Pioneer SC-LX 71 audio/video multi-channel receiver

Pioneer SC-LX 71 audio/video multi-channel receiver

Pioneer SC-LX 71 audio/video multi-channel receiver
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

เนื่องเพราะระบบเสียงเซอร์ราวนด์มีจำนวนลำโพงมากกว่า 2 และมีรูปแบบการติดตั้งลำโพงที่ไม่เฉพาะด้านหน้าของผู้ฟัง หากแต่ล้อมวงอยู่รอบตัวผู้ฟังมากถึง 8 ตัว ทำให้ตำแหน่งและทิศทางของเสียงที่เดินทางมาจากแต่ละแชนเนลมีพิกัดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การที่จะจัดการให้เสียงจากลำโพง ‘ทุกแชนเนล’ แสดงความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ณ ตำแหน่งนั่งฟังจึงเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทั้งคุณภาพของลำโพง ทั้งความละเอียดแม่นยำในการติดตั้งลำโพง และที่สำคัญที่สุดก็คือ ความสามารถอันเอกอุของฟังก์ชันปรับแต่งเสียงที่มีอยู่ในแอมป์เซอร์ราวนด์เองด้วย
 
SC-LX 71
กับฟังก์ชันออโต้ คาริเบชั่น Advanced MCACC + ฟังก์ชัน Full Band Phase Control ที่สุดแสนจะวิเศษ!
ผมมีโอกาสสัมผัสกับประสิทธิภาพของระบบออโต้-คาริเบชั่น Advanced MCACC ของ Pioneer ด้วยการเซ็ตอัพด้วยตัวเองมามากกว่าสามครั้งแล้ว จากรุ่นท๊อปสุด Susano จนมาถึง SC-LX 71 ตัวนี้ หลังจากลองเซ็ตอัพและได้สดับกับเสียงของมันแล้วต้องยอมรับว่า Advanced MCACC เป็นระบบการปรับตั้งเสียง (เซอร์ราวนด์) อัตโนมัติที่ให้คุณภาพเสียงออกมาดีที่สุดระบบหนึ่งในวงการ โดยเฉพาะเมื่อผนวกเอาฟังก์ชัน Full Band Phase Control เข้าไปด้วยแล้ว Advanced MCACC ก็เลยเหมือนเสือติดปีก คุณภาพเสียงที่ได้ก็เขยิบสูงขึ้นไปอีกระดับทันที.!

จริงๆ แล้ว ส่วนตัวนั้น ผมเป็นคนที่ไม่ชอบวงจรพิเศษอะไรประเภทนี้ เพราะที่ผ่านๆ มาผลของมันไม่เป็นที่น่าพอใจ นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าวงจร
ออโต้ฯ ที่ผมเคยลองใช้ผ่านๆ มายังออกแบบได้ไม่ดีก็เป็นได้ ในอดีตที่ผ่านมา ผมจึงมักหลีกเลี่ยงที่จะใช้วงจรออโต้ คาริเบชั่นในการปรับตั้งเสียงของระบบเสียงเซอร์ราวนด์ ยอมที่จะเสียเวลาใช้วิธีแมนน่วลปรับแต่งด้วยไมโครโฟนของ SPL meter ร่วมกับสัญญาณเสียงจากแผ่น sound check และแผ่นซอฟต์แวร์อีก 2-3 แผ่นซะมากกว่า ผมเพิ่งจะเริ่มยอมรับคุณภาพเสียงของวงจรออโต้ คาริเบชั่นของแอมป์เซอร์ราวนด์เหล่านี้มาเมื่อปี-สองปีที่ผ่านมานี้เอง และมักจะลองใช้ทุกครั้งที่ทำการเซ็ตอัพเพราะนอกจากว่ามันจะให้เสียงที่น่าพอใจแล้ว วงจรออโต้ฯ ยุคหลังๆ ก็มีความฉลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ขั้นตอนการเซ็ตอัพใช้เวลาสั้นลงมาก นับว่าเป็นเครื่องมือเซ็ตอัพชั้นดีสำหรับนักติดตั้งระบบเสียงเซอร์ราวนด์เลยแหละ.. เพราะทั้งสะดวกและไม่เสียเวลาด้วย

Pioneer เป็นแบรนด์ฯ ที่เกิดขึ้นมาจากกลุ่มคนที่มีพื้นฐาน engineering และทำงานคลุกคลีกับงานบันทึกเสียงระดับโปรเฟสชั่นแนลมามาก (ผมเคยรู้จักกับออดิโอ-เอนจิเนียร์ของไพโอเนียร์คนหนึ่งซึ่งเขาทำงานร่วมกับ TAD ที่ประเทศอังกฤษ) พวกเขาจึงมีความเข้าใจในสิ่งที่เรียกว่า ‘คุณภาพเสียง’ มากกว่าแบรนด์ฯ อื่นๆ ดังจะเห็นได้จากแนวคิดและประเด็นของคุณภาพเสียงที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมาพัฒนา อย่างเช่น เรื่องของ Full Band Phase Control เป็นต้น ซึ่งเป็นประเด็นที่ตรงใจผมมากและไม่เคยเห็นยี่ห้อใดพูดถึงมาก่อน


คนออกแบบวงจรออโต้ฯ ทั่วไปมักจะใส่ใจอยู่กับการปรับแต่งค่าต่างๆ ที่แอมป์เซอร์ราวนด์จะสามารถทำได้ แต่ไม่ค่อยจะมีใครให้ความสนใจว่า สิ่งที่อยู่ภายนอกตัวแอมป์ฯ เอง อย่างเช่น วงจรเน็ตเวิร์กของลำโพง กับสภาพอะคูสติกของห้อง นั่นแหละคือปัญหาใหญ่ ซึ่งวิศวกรของไพโอเนียร์คำนึงถึง และวงจรออโต้ คาริเบชั่น MCACC กับวงจร Full Band Phase Control คือผลพวงของ SC-LX 71 ที่มีมาเพื่อจัดการกับสองสิ่งนั่้นโดยเฉพาะ นอกเหนือไปจากหน้าที่ในการปรับตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ของลำโพงทั้ง 7 ตัวแล้ว

Pioneer SC-LX 71 ‘เสือดำ’ รูปร่าง & สมรรถนะ
ซีรีส์ ‘SC’ มาจากคำว่า Stereo Control ซึ่งเป็นซีรีส์สูงสุดในกลุ่มเอวี แอมป์ เซอร์ราวนด์ของไพโอเนียร์ มีออกมาทั้งหมด 2 รุ่น คือ SC-LX 71 กับรุ่น SC-LX 81 ซึ่งทั้งสองรุ่นนี้มีความแตกต่างกันน้อยมากเพียงแค่ 3 จุดเท่านั้น คือ (1) ตัวเลขกำลังขับของภาคเพาเวอร์แอมป์ในโหมดสเตอริโอ 2 แชนเนลที่รุ่น SC-LX 71 ให้ออกมาน้อยกว่า LX 81 อยู่ประมาณ 10% (2) LX 71 ให้ช่องเอาต์พุต HDMI แค่ 1 ช่อง ในขณะที่รุ่น LX 81 ให้มา 2 ช่อง และ (3) รุ่น LX 71 ให้ช่องอินพุต digital coaxial แค่ 2 ช่องในขณะที่รุ่น LX 81 ให้มา 3 ช่อง นอกนั้นที่เหลือทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่ขนาดสัดส่วนตัวเครื่องและน้ำหนักของทั้ง LX 71 และ LX 81 เหมือนกันและเท่ากันทุกอย่าง


ฉะนั้น ประโยชน์อย่างเดียวสำหรับ LX 81 ที่เหนือกว่า LX 71 ก็คือ เอาต์พุต HDMI (พร้อมวงจร Upscale 1080p) ที่มากกว่าอยู่หนึ่งช่อง ทำให้ LX 81 สามารถเชื่อมสัญญาณภาพและเสียงทางช่อง HDMI ไปที่ Zone 2 ได้ ในขณะที่ LX 71 ต้องใช้การเชื่อมต่อสัญญาณภาพและเสียงทางช่องอื่นแทน

LX 71 ใช้เทคโนโลยี Direct Energy HD ในส่วนของภาคขยาย ซึ่งเป็นภาคขยายแบบดิจิตอล Class D ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษด้วยการผสมผสานการทำงานร่วมกับภาคเพาเวอร์ซัพพลายที่ชื่อว่า ICE power สำหรับระบบเสียงเซอร์ราวนด์ 7.1 แชนเนล LX 71 ให้กำลังขับแชนเนลละ 90 วัตต์ที่ 8 โอห์ม ตลอดย่านแบบต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน หากต่อเชื่อมสัญญาณเข้าทางช่อง Multi-channel input (7.1 Ch input) ความถี่ตอบสนองของสัญญาณเสียงจะถูกจำกัดอยู่ที่ระดับ 20-20kHz แต่ทำให้ได้กำลังขับเพิ่มขึ้นเป็น 140 วัตต์ที่ 8 โอห์มต่อแชนเนล เท่ากันหมดทั้ง 7 แชนเนล   
 
iPod DIRECT USB & Home Media Gallery
นี่ต้องถือว่าเป็นจุดเด่นกันเลยทีเดียวสำหรับ LX 71 ตัวนี้ เพราะการเชื่อมต่อ iPod ด้วยขั้วต่อ USB แบบนี้ก็คือการป้อนสัญญาณเพลงจาก iPod ไปที่ LX 71 ด้วยรูปแบบของสัญญาณดิจิตอลแท้ๆ โดยไม่ผ่านวงจร DAC ในตัว iPod ซึ่งผลลัพธ์ก็คือคุณภาพเสียงที่ดีกว่าการเชื่อมต่อด้วยสัญญาณอะนาล็อกอย่างที่หลายๆ เจ้าใช้กันอยู่มากทีเดียว เพราะสัญญาณเพลงที่อยู่บน iPod จะไม่ต้องถูกแปลงกลับไปกลับมาระหว่าง analog กับ digital ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ทำให้สูญเสียคุณภาพลงไป เนื้อเสียงที่ได้จึงมีทั้งความเข้มข้นและยังได้ไดนามิกเรนจ์ที่กว้างขวางอีกด้วย      
      
และจากการทดลองใช้งานกับเครื่องเล่น iPod Video (Gen.5) กับ iPhone Calssic (16G) ทางช่อง iPod DIRECT USB ของ LX 71 พบว่า LX 71 รู้จักกับ iPod ทั้งสองตัวผ่านทางช่องอินพุต Home Media Gallery (HMG) ซึ่งหากคุณต่อเอาต์พุตของ LX 71 ผ่านจอมอนิเตอร์ไว้จะปรากฏภาพของฟังก์ชันใช้งานที่ชื่อว่า ‘iPod  Control’ โผล่ขึ้นมาบนจอให้คุณสามารถสั่งงาน iPod เครื่องนั้นผ่านรีโมตไร้สายของ LX 71 ได้โดยตรง 

ส่วนการใช้งานร่วมกับคอมเทนต์ออดิโอที่เก็บอยู่บนฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ผ่านทางช่อง LAN ของ LX 71 ก็ไม่ได้ยุ่งยากในการเซ็ตอัพมากนัก แต่อย่างไรก็ดี ถ้าคุณไม่คุ้นเคยกับระบบเชื่อมต่อของคอมพิวเตอร์มาก่อน ผมแนะนำให้ปรึกษากับช่างเทคนิคของทางไพโอเนียร์จะได้ผลดีกว่า และจากการทดลองดึงสัญญาณเสียงเพลงจากฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ด้วยสาย LAN ที่ยาวมากมาผ่านภาค DAC ของ LX 71 พบว่า เสียงที่ได้นั้นอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว เป็นลักษณะของเสียงที่ต่างไปจากลักษณะของเสียงแบบอะนาล็อกที่เราๆ คุ้นเคยกัน คืออะนาล็อกนั้นจะออกมาในโทนของเสียงที่นุ่มนวล แต่ขาดพลัง ในขณะที่เสียง PCM จากซีดีที่ได้จากช่อง LAN นั้นแม้จะติดสดมากไปนิดแต่ก็ออกมาแบบเน้นๆ เนื้อๆ เข้มๆ สะใจดี มีโอกาสต้องลองครับ.. ผมพูดได้เพียงว่า ถ้าลองฟังแล้วชอบ คุณจะไม่กลับไปฟังแบบเดิมๆ อีกเลย.!
 
สรุป SC-LX71 ทำหน้าที่หลักในส่วนของโฮมเธียเตอร์ได้น่าพอใจทั้งในส่วนของภาพและเสียง (ทางด้านเสียงจะเด่นกว่า) ส่วนความสามารถเชิง multimedia ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจเกินคาดครับ.. ผมพบว่ามันได้พัฒนาฟังก์ชันการใช้งานในส่วนของมัลติมีเดียได้ดีขึ้นกว่ารุ่น Susano นิดนึง ส่วนประสิทธิภาพในแง่ networking ของ SC-LX71 นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะการต่อเชื่อมด้วย LAN ร่วมกับคอมพิวเตอร์นั้นมันสื่อสารกันได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นกว่ารุ่น Susano พอสมควร โดยเฉพาะเมื่อกำหนดวงของ network ให้แคบลง

จริงๆ แล้ว จุดเด่นของ SC-LX71 อยู่ที่ ‘คุณภาพเสียง’ ครับ ทั้งในส่วนคุณภาพเสียงของระบบเซอร์ราวนด์และคุณภาพเสียงของระบบสเตอริโอ ซึ่งหากคุณกำลังมองหาสิ่งนี้อยู่ แนะนำให้ไปลองฟังให้ได้ครับผม.!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook