"สินสมุทร" คุ้มหรือไม่กับค่าตัว 10,900 บาท

"สินสมุทร" คุ้มหรือไม่กับค่าตัว 10,900 บาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เดลินิวส์ : สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาแสนถูกที่มีชื่อว่า สินสมุทร ที่ดำเนินการโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT เนื่องจากราคาขายเคาะไว้เพียง 10,900 บาท (ยังไม่รวม VAT อีก 7%) ซึ่งถือว่าเป็นราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดที่ถูกเป็นประวัติการณ์ น่าสังเกตว่าผู้ที่สนใจเครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูกรุ่นนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในเรื่องของคอมพิวเตอร์ไม่มากนักและทีมงาน CHIP ก็มักจะได้รับคำถามจากผู้ใช้กลุ่มนี้อยู่บ่อยครั้งว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ ราคาถูกนี้ใช้งานได้ดีเพียงใดและคุ้มค่าขนาดไหน องค์ประกอบทางด้านฮาร์ดแวร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์สินสมุทร ซีพียู Intel Celeron 1.0GHz เมนบอร์ด ECS P6VEM ชิปเซต VIA Apollo PLE133 หน่วยความจำ Apacer SDRAM PC133 ขนาด 128MB ระบบกราฟิก มาพร้อมกับเมนบอร์ด แชร์หน่วยความจำหลัก 8MB ระบบเสียงมาตรฐาน AC97 มาพร้อมกับเมนบอร์ด จอภาพ LG StudioWorks 500G ขนาด 15 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ Samsung SV0211H ขนาด 20GB ไดรฟ์ซีดีรอม LG ความเร็ว 52X โมเด็ม Internal 56K เคส Medium Tower พร้อมด้วยพาวเวอร์ ซัพพลายขนาด 200Watt ในทรรศนะของทีมงาน CHIP เครื่องคอมพิวเตอร์ชุดนี้ก็นับว่าสมราคา คือสามารถทำงานทั่ว ๆ ไปได้ดีแม้จะไม่ถึงขั้นสุดยอด เนื่องจากซีพียูที่ใช้นั้นเป็นเพียง Celeron ในรุ่นรหัส CupperMine ซึ่งใช้ FSB ความเร็ว 100MHz และมีความเร็วในการทำงานเพียง 1GHz นอกจากนี้หน่วยความจำที่ใช้งานก็ยังเป็นแบบเก่า ถึงแม้ว่าจะมีขนาด 128MB แต่ในการใช้งานจริงจะเหลือเพียง 120MB เท่านั้น เนื่องจากมีการแบ่งไปใช้กับระบบกราฟิกที่อินทิเกรตมานั่นเอง ความสามารถในการทำงานจึงไม่อาจเทียบกับเครื่องรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันได้ จากการตรวจสอบคุณสมบัติของเครื่องพบว่ามีบางส่วนที่ขัดแย้งกันกับคุณสมบัติที่ทราบมา โดยเฉพาะระบบกราฟิกที่อ้างว่าสามารถใช้หน่วยความจำสำหรับการแสดงผลได้มาถึง 32MB แต่เครื่องชุดที่ทดสอบซึ่งรับมาจากเนคเทคสามารถใช้งานได้เพียง 8MB เท่านั้น นอกจากนี้ในส่วนของพาวเวอร์ซัพพลายที่เป็นตัวจ่ายไฟให้กับเครื่องก็มีกำลังสูงสุดเพียง 200 วัตต์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาว่าสามารถจ่ายไฟได้มากถึง 250 วัตต์เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม โดยรวมถือว่าตัวเครื่องมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างครบถ้วนเพราะเมื่อประเมินคุณสมบัติขั้นต้นของเครื่องแล้วสามารถใช้งานได้หลากหลายลักษณะตั้งแต่การใช้งานด้านเอกสาร ใช้ท่องอินเทอร์เน็ตและเพื่อความบันเทิงในลักษณะของมัลติมีเดีย รวมถึงการทำงานทั่ว ๆ ไป ด้วยพื้นฐานที่อยู่บนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล หากจะนำไปใช้เล่นเกมสามมิติ เครื่องคอมพิว เตอร์ชุดนี้ไม่เหมาะเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าขนาดความจุของฮาร์ดดิสก์จะทำให้สามารถเก็บข้อมูลหรือติดตั้งโปรแกรมได้อย่างมากมายก็ตาม นิตยสาร CHIP ทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดนี้ แต่ผลการทดสอบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นจะอ้างอิงจากพื้นฐานการทำงานกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็กซ์พี เนื่องจากโปรแกรม ทดสอบที่ CHIP ใช้ส่วนใหญ่ทำงานบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ การทำงานด้วยระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็กซ์พีที่ CHIP ติดตั้งใหม่นั้น เครื่องสามารถทำงานได้อย่างไม่มีปัญหา เริ่มต้นจากโปรแกรมทั่ว ๆ ไป การใช้งานเพื่อความบันเทิง ดูหนังและฟังเพลง รวมถึงการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต แต่ความเร็วนั้นค่อนข้างจำกัด ส่วนในการทดสอบการทำงานของแอพลิเคชันที่มีลักษณะเป็นแบบ Multi Tasking หรือทำงานพร้อม ๆ กันครั้งละหลาย ๆ แอพลิเคชันด้วยโปรแกรม SYSMark 2001 ปรากฏว่าเครื่องไม่สามารถทดสอบจนผ่านไปได้ โดยจะปรากฏอาการค้างหรือแฮงก์ให้เห็นได้บ่อยครั้งโดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำงานในลักษณะที่เป็นแบ๊กกราวนด์มาก ๆ เช่น ในช่วงที่มีการสั่งพิมพ์เอกสารออกทางพรินเตอร์เป็นจำนวนมาก ๆ ในขณะที่ยังมีการทำงานของแอพลิเคชันหรือโปรแกรมกำลังประมวลผลอื่น ๆ อยู่ เนื่องจากไม่สามารถทดสอบจนผ่านไปได้ CHIP จึงได้ทำการเพิ่มขนาดหน่วยความจำให้สูงขึ้นอีก 128MB ปัญหาการแฮงก์ของเครื่องก็หมดสิ้นไปและสามารถผ่านการทดสอบได้ แต่ผลคะแนนที่ได้จากโปรแกรมทดสอบนั้นดูจะน้อยไปสักนิด โดยเฉพาะในส่วนของการทำงานของแอพลิเคชันด้านกราฟิก ผลคะแนนที่ได้ดูไม่ประทับใจนัก นอกจากเป็นผลมาจากซีพียู Celeron ความเร็ว 1GHz แล้วยังพบว่าส่วนหนึ่งมาจากความเร็วในการทำงานของหน่วยความ จำและฮาร์ดดิสก์ด้วย เนื่องจากหน่วยความจำหลักถูกแบ่งไปใช้สำหรับการแสดงผล 8MB ทำให้แบนด์วิดธ์ในการทำงานลดลงและยังส่งผลให้ Throughput มีความเร็วลดเหลือเพียง 125.1MB/s เท่านั้น ในขณะที่ฮาร์ดดิสก์มาตรฐาน Ultra ATA/100 ความเร็ว 5,400 รอบต่อนาทีก็มีความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลสูงสุดเพียง 27MB/s เท่านั้น อีกทั้งยังเข้าถึงข้อมูลได้ค่อนข้างช้าด้วย ส่วนความสามารถในการแสดงผลของระบบกราฟิกที่อินทิเกรตมาพร้อม หากเป็นการใช้งานทั่ว ๆ ไปก็ถือว่าปกติ แต่หากเป็นการแสดงภาพสามมิติที่ต้องการความรวดเร็วและต่อเนื่องอย่างภาพในเกมนั้นถือว่าไม่เหมาะสมเพราะจากการทดสอบด้วยเกม Quake III Arena ในโหมดปกติที่มีความละเอียดไม่สูง ความรวดเร็วในการแสดงภาพยังมีอัตราเพียง 12.2 เฟรมต่อวินาทีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงแทบจะลืมไปได้เลยหากคุณต้องการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ชุดนี้มาเล่นเกมสามมิติ เนื่องจากความเร็วขั้นพื้นฐานนั้นอย่างน้อยควรมีตั้งแต่ 30 เฟรมต่อวินาทีขึ้นไป จากการทดสอบการทำ งานของเครื่อง CHIP พบว่าจอภาพขนาด 15 นิ้ว ที่ใช้กับเครื่องนั้น แม้ว่าจะรองรับความละเอียดได้ในระดับ 1,024x768 พิกเซล แต่ไม่ค่อยเหมาะในการใช้งานเพราะภาพที่ปรากฏจะมีอาการสั่นจนทำให้เกิดอาการล้าทางสายตา จากอัตรารีเฟรชของจอภาพที่มีเพียง 60 เฮิรตซ์ ซึ่งต่ำเกินไป ซึ่งในการทำงานจริงหากไม่ต้องการให้ล้าสายตาควรจะต้องใช้ความละเอียดเพียงขนาด 800x600 พิกเซล พื้นที่ในการแสดงผลบนหน้าจอของคอมพิวเตอร์ ชุดนี้จึงค่อนข้างจำกัด นั่นหมายความว่าหากใช้โปรแกรม ที่มีแถบเครื่องมือเป็นจำนวนมาก พื้นที่ในการทำงานจริง ๆ ก็แทบจะไม่เหลือเลย การใช้เมนบอร์ดที่เป็นแบบ Micro-ATX ซึ่งไม่มีสล็อต AGP ทำให้การเพิ่มความสามารถในการแสดงผลสามมิติทำได้ยาก คำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เครื่องคอมพิวเตอร์ชุดนี้จะใช้งานได้นานเพียงใด ซึ่งคำตอบนี้อยู่ที่คุณมากกว่าว่าจะต้องการความสามารถในการทำงานที่หยุดอยู่เพียงคุณสมบัติในการทำงานที่มีอยู่ในตอนนี้หรือไม่ แต่ถ้าไม่แล้วคำตอบที่ได้อาจไม่ถูกใจนักเพราะองค์ประกอบต่าง ๆ ของเครื่องนั้นมีคุณสมบัติที่ค่อนข้างจำกัด เริ่มตั้งแต่การใช้ซีพียูในรูปแบบที่เป็นซ็อกเก็ต 370 ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตรายสำคัญอย่างอินเทลนั้นได้ยกเลิกสายการผลิตไปแล้ว ทำให้คุณไม่สามารถเปลี่ยนไปใช้ ซีพียูที่มีความสามารถดีกว่า Pentium III หรือ Celeron ที่มีความเร็วเกินกว่า 1.3GHz และในปัจจุบันซีพียูเหล่านี้ก็เริ่มหาซื้อได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ราคาถูกนี้อัพเกรดได้ยากก็คือเมนบอร์ดซึ่งนอกจากจะทำให้เป็นข้อจำกัดในเรื่องของการใช้ซีพียูแล้ว ยังทำให้ความสามารถในส่วนอื่น ๆ ถูกจำกัดตามไปด้วย เริ่มตั้งแต่หน่วยความจำที่ต้องใช้เป็นแบบ SDRAM PC133 และโอกาสที่จะเพิ่มความสามารถในการเล่นเกมสามมิติของเครื่องก็ทำได้เพียงการติดตั้งการ์ดแสดงผลที่เป็นแบบ PCI ที่หาซื้อได้ค่อนข้างยากเท่านั้นเนื่องจากเมนบอร์ดไม่มีสล็อต AGP ที่เป็นมาตรฐานส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อีกทั้งด้วยพื้นฐานการทำงานที่อยู่บนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล การอัพเกรดฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ก็ทำได้ค่อนข้างยาก เมื่อเทียบกับวินโดวส์ที่นอกจากมีขั้นตอนที่สะดวกกว่าและไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการขาด แคลนไดรเวอร์ด้วย ซอฟต์แวร์ : พื้นฐานที่อยู่บนระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเล ด้วยข้อจำกัดทางด้านราคาที่ต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงเกินไป ทำให้เครื่องชุดนี้ต้องพึ่งพาการใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ทะเลซึ่งเป็นของฟรี ที่แม้ว่าจะมีระบบการติดต่อกับผู้ใช้เป็นกราฟิกที่สื่อด้วยรูปภาพเหมือนกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แต่สำหรับผู้เริ่มต้นแล้วใช้งานได้ยากกว่าและมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง เช่น แอพลิเคชันที่มารองรับซึ่งไม่แพร่หลายเท่ากับวินโดวส์ รวมทั้งเรื่องของซอฟต์แวร์ไดรเวอร์ ที่ผู้ผลิตไม่ค่อยพัฒนาขึ้นมาใช้งาน อีกทั้งขั้นตอนการจัดการต่าง ๆ ทำได้ยุ่งยากกว่าพอสมควร อย่างไรก็ดีระบบปฏิบัติการของฟรีนี้ก็มีความสมบูรณ์ในตัวเองอยู่ระดับหนึ่ง ด้วยข้อจำกัดข้างต้นทำให้การใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่นั่นหมายความว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายทางด้านซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4,000 บาท หากเป็นวินโดวส์ 98 ในขณะที่วินโดวส์เอ็กซ์พีรุ่นโปรที่มีราคาเกือบ 9,000 บาท นั้นไม่เหมาะสมต่อการนำมาใช้งานเมื่อพิจารณาจากสเปกเครื่อง ต้องไม่ลืมว่ายังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายของแอพลิเคชัน อาทิ ชุดออฟฟิศหรือชุดกราฟิกเพิ่มเติม ซึ่งหากต้องจ่ายเพิ่มอีกก็คงเป็นยอดเงินรวมที่ไม่น้อยเลย เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติและประสิทธิภาพในการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์สินสมุทร อาจเปรียบได้กับรถที่คุณไม่จำเป็นต้องใช้เมอร์เซเดสเบนซ์รุ่นที่เครื่องมีแรงม้าสูง ๆ ก็ไปถึงจุดหมายปลายทางได้ เพียงแต่ในระยะทางที่เท่ากันคุณต้องใช้เวลาที่ยาวนานกว่า วิ่งได้ดีบ้างสะดุดบ้างและมีเครื่องอำนวยความสะดวกที่น้อยกว่าเท่านั้นเอง ดังนั้นก่อนตัดสินใจคงต้อง ถามตัวเองดูก่อนว่าพอใจกับประสิทธิภาพที่มีอยู่และพอเพียงกับการใช้งานและความต้องการของคุณหรือไม่ นั่นละคือคำตอบที่ดีที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook