รีวิว Asus A8J series

รีวิว Asus A8J series

รีวิว Asus A8J series
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook


Introduction : Asus A8J

โน้ตบุ๊กตระกูล A8 ถือเป็นโน้ตบุ๊ก อเนกประสงค์อีกรุ่นจาก ASUS ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้รุ่นอื่นๆ พาพาคุณสมบัติสเปคการใช้งานที่ตอบโจทย์ยูสเซอร์ได้สุดคุ้มอย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยขนาดหน้าจอแบบวายสกรีน 14 นิ้วติดกล้องเว็บแคม พร้อมเทคโนโลยีจาก ASUS ที่รองรับการใช้งานได้อย่างคล่องตัวไปในทุกๆ ที่



Specification: Asus A8Jr20DSM160d



PC Wizard

จากรายละเอียดจะเห็นว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้มีสเปคจัดอยู่ในระดับกลางๆ ใช้ซีพียูอินเทล Core Duo รหัสรุ่น T2500 ทำงานที่ความเร็ว 2GHz มีหน่วยความจำระดับแคช L2 อยู่ที่ 2MB ใช้ชิปเซ็ตอินเทล 945PM ทำงานร่วมหน่วยความจำกับแรม 1GB ซึ่งทำงานแบบ Single แต่ถ้าใส่แรมเข้าไปอีกแถวก็จะทำงานเป็น Dual Channel ด้วยคุณสมบัติของชิปเซ็ต นอกจากนี้ยังใช้ฮาร์ดดิสก์ Seagate แบบ Serial ATA ขนาดมหึมา 160GB ในส่วนของการ์ดจอนั้นใช้เป็นแบบแยกจากเมนบอร์ดของค่าย ATI รุ่น Radeon X2300



หากสังเกตดีๆ จะพบว่าที่ตัวเครื่องโน้ตบุ๊กได้ติดสติกเกอร์ระบุสเปคมาเพี้ยนไปนิดกับฮาร์ดแวร์ที่ประกอบมาด้านใน โดยที่ตัวสติกเกอร์เขียนระบุไว้ว่าใช้ซีพียู Core Duo T2450 ซึ่งด้านใน PC Wizard กับ CPU-Z มองเห็นเป็นอินเทล Core Duo T2500 แต่นอกนั้นตรงกันเหมือนเดิม สำหรับรุ่นนี้ไม่มี OS ติดตั้งมาให้ ภายในกล่องมีแผ่นไดร์วเวอร์ทั้ง XP และ Vista สามารถเลือกลงได้ตามใจชอบเลย

Build & Design



ถือว่าเป็นโน้ตบุ๊กขนาดจอมาตรฐานแบบวายสกรีน 14 นิ้ว ที่มีกระแสได้รับความนิยมสูง รูปร่างหน้าตาคงจะไม่แตกต่างอะไรกับโน้ตบุ๊ก ASUS ตระกูล A8 ตำแหน่งปุ่มกดและพอร์ตเชื่อมต่อดูคล้ายๆ กัน จะแตกต่างกันก็คงเป็นส่วนน้อย ตัวบอดี้ถูกพ่นสีบรอนซ์เทา วัสดุส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก ดูแลรักษาง่ายไม่ค่อยมีรอยนิ้วมือติดเท่าไรเวลาจับ สำหรับน้ำหนักของตัวโน้ตบุ๊กนี้ ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ประมาณ 2.39 Kg. พอไหวสำหรับการพกพาไปไหนมาไหน



A8J Series มีฝาพับที่ดูแข็งแรง ทำจากพลาสติกเนื้อเหนียวเกรดเอ บริเวณสันใกล้ฝาพับใช้สีดำพ่นตัดกับตัวบอดี้ที่เป็นสีบรอนซ์ เมื่อกดปิดบานพับหน้าจอลงตัวล็อกจะปิดสนิทอย่างพอดิบพอดีกับตัวเครื่อง ซึ่งเมื่อกดปุ่มปลดล็อกที่ด้านหน้าปั๊บก็จะปลดปุ๊บทันที พร้อมกับออกแรงยกบานพับหน้าจอขึ้นเพียงเล็กน้อย เปิด-ปิดได้อย่างสะดวกคล่องตัว

Keyboard



ตำแหน่งปุ่มกดคีย์บอร์ดยังคงใช้มาตรฐานเหมือนกับโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นๆ ทั่วไป ทั้งขนาดและการจัดวาง รองรับการพิมพ์ไทยและอังกฤษได้ดี ในรุ่นนี้ปุ่มฟังก์ชัน (FN) จะถูกวางอยู่มุมสุดของคีย์บอร์ด ซึ่งเวลากดใช้ Ctrl ไม่ว่าจะเป็นก็อปปี้ (Ctrl+A) กดเลือกทั้งหมด (Ctrl+A) หรือกดเซฟ (Ctrl+S) จะชินกับคีบอร์ดปกติที่วางตำแหน่งอยู่มุมสุด กดทีไร กดหวืดทุกที แต่รู้สึกว่าตัวอักษรที่สกรีนบนคีย์บอร์ดนี้ยังไม่เนียนเท่าที่ควร

Touchpad



ในส่วนของ Touchpad นี้ออกแบบมาชนิดที่ใหญ่สะใจ ใช้สีบรอนซ์เทากลมกลืนกับตัวบอดี้ที่วางมือ ผิวลื่นฝืดกำลังดี ปุ่มคลิกแทนเมาส์ซ้าย-ขวามีขนาดใหญ่เรียบต่อกัน แถบเลื่อนเมาส์ด้านข้างระบายแถบสีทึบดูสะดุดตาใช้งานได้ง่ายคล่องตัวไม่ค่อยเมื่อยเท่าไรนัก

WebCam



A8J ตัวนี้ติดตั้งกล้อง WebCam เหนือหน้าจอแอลซีดีพร้อมไมโครโฟนในตัว รองรับการใช้งาน Video Conference ร่วมกับโปรแกรม Skype, MSN, Yahoo และสามารถถ่ายภาพนิ่งที่ความละเอียดสูงสุดได้ 0.3 ล้านพิกเซล อีกทั้งยังมีลูกเล่น ASUS Life frame สามารถเปลี่ยนเฟรมถ่ายรูปสติ๊กเกอร์ได้หลากหลายและใช้งานร่วมกับโปรแกรม Chat ได้อย่างสนุกสนาน ได้อย่างสบาย

Port Connection


ตัวเครื่องด้านหน้ามีปุ่มปลดล็อคฝาพับ ไฟบอกสถานะการใช้งานและช่องลำโพง




ด้านหลังจะเป็นพอร์ตต่อไฟจากอะแด๊ปเตอร์, USB 2 ช่อง, TV-Out แบบ S-Video, VGA-Out, DVI-Out, Modem, Ethernet Lan และ Kensington lock




ฝั่งมือซ้ายของเรามีไดร์ฟ DVD-Writer, USB 1 ช่อง, IEEE1394, ช่องต่อหูฟัง, ไมโครโฟนและการ์ดรีดเดอร์




ทางด้านขวามีช่องต่อ USB 2 ช่องใกล้ๆ กับพอร์ตอินฟราเรตที่ติดกับช่องระบายอากาศ Air Flow



A8J มาตามสไตล์ Asus คือ มี Port มาให้เยอะค่อนข้างเยอะ อย่าง USB ที่ให้มา 5 Port และอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานได้ไม่ยาก แต่น่าเสียดายที่กล้องเว็ปแคมมีความละเอียดมาให้แค่ 0.3 ล้านพิกเซล

Layout



เปิดฝาด้านใต้ออกมา 2 ชิ้น จะพบกับฮาร์ดดิสก์ขนาดความจุมหึมาวางนอนอยู่ ใช้อินเตอร์เฟสชนิด Serial ATA วางลงติดตั้งพอดี เสริมความแกร่งด้วยโลหะปิดอีกชั้นกันเหนียว วางอยู่ตำแหน่งใกล้ๆ กับการ์ด WiFi อีกส่วนที่ดูเห็นเด่นชัดก็คงเป็นชุดระบายความร้อนซีพียูที่ต่อผ่านท่อฮีตไปป์ระบายพร้อมพัดลมไประบายออก รองรับการใส่แรม DDRII ได้ทั้งหมด 2 แถว

Performance: Asus A8J

CPU-Z



เนม Yonah เทคโนโลยีการผลิต 65nm รองรับสถาปัตยกรรม MMX, SSE, SSE2, SSE3 มีความเร็ววิ่งจริงอยู่ที่ 1995.5MHz ความเร็ว FSB 532.0 MHz และมีหน่วยความจำระดับแคช L2 อยู่ที่ 2MB ไม่ว่าจะเป็นรหัสซีพียูอะไรก็ตามแต่ ความเร็วระดับสัญญาณนาฬิกาคงไม่หนีจากกัน แน่นอน

PC Marks 05



สำหรับคะแนนผลการทดสอบ PCMark 05 นี้อยู่ในเกณฑ์ระดับที่น่าพอใจ หากเทียบกับสเปคที่ใกล้เคียงกับโน้ตบุ๊กรุ่นอื่นๆ ตัวนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าเล็กน้อย ในส่วนของซีพียูและกราฟิก ซึ่งส่งผลให้คะแนนโดยรวมออกมาดี แต่ถ้าหากใช้แรมที่เป็น Dual Chanel และฮาร์ดดิสก์คุณภาพที่สูงกว่านี้เชื่อว่ายังคงลากคะแนนไปได้อีกไกลแน่นอน

AquaMark3



ระดับคะแนนของ AquaMark3 ถือว่าทำได้ไม่เลว กดคะแนนไปได้ถึง 29,467 โดยแบ่งเป็นคะแนน GFX 3,822 และ CPU 6,433 ซึ่งทั้งนี้และทั้งนั้นก็คงเป็นเพราะเจ้าการ์ดจอ ATI X2300 ที่ติดตั้งมาบนตัวโน้ตบุ๊กเครื่องนี้

3D Mark 2006



คะแนนที่ได้ใน 3DMark2006 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ระดับที่ดี น่าพอใจ สูงกว่ารุ่นอื่นๆ เมื่อเทียบสเปคใกล้เคียงกัน คงไม่ต้องสงสัยถึงความสามารถในการประมวลผล 2D และ 3D รวมไปถึงเกมกราฟิกออนไลน์ที่สามารถเล่นได้อย่างลื่นไม่มีปัญหาใดๆ

HD Tune



ในเรื่องของความเร็วระหว่างการ Transfer ถือว่ายังเป็นรองอยู่นิดหน่อย แต่ถ้าหากมองที่ค่าเฉลี่ย Average ก็ยังถือว่าไม่ได้เลวร้ายไปซะทีเดียว ยิ่งถ้าไปดูผลของ Access Time บอกได้เลยว่าตัวนี้มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วในระดับ 16 ms แถมยังใช้พลังงานของซีพียูค่อนข้างต่ำอีกด้วย

Nero Info



ในส่วนของ DVD-Writer ตัวนี้ที่ติดตั้งมาจะรองรับการอ่าน CD, DVD ได้ทุกรูปแบบ ตลอดจนสามารถเขียนแผ่นแบบ Dual Layer (DVD9), และ DVD-RAM ได้อีกต่างหาก

Temperature



ทีมงานได้ทดสอบซีพียูรันแบบ 100% ทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง เพื่อเช็คดูอุณหภูมิซีพียู ผลที่ได้ก็คงเห็นๆ กันอยู่ว่าสูงสุดอยู่ที่ 66 องศาเท่านั้น ซึ่งก็ถือว่าเยี่ยมอึดใช้ได้พอตัว

Burn in Test



ทีมงานได้ทดการทดสอบโหดอีกครั้งด้วยโปรแกรม Burn in Test รันต่อเนื่องฟาดเรียบ 14 ชั่วโมงดูประสิทธิภาพโดยรวม วัดการทำงานซีพียู, แรม, กราฟิก, ฮาร์ดดิสก์, เน็ตเวิร์ค, ไดรว์, ซาวน์เสียง ซึ่งผลทดสอบรันผ่านไปได้โดยดี ไม่พบ Error สักตัวได้การัณย์ตี Pass ตัวเขียวปี๋ยืนตันว่าเชื่อถือได้

Battery Eater



ถ้ามองจากกราฟ ดูผลการทดสอบรันทำงานของแบตเตอรี่ Battery Mon จะเห็นว่า A8J ตัวนี้มีคุณสมบัติของแบตเตอรี่ที่อึดพอตัว หากเทียบกับตัวฮาร์ดแวร์ที่อยู่ข้างในไม่ว่าจะเป็นซีพียู การ์ดจอ จึงทำให้โน้ตบุ๊กตัวนี้มีการประหยัดไฟในระดับเบอร์ 5 ก็ว่าได้นะครับ

Asus A8J Conclusion

ASUS A8Jr20DSM160Td จัดเป็นโน้ตบุ๊กการ์ดจอแยก ที่มีขนาดค่อนข้างเล็กและน้ำหนักไม่มากนักตัวหนึ่ง และยังมาพร้อมกับอ๊อปชั่นต่างๆอย่างครบครัน โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ที่มีมาให้มากถึง 160 GB เลยทีเดียว



ด้านประสิทธิภาพการใช้งาน จากผลการทดสอบก็ประจักษ์ชัดแล้วว่าโน้ตบุ๊กตัวนี้ สามารถให้ประสิทธิภาพได้เต็มที่ตามสเปคที่มีมาให้ รวมทั้งด้านเสถียรภาพในการทำงานก็จัดอยู่ในระดับที่ดี และประสิทธิภาพของโน๊ตบุ๊คก็น่าจะแรงยิ่งขึ้นกว่านี้อีก หากมีการอัพเกรดเพิ่มแรมอีก 1 แถวเพื่อดึงความสามารถของแรมแบบ Dual-Channel มาใช้

การใช้พลังงานของ Asus A8J ตัวนี้ก็จัดว่าอยู่ในกลุ่มที่ค่อนข้างจัดสรรพลังงานได้ดีพอสมควร โดยในการใช้งานปกติสามารถใช้งานได้นานถึง 2 ชั่วโมงหน่อยๆ ซึ่งนับว่าทำได้ดีสำหรับเครื่องที่มีการ์ดจอแยก

จุดสำคัญสำหรับคนที่จะเลือกซื้อโน๊ตบุครุ่นนี้ควรจะสังเกต นั่นก็คือรุ่นของ CPU ที่ใช้กับโน้ตบุ๊ก เพราะเครื่องที่เราทดสอบสติกเกอร์ที่ติดไว้บนตัวเครื่องนั้นแจ้งว่าเป็นรุ่น T2450 แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นซีพียูรุ่น T2500 (ตามสเปคควรจะเป็นรุ่น T2500 อยู่แล้ว) ซึ่งเราก็หวังว่าในการจัดจำหน่ายจริงๆ ทาง Asus คงจะแก้ไขปัญหาเรื่องสติกเกอร์ที่แจ้งสเปคไม่ตรงกับความเป็นจริงได้เรียบร้อย

นอกเหนือจากจุดผิดพลาดเล็กน้อยเรื่องสติ๊กเกอร์แล้ว เจ้า ASUS A8Jr20DSM160Td ก็เป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่งสำหรับคนที่ต้องการโน้ตบุ๊กการ์ดจอแยกแรงๆ แต่พกพาสะดวก

จุดเด่น
+ เครื่องไม่ร้อน แม้ทำงานหนัก
+ ใช้กราฟิกการ์ดแยกจากเมนบอร์ด
+ ฮาร์ดดิสก์มีความจุสูง
+ Port เชื่อมต่อค่อนข้างเยอะและอยู่ในตำแหน่งที่ใช้งานง่าย


ข้อสังเกต
- สเปคภายในสับสนกับฉลากที่ติดไว้
- กล้องความละเอียดแค่ 0.3 ล้านพิกเซล


สนับสนุนข้อมูลโดย...

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ

อัลบั้มภาพ 25 ภาพ ของ รีวิว Asus A8J series

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook