ซอฟต์แวร์เพื่อผู้พิการ=เทนโลยี + น้ำใจ

ซอฟต์แวร์เพื่อผู้พิการ=เทนโลยี + น้ำใจ

ซอฟต์แวร์เพื่อผู้พิการ=เทนโลยี + น้ำใจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คนพิการ คำ ๆ นี้ หากมีใครหยิบยื่นให้ ก็เชื่อว่าไม่มีผู้ใดต้องการแก่งแย่งแข่งขันให้ได้มา เพราะคนพิการในสายตาของปุถุชนคนทั่วไป ก็คือคนที่มีสภาพร่างกายบกพร่อง มีปัญหาทั้งทางด้านบุคลิกภาพ และการแสดงออก ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยกำลังมีคนพิการที่ต้องทนทุกข์ทรมานทั้งทางกายและจิตใจเพิ่มมากขึ้น จากการขาดการสนับสนุนในด้านการศึกษา การพัฒนาศักยภาพของเขาเหล่านั้น ทำให้ในทุกวันนี้ พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงต้องตกอยู่ในสภาพของผู้รับบริจาคเสมอ ๆ หลายคนเชื่อว่า การบริจาคทานให้คนพิการจะช่วยให้สภาพชีวิตของเขาเหล่านั้นดีขึ้น เหรียญเงินห้าบาท สิบบาท หรือเช็คของขวัญราคาเรือนหมื่นที่ทุกคนหยิบยื่นให้จึงกลายเป็นส่วนเติมเต็มให้พลังงาน สร้างชีวิตพวกเขาให้ดำรงคงอยู่ในวันรุ่งขึ้น แต่สังคมไทยส่วนใหญ่ยังคงมองปัญหาคนพิการในด้านเดียว เรามองคนพิการอย่างคนที่เป็นผู้รับ โดยขาดซึ่งการพัฒนาศักยภาพของพวกเขาตามสมควร โครงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษาสำหรับช่วยเหลือผู้พิการจึงได้เริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาอย่างช้า ๆ โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานการศึกษาพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีนักวิจัยและพัฒนาหลายสิบชีวิตที่เฝ้าประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์และซอฟต์แวร์พื้นฐานสำหรับให้ผู้พิการได้ใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งก็คือหนทางหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของคนเหล่านั้นให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบากบนโลกกลม ๆ ใบนี้ โปรแกรมคอมพิวเตอร์มากมายหลายแบบถูกสร้างขึ้นมา โดยใช้ข้อมูล สถิติ ตัวเลข ที่ได้จากการวิจัย การสอบถามความต้องการของผู้พิการมาเป็นข้อมูลหลักในการพัฒนา ทำให้ได้ในสิ่งที่เหมาะสมสำหรับผู้พิการแต่ละบุคคลมากที่สุด ไม่เว้นแม้แต่อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่นเมาส์ หรือคีย์บอร์ดสำหรับผู้พิการ เนื่องจากสภาพร่างกายแต่ละคนอาจแตกต่างกัน บางคนไม่สามารถคลิกเมาส์ได้ บางคนไม่มีแขน บางคนกดปุ่มได้อย่างเดียว บางคนไม่มีแรงคลิกเมาส์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้นักพัฒนาจากทางเนคเทคก็ได้สร้างโปรแกรม และระบบคอมพิวเตอร์ขึ้นมารองรับ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้พิการไม่มีแรงคลิกเมาส์ ก็จะใช้วิธีการนำเมาส์ไปวางไว้เหนือปุ่มที่ต้องการ และระบบจะเซ็ตค่าว่าถ้าเมาส์อยู่ ณ ตำแหน่งนี้นานเกิน 3 วินาทีจะถือว่าเป็นการคลิก เป็นต้น แต่นอกเหนือจากอุปกรณ์ช่วยเหลือต่าง ๆ แล้ว ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็นมาก ปัจจุบันนี้เรามีซอฟต์แวร์เพื่อคนพิการหลายโปรแกรม ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมเดาคำศัพท์ (Word Prediction Software) โปรแกรมนี้มีหน้าที่หลักสองข้อคือ เติมคำศัพท์ให้เต็ม และเดาคำศัพท์ล่วงหน้า โดยอาศัยการเก็บสถิติคำที่พิมพ์ของ ซึ่งออกแบบมาให้มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถเก็บค่าสถิติการเลือกใช้คำของผู้พิมพ์เอาไว้ในฐานข้อมูล จะช่วยให้ผู้พิการที่มีความบกพร่องทางกายสามารถพิมพ์งานได้สะดวกมากขึ้น โดยจะช่วยลดจำนวนครั้งที่ใช้ในการกดแป้นพิมพ์ให้น้อยลง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพิมพ์คำว่า อ่าน บ่อย ๆ ครั้งต่อไปที่กดแป้นตัว อ.อ่าง คำว่า อ่าน ก็จะขึ้นมาอยู่ในลิสต์ให้เลือกใช้ได้ ไม่ต้องพิมพ์ทุกตัวอักษรอีกต่อไป โปรแกรมรังสรรค์ภาพ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับให้การศึกษาแก่ผู้พิการ หรือเด็กที่มีพัฒนาการด้านการศึกษาค่อนข้างช้า มีปัญหาด้านการสะกดคำ เพราะเป็นการนำภาพที่มีสีสันสดใสมาใช้เรียบเรียารถแต่งเป็นประโยคได้ เช่นนำภาพเด็กน้อย กับภาพไก่ มาเรียงต่อกัน จากนั้นโปรแกรมนี้จะทำการสังเคราะห์เสียงอัตโนมัติ อ่านออกมาเป็นประโยคได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านอ่าน-เขียนด้วยตนเองได้ โปรแกรมภาษามือไทย เป็นอีกโปรแกรมหนึ่งซึ่งรวบรวมคำศัพท์ภาษามือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เอาไว้เพื่อให้เป็นท่ามาตรฐานภาษามือไทยสำหรับเผยแพร่ในวงกว้างประกอบด้วยคำศัพท์จำนวน 142 คำ มาจาก 5 กลุ่มศัพท์คือ กลุ่มการใช้งานคอมพิวเตอร์เบื้องต้น กลุ่มศัพท์ระบบปฏิบัติการดอส กลุ่มคำศัพท์ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ กลุ่มคำศัพท์ไมโครซอฟท์ออฟฟิศ และกลุ่มคำศัพท์อินเทอร์เน็ต การบัญญัติภาษามือไทย ชุดคำศัพท์คอมพิวเตอร์นี้เป็นผลงานของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย โปรแกรมจะแสดงคำศัพท์ทางด้านซ้าย และภาพวีดิทัศน์ภาษามือของศัพท์นั้น ๆ และยังสามารถเลือกภาษาที่แสดงได้ด้วยว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ผู้สูญเสียความสามารถทางการพูด ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ ก็มี โปรแกรมปราศรัย ใช้ สัญรูป แทนการสื่อความหมาย เช่น ถ้าคลิกที่รูปเปิดประตู ก็จะมีเสียงบอกให้ช่วยเปิดประตู หรือปิดประตู เป็นต้น แล้วก็มีภาพสัญลักษณ์อื่น ๆ สำหรับใช้ถามได้ เช่น วันนี้มีอะไรทาน, ทานข้าวหรือยัง โดยที่ผู้พูดไม่จำเป็นต้องออกเสียงใด ๆ เพียงแค่คลิกเมาส์ไปยังภาพก็พอ นอกจากนั้นยังมีคำพูดที่ใช้บ่อย ๆ เช่น สวัสดี, ขอบคุณ, ใช่, ไม่ใช่ เอาไว้ทางด้านล่างของโปรแกรมด้วย และสำหรับครอบครัวทั้งหลายที่มีลูกเล็ก โปรแกรมคุณแม่ไฮเทคก็สามารถช่วยให้พ่อแม่ได้ตรวจสอบพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกตัวน้อยได้ว่า ช้ากว่าเกณฑ์หรือเปล่า หรือว่ามีอาการใด ๆ ที่แสดงออกว่าผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งช่วยในการฝึกทักษะในช่วงขวบปีแรกของเด็ก ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีเซลล์สมองพัฒนาอย่างมาก ถ้าหากได้รับการฝึกอย่างถูกวิธี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะมีความบกพร่องทางสติปัญญาได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันโปรแกรมดังกล่าวก็ได้นำไปใช้ในศูนย์การศึกษาพิเศษ 76 จังหวัดทั่วไทยแล้วด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจา ชลธาร์นนท์ ที่ปรึกษาด้านการศึกษาพิเศษและผู้ด้อยโอกาส คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งมีประสบการณ์ในวงการผู้ด้อยโอกาสและคนพิการมายาวนาน กล่าวว่า ความสนใจของคนทั่วไปต่อคนพิการ มักเป็นแบบไม่ต่อเนื่อง ดังนั้น การทำเพื่อคนพิการจึงมักทำเพื่อการบริจาค สงเคราะห์ หรืออยู่ในรูปของการทำบุญ แต่ขาดซึ่งการพัฒนาคนพิการ เพื่อให้เขามีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ สามารถดูแลตัวเองได้ ทำงานได้ เอาตัวรอดได้ แรกเริ่มเดิมที การพัฒนาอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือสำหรับคนพิการนั้น จะจัดส่งไปตามสถานศึกษา แต่เกิดปัญหาว่าผู้พิการไม่ได้ใช้อย่างเต็มที่ อีกทั้งกลายเป็นสมบัติของสถานศึกษานั้น ๆ ไป ทางสพฐ. จึงปรับกระบวนการในส่วนนี้ ให้เด็กหรือผู้ปกครองเป็นผู้แจ้งความต้องการเข้ามาแทน แล้วทางสพฐ.จะจัดส่งอุปกรณ์ เครื่องมือที่ต้องการไปให้ และอุปกรณ์นั้น ๆ จะอยู่ในความดูแลของเด็ก หากมีการย้ายสถานศึกษา อุปกรณ์ก็จะติดตามไปด้วย ทำให้เด็กสามารถใช้เครื่องมือได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งถ้าหากอุปกรณ์ชำรุด ก็สามารถส่งมาซ่อมได้ที่ สพฐ.ด้วย สำหรับการพัฒนาอุปกรณ์เหล่านี้ เป็นความร่วมมือกันครั้งใหญ่ระหว่างสพฐ. และเนคเทค โดยเนคเทคจะส่งเจ้าหน้าที่ และนักวิจัยจำนวนมาก มาศึกษาความต้องการของเด็ก หรือผู้พิการ จากนั้นจึงกลับไปพัฒนา และเมื่อพัฒนาเรียบร้อยออาเป็นรุ่นโปรโตไทป์ (prototype) แล้ว ทางสพฐ.ก็จะนำโปรโตไทป์นั้น ๆ ไปทำการว่าจ้างบริษัทอื่น ๆ ให้ผลิตให้อีกทอดหนึ่ง ซึ่งในส่วนนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล 200 ล้านบาท ปัจจุบัน สพฐ. มีเด็กที่อยู่ในความดูแลประมาณ 25,000 คน และในปี 2548 จะเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 คน ซึ่งจากตัวเลขการเก็บสถิติของสพฐ. พบว่า ประเทศไทยมีผู้พิการคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 600,000 คน คิดเป็นเด็กพิการประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด หรือ 100,000 คน โดยแบ่งประเภทของผู้พิการออกเป็น 9 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ ผู้พิการทางการได้ยิน, ทางการมองเห็น, ทางร่างกาย, ทางการพูดและภาษา, ทางพฤติกรรมและอารมณ์, ออทิสติก, พิการทางการเรียนรู้, พิการซ้อน และผู้บกพร่องทางสติปัญญา จากตัวเลขดังกล่าวแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือเด็กพิการที่ไม่สามารถเรียนร่วมกับนักเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้ จึงต้องเรียนในโรงเรียนเฉพาะทางประมาณ 25,000 คน กับเด็กที่ทำการวัดระดับแล้วสามารถเรียนร่วมกับผู้อื่นได้ ก็จะอยู่ในโรงเรียนสามัญทั่วไป คีย์บอร์ดพิเศษสำหรับผู้พิการ การเก็บข้อมูลผู้พิการในปัจจุบันนั้น สพฐ. ได้ปรับปรุงกระบวนการในการเก็บข้อมูลของผู้พิการเสียใหม่ แรกเริ่มเดิมที การเก็บข้อมูลคนพิการ จะต้องทำการจดทะเบียนคนพิการ ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ และมีขั้นตอนยุ่งยาก โดยได้เปลี่ยนให้ผู้พิการไปจดทะเบียนผู้พิการที่โรงพยาบาลได้เลย จากนั้น สพฐ.ก็จะนำข้อมูลผู้พิการจากโรงพยาบาลมาทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) และจัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือต่อไป สพฐ. (สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ได้จัดทำ IEP (Individual Education Program) หรือแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล โดยต้องได้รับความร่วมมือระหว่างครู สถานศึกษา และบิดามารดาของเด็ก ในการประเมินความต้องการของเด็ก เพื่อให้ทราบถึง ความจำเป็นพิเศษ (Special Needs) ของเด็กแต่ละคน ผศ.ดร.เบญจากล่าว แม้ว่าเด็กพิการจะไม่ได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมเหมือนกับเด็กปกติทั่ว ๆ ไป แต่อย่างน้อยก็ยังมีสถานที่ และบุคคลที่ให้โอกาสพวกเขาในการพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพเพียงพอต่อการดำรงชีวิตอยู่ได้บนโลกใบนี้ได้ในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่ได้รับการเติมเต็มในด้านความคิดอ่าน และมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นคน ข้อมูลเพิ่มเติม สนใจติดต่อ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมและการช่วยเหลือเกี่ยวกับผู้พิการได้ที่ กระทรวงศึกษาธิการ 319 ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 โทร. 02-281-2257

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ซอฟต์แวร์เพื่อผู้พิการ=เทนโลยี + น้ำใจ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook