตอร์ยังมีวิธีการแพร่กระจายความเสียหายไปรุดหน้ามากขึ้นอีก ด้วยการพัฒนาไวรัสคอมพิวเตอร์ที่สามารถค้นหาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบป้องกัน (ไฟร์วอลล์) หละหลวมเพื่อบุกโจมตีผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต เช่น ไวรัสแซสเซอร์ ซึ่งถึงแม้จะไม่ทำความเสียหายให้กับไฟล์ข้อมูล หรือขโมยข้อมูลในเครื่องไปใช้ แต่ก็สร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ด้วยการเปิดเครื่อง (บูทเครื่อง) ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นเหตุให้ระบบคอมพิวเตอร์ของกรมไปรษณีย์ไต้หวัน และธนาคารแซมโปในฟินแลนด์ล่มมาแล้ว นอกจากนี้ กลุ่มนักพัฒนาโปรแกรมก็ดี หรือเหล่าแฮกเกอร์ก็ดี ยังอาศัยช่องโหว่ของโปรแกรมอินเตอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์ ของไมโครซอฟท์ ที่มีการใช้งานแพร่หลาย เจาะเข้าสู่ระบบเครือข่ายของสถานที่สำคัญต่างๆ เพื่อขโมยข้อมูล ทั้งเว็บไซต์ที่มีชื่อเสียงด้านการเงิน แหล่งซื้อของออนไลน์ และเว็บท่า ซึ่งวิธีการเจาะเข้าไปมีทั้งที่ใช้ไวรัสม้าโทรจัน ซึ่งเป็นโปรแกรมนำร่องที่ดึงไวรัสอื่นๆ เข้ามาสู่เครื่อง และโปรแกรมตรวจจับการเคาะแป้นพิมพ์ (keystroke logger) ขณะที่ ในกลุ่มสแปมเมอร์ หรือผู้แพร่กระจายอี-เมล์ขยะ ซึ่งเป็นอี-เมล์โฆษณาสินค้า ก็มีความรุนแรงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการจับมือร่วมกับนักเขียนโปรแกรมไวรัสเพื่อสร้างความปั่นป่วน โดยใช้คอมพิวเตอร์ที่ติดไวรัสเป็นเครื่องแพร่กระจายอี-เมล์ขยะ ซึ่งในเดือน ม.ค. 2547 อี-เมล์ขยะมีสัดส่วนราว 63% ของอี-เมล์ที่มีการรับส่งทั่วไป และเพิ่มขึ้นไปเกือบถึง 75% ในเดือน พ.ย. 2547 นอกจากนี้ ยังรวมถึงภัยคุกคามประเภทสปายแวร์ ซึ่งเป็นโปรแกรมซุ่มตรวจสอบการทำงานของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ภัยต่างๆ เหล่านี้ ไม่เพียงนำมาซึ่งความอิดหนาระอาใจแก่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ ผลลัพธ์ที่สืบเนื่องกันไปยังอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้ที่มีต่อระบบรักษาความปลอดภัยบนเครือข่ายที่ใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-คอมเมิร์ซ) ที่ใช้สื่อการทำการค้าขายบนโลกอินเตอร์เน็ตโดยตรง ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะเห็นว่าตลอดปี 2547 ที่ผ่านมา บรรดาผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นเอโอแอล เอิร์ธลิงค์ ยาฮู เอ็มเอสเอ็น ต่างโหมออกบริการอินเตอร์เน็ตที่มาพร้อมกับโปรแกรมป้องกันไวรัสและสปายแวร์อย่างคับคั่ง เช่นเดียวกับบริษัทพัฒนาโปรแกรมป้องกันอย่างเทรนด์ไมโคร และเว็บรูท ที่ต่างขยายตลาดเข้าสู่มวลชนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ทางไมโครซอฟท์เอง ก็เตรียมปูแผนที่จะเข้าตลาดซอฟต์แวร์ระบบความปลอดภัยอย่างจริงจัง ด้วยการเข้าซื้อกิจการของไจแอนท์ คอมพานี เซอร์วิส ซึ่งเป็นผู้ผลิตโปรแกรมป้องกันสปายแวร์ โดยมีไซแมนเทค ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัส ตามมาติดๆ ด้วยการประกาศซื้อกิจการของเวริทัส ซึ่งเป็นบริษัทด้านการสำรองข้อมูลมาด้วยมูลค่า 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง จากความบกพร่องของโปรแกรมอินเตอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์ ของไมโครซอฟท์ ที่ถูกคุกคามจากโปรแกรมประสงค์ร้ายอยู่เนืองๆ ทำให้ทางกลุ่มมอซิลลา ผู้คิดค้นโปรแกรมท่องอินเตอร์เน็ต ไฟร์ฟ๊อกซ์ ออกมาสำทับถึงระบบที่มีความปลอดภัยยิ่งกว่า โดยหลังจากที่เปิดให้บริการไปมีผู้ดาวน์โหลดไปใช้แล้ว 11 ล้านครั้ง ทำให้ส่วนแบ่งในตลาดของอินเตอร์เน็ต เอ็กซ์พลอเรอร์ที่เคยหยุดนิ่งอยู่ที่ 96% มาตลอด ลดลงมาอยู่ที่ 92% เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2547 ที่ผ่านมา ดังนั้น ในปี 2548 นี้ คาดว่าสมรภูมิของตลาดซอฟต์แวร์ระบบความปลอดภัยของเครือข่ายจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก จึงสมควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง content by ติดตามข่าวทั้งหมดได้ ที่นี่

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ ไวรัสคอมพิวเตอร์' จุดสมรภูมิร้อนตลาดซีเคียวริตี้ปี2005

ไวรัสคอมพิวเตอร์' จุดสมรภูมิร้อนตลาดซีเคียวริตี้ปี2005
ไวรัสคอมพิวเตอร์' จุดสมรภูมิร้อนตลาดซีเคียวริตี้ปี2005
ไวรัสคอมพิวเตอร์' จุดสมรภูมิร้อนตลาดซีเคียวริตี้ปี2005
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook