ไอบีเอ็มเคลื่อนทัพบุกตลาดชิปเอเชีย

ไอบีเอ็มเคลื่อนทัพบุกตลาดชิปเอเชีย

ไอบีเอ็มเคลื่อนทัพบุกตลาดชิปเอเชีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฐานเศรษฐกิจ : โดยปกติ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์จะมีโรงงานผลิตแฟบริเคชันสำหรับทำชิป หรือเรียกสั้นๆ ว่า "แฟ้บส์" เป็นของตนเอง และใช้เป็นที่ผลิตแผ่นชิปตามแบบที่บริษัทที่เป็นลูกค้าสั่งทำ แต่ต่อมาเมื่อการสร้างโรงงานผลิตแฟ้บส์มีต้นทุนสูงขึ้น จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตชิปตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายด้วยการสั่งผลิตจากบริษัทผู้ผลิตในเอเชียแทน ทั้งนี้ตามรายงานของนักวิเคราะห์จากไอซัพพลาย คอร์ป บริษัทผู้วิจัยการตลาดระบุว่า ยอดขายในธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดเมื่อปีที่แล้วมีอัตราการเติบโต 1.5% คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 156.4 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ขณะที่ในกลุ่มผู้ผลิตแฟ้บส์ มีอัตราการเติบโตถึง 15% แต่สำหรับปีนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของกลุ่มผู้ผลิตแฟ้บส์ อาจโตถึง 25% หรือเป็น 3 เท่า ของอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโดยรวมซึ่งคาดว่าจะโตเพียง 8% จากแนวโน้มการเติบโตที่สดใสของตลาด ทำให้ไอบีเอ็มเล็งเห็นโอกาส จึงตั้งโรงงานผลิตแฟ้บส์ มูลค่าถึง 3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐขึ้นมา ซึ่งตามแผนที่วางไว้ บริษัทตั้งใจว่า 1 ใน 3 ส่วนของกำลังการผลิตของโรงงานจะใช้ผลิตตัวประมวลผลคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่สำหรับเครื่อง เมนเฟรมและเครื่องแม่ข่ายระดับบนของบริษัท ขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องหาลูกค้าจากข้างนอกเข้ามาเสริมรายได้ในส่วนที่เหลือเช่นกัน ซึ่งลูกค้าส่วนมากล้วนเป็นลูกค้าหลักๆ ของบริษัทผู้ผลิตในเอเชีย ดังตัวอย่าง บริษัท นวิเดีย คอร์ป ผู้ผลิตชิปประสิทธิภาพสูงสำหรับเครื่องเล่นวิดีโอ ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนู แฟคเจอริ่งฯ ประกาศจะให้โรงงานของไอบีเอ็มเป็นผู้ผลิตชิปรุ่นต่อไปให้ และในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทไอบีเอ็มฯ ยังได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับบริษัทเอเอ็มดีฯ เพื่อผลิตตัวประมวลผลสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเครื่องแม่ข่าย ทั้งที่แต่เดิมบริษัทเอเอ็มดีฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทยูไนเต็ด ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ฯ ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของไต้หวัน ในการตั้งโรงงานผลิตแฟ้บส์ร่วมกันที่สิงคโปร์ นอกจากนี้ก็ยังมีบริษัทชาร์เตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง ในสิงคโปร์ที่ทำสัญญาข้อตกลงจัดส่งลูกค้าที่ต้องการการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงให้กับไอบีเอ็ม ซึ่งจากข้อตกลงนี้ เอื้อให้บริษัทสามารถยืดเวลาการสร้างโรงงานผลิตแฟ้บส์ มูลค่า 3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐของตนเองออกไปได้อีก นายจอห์น เคลลี่ หัวหน้าฝ่ายไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ของไอบีเอ็ม กล่าวว่า บริษัท ไอบีเอ็มฯ ได้สร้างรูปแบบธุรกิจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้แตกต่างจากบริษัทของไต้หวัน เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกันโดยตรง ยกตัวอย่าง ขณะที่บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ฯ ผลิตชิปให้กับลูกค้ากว่า 300 ราย แต่บริษัท ไอบีเอ็มฯ จะเน้นทำธุรกิจกับลูกค้าน้อยรายแต่เป็นปริมาณมากแทน หรือในขณะที่ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ส่วนใหญ่เน้นการผลิตตามแบบที่ลูกค้าออกแบบมาแล้ว ในทางตรงข้าม ไอบีเอ็ม จะให้นักออกแบบและวิศวกรของบริษัทได้ร่วมออกแบบกับลูกค้าแทน เช่น กรณีของบริษัท โซนี่ คอร์ป ที่มีวิศวกรของบริษัทโซนี่ฯ มาร่วมออกแบบตัวชิปสำหรับเครื่องเล่นเกมเพลย์ สเตชันรุ่นถัดไปร่วมกับพนักงานของไอบีเอ็ม นางเลาร่า โคนิลิยาโร่ นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน ซากส์ คาดว่ามูลค่าธุรกิจไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ในปีนี้จะมีมากถึง 3.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งจากมูลค่าธุรกิจที่มีมหาศาลทำให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นที่น่าจับตามอง ขณะที่ไอบีเอ็มเอง ผลประโยชน์จากลูกค้าในธุรกิจดังกล่าวยิ่งมีความสำคัญต่อสถานะของบริษัทมากขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็นตัวพลิกผันรายได้ตลอดทั้งปีของบริษัทได้เลยทีเดียว

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ ไอบีเอ็มเคลื่อนทัพบุกตลาดชิปเอเชีย

ไอบีเอ็มเคลื่อนทัพบุกตลาดชิปเอเชีย
ไอบีเอ็มเคลื่อนทัพบุกตลาดชิปเอเชีย
ไอบีเอ็มเคลื่อนทัพบุกตลาดชิปเอเชีย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook