เผยหลักเกณฑ์แปลงซอฟต์แวร์เป็นทุน

เผยหลักเกณฑ์แปลงซอฟต์แวร์เป็นทุน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สำนักข่าวไทย : สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เผยหลักเกณฑ์การแปลงซอฟต์แวร์เป็นทุนเพื่อขอกู้แบงก์ ขณะที่ธนาคารเอสเอ็มอีขานรับ ระบุชัด หากซอฟต์แวร์มีโอกาสเชิงพาณิชย์ได้รับพิจารณาแน่ ด้านไอซีทีเตรียมเจรจาแบงก์อื่นเข้าร่วม พร้อมผลักดันโครงการอบรมโปรแกรมเมอร์ไว้รองรับ 5,000 คน นายเมธี โอฬารสกุล กรรมการสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้หลักเกณฑ์ที่จะนำซอฟต์แวร์ไปใช้ขอเงินกู้จากธนาคารแล้ว อันได้แก่ ซอฟต์แวร์นั้นๆ จะต้อง มีความเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ ครอบคลุมการใช้งานกว้างขวาง มีการอัพเกรดได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการต้องมีแผนทำวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ใช้เทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำ และต้องมีแผนธุรกิจที่ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ได้จากการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการและประสานงานกับธนาคารมากว่า ๒ เดือนแล้ว โดยพบว่า ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ มีปัญหาเรื่องแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ต้นทุนการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่ำลงเท่านั้น ด้านนายสำราญ ภูอนันตานนท์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธนาคารเอสเอ็มอี) กล่าวว่า ธนาคารต้องการให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์รวมตัว และเลือกผู้ที่เหมาะสม เพื่อมาเจรจาขอกู้กับธนาคารในมุมมอง ที่นักการเงินเข้าใจได้ เนื่องจากซอฟต์แวร์เป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ และมีความเสี่ยงในการปล่อยกู้ ซึ่งจะต้องพิจารณาจากพื้นฐานของบุคคลผู้พัฒนาด้วย โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่และคาดเดาอนาคตได้ยาก ทั้งนี้ ในเบื้องต้น จะใช้หลักการปล่อยกู้ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของมูลค่าซอฟต์แวร์ที่นำมาขอกู้ ซึ่งถ้าเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ได้อย่างกว้างขวางและมีโอกาสในเชิงธุรกิจ จะได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน ขณะที่นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมฯ ต้องการให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ มาลงทะเบียนไว้กับกรมฯ เพื่อจะได้รู้ว่า ซอฟต์แวร์ประเภทนั้นๆ มีผู้ดำเนินการแล้วกี่ราย ซึ่งจะทำให้มองภาพรวมของตลาดได้ชัดเจน นอกจากนี้ ยังใช้เป็นหลักฐานในกรณีเกิดการฟ้องร้อง หรือ เป็นหลักฐานการขอกู้ ซึ่งขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนแล้ว 600 ราย ด้านน.พ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า กระทรวงจะทำให้หน้าที่ประสานงานกับธนาคารอื่นๆ ให้เปิดรับการกู้เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น รวมถึงเตรียมโครงการอบรมโปรแกรมเมอร์ไว้รองรับอีก 5,000 คน โดยแต่ละคนจะได้รับเงินกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อ 1 คน เพื่อเตรียมบุคลากรไว้รองรับ ซึ่งคาดว่าในช่วงแรกจะมีผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ประมาณ 10 ราย ที่พร้อมจะเริ่มต้นการกู้โดยใช้ซอฟต์แวร์เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook