ไมโครซอฟท์เผยนโยบายเน้นคนไทยให้ความสำคัญด้านซอฟต์แวร์

ไมโครซอฟท์เผยนโยบายเน้นคนไทยให้ความสำคัญด้านซอฟต์แวร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักข่าวไทย : ไมโครซอฟท์ เผยนโยบายในประเทศไทยปีนี้ กระตุ้นคนไทยเห็นความสำคัญของซอฟต์แวร์ อ้างตัวเลขไอดีซี ระบุร้อยละ 89 ของรายได้ไมโครซอฟท์ถูกสร้างประโยชน์ในไทย พร้อมมีนโยบายเปิดกว้างให้คนไทยเข้าถึงไมโครซอฟท์ได้ง่ายขึ้น นายแอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงนโยบายของบริษัทในประเทศไทยว่า ปีนี้(ก.ค.2546-มิ.ย.2547) ไมโครซอฟท์มีแผนที่จะส่งเสริมให้คนไทยรู้จักคุณค่าการลงทุนด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งมีผลคืนทุนกลับมามากกว่าการลงทุนด้านอื่นๆ หลังพบว่าคนไทยมักจะให้ความสำคัญเฉพาะการซื้อฮาร์ดแวร์หรือเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น ส่วนซอฟต์แวร์จะซื้อของละเมิดลิขสิทธิ์มาใช้งาน โดยไม่คำนึงว่าซอฟต์แวร์คือต้นทุนสำคัญของธุรกิจเช่นกัน ส่งผลให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยไม่ก้าวหน้า เพราะไม่เกิดการพัฒนาขึ้นในประเทศ นายแอนดรูว์ ระบุว่า จากตัวเลขของพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ พบว่า หากประเทศไทยสามารถลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้ร้อยละ 10 จะทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยเติบโตนับพันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ในขณะที่รายได้ของผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์จะเพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่ล้านดอลล่าร์เท่านั้น นอกจากนี้ไมโครซอฟท์ยังมีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาซอฟต์แวร์ใหม่ๆ ในประเทศไทย โดยใช้เครือมือของไมโครซอฟท์ ซึ่งในงานไมโครซอฟท์ ซัมมิท 2003 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 ส.ค.ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้มีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์กลุ่มนี้กว่า 40 บริษัทเข้าร่วมงาน นายแอนดรูว์ กล่าวอีกว่า การที่ไมโครซอฟท์ ขายซอฟต์แวร์ผ่านรีเซลเลอร์ 1,330 ราย และมีองค์กรธุรกิจซื้อซอฟต์แวร์บริษัทไปใช้งานแล้วกว่า 2,385 ราย ทำให้เกิดการสร้างงานในภาคธุรกิจบริการไอทีถึง 20,000 กว่าคน คิดเป็นมูลค่าถึง 14,400 ล้านบาท ทำให้ไมโครซอฟท์เดินหน้าที่จะสร้างนักพัฒนาในไทยให้มากขึ้น รวมถึงสนใจเข้าร่วมโครงการซอฟต์แวร์เอื้ออาทรกับกระทรวงไอซีทีด้วย ส่วนปัญหาเรื่องไวรัสคอมพิวเตอร์ ที่มุ่งเป้าโจมตีระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ในช่วงที่ผ่านมา นายแอนดรูว์ระบุว่า ไมโครซอฟท์ได้ตั้งรับและแสดงความรับผิดชอบเต็มที่ โดยก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสบลัสเตอร์เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาป้องกันแล้ว ส่วนลูกค้าที่ไมโครซอฟท์ดูแลอยู่ในประเทศไทยไม่มีปัญหาใดๆ แต่ยอมรับว่า ลูกค้าตามบ้านยังมีปัญหาการติดต่อประสานงานกับบริษัท ซึ่งนับจากนี้จะเพิ่มศูนย์ประสานขึ้น ขณะเดียวกันผู้ใช้คอมพิวเตอร์ ก็ต้องป้องกันไวรัสในเครื่องของตัวเองเช่นกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook