รีวิว MSI Wind U100 สายลมแห่งความบางเบา

รีวิว MSI Wind U100 สายลมแห่งความบางเบา

รีวิว MSI Wind U100 สายลมแห่งความบางเบา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ผู้คนทั่วไปที่กำลังมองหาโน้ตบุ๊คคู่ใจเครื่องใหม่ในปัจจุบัน มักจะมีตัวเลือกของโน้ตบุ๊คประเภทซับโน้ตบุ๊ค (Sub-notebook) รวมอยู่ด้วย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจากกระแสโน้ตบุ๊คประเภทดังกล่าวได้เริ่มกลายมาเป็นกระแสหลักอย่างหนึ่งของการเลือกซื้อไปแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษาที่ต้องการความคล่องตัวในการใช้งานมากกว่าประสิทธิภาพสำหรับการนำไปเล่นเกม 3 มิติ ดังนั้น ผู้ผลิตเองก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มลูกค้าให้ได้เช่นกัน และหนึ่งในการปรับตัวที่เราเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือการผลิตซับโน้ตบุ๊คหรือโน้ตบุ๊คขนาดเล็กที่มีขนาดหน้าจอไม่เกิน 11 นิ้ว ออกมาวางจำหน่ายให้ผู้ใช้ได้เลือกซื้อนั่นเอง First Look ความรู้สีกแรกที่ได้เห็น MSI Wind U100 เราบอกได้ว่ามันช่างหวานจับใจดีจริงๆ เพราะโดยปกติเราก็ไม่ค่อยได้เห็นโน้ตบุ๊คสีหวานอย่างสีชมพูบ่อยนัก ทำให้ครั้งนี้ U100 จาก MSI สร้างความเพลินตาให้กับเราได้พอสมควรเช่นกัน หลังจากก่อนหน้านี้สีสันหลักๆ ที่เราได้รับเครื่องจากผู้ผลิตใจดีมาทดสอบมักจะเป็นสีดำ เทา เงิน หรือไม่ก็สีขาวมากกว่า จากการมองผ่านๆ ด้วยสายตาเราคิดว่า U100 เครื่องนี้ถูกออกแบบให้หนาขึ้นกว่ารุ่น U90 เล็กน้อย ทำให้ตัวเครื่องดูเทอะทะกว่าที่จะเป็นซับโน้ตบุ๊คสำหรับการพกพาอยู่บ้าง นอกจากนี้เรื่องของสีสันอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ก็ทำให้เรามองว่ากลุ่มเป้าหมายของ MSI ครั้งนี้ ย่อมต้องเป็นผู้หญิงวัยทำงานที่ต้องการสีสันในชีวิต (โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ไม่ชอบแต่งตัวในโทนสีทางการ แต่ชอบความอิสระในการเลือกชุดสวมใส่มากกว่า) จากรายละเอียดของตัวเครื่อง จะเห็นได้ว่ามันมาพร้อมกับซีพียูยอดนิยมขวัญใจแม่ยกตัวใหม่อย่างน้อง Atom ผู้ซึ่งได้รับการออกแบบและผลิตโดย Intel เป็นหัวใจสำคัญในการประมวลผลหลัก โดยความเร็วของน้อง Atom ก็ยังเป็นมาตรฐานเปิดตัวคือ 1.6GHz นั่นเอง ทางด้านหน่วยความจำหรือแรมก็ยัดมาให้ถึง 1GB ซึ่งน่าจะเพียงพอต่อการใช้งานพื้นฐานทั่วไป และพื้นที่ฮาร์ดดิสก์อีก 160GB ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่คุณไม่ควรมองข้างเด็ดขาด เพราะนั่นหมายถึงพื้นที่ในการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ แบบไม่ต้องพะวักพะวงเรื่องฮาร์ดดิสก์เต็มแต่อย่างใด (ยกเว้นกลุ่มผู้ใช้ประเภทมีอะไรใส่โน้ตบุ๊คให้หมด อันนี้มีเท่าไหร่ก็คงเก็บไม่พอแน่นอน) เริ่มกันที่เรื่องของสีสัน โดย MSI Wind U100 เครื่องนี้จะมาในโทนสีชมพูสุดหวาน บริเวณฝาเครื่องคุณจะพบกับโลโก้ msi (ตัวเล็ก ไม่ใช่ MSI ตัวใหญ่เหมือนที่สกรีนบนเมนบอร์ด) สีขาว ตัดกับสีชมพูอย่างลงตัว เมื่อเปิดฝาเครื่องขึ้นมาจะเผยให้เห็นแกนพับทั้งสองด้าน ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่ทีเดียว อย่างไรก็ตามด้วยความใหญ่ที่ว่าก็ช่วยให้การเปิดปิดหน้าจอดูแข็งแรงทนทานมากตามไปด้วยเช่นกัน เราทดสอบจับบริเวณหน้าจอ แล้วเหวี่ยงเครื่องขึ้นลงสลับกัน ก็ไม่พบว่ามันจะพับหน้าจอไปตามแรงมือ นั่นทำให้เรามองว่ามันค่อนข้างแข็งแกร่งในระดับหนึ่ง บริเวณกรอบจอจะเลือกใช้โทนสีขาวในการออกแบบทำให้มันดูกลมกลืนกับสีของฝาเครื่อง (เห็นสีสันแล้วก็อดคิดถึงนมเย็นน่าดื่มไม่ได้จริงๆ) ทางด้านบนของหน้าจอจะมีกล้องเว็บแคมติดตั้งอยู่ตรงกลางพอดี ส่วนรูข้างๆ กล้องเว็บแคมจะเป็นรูไมโครโฟนนั่นเอง ผ่านเรื่องแกนกลางของตัวเครื่องก็จะพบกับปุ่มเปิดเครื่อง ซึ่งมีรูปดาวดวงเล็กฝังอยู่ (ดาวดังกล่าวถือเป็นตัวแทนของบริษัท MSI ซึ่งย่อมาจาก Micro Star International นั่นเอง) โดยเมื่อเปิดเครื่องใช้งานอยู่ จะมีไฟสีฟ้าติดสว่างตลอดเวลา ทำให้ดูสวยงามไปอีกแบบ สำหรับวัสดุที่ MSI เลือกใช้ในการผลิตก็หนีไม่พ้นพลาสติกทั้งตัว เพื่อช่วยควบคุมในเรื่องของราคาค่าตัวนั่นเอง ไม่อย่างนั้นหากนำวัสดุคุณภาพสูงอย่างแม็กนีเซียมอัลลอยด์เข้ามาใช้ ก็อาจจะทำให้ราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ด้านความละเอียดหน้าจอของ U100 ก็อยู่ที่มาตรฐานเน็ตบุ๊ค คือ 1024x600 พิกเซล เท่านั้น แม้ว่าหน้าจอจะใหญ่ขึ้นเป็น 10 นิ้ว แล้วก็ตาม Keyboard & Touchpad ต่อกันด้วยเรื่องของคีย์บอร์ด สำหรับคีย์บอร์ดของ U100 นี้ถือว่าทำออกมาได้ตามมาตรฐานโน้ตบุ๊คขนาดเล็ก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมันอาจจะมีปุ่มครบแต่กลับต้องย่อขนาดของปุ่มบางปุ่มลงไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งปุ่มที่ว่าก็คือปุ่ม และปุ่ม ? ที่จะถูกย่อให้เล็กลง เพื่อลดขนาดของคีย์บอร์ดนั่นเอง จุดนี้ส่งผลให้การพิมพ์งานแบบสัมผัสลำบากยิ่งขึ้นเล็กน้อย อีกทั้งทางด้านซ้ายมือของผู้ใช้ จะมีการสลับปุ่มสำคัญ ได้แก่ ปุ่ม Ctrl และปุ่ม Fn ทำให้ในการกดชอร์ตคัตต่างๆ กลายเป็นเรื่องยากขึ้นอีกด้วย (ขณะที่เราทดสอบ ปรากฏว่าเราพิมพ์และกดปุ่มชอร์ตคัต อาทิ Ctrl+Z ผิดพลาดบ่อยมาก) จุดนี้เรามองว่าถือเป็นการออกแบบที่ทำให้ผู้ใช้สับสนได้เช่นกัน ต่อด้วยเรื่องของทัชแพ็ด ซึ่ง U100 ออกแบบให้มีขนาดเล็กลงมาก ตามขนาดตัวเครื่อง นั่นทำให้ผู้ใช้ที่มีนิ้วมือใหญ่ๆ อาจจะใช้งานได้ไม่สะดวกนัก ส่วนของปุ่มกดสำหรับคลิกซ้ายและขวาก็ถูกออกแบบมาเป็นแผงเดียวกัน โดยไม่มีการเว้นที่ว่างตรงกลางให้รู้ ซึ่งตอนแรกเราคิดว่าอาจจะกดผิด แต่พอใช้งานจริง ก็ไม่สร้างปัญหาแต่อย่างใด การกดคลิกซ้ายหรือขวาเป็นไปอย่างสะดวก จะติเล็กน้อยก็เรื่องของขนาดที่เล็กพอๆ กับเรื่องของทัชแพ็ดเท่านั้นเอง Display Quality สำหรับเรื่องของหน้าจอ ต้องยอมรับเลยว่า MSI Wind U100 เครื่องนี้มีพัฒนาการที่ดี และสร้างความแตกต่างจากซับโน้ตบุ๊คหลายๆ ยี่ห้อได้มากทีเดียว เนื่องจากพวกเขานำเทคโนโลยี LED มาติดตั้ง แทนการใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ช่วยให้มันไม่มีแสงสะท้อนใดๆ เวลาใช้งานกลางแจ้งหรือใช้งานในสภาพแสงสว่างสูงอีกต่อไป จุดนี้เรามองว่าถือเป็นประโยชน์อย่างหนึ่งที่คุณควรพิจารณาในการเลือกซื่อ เนื่องจากปกติแล้วการใช้งานเน็ตบุ๊คหรือโน้ตบุ๊คประเภทซับโน้ตบุ๊ค มักจะเป็นการใช้งานนอกสถานที่มากกว่าการใช้งานภายในออฟฟิศ ดังนั้น หากหน้าจอของซับโน้ตบุ๊คที่คุณใช้เป็นกระจกหรือมีแสงสะท้อนมากเกินไป ก็จะทำให้ใช้งานได้ลำบากพอสมควรนั่นเอง เมื่อเราทดสอบเรื่องของการขับสีสัน ก็พบว่ามันอยู่ในระดับที่พอดูได้เท่านั่น ทั้งนี้ก็เนื่องจากการใช้จอแบบ LED ส่งผลให้ความสดของสีสันลดลงอย่างเห็นได้ชัด การเรนเดอร์สีสันต่างๆ ในภาพดูดร็อปลงไปมากทีเดียว อย่างไรก็ตามเราก็เชื่อว่าวัตถุประสงค์หลักในการใช้ซับโน้ตบุ๊คคงไม่ใช่การดูหนังเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ตรงจุดนี้เรามองว่ามันคงไม่ใช่อุปสรรคใหญ่เกินไปสำหรับการซื้อมาใช้เพื่อเน้นการทำงานพื้นฐาน เช่น พิมพ์งาน หรือนำเสนองานเป็นหลัก Webcam ความละเอียดของกล้องเว็บแคมที่ได้รับจาก U100 อยู่ในระดับมาตรฐานทั่วไปที่เราเคยได้รับจากโน้ตบุ๊คยี่ห้ออื่นๆ คือ เหมาะสำหรับการใช้สนทนาออนไลน์มากกว่าการใช้เพื่อบันทึกภาพนิ่ง ในการทดสอบถ่ายภาพขณะสนทนาออนไลน์ ผลปรากฏว่ากล้องเว็บแคมของ U100 ยังมีอาการหน่วงเล็กน้อย ไม่สามารถจับการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วของผู้ใช้ได้ดีเท่าที่ควร นอกจากนี้เรื่องของเม็ดสีผิดเพี้ยนหรือ Noise ในภาพ เมื่อจับภาพนิ่ง ก็ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามคุณภาพของกล้องเว็บแคมในโน้ตบุ๊คทั่วไป ก็ไม่ได้ดีกว่านี้เท่าไหร่ เผลอๆ บางค่ายดูจะแย่กว่าด้วยซ้ำไป Audio System ระบบเสียงของ MSI Wind U100 เป็นการขับเสียงแบบ 2 แชนแนล หรือการขับเสียงจากลำโพง 2 ตัวที่ติดตั้งอยู่ภายในเครื่อง ซึ่งจากการทดสอบฟังเพลงทั้งแบบที่มีเบสหนักๆ หรือเสียงโอเปร่าที่มีระดับเสียงสูงมาก เราพบว่ามันไม่สามารถขับได้ให้เกิดอรรถรสได้ดีเท่าไหร่หนัก ทำได้เพียงแค่การขับเสียงแบบมาตรฐานทั่วไปที่โน้ตบุ๊คทำได้เท่านั้น นอกจากนี้เมื่อเราทดลองปรับระดับของเสียงให้สูงสุด ก็พบว่ามันมีอาการแตกพร่าของเสียงเล็กน้อย (ต้องเงี่ยหูฟังดีๆ) ดังนั้น สิ่งที่เราบอกได้ก็คือลำโพงที่ใช้ขับเสียงของ U100 คงจะเหมาะกับการฟังเพลงแก้เครียดแบบไม่จริงจังมากกว่าการฟังเพื่อเพลงคลาสสิกมากกว่า Bundle Software เครื่องที่เราได้รับมาทดสอบนี้ ไม่มีการติดตั้งโปรแกรมพิเศษอะไรมาให้ โปรแกรมต่างๆ จะเป็นโปรแกรมที่ผู้ใช้พบได้ในโน้ตบุ๊คทั่วไปทั้งสิ้น จุดนี้เรามองว่า MSI น่าจะเพิ่มหรือสร้างสรรค์โปรแกรมแบบเฉพาะของตัวเองขึ้นมา หรือไม่ก็ควรซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมแถมให้ผู้ใช้บ้าง เพราะในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่โปรแกรมลิขสิทธิ์เริ่มได้รับความนิยมจากคนที่ไม่ชอบการใช้ของเถื่อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ดังนั้น การติดตั้งโปรแกรมลิขสิทธิ์ของค่ายตัวเองลงมาให้ผลิตภัณฑ์ นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้าแล้ว ก็ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้สามารถจดจำแบรนด์ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย Port & Connections พอร์ตและการเชื่อมต่อของ MSI Wind U100 ไม่มีการติดตั้งพอร์ตพิเศษใดๆ มาให้เช่นกัน คงมีเพียงพอร์ตมาตรฐานสำหรับการเชื่อมต่อร่วมกับอุปกรณ์อื่นๆ เท่านั้น ซึ่งพอร์ตต่างๆ ก็มีดังนี้ ด้านหน้า: จะไม่มีหรือพอร์ตใดๆ ติดตั้งมาให้ จะเห็นก็เพียงไฟแสดงสถานะต่างๆ ของตัวเครื่องเท่านั้น ด้านซ้าย: จะมีปุ่มล็อค, ช่องเสียงสายไฟ, ช่องระบายอากาศ และพอร์ต USB จำนวน 2 ช่อง ด้านขวา: จะมีพอร์ต USB อีก 1 ช่อง, ช่องเสียบการ์ดหน่วยความจำ, ช่องเสียบไมโครโฟน, ช่องเสียบหูฟัง, ช่องเสียบสาย VGA และช่องเสียบสาย LAN (RJ-45) ด้านหลัง: จะมีเพียงแบตเตอรี่ก้อนใหญ่เพียงก้อนเดียวเท่านั้นเอง Basic Information เราตรวจสอบจากตัวระบบปฏิบัติการ Windows XP Service Pack 3 ที่ติดตั้งมาในเครื่อง ซึ่งก็พบว่ามันสามารถรายงานส่วนประกอบฮาร์ดแวร์ได้ถูกต้อง โดย MSI Wind U100 เลือกใช้ซีพียู Intel Atom N270 ที่มีความเร็ว 1.6GHz พร้อมกับพ่วงแรมมาให้อีก 1GB ด้วยกัน ในการเปิด Device Manager ตรวจสอบนั้น เราพบข้อมูลแปลกๆ อยู่จุดหนึ่ง ซึ่งก็คือการแสดงข้อมูลเกี่ยวกับซีพียู โดยเป็นการแสดงข้อมูลซีพียูว่ามี 2 แกน ทั้งที่จริงๆ แล้วซีพียู Intel Atom N270 รุ่นนี้ มีการทำงานแบบแกนเดี่ยวเท่านั้น ไม่สามารถทำงานแบบ 2 แกนได้แต่อย่างใด (ในการเปิดโปรแกรม Task Manager ตรวจสอบก็พบว่าซีพียูทำงานเพียงแกนเดียวเช่นกัน) 3DMark03 ต่อด้วยการทดสอบ 3DMark03 ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่เก่า ที่เราก็เชื่อว่าเหมาะกับการทดสอบ MSI Wind U100 มากพอสมควร เพราะองค์ประกอบที่อยู่ภายใน U100 ส่วนใหญ่รองรับการใช้งานแบบไม่หนักมากนักได้เป็นหลัก โดยเราได้เลือกการทดสอบทุกรูปแบบตามมาตรฐานที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ พร้อมกับปรับเลือกความละเอียดเป็น 1024x600 พิกเซล ซึ่งเป็นความละเอียดสูงสุดที่ U100 รองรับ คะแนนที่ได้รับมาก็ไม่ถือว่าแย่เกินไปนัก กับ 618 คะแนน สิ่งนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นชัดขึ้นว่า U100 ดูจะเหมาะกับการใช้งานเบาๆ เล่นเกมเก่าๆ และไม่เหมาะกับการใช้งานแบบฮาร์ดคอร์ เช่น งาน 3 มิติ รวมถึงเกมใหม่ๆ แน่นอน รายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนของคะแนนที่ได้รับ ซึ่งคุณสามารถนำไปเปรียบเทียบกับเน็ตบุ๊ครุ่นอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น 3DMark05 ในครั้งแรกเราเริ่มด้วยการทดสอบแบบมาตรฐาน โดยเลือกทดสอบเกมทั้ง 3 เกม พร้อมทั้งทดสอบซีพียู แต่ไม่ได้ทำการเลือกทดสอบ Feature Tests และ Batch Size Tests เนื่องจากองค์ประกอบทางฮาร์ดแวร์ไม่พร้อมรองรับการทดสอบ และได้ทำการปรับความละเอียดไว้ที่ 1024x600 พิกเซล ซึ่งเป็นความละเอียดสูงสุดที่ U100 รองรับ แต่ปรากฏว่า MSI Wind U100 ไม่สามารถผ่านการทดสอบดังกล่าวได้ โดยมีข้อความแสดงความผิดพลาดปรากฏขึ้นทันทีที่เริ่มทดสอบเกมแรก ต่อมาเราจึงได้ลดขั้นตอนการทดสอบเกมลง โดยเหลือเฉพาะการทดสอบซีพียูเพียงอย่างเดียว ซึ่งผลที่ได้ก็เป็นไปตามข้อมูลในภาพ คือ ในการทดสอบซีพียูรูปแบบแรก MSI Wind U100 สามารถทำเฟรมเรตได้เพียง 0.7 ภาพต่อวินาที ส่วนในการทดสอบฉากที่ 2 นั้น MSI Wind U100 เครื่องนี้ก็ผ่านการทดสอบแบบทุลักทุเลที่ 0.8 ภาพต่อวินาทีเท่านั้น 3DMark06 ต่อด้วยอีกหนึ่งโปรแกรมทดสอบกราฟิกอย่าง 3DMark06 ซึ่งเป็นเวอร์ชันที่รองรับการทดสอบเพื่อค้นหาประสิทธิภาพจากเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะ ซึ่งเราก็เลือกการทดสอบทุกรูปแบบ ยกเว้นการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับ Shader Model 2.0 และ HDR/SM 2.0 เนื่องจากระบบกราฟิกของ U100 ไม่รองรับเท่านั้น ส่งผลให้คะแนนที่ได้จึงเหลือเพียงผลของการทดสอบซีพียูให้เห็นเพียงอย่างเดียวดังในรูปประกอบ รายละเอียดของคะแนนเพิ่มเติม เพื่อให้คุณนำไปเปรียบเทียบ และใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกซื้อเน็ตบุ๊คดีๆ ไว้พกพาไปไหนมาไหนได้ซักเครื่อง PerformanceTest คะแนนที่ได้จากการทดสอบโดยรวมด้วยโปรแกรม PerformanceTest ได้ไป 219.8 คะแนนด้วยกัน ซึ่งต้องบอกว่าเป็นคะแนนในระดับกลางค่อนไปทางต่ำเล็กน้อย ซึ่งพอจะช่วยให้เราสรุปคร่าวๆ ได้ว่ามันเป็นเน็ตบุ๊คหรือซับโน้ตบุ๊คที่เน้นการใช้งานพื้นฐานทั่วไป เหมาะสำหรับการพกพาไปนอกสถานที่ แต่ดูแล้วคงไม่เหมาะกับการใช้งานหนัก ประเภทงาน 3 มิติ หรืองานที่ต้องการความเร็วสูงในการทำงานแน่นอน Battery Consumption ในการทดสอบเกี่ยวกับแบตเตอรี่ เรายังคงใช้รูปแบบการทดสอบหนักสุดเป็นหลัก โดยเราทำการเร่งความเร็วของซีพียูให้สูงสุด (1600 MHz) เพื่อดูว่ามันจะใช้งานได้นานวต่อเนื่องเป็นระยะเวลาประมาณเท่าไหร่ ซึ่งจากการทดสอบก็พบว่ามันสามารถใช้งานต่อเนื่องเมื่อความเร็วซีพียูถูกเรียกใช้สูงสุดได้ที่ประมาณ 3 ชั่วโมง 24 นาที (ขณะที่แบตเตอรี่ลดเหลือ 10%) ด้วยกัน ซึ่งเราถือว่าเป็นระยะเวลาที่มาตรฐานของเน็ตบุ๊คทั่วไป (หากใช้จนหมดแบตเตอรี่ น่าจะได้เกือบๆ 4 ชั่วโมงเต็มเลยทีเดียว) จากผลการทดสอบที่เห็นไปข้างต้น คงพอจะช่วยให้คุณตัดสินใจเลือกซื้อเน็ตบุ๊คได้ง่ายขึ้นกว่าการที่ไม่รู้หรือไม่มีข้อมูลใดๆ ประกอบการตัดสินใจเลย ซึ่งเรามองว่า MSI Wind U100 เอง ก็ถือว่าถูกออกแบบและสร้างสรรค์มาได้ดีในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการนำซีพียู Intel Atom มาใช้ เพื่อให้ทันกระแสเน็ตบุ๊คฟีเวอร์เหมือนคู่แข่ง หรือการติดตั้งฮาร์ดดิสก์มาให้แทนการเลือกใช้ SSD ที่แม้จะมีความเร็วในการทำงานและประหยัดไฟมากกว่า แต่ผู้ใช้ก็ต้องมองหาฮาร์ดดิสก์มาเพิ่มหากต้องการเก็บข้อมูลอื่นๆ เหล่านี้ทำให้มันกลายเป็นจุดที่ MSI ก้าวเดินมาถูกทางแล้ว อย่างไรก็ตามด้วยกระแสความร้อนแรงของเน็ตบุ๊คในประเทศไทย ทำให้ MSI Wind U100 ตัวนี้ คงต้องเหนื่อยในการเข้าไปแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดมากหน่อยเช่นกัน จุดเด่น หน้าจอมีขนาด 10 นิ้ว และเลือกใช้เทคโนโลยี LED แบบใหม่ เปลี่ยนมาใช้ซีพียู Intel Atom ช่วยให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น ใช้ฮาร์ดดิสก์ในการจัดเก็บข้อมูล ความร้อนถูกจัดการได้ดีมาก จุดสังเกต ความละเอียดหน้าจอยังคงเป็น 1024x600 พิกเซล การติดตั้งปุ่ม Ctrl กับปุ่ม Fn สร้างปัญหาในการใช้งาน และบางปุ่มถูกย่อขนาดลง ทัชแพ็ดมีขนาดเล็กไปหน่อย ใช้งานลำบาก ลำโพงเสียงเบาเกินไป ไม่เหมาะกับการฟังเพลงหนักๆ

สนับสนุนข้อมูลโดย...

อัลบั้มภาพ 38 ภาพ

อัลบั้มภาพ 38 ภาพ ของ รีวิว MSI Wind U100 สายลมแห่งความบางเบา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook