ไมโครซอฟท์สะท้านรัฐผนึกเอกชน จุดพลุลีนิกซ์ทะเลเป็นโอเอสแห่งชาติ

ไมโครซอฟท์สะท้านรัฐผนึกเอกชน จุดพลุลีนิกซ์ทะเลเป็นโอเอสแห่งชาติ

ไมโครซอฟท์สะท้านรัฐผนึกเอกชน จุดพลุลีนิกซ์ทะเลเป็นโอเอสแห่งชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ฐานเศรษฐกิจ : ไมโครซอฟท์โต้ "หมอเลี้ยบ" กรณีประกาศโอเอสออฟฟิศแห่งชาติ อ้างขัดนโยบายแข่งขันการค้าเสรี ย้ำสินค้าไมโครซอฟท์เป็นราคาเดียวทั่วโลก หากพัฒนาใช้เฉพาะในไทยทำได้ยาก พร้อมยอมรับหากรัฐประกาศจริงๆ ยอดขายธุรกิจวูบ ขณะที่ "ไอซีที" ก๊อบปี้จีน ดันแผนบันได 2 ขั้น พัฒนาโอเพ่นซอร์ซเป็นทางเลือกแรก ก่อนประกาศโอเอสแห่งชาติ ด้านศูนย์ศึกษาWTOฟันธงทำได้ ไม่เข้าข่ายกีดกันการค้า จี้เป็นทางเลือกที่ถูกต้อง ภาคเอกชน "สมาคมคอมฯ-ซัน-ลิเบอร์ต้า"ขานรับเสนอใช้ "ลีนุกซ์ทะเล"โครงการวิจัยของเนคเทคเป็นโอเอสแห่งชาติ ขณะที่ปลาดาวออฟฟิศหมดสิทธิ์ เหตุติดปัญหาลิขสิทธิ์ต่างประเทศ จากกรณีที่นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีมีแนวนโยบายที่ประกาศแผนปฏิบัติการโอเอส และออฟฟิศแห่งชาติ เช่นเดียวกับประเทศจีนที่ประกาศใช้ "ลีนุกซ์"เป็นโอเอสแห่งชาติไปแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างมาก และก่อให้เกิดส่วนได้เสียในวงการธุรกิจซอฟต์แวร์อย่างมาก จากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีเครื่องพีซีใช้อยู่ประมาณ 600,000 เครื่อง ต่อเรื่องนี้นายพีระพงษ์ เอื้อสุนทรวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัดเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการหรือโอเอสกับซอฟต์แวร์ออฟฟิศขึ้นมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ใช้เป็นเรื่องที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาในต่างประเทศก็มีโอเอสและโปรแกรมออฟฟิศให้ผู้ใช้เลือกหลายชนิด แต่ภาครัฐไม่ควรออกมาระบุเป็นโอเอสหรือออฟฟิศแห่งชาติ ในเรื่องนี้ภาครัฐควรสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตทุกรายมีการแข่งขัน และปล่อยให้การแข่งขันเป็นไปตามกลไกการแข่งเสรีของตลาดจะเหมาะสมมากกว่า หากรัฐบาลมีการประกาศใช้โอเอส หรือออฟฟิศแห่งชาติจริงๆ ย่อมส่งผลกระทบกับบริษัทอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถบอกได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น และบริษัทคงต้องทำงานหนักมากขึ้นกว่าเดิม โดยจะต้องอธิบายให้ผู้ใช้รับทราบถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งานซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีการพัฒนาคุณสมบัติการทำงานใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา "สิ่งที่เราอยากอธิบายคือ โปรดักส์ของบริษัทถูกพัฒนาเพื่อใช้ทั่วโลก ราคาของซอฟต์แวร์จึงเป็นราคาเดียวกันทั่วโลก แต่ถ้าต้องการทำให้ราคาถูกลงและเหมาะสมสำหรับประเทศไทย จำเป็นต้องพัฒนาโปรดักส์ที่ใช้งานเฉพาะในไทยขึ้นมา ซึ่งถ้าทำได้เราก็อยากจะทำ" อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวเพิ่มเติมจากสำนักข่าวซีเน็ตว่า ไมโครซอฟท์ ได้ระบุในหนังสือรายงานที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาว่าการเติบโตของซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สอาจทำให้ยอดขายซอฟต์แวร์ของบริษัท ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ลดลงและอาจส่งผลให้บริษัทจำเป็นต้องลดราคาจำหน่ายสินค้าลงมา และคาดว่ารายได้ และผลกำไรของไมโครซอฟท์จะลดลงอย่างต่อเนื่อง แหล่งข่าวจากวงการซอฟต์แวร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในจำนวนเครื่องพีซีใหม่แต่ละปีที่มีอยู่ประมาณ 600,000 เครื่อง มีสัดส่วนของการละเมิดลิขสิทธิ์ถึง 77% ในปี 2545 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 173.9 ล้านบาท หรือลดลงจากปี 2544 ประมาณ 2% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องประมาณ 200,000 เครื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณเกือบ 3,000 ล้านบาทต่อปี "หากรัฐบาลประกาศใช้โอเอสแห่งชาติจริงๆ และไม่ใช่ซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์เหมือนที่จีนประกาศโอเอสแห่งชาติไปก่อนหน้านี้ เชื่อว่า บริษัทแห่งนี้จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จากปัจจุบันที่มีตัวเลขรายงานจากกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัท ไมโครซอฟท์ฯในไทยในปี 2544 มีรายได้ประมาณกว่า 200 ล้านบาท ปี 2543 มีรายได้ประมาณ 153 ล้านบาท" ด้านนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีกล่าวยืนยันในเรื่องนี้ว่า กระทรวงไอซีทีมีนโยบายผลักดันการพัฒนาและการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สในประเทศไทย โดยในเบื้องต้นจะผลักดันส่วนของระบบปฏิบัติการ หรือโอเอส และโปรแกรมระบบงานออฟฟิศ ให้เป็นโอเอส และออฟฟิศ ทางเลือกให้กับผู้ใช้ก่อน หากสามารถใช้งานได้ดี ง่าย และเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางก็จะผลักดัน โดยการประกาศให้เป็นโอเอส และออฟฟิศแห่งชาติต่อไป ส่วนแนวทางในการผลักดันของกระทรวงไอซีที ได้จัดตั้งคณะทำงานโอเพ่นซอร์สประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องอาทิ นายพิสิฐ พฤกษานุศักดิ์ ตัวแทนจากสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย, นายวรรณี พึ่งพัฒนา ตัวแทนจากบริษัทลิเบอร์ต้า,นายปานใจ ธารทัศนวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และนายคมสัน เหล่าศิลปเจริญ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมถึงตัวแทนจากสมาพันธ์โอเพ่นซอร์สแห่งประเทศไทย,บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) , เนคเทค , บริษัทไอบีเอ็มประเทศไทย จำกัดขึ้นมาร่วมกันทำแผนปฏิบัติการงานด้านโอเพ่นซอร์ส พร้อมงบประมาณการดำเนินการและนำเสนอกลับเข้ามายังกระทรวงไอซีที เพื่อพิจารณาภายใน 1 เดือน จากนั้นกระทรวงไอทีซีจะส่งแผนดังกล่าว พร้อมของบประมาณไปยังคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาต่อไป โดยจะของบส่วนหนึ่งจากงบกลางของรัฐบาลที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 40,000 ล้านบาท ต่อคำถามที่ว่า บริษัท ไมโครซอฟท์ฯได้หยิบยกประเด็นการค้าเสรี ขึ้นมาเป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยไม่ควรประกาศโอเอสแห่งชาตินั้น ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาองค์การการค้าโลก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า "การผลักดันซอฟต์แวร์ระบบปฎิบัติ หรือโอเอส และโปรแกรมออฟฟิศ ขึ้นมาใช้เฉพาะสำหรับประเทศไทยไม่ถือเป็นการกีดกันทางการค้า โดยเราสามารถพัฒนาโอเอส หรือโปรแกรมออฟฟิศของตัวเองขึ้นมาแข่งขันกับซอฟต์แวร์ที่มาจากต่างชาติได้ ขณะเดียวกันมองว่า การที่ประเทศไทยมีโอเอส และออฟฟิศของตัวเองขึ้นมาจะเป็นผลดีสำหรับผู้บริโภค เพราะมีทางเลือกในการใช้ซอฟต์แวร์มากขึ้น และยังเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศ โดยลดการสูญเสียรายได้จากการนำเข้าซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ" ขณะที่นายพิสิฐ พฤกษานุศักดิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทยกล่าวในเรื่องนี้ว่า กรณีที่ภาครัฐ ต้องการผลักดันระบบปฏิบัติการ หรือ โอเอส และระบบงานออฟฟิศ ที่เป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ให้เป็นทางเลือกของผู้ใช้ ก่อนผลักดันเป็นโอเอส และออฟฟิศแห่งชาตินั้นถือเป็นเรื่องดี ซึ่งจะช่วยประหยัดเม็ดเงินให้กับประเทศชาติหลายพันล้านบาท โดยประมาณการว่า ตลาดพีซีในประเทศไทยปีนี้มีจำนวนประมาณ 600,000 เครื่อง คาดว่าจะมีจำนวนใช้ซอฟต์แวร์โอเอส และโปรแกรมออฟฟิศ ที่มีไลเซ่นถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 200,000 ไลเซ่น โดยซอฟต์แวร์โอเพ่นที่มีไลเซ่นถูกต้องราคาประมาณ 4,000 บาท ในขณะที่โปรแกรมออฟฟิศที่มีไลเซ่นราคาประมาณ 10,000 กว่าบาท " ปัจจุบันการทำตลาดของผู้ประกอบการภายใต้โครงการคอมพิวเตอร์ไทยคุณภาพเนคเทค ใช้ซอฟต์แวร์ลีนุกซ์ เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว หากลูกค้าต้องการโอเอสที่เป็นวินโดวส์ หรือไมโครซอฟท์ออฟฟิศจะต้องเสียเงินซื้อเพิ่มอีกประมาณ 14,000-15,000 บาท ดังนั้นกรณีที่กระทรวงไอซีทีจะผลักดันการใช้งานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส โดยประกาศเป็นโอเอสและออฟฟิศแห่งชาติน่าจะเป็นเรื่องดีสำหรับประเทศชาติ" ด้านนางวรรณี พึ่งพัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัทลิเบอร์ต้า เทคโนโลยี คอร์ป จำกัด กล่าวว่า บทบาทของกระทรวงไอทีซีที่สำคัญในการผลักดันโอเพ่นซอร์ส คือมีการสร้างมาตรฐานซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส เพื่อเป็นแนวทางให้เอกชนนำไปพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมองว่า ปัจจุบันใครก็สามารถนำโอเพ่นซอร์สไปพัฒนาต่อได้ ซึ่งทำให้เกิดความหลากหลาย ไม่มีมาตรฐานและไม่สามารถโอนถ่ายข้อมูลกันได้ ทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสนและกลับไปใช้ซอฟต์แวร์ก็อปปี้กันอีกต่อไป นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย กล่าวว่าประเทศไทยควรจะมีการประกาศใช้โอเอส และออฟฟิศแห่งชาติ แต่ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มองว่า เป็นเรื่องไม่ง่าย อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ มีการแจกซอฟต์แวร์โอเอสให้ใช้ฟรี แต่เมื่อมีปัญหาการใช้งานเกิดขึ้นไม่มีผู้ให้การแก้ไขปัญหา ส่วนแนวทางที่มองว่าน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดของประเทศไทย ในการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเอสหรือออฟฟิศแห่งชาติ คือ ควรนำโครงการวิจัยพัฒนาออฟฟิศทะเล และลีนุกซ์ ทะเล ของเนคเทคมาประเมินว่า ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวแค่ไหน ถ้าประสบความสำเร็จก็นำโครงการดังกล่าวมาต่อยอดพัฒนาต่อไป หากประสบความล้มเหลว ควรมานั่งดูกันว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร นายสรรพัชญ โสภณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัน ไมโครซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่กระทรวงไอซีทีมีนโยบายผลักดันโอเอสและออฟฟิศแห่งชาติ โดยบริษัทพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะโอเพ่นซอร์สถือเป็นวิธีการที่จะทำให้ไทยสามารถเพิ่มการพัฒนาซอฟต์แวร์ของตนเองได้ โดยโอเพ่นซอร์สจัดเป็นเครื่องมือช่วยทำให้นักพัฒนาไทยสามารถก้าวกระโดดได้ โดยการศึกษาถึงหลักการที่มีผู้คิดขึ้นมาแล้วและนำไปพัฒนาต่อยอด "ส่วนกรณีความเป็นไปได้ในการมอบปลาดาวออฟฟิศให้เป็นออฟฟิศแห่งชาตินั้นคงไม่สามารถทำได้ โดยภายหลังจากการสอบถามไปยังบริษัทแม่ พบว่า ติดขัดในเรื่องของลิขสิทธิ์ที่บริษัท ซันฯได้ซื้อมาจาก Star Division แล้วนำมาทำเป็นโอเพ่นซอร์สโดยการเปิดซอร์สโค้ด " นายสรรพัชญกล่าวในเรื่องนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"ได้สอบถามหน่วยงานภาครัฐ โดยนายวุฒินันท์ สิลมัฐ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ การประปานครหลวง กล่าวว่า การที่กระทรวงไอซีทีมีนโยบายที่จะผลักดันให้เกิดซอฟต์แวร์โอเอส และออฟฟิศแห่งชาติ ที่เป็นโอเพ่นซอร์สขึ้นนั้นย่อมเป็นผลดีกับทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพราะโอเพ่นซอร์สจะช่วยทำให้ประเทศไทยมีซอฟต์แวร์เป็นของตนเองโดยที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีของประเทศอื่นๆ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องลิขสิทธิ์ด้วย นอกจากนี้โอเพนซอร์สยังเปิดโอกาสให้คนไทยที่มีความรู้ความสามารถได้แสดงฝีมือในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ขณะนี้การประปานครหลวงมีจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานทั้งหมด 1,000 กว่าเครื่อง มีจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ออฟฟิศอยู่ 100 เครื่องโดยเสียค่าใช้จ่ายเครื่องละประมาณ 10,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นราว 1 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นส่วนน้อยหากเทียบกับบางหน่วยงานที่มีขนาดใหญ่กว่า ที่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์จำนวนถึง 3,000 - 4,000 เครื่อง โดยการประปาฯเองได้ทำข้อตกลงในการทยอยจ่ายค่าลิขสิทธิ์จนกว่าจะครบตามจำนวนเนื่องจากติดขัดในเรื่องของงบประมาณ อนึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลจีนประกาศใช้ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2000 ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัท เทอร์โบ ลีนุกซ์ฯ บริษัทยักษ์ใหญ่หนึ่งในสามอันดับโลกที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ลีนุกซ์ และครองสัดส่วนในตลาดซอฟต์แวร์ลีนุกซ์ของจีนประมาณ 76% เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้ทำสัญญากับบริษัทเอกชน ในการจัดจำหน่ายระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ให้กับสถานีน้ำมันกว่า 20,000 แห่งทั่วประเทศ ยังรวมไปถึงธนาคารปักกิ่ง องค์การความมั่นคงแห่งสาธารณะ สำนักงานไปรษณีย์แห่งชาติ ฯลฯ และจากข้อมูลของบริษัท อีวานส์ ดาต้าที่ทำการสำรวจนักพัฒนาชาวจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2545 พบว่า จำนวน 2ใน3ของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชาวจีน หรือคิดเป็นสัดส่วน 65% มีการเขียนแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่ใช้กับระบบปฏิบัติการลีนุกซ์มากขึ้นเรื่อยๆ และประเมินว่า ในปีนี้จะมีรัฐและเอกชนตัดสินใจใช้ระบบปฏิบัติการนี้เพิ่มขึ้นถึง 175%

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ ไมโครซอฟท์สะท้านรัฐผนึกเอกชน จุดพลุลีนิกซ์ทะเลเป็นโอเอสแห่งชาติ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook