AudioQuest Sub-3 Subwoofer Interconnect

AudioQuest Sub-3 Subwoofer Interconnect

AudioQuest Sub-3 Subwoofer Interconnect
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

Sub-Zero’


การส่งสัญญาณผ่านตัวนำที่เป็นโลหะจากแหล่งหนึ่งไปอีกแหล่งหนึ่ง  เป็นหลักการของการส่งผ่านสัญญาณที่ดีที่สุด ‘ดี’ ในความหมายของเราก็คือถูกต้อง เที่ยงตรงจากต้นทางสู่ปลายทาง
 
 

 
ไม่ใช่ต้นทางไม่ดี แล้วไปบิดเบือนให้ดูเหมือนว่าปลายทางนั้นออกมาดีกว่า  อันนี้ผมไม่เรียกว่านั่นคือ ‘สาย’ แล้วครับ ผมอยากเรียกว่า ‘คุณไสย’ มากกว่า ถ้าไม่ได้มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ข้อใดมาสนับสนุน มันก็ต้องใช้จิตวิทยาล้วนๆ ถ้าคุณเชื่อ ก็เหมือนโดนอะไรดลใจก็หลงกันไป กลับมาก็ยังไม่สายนะครับ สรุปว่า คงต้องมองย้อนกลับไปดูที่ซิสเต็มกันก่อน ว่ามันเหมาะจะไปลงเอยกับ ‘สายสัญญาณ’ ระดับไหน ถ้าคุณนึกว่าทุกอย่างเข้าที่เข้าทางลงตัวดีแล้วจึงหยุดอยู่แค่นั้น เรื่องจริงก็คือ มันเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าถึงเวลาที่จะอัพเกรดองค์ประกอบย่อยๆ รอบข้าง อย่างสายสัญญาณของซิสเต็มกันแล้วล่ะครับ ผมคนหนึ่งล่ะที่ไม่ชอบแนะนำให้ใครใช้สายดีๆ แพงๆ ตั้งแต่ครั้งแรกที่เริ่มเล่นเครื่องเสียง ก็เพราะคุณจะไม่รู้คุณค่าของมันหรอก จนกว่าจะได้ประสบการณ์จาก ‘หู’ ของคุณเอง เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องกล่อมเกลาเหมือนกันครับ จะรีบเร่งให้มาชื่นชมยินดี ยอมรับกับสายสัญญาณเส้นเดียว ราคาหลายๆ พัน จนถึงเป็นหมื่นนี่ ก็ใช่ที่  

เพราะถ้าคุณคิดว่าของเดิมถูกใช้มานาน หรือคุณพร้อมที่จะเปิดใจรับอะไรใหม่ๆ เข้ามาในซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ของคุณโดยเฉพาะสายสัญญาณดีๆ สักเส้นแล้วละก็ เชิญทางนี้ครับ

ผมมีบางอย่างที่คุณต้อง ‘ฟัง’ ก็แล้วกัน     
 
Dielectric-Bias System (DBS)
เข็มทิศของเสียง

CinemaQuest Sub-3 มันคือสายสัญญาณสำหรับซับวูฟเฟอร์รุ่นใหญ่สุดในซีรีส์ CinemaQuest ของ AudioQuest ทำไมต้องเป็นสายซับวูฟเฟอร์ ในความเห็นของผม ไอ้สายเส้นนี้นี่แหละที่มันมีโอกาสได้โชว์เทคนิคของคนทำสายได้มากที่สุด เพราะมันเป็นสายเส้นที่ยาวที่สุดที่ถูกรบกวนจากสิ่งรอบข้างได้ง่ายๆ คุณอาจนึกว่าการลงทุนกับเสียงความถี่ต่ำแค่อย่างเดียวมันจะคุ้มไหม อันนี้ต้องย้อนกลับไปถามตัวเองแล้วล่ะครับว่าคุณลงทุนกับซับวูฟเฟอร์ไปเท่าไหร่ ที่จริง AudioQuest เขาก็ไม่ได้ทำสายสัญญาณสำหรับซับวูฟเฟอร์รุ่นนี้มาให้คุณเลือกรุ่นเดียว มีทั้งหมด 4 รุ่น ตามลำดับของความเหมาะสม แต่ที่ผมหยิบรุ่น Sub-3 มากล่าวถึงก็ด้วยว่ามันมีทฤษฎีที่น่าสนใจ เป็นหัวใจสำคัญของสายรุ่นใหญ่ๆ ภายใต้การออกแบบของ AudioQuest ทุกรุ่นในปัจจุบันนี้


เข็มทิศมันมาเกี่ยวอะไรกับ ‘เสียง’ ด้วย อันนี้คงต้องอาศัยการอ้างอิงจากเอกสารของ AudioQuest กันสักนิดล่ะครับว่า ในโมเลกุลของสสารมันเรียงกันสะเปะสะปะ ก็ต่อเมื่อมีสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่พอที่จะเหนี่ยวนำมันได้ ทิศทางการเรียงตัวของมันก็จะจัดใหม่ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น เช่นเดียวกับเข็มทิศที่มักจะชี้ไปในทิศเหนือทิศเดียวเท่านั้น ก็เพราะสนามแม่เหล็กของมันส่งแรงดึงดูดให้เข็มทิศที่เสมือนเป็นขั้วใต้ชี้เข้าหาตัวมัน แล้วไอ้สนามแม่เหล็กนี่มันเกิดขึ้นเฉพาะที่ขั้วโลกเหนือเท่านั้นใช่ไหมครับ

คำตอบก็คือ ‘ไม่ใช่’ ทุกๆ ที่ที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน มันจะเกิดสนามแม่เหล็กขึ้นรอบๆ ตัวนำนั้น ที่เรียกว่า ‘กฎมือขวา’ ( Fleming’s Fight Hand Rule) อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ ม.ต้น นะครับ นึกทบทวนดูได้ นั่นก็แสดงว่า ในสายไฟฟ้า หรือถ้าเรียกให้ถูกว่าสายตัวนำที่มีกระแสไฟไหลผ่าน อย่างสายลำโพง สายสัญญาณ นี่ก็ด้วย มันมีสนามแม่เหล็กเกิดขึ้นทั้งนั้น

แล้วมันเกี่ยวข้องอะไรกับคุณภาพเสียงด้วย นี่คือที่เราสนใจ 

คือจากที่ AudioQuest อธิบายให้เราฟังว่า ตัวนำของสายสัญญาณที่เรียกว่าโคแอ็คเชี่ยลทุกชนิดมักต้องเป็นสายแกนเดี่ยว อย่างเช่น Sub-3 รุ่นนี้ก็เป็นสายแกนเดี่ยวเหมือนกัน คือเป็นตัวนำแบบเส้นเดียวที่เรียกว่า ‘6.1% Silver Conductors’ ให้สัญญาณเสียงวิ่งผ่านโดยยังถักไขว้กันทั้งสี่เส้นนับรวมสายกราวนด์ที่เดินคู่กันไปตลอด เป็นวิธีดั้งเดิมที่มันเอามาแก้ปัญหาเรื่องการเหนี่ยวนำของสนามแม่เหล็กกัน เมื่อใดก็ตามที่มีกระแส หรือมีสัญญาณวิ่งผ่านสาย ก็จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขนาดความเข้มน้อยๆ เกิดขึ้น เพียงพอที่จะเหนี่ยวนำโมเลกุลที่อยู่รอบๆ ฉนวนให้หันไปในทิศทางต่างๆ กัน และจากข้อมูลของ AudioQuest อีกเหมือนกันว่าถ้าปล่อยให้พฤติกรรมเป็นอย่างนี้โมเลกุลจะถูกจัดเรียงเป็นระเบียบไปสู่ศูนย์กลางก็คือ ‘ตัวนำ’ โมเลกุลพวกนี้เปรียบก็เหมือนฝุ่นละอองที่เกาะเกาอยู่รอบๆ ตัวนำ นัยว่าบางความถี่ที่มักเดินทางผ่านสายพวกแกนเดี่ยวนี้ในวงนอกๆ จะไม่ค่อยจะดี คือขาดสปีด ออกอาการช้าๆ อืดๆ เมื่อเทียบกับสัญญาณเสียงช่วงอื่นๆ

AudioQuest Sub-3 เลยคิดเสียใหม่ คิดสร้างสนามแม่เหล็กขนาดเล็กขึ้นมาเอง ให้แรงกว่าสนามแม่เหล็กเดิมตอนที่ปล่อยในสัญญาณเดินทางออกไปเปล่าๆ จึงเป็นที่มาของอุปกรณ์ตัวเล็กๆ ที่เรียกว่า DBS ครับ มันเป็นกล่องพลาสติกดำๆ ขนาดเล็ก เป็นตัวสร้างกระแสไฟ DC ขนาด 48 โวลต์เลี้ยงอยู่ในสายตลอดเส้น (บนกล่องยังเป็น 36 โวลต์รุ่นเก่าอยู่) ข้างในก็มีถ่าน 12 โวลต์ สี่ก้อนต่ออนุกรมกันอยู่ AudioQuest คุยว่าด้วยกระแสไฟขนาดนี้แรงพอที่จะเหนี่ยวนำให้ทุกโมเลกุลของสายทุกเส้นเบี่ยงเบนไปในทิศทางที่เป็นระเบียบ ดังนั้นกระไฟที่เดินทางในสายนั้นจะมีความเร็วที่เท่าเทียมกัน ทำให้สมดุลของเสียงแต่ละความถี่เดินทางมาถึงปลายทางได้แบบที่ไม่มีใครเด่นไม่มีใครด้อยกว่ากัน และที่มีปุ่มให้กดเพื่อโชว์ไฟสีเขียวๆ สว่างขึ้นมานี่แสดงว่าไฟเลี้ยงในระบบยังดีอยู่ ถ้ามันหรี่ไปก็เตรียมเปลี่ยนแบตฯ ชุดใหม่ได้แล้วครับ แบตเตอรี่ขนาดนี้ใช้ได้เป็นปีครับ AudioQuest เขาว่าอย่างนั้น ส่วนหัวคอนเน็กเตอร์ก็เป็นหัว RCA ที่ห่อหุ้มสายไว้อย่างเรียบร้อย แกนกลาง และปลอกที่เชื่อมต่อนำทางเข้ากับแจ๊คตัวเมียของอีกอุปกรณ์หนึ่งเป็นโลหะชุบเงิน เขาว่าดีกว่าพวกที่ชุบทองเหลืองอร่ามเสียอีก (รุ่นต่ำๆ จะเป็นตัวแจ๊คจะชุบทอง) ว่าไปแล้วเป็นหลักการที่ส่วนกระแสพอสมควร คือแทนที่จะทำให้เกิดสนามแม่เหล็กน้อยที่สุด กลับเอาข้อดีของการเกิดสนามแม่เหล็กมาใช้ให้เป็นประโยชน์เสียเลย
 
การใช้งาน
พูดเรื่องทฤษฎีมาเยอะแล้ว หลายคนอาจจะเริ่มเบื่อ เรามาวัดคุณภาพของมันในรูปแบบของอะนาล็อกกันดีกว่า ที่ว่าในแบบอะนาล็อกก็หมายความว่าเราต้องเอาสายตัวนี้ไปต่อเข้ากับชุดเครื่องเสียงดูว่าที่ผมโม้มานั้น มันออกมาเป็นโสตสัมผัสที่มนุษย์อย่างเราจะแยกแยะได้หรือไม่ วิธีการของผมก็คือ เอาเอวีเซอร์ราวนด์ที่ไว้ใจได้มาหนึ่งตัว ตัดเรื่องฟังก์ชันเรื่องปรับแต่งเสียง อย่างอีควอไลเซอร์ทั้งหลายออกไป เหลือไว้ก็แต่สัญญาณเพียวๆ ที่ต่อตรงเข้าแอคทีฟซับวูฟเฟอร์ ทางช่อง Line in คือจริงๆ แล้ว Klipsch RW-12d ที่เราใช้งานอยู่ปกติเราต่อใช้ทั้งสองช่อง (L/R) ด้วยสายที่แยกออกมาจากแอมป์เป็น 1 ออก 2 จึงหมดห่วงว่าจะมีช่องใดช่องหนึ่งไม่ได้ถูกใช้งานจนทางเดินสัญญาณมันเก่าจนขึ้นสนิม ถอดเอาสายเดิมออกช่องหนึ่ง แล้วเอา AudioQuest Sub-3 เข้าไป เอาช่วงที่เป็นกล่อง DBS ไว้ต้นทางของเสียง หาจุดเสียบสายกราวนด์ที่อยู่บน SUB-3 ทั้งสองข้างจะได้ครบวงจร แต่ต้นทางที่แอมป์ต้องสลับเสียบผลัดกันเวลาจะเปรียบเทียบ ผมว่าอย่างนี้คงยุติธรรมที่สุดแล้วสำหรับหาข้อสรุปจากสิ่งที่กำลังสงสัย


ทุกครั้งที่ทดสอบพวกสายสัญญาณมันมักจะพาผมเข้าไปอยู่ในสถานะที่ต้องเหนื่อยใจในการฟันธงยังไงไม่รู้ คนที่ทำสายสัญญาณมาเกือบสามสิบกว่าปีอย่าง Bill Low นี่ยังมีใครไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาทำอีกหรือครับ และยิ่งรู้จักขั้นตอนของการทำสายสัญญาณเพื่อให้เป็นสายสัญญาณสำหรับนักเล่นเครื่องเสียง ซึ่งสรุปสุดท้ายด้วย ‘การฟัง’ ซึ่งมีน้ำหนักพอๆ กับหลักการ มันยิ่งเป็นที่ชื่นชอบของพวกเราทั้งหลาย ไม่ใช่การเอาเครื่องยนต์ของรถฟอร์มูล่าวันมาใส่ลงไปในตัวถังรถเก๋งซีดาน แล้วบอกว่า ‘นี่แหละรถคันนี้ที่มันเร็วที่สุดในโลก’ คือสรุปเอาจากสูตรอย่างเดียว เพราะแค่สายเส้นเดียวนี่มันก็ทำให้ ‘My Heart Will Go On’  ได้จริงๆ จากอัลบั้ม Celine Dion/ Live in Vegas เริ่มต้นเพลงนี้ด้วยเสียงความถี่ต่ำที่แผ่กว้างออกไปเป็นบรรยากาศที่ชุดเล็กๆ หมดสิทธิ์ สัญญาณซินธิไซเซอร์ที่ส่งไปยังซับฯ อย่างต่อเนื่อง หูผมไม่ถึงขนาดเป็นมิเตอร์วัดจะๆ ว่ามีความถี่ใดตกหล่น หรือมีความถี่ใดเพิ่มเติมขึ้นมา แต่รู้สึกถึงการสอดเข้ามา และจางหายไปของเสียงซินธิไซเซอร์ที่ว่า มันมาในช่วงเวลา และจังหวะที่ไม่เหมือนกันของสายซับวูฟเฟอร์ที่ต่อเอาไว้ทั้งสองเส้น Sub-3 มันมีทีท่ามีลีลากว่า บางที บางคนเรียกว่าเป็นรายละเอียด ก็สุดแล้วแต่ครับ

ในจังหวะคึกคักขึ้นมาหน่อย ผมว่าบางคนอาจจะผิดหวัง แต่ขอโทษ...ผมชอบแบบนี้ และเป็นอย่างที่เดาไว้ในใจ สำหรับคนที่จะหวังว่าสายเส้นนี้จะให้เสียงเบสได้ใหญ่โตมโหฬารพันลึกนั่นคุณกำลังมองด้านเดียว และไม่ใช่ด้านที่เป็นออดิโอไฟล์โดยสิ้นเชิง เพราะถ้าเน้นปริมาณผมขอให้เดินไปที่ซับวูฟเฟอร์ และเร่งวอลุ่มมันขึ้นมาจะง่ายกว่า ไม่ต้องเปลืองเงินเปลืองทองด้วย สายเส้นนี้มันกลับหดบางอย่างให้กระชับเข้าที่เข้าทางขึ้น มันมีผลเลยไปถึงเสียงกลางของเสียงร้องที่เรามักมองข้ามว่ามันมาเกี่ยวอะไรกับซับวูฟเฟอร์ด้วย คือถ้าให้เสียงย่านต่ำๆ เป็นหนึ่งเดียวกับจังหวะของการร้อง  เหมือนภาพที่มีจิตรกรบรรจงลงเส้นสายที่มีน้ำหนัก เน้นย้ำให้เห็นอย่างมั่นใจ อย่างเสียงเปียโนของเพลงที่เก้า  ‘If I Could’  มีความต่อเนื่องเป็นดนตรีระหว่างโน้ตสูงๆ ไล่ลงไปถึงโน้ตต่ำๆ สำหรับกล่อง DBS ตัวนี้จะเห็นว่ามันมีแจ๊คเล็กๆ ที่เสียบเป็นสายไฟออกจากมัน ถ้าดึงออกมาจากล็อกก็จะประหยัดแบตเตอรี่ได้ในกรณีที่คุณอาจจะไม่ได้ใช้งานซิสเต็มเป็นเวลานานๆ หมายถึงก็จะไม่ได้ใช้วงจร DBS ที่ให้มาด้วย       
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook