รีวิว Nokia 6085

รีวิว Nokia 6085

รีวิว Nokia 6085
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อยากได้ให้ฟรี Nokia N95 มือถือใหม่สุดจ๊าบ
ใครที่ชื่นชอบโทรศัพท์มือถืออย่างยี่ห้อ Nokia นั้นต้องขอบอกไว้ก่อนเลยว่า คุณอาจจะต้องเสียเงินอีกนิดหน่อยเพื่อที่จะได้เป็นเจ้าของ เจ้าโทรศัพท์มือถือสไตล์ฝาพับที่เรานำมาทดสอบกันวันนี้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่เราเชื่อเช่นนั้น Nokia 6085 โทรศัพท์มือถือฝาพับตัวใหม่ล่าสุด ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นมีเดียแบบเต็มสูบ ทั้งเครื่องเล่นเพลงพร้อมโหมดเล่นเพลงที่หลากหลาย มีวิทยุ FM, เครื่องบันทึกเสียง, เครื่องเล่นวิดีโอ, กล้องถ่ายรูปคุณภาพล้านพิกเซลที่ถ่ายได้ทั้งรูปและวิดีโอ รองรับการ์ดความจำเสริมแบบ microSD ได้ด้วย นี่แค่นำจิ้มนะครับ เพราะมันยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ซ่อนอยู่อีกมากมาย จนคุณแทบไม่อยากจะเชื่อว่าเจ้าโทรศัพท์มือถือตัวนี้จะเป็นรุ่นที่ช่วยให้คุณกลับมามีความรู้สึกคุ้มค่ากับการเลือกซื้อหาโทรศัพท์มือถือมาใช้งานกันอีกสักครั้งหนึ่ง แกะกล่องลองเครื่อง สัมผัสแรก สำหรับ Nokia 6085 ซึ่งเป็นโทรศัพท์มือถือสไตล์ฝาพับ ที่ดูเรียบง่ายเอามากๆ ด้วยการเน้นรูปลักษณ์และดีไซน์สีสันให้ดูมีความรู้สึกเหมือนก้อนโลหะที่แข็งแกร่ง ด้วยการใช้วัสดุซึ่งเป็นพลาสติกที่มีเนื้อสีแบบตะกั่ว ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวเครื่อง แถมด้วยการชุบโครเมี่ยมบนหน้ากากเพื่อเน้นให้บริเวณจอนอก และเลนส์กล้องถ่ายรูปดูโดดเด่นและยังช่วยให้ตัวเครื่องเองดูน่าใช้และ น่าจับถือมากยิ่งขึ้น ส่วนมิติตัวเครื่องนั้นก็มากับขนาด 92 x 46 x 23 มิลลิเมตร กับน้ำหนัก 84 กรัม ซึ่งถือว่าเป็นขนาดและน้ำหนักที่กำลังพอเหมาะพอดีกับการพกพาอย่างดีทีเดียว ด้านหน้า ในส่วนนี้ยังคงเล่นกับความเรียบง่ายอย่างที่กล่าวไว้ คือจะมีเพียงตัวฝาหน้าที่เป็นพลาสติกเนื้อสีคล้ายสีของตะกั่ว แล้วเพิ่มการชุบโครเมี่ยมลงบนสว่นที่เป็นกล้องถ่ายรูปและหน้าจอนอก ซึ่งก็ช่วยให้ตัวเครื่องให้ความรู้สึกดูแล้วแข็งแรงแบบเหล็กกล้า พร้อมกับความสวยงามแวววาวของสีโครเมี่ยมที่ช่วยไม่ให้ด้านหน้านี้ดูแข็งจนเกินไป ด้านหลัง เมื่อพลิกมาดูส่วนของด้านหลังนั้นจะยิ่งดูแล้วมีความเรียบง่ายกว่าด้านหน้า ด้วยส่วนที่เป็นฝาหลังซึ่งยังคงใช้พลาสติกเนื้อสีแบบตะกั่วเหมือนกับส่วนของฝาหน้านั่นเอง แล้วก็ใช้แผ่นโลหะชุบโครเมี่ยมแผ่นบางๆ มาติดไว้ตรงส่วนของลำโพงที่อยู่ด้านหลังนี้ด้วย นอกจากนี้แผ่นโลหะนี้ยังมีการพิมพ์ยี่ห้อ Nokia ลงไป และถือว่าเจ้าแผ่นโลหะนี้มีส่วนช่วยให้ด้านหลังเครื่องนี้ดูไม่โล่งจนเกินไป ด้านข้าง (ซ้ายมือ) จะมีปุ่มกด +/- สำหรับใช้เป็นปุ่ม Volume เพื่อการเพิ่ม-ลดเสียงลำโพงหูฟัง และลำโพง (Speaker) แสดงเสียงเพลงและเสียงเตือนเรียกเข้าได้ด้วย ถัดลงมาจะมีปุ่มชัตเตอร์สำหรับเข้าใช้งานกล้องถ่ายรูป ด้านข้าง (ขวา) จะมีเพียงช่องรองรับการ์ดความจำแบบ microSD (แบบ HotSwp) พร้อมฝาพลาสติกปิดกันฝุ่นละอองอยู่เท่านั้น ด้านบนและด้านล่าง เริ่มจากส่วนของด้านบนนั้นจะไม่มีเสาอากาศออกมาให้เกะกะ ด้วยการซ่อนเสาอากาศไว้ด้านใน ซึ่งก็ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานหรือพกพาได้สะดวกขึ้นนั่นเองครับ ส่วนด้านล่างนั้นจะมีทั้งช่องเสียบสายชาร์จแบตเตอรี่ (ขนาดใหม่ที่เล็กกว่าช่องเสียบต่อสายชาร์จรุ่นเก่า) พร้อมกับมีช่องเสียบต่อได้ทั้งสายดาต้า หรือช่องเสียบหูฟังแบบ Pop-Port อยู่ข้างๆ กันด้วย เมื่อเปิดฝาพับ ก็จะมีทั้งหน้าจอแสดงผลสีขนาดใหญ่ประมาณ 1.8 นิ้ว พร้อมกับจะเห็นถึงแผงปุ่มกดต่างๆ มากมายอย่างครบถ้วน ทั้งปุ่มควบคุมเมนูแบบ 5 ทิศทาง (กดซ้าย-ขวา, ขึ้น-ลง, กดตรงเพื่อตกลงเลือกรายการ) ทรงสี่เหลี่ยม มีปุ่มซ็อพท์คีย์ซ้าย/ขวาเพื่อเลือกรายการที่แสดงบนแถบบาร์เมนูที่แสดงผลบนหน้าจอ ที่อยู่บนฐานชุดปุ่มกดเดียวกันกับปุ่มโทรออกหรือรับสายสีเขียว และปุ่มปฏิเสธสายและยกเลิกรายการสีแดง พร้อมกับมีปุ่มตัวเลขและตัวอักษรแบบมาตรฐานด้วยเช่นเคย โดยในส่วนนี้การออกแบบหลักๆ ยังคงใช้สีบรนอซ์เงินที่ให้ความรู้สึกแข็งแรง พร้อมกับการแต่ง ขอบด้วยการชุบโครเมี่ยมที่ให้ความแวววาวบนตัวปุ่มควบคุมเมนูแบบ 5 ทิศทาง และบริเวณขอบนอกของชุดแผงป่มุกด สำหรับส่วนของกรอบจอภาพที่อยู่ด้านบนนั้นก็ใช้กระจกที่ให้ความรู้สึกแบบเหล็กกล้าเช่นกัน เพื่อความลงตัวและสวยงามเข้ากันได้ของชุดแผงปุ่มกด เปิดฝาหลัง/ใส่ซิมการ์ด ทำได้ง่ายมากครับเพียงใช้นิ้วมือที่ถนัดดันตัวฝาหลังลงด้านล่างแบบเบามือ ตัวฝาหลังก็จะหลุดออกมาได้ง่าย โดยจะเผยให้เห็นตัวแบตเตอรี่อยู่ด้านในหากจะทำการถอดเปลี่ยนซิมการ์ดก็ต้องปิดเครื่อง แล้วถอดแบตเตอรี่ออกเช่นเคย ถึงจะเห็นช่องรองรับซิมการ์ดอยู่ด้านใน โดยช่องรองรับซิมการ์ดใน 6085 เครื่องนี้จะมีความแปลกกว่าโทรศัพท์มือถือของ Nokia รุ่นผ่านๆมา ด้วยการใช้ฝาเหล็กที่มาพร้อมกับคันยก และต้องสอดตัวซิมการ์ดลงบนฝาเหล็กนั้นแล้วปิดฝาลงไป (โดยให้สังเกตรอยปั้มรูปซิมการ์ดที่อยู่บนฝาเหล็กนี้ด้วย จะได้รู้ว่ารอยบากของตัวซิมการ์ดนั้นอยู่ด้านไหน) ทดสอบการใช้งาน เริ่มการใช้งาน โดยการกดที่ปุ่มพาวเวอร์สวิทช์บนปุ่มวางสายสีแดง โดยให้กดค้างไว้สักครู่เครื่องก็จะเริ่มทำงานโดยแสดงชื่อ Nokia หลังจากนั้นก็จะมีภาพเคลื่อนไหวเป็นโลโก้มาตรฐาน พร้อมเสียงของโนเกีย สักครู่ก็จะเข้าสู่หน้าจอหลักปกติ โดยทั้งหมดนี้จะกินเวลาประมาณ 10 วินาที (สามารถเปิดเครื่องใช้งานโดยไม่ใส่ซิมการ์ดก็ได้) หน้าจอ ส่วนของจอแสดงผลนั้นจะเป็นแบบคู่ (Dual Display) โดยจะมีจอด้านนอก (Cover display) ซึ่งเป็นจอขาวดำแบบ FSTN พร้อมไฟส่องสว่างสีฟ้าขนาด 96 x 68 พิกเซลหรือประมาณ 1.1 นิ้ว 5 บรรทัดสามารถแสดงรายละเอียดพวกนาฬิกา, สัญญาณเครือข่าย, มีเตอร์ระดับพลังงานแบตเตอรี่, รวมถึงแสดงรายการสายโทรเข้า และไม่ได้รับสาย, รายการข้อความเข้า หรือรายละเอียดที่เกียวกับสถานะของการใช้สายได้มากมายอีกด้วย ที่สำคัญยังสามารถตั้งค่าการแสดงภาพพักหน้าจอ (Screen saver) ซึ่งเป็นนาฬิกาที่มีให้เลือกได้แบบ อนาล็อก และดิจิตอล และสำหรับหน้าจอหลัก (Main display) นั้นจะเป็นจอภาพแบบ CSTN passive LCD 262,144 สี ความละเอียด 128 x 160 พิกซล หรือขนาดประมาณ 1.8 นิ้ว ซึ่งก็ถือว่าเป็นจอแสดงผลที่มีขนาดใหญ่พอสมควร สามารถตอบสนองต่อการแสดงภาพและข้อมูลต่างๆได้ชัดเจนและคมชัดทีเดียว นอกจากนี้แล้วส่วนของการปรับตั้งค่าการใช้งานหน้าจอนั้นจะมีทั้งการตั้งค่าภาพพื้นหลังแบบสี (Wallpaper), ตั้งค่าสแตนด์บายแบบพิเศษ (Active standby) บนหน้าจอ, ภาพเคลื่อนไหวฝาพับ (Fold animation), สีแบบอักษรสแตนด์บาย (Standby font colour), ไอคอนปุ่มสำรวจ (Navigation key icons), โลโก้ระบบ หรือ(เครือข่าย) (Operator logo), แสดงข้อมูลระบบ (เครือข่าย) (Cell info display) หรือจะเลือกตั้งภาพพักหน้าจอ (Screen saver), ตั้งโหมดประหยัดพลังงาน (Power saver), ขนาดอักษร (Font size) เปิด-ปิดข้อความต้นรับ หรือ Welcome note, เลือกแสดงเวลาและวันที่ (Time and date/autotime update) รวมไปถึงการตั้งค่าเลือกลักษณะธีมเมนู (Themes) ได้ด้วยมากมายหลายแบบ (ดาวน์โหลดเพิ่มได้ด้วย) ตั้งค่าการใช้งานปุ่มกด นอกจากจะมีการล็อกปุ่มกดด้วยวิธีมาตรฐานของโนเกียที่ใช้การกด ปุ่มเมนู (ปุ่มตรงกลางของ ปุ่มเมนู 5 ทิษทาง) แล้วตามด้วย ปุ่มดอกจันทร์ (*) ปุ่มกดจะถูกล็อกทันที หากจะปลดล็อกก็ทำตามวิธีเดิมได้เลยครับ และถ้าหากว่าอยากจะตั้งค่าเปลี่ยนการทำงานของปุ่มกดเมนูต่างๆ ใน My shortcuts ได้ตามความสะดวกในการเลือกใช้งานของผู้ใช้เองอีกด้วย รวมถึงการตั้งค่าปุ่มสแตนด์บายเมนูแบบพิเศษ (Active standby) ก็สามารถให้ผู้ใช้ได้ตั้งค่าเองได้ตามใจชอบที่เมนูมุมมองปรับตั้งค่า (Personalize view) ที่ให้ผู้ใช้ได้เลือกเมนูที่ชอบหรือใช้บ่อยการการส่วนตัวมาตั้งเป็นสแตนด์บายเมนูได้ นอกจากนี้ยังสามารถตั้งค่าปุ่มสแตนด์บายแบบพิเศษ (Active standby key) บนปุ่มควบคุมเมนุว่าจะให้ใช้ปุ่มสำรวจขึ้น/ปุ่มสำรวจลง/ปุ่มสำรวจขึ้นและลง ก็ได้ รูปแบบเมนู สำหรับรูปแบบเมนูใน Nokia 6085 นั้นจะเป็นรูปแบบของ Active standby menu ซึ่งก็ถือว่าเป็นรูปแบบเมนูที่ใช้งานได้สะดวกบวกกับการที่ให้ผู้ใช้สามารถจัดเรียงเมนูได้เอง ทั้งยังมีความสวยงาม ด้วยไอคอนสวยๆ อีกเช่นเคย หรือผู้ใช้จะไปหาโหลดธีมเมนูเจ๋งๆ มาลงเพิ่มเติมก็ยังได้ นอกจานี้ผู้ใช้เองก็ยังสามารถเลือกใช้ภาษาเมนูได้หลากหลายภาษาตามความถนัดทั้งภาษาไทย, อัตโนมัติ(ไทย), อังกฤษ และจีน 2 แบบ โดยเลือกเข้าตั้งค่าที่ เมนู (Menu) > ตั้งค่า (Settings) > โทรศัพท์ (Phone) > แล้วเลือกตั้งค่าภาษา (Language settings) หรือจะเลือกรูปแบบการแสดงเมนูแบบต่างๆ ก็สามารถทำได้ทั้งแบบแสดงเป็นรายการ (List), ตาราง (Grid) โดยเข้าที่เมนู (Menu) > เพิ่มเติม (Options) > มุมมองเมนูหลัก (Main menu view) และหากต้องการจะเลือกจัดการเรียบเรียงลำดับเมนูหลักใหม่ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยเลือกที่ เรียบเรียง (Organise) > แล้วกดย้าย (Move) เพื่อเลือกเมนูที่ต้องการแล้วเลือกวางได้ตามใจชอบแล้วกดตกลง (OK) ครับ ส่วนเมนูหลักๆนั้นก็จะมีทั้ง - Messaging เมนูข้อความ เป็นเมนูสำหรับการใช้งานจัดการเกี่ยวกับข้อความต่างๆ โดยจะมีเมนูย่อยอยู่ด้านในทั้ง สร้างข้อความ (Create message), ถาดเข้า (Inbox), แบบร่าง (Draft), ถาดออก (Outbox), รายการที่ส่ง (Sent items), รายการที่จัดเก็บ (Saved items), รายงานการส่ง (Delivery reports), อีเมล (E-mail), สนทนาทันใจ (Instant messages), ข้อความเสียง (Voice messages), ข้อความข้อมูล (Info messages), คำสั่งขอใช้บริการ (Service command), ลบข้อความ (Delete messages) และการตั้งค่าข้อความ (Message settings) - Contacts เมนูรายชื่อ สำหรับการเลือกใช้สมุดบันทึกเบอร์โทร ที่มีตั้งแต่ ชื่อ (Names),สถานะของผู้ใช้ (My presence), รายชื่อที่สมัครข้อมูล (Subscibed names), การตั้งค่า (Settings), กลุ่ม (Groups), โทรด่วน (Speed dials), ซิงโครไนส์ทั้งหมด (Syncronise all), เบอร์ส่วนตัว (My numbers), ลบรายชื่อทั้งหมด (Delete all contacts), ย้ายรายชื่อ (Move contacts), คัดลอกรายชื่อ (Copy contacts) - Log เมนูบันทึก สำหรับการเลือกดูรายการใช้สายต่างๆ ตั้งแต่ บันทึกการโทร (Call log), เบอร์ที่ไม่ได้รับสาย (Missed calls), เบอร์ที่ได้รับสาย (Recived calls), เบอร์ที่โทรออก (Dialled numbers), ผู้รับข้อความ (Message recipients), ลบรายการบันทึก (Clear log lists), เวลาการโทร (Call duration) รวมถึงตัวนับข้อมูลแพคเก็ต (Packet data counter), ตัวจับเวลาการต่อแพ็คเก็ต (Packet data conn.timer) และพวก บันทึกข้อความ (Message log) กับ ตำแหน่ง (Positioning) ด้วย - Settings การตั้งค่าสำหรับตั้งค่าในเครื่องไม่ว่าจะเป็นการเลือกรูปแบบ (Profiles), ลักษณะ (Themes), แบบเสียง (Tones), จอแสดงผลหลัก (Main display), จอเล็ก (Mini display), วันและเวลา (Time and date), ทางลัดส่วนตัว (My shortcuts), การเชื่อมต่อ (Connectivity), โทรออก (Call), โทรศัพท์ (Phone), อุปกรณ์เพิ่มพิเศษ (Enhancement), การตั้งกำหนดค่า (Configuration), ความปลอดภัย (Security), เรียกคืนค่าตั้งเดิม (Restor factory sett.) - Gallery เมนูคลังภาพสำหรับการเลือกเข้าดู รูปถ่าย (Images), วิดีโอคลิป (Video clips), ไฟล์เพลง (Music files), ลักษณะ (Themes), ภาพต่างๆ (Graphics), โทนสียง (Tones), เสียงบันทึก (Recordings), ไฟล์ที่ได้รับ (Recived files) - Media เมนูสื่อสำหรับการใช้งานกล้อง (Camera), วิดีโอ (Video), เครื่องเล่นสื่อ (Media player), เครื่องเล่นเพลง (Music player), วิทยุ (Radio), เครื่องบันทึก (Voice recorder), อีควอไลเซอร์ (Equaliser), ขยายเสียงสเตอริโอ (Stereo widening) - Organizer เมนูนัดหมายสำหรับการใช้งาน นาฬิกาปลุก (Alarm clock), ปฏิทิน (Calendar), สิ่งที่ต้องทำ (To-do list), บันทึก (Notes), เครื่องคิดเลข (Calculator), ตัวจับเวลา (Timer), นาฬิกา (Stopwatch) - PTT เมนูสนทนาสำหรับการใช้งานระบบ Push to Talk อย่างการเปิดสนทนา (Switch PTT on), ถาดเข้าโทรกลับ (Callback inbox), รายการช่อง (Channel list), รายการรายชื่อ (Contact list), เพิ่มช่อง (Add channel), การตั้งค่าสนทนา (PTT settings), การกำหนดค่า (Config. settings), เว็บ (Web) - Apps. เมนูแอปพลิเคชั่น สำหรับการเลือกเข้าใช้งานเกมส์ (Games/3D games) และแอปพลิเคชั่นต่างๆ (Collection) ที่ดาวน์โหลดรูปแบบ Java MIDP 2.0 - Web เมนูเว็บสำหรับการเข้าใช้งานเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตบนมือถืออย่าง Nokia.com, โฮมเพจ (home page), บุ๊คมาร์ค (Bookmark), ที่อยู่เว็บล่าสุด (Last web address), ถาดรับบริการ (Service inbox), การตั้งค่า (Settings), ไปที่ที่อยู่ (Go to address), ลบข้อมูลในแคช (Clear the cache) เสียงเรียกเข้า รองรับเสียงเรียกเข้าได้แบบ AMR WB/MIDI/MP3/AAC+/AAC ในระดับ 64 โพลีโฟนิกอีกด้วยนอกจากนี้ยังสามารถเลือกรูปแบบการเตือนต่างๆได้มากมาย ทั้งการตั้งเสียงเตือนโทรเข้า (Incom.call alert) แบบดังต่อเนื่อง/ดังขึ้นเลื่อยๆ/ดังหนึ่งครั้ง/ดังสั้นหนึ่งครั้ง, การสั่นเตือน (Vibrating alert), เลือกเสียงสนทนา (PTT voice opt.) แบบลำโพง/ชุดหูฟัง/ห้ามรบกวน, เสียงแจ้งการสนทนา (PTT notif. tone), เสียงสนทนากลับ (PTT callb. tone), เสียงข้อความเข้า (Msg.alert tone), เสียงเตือนสนทนา (IM alert tone), เสียงปุ่มกด (Keypad tones), เสียงเตือนเมื่อจบรายการ (End of list tone), เลือกการเตือนสำหรับทุกสาย (Alert for All calls), เสียงแอปพลิเคชั่น (App.tones) และสามารถเลือกรูปแบบการเตือนอื่นๆ (Other tones) ได้มากมาย สมุดโทรศัพท์ หรือใน Contact นั้นสามารถลงบันทึกรายการเพิ่มเบอร์และเลขหมายโทรศัพท์ได้ทั้งในตัวโทรศัพท์ หรือจะเลือกบันทึกลงในซิมการ์ดก็ได้ รวมถึงเลือก Copy ข้อมูลทั้งหมดในซิมการ์ดลงเครื่องก็ได้ด้วย ส่วนการบันทึกลงรายการเบอร์โทรใหม่ลงเครื่อง (Add new contact) นั้นสามารถลงได้ทั้ง ชื่อ, นามสกุล, ชื่อเล่น, บริษัท, ตำแหน่ง หรือหน้าที่การงาน,เบอร์มือถือ, เบอร์บ้าน, ใส่ภาพถ่ายหรือภาพวีดีโอเรียกเข้า (Video ringing tone), ลง Internet telephone, Fax, Email เป็นต้นโดยการเลือกเพิ่มรายการบันทึกได้ด้วยการเข้า Option > Add detail (สามารถเพิ่มเติมได้ 15 fields ใน 1 รายการ) ทั้งนี้แต่ละรายการสามารถตั้งกลุ่ม (Groups) และเสียงเรียกเข้าเฉพาะบุคคลได้ด้วย รวมไปถึงตั้งการโทรด่วน (Speed dials) สั่งงานโทรออกด้วยเสียง (Voice dialing SIND) ซึ่งใช้การโทรออกด้วยเสียงโดยการกดค้างที่ปุ่ม Volume ลง (-) ก็สามารถทำได้ ส่วนการเลือกภาษาในการพิมพ์นั้นก็สามารถเลือกได้ทั้ง ไทยและอังกฤษพร้อมระบบ T9 ครับ การเชื่อมต่อ มีระบบเชื่อมต่อการโอนถ่ายข้อมูลได้หลายรูปแบบตั้งแต่การเชื่อมต่อโอนถ่ายข้อมูลไร้สาย ผ่านบลูทูธ (Bluetooth) ซึ่งนอกจากจะเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยระบบไร้สายแล้ว ยังสามารถเชื่อมต่อด้วยสายดาต้า สำหรับ Nokia PC Suit (Pop Port Interface) ผ่าน USB 1.1 Port ด้วยการ SyncML ก็ได้ด้วยเช่นกัน แถมยังรองรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยระบบ Browsing WAP 2.0/xHTML over TCP/IP พร้อมกับระบบ Smart content download (OMA 1.0) รองรับการรับ-ส่งข้อความทั้งแบบ SMS, MMS (OMA 1.2), Email (POP3/IMAP4) พร้อมกับการ Attach ไฟล์ต่างๆ ไปได้ด้วย รวมถึงการสนทนาข้อความทันใจแบบ Chat IM หรือแม้กระทั่งการสื่อสารสนทนาด้วยเสียงแบบกดแล้วพูดในระบบ PTT ก็สามารถทำได้โดยทั้งหมดนี้จะทำงานผ่าน EDGE (EGPRS) class 10/GPRS Class 10 กล้องถ่ายรูป อยู่ในระดับเพียงแค่ VGA ที่ให้ขนาดภาพสูงสุดที่ 640 x 480 พิกเซล บันทึกภาพได้ทั้งแบบภาพนิ่งและภาพวีดีโอเคลื่อนไหวพร้อมเสียง (MP4/3GPP/H.263/H.264 พร้อมเครื่องเล่น Video Playback ในตัว) มีการติดตั้งระบบการซูมภาพดิจิตอล 4 ระดับ (ควบคุมการทำงานด้วยปุ่มเมนู ขึ้น-ลง) ส่วนการปรับตั้งหน้ากล้องถ่ายภาพนิ่งนั้นก็มีการเลือกใช้งานด้วยการกดเข้าที่ ตัวเลือก (Option) แล้วก็จะมีการตั้งค่ากล้องมาให้เลือกทั้งการเลือกโหมดกลางคืน (Night mode), ตัวตั้งเวลา (Self-Timer), ถ่ายภาพต่อเนื่อง (Sequence shot), ใส่เอฟเฟกต์ (Effect) แบบปกติ/สีลวงตา (false colours)/เฉดสีเทา (greyscle)/ซีเปีย/เนกาทีฟ/โซลาไรส์, เข้าเปิดคลังภาพ ส่วนกล้องวิดีโอนั้นจะมีค่าการใช้งานให้เลือก ทั้งการเปิด-ปิดเสียง (ขณะบันทึกภาพ), ใส่เอฟเฟกต์ (มีเหมือนการถ่ายภาพนิ่ง) ส่วนของการการตั้งค่า นั้นจะเลือกการตั้งค่ากล้องทั้งสองโหมดทั้งแบบภาพนิ่ง และภาพวิดีโอเคลื่อนไหวพร้อมเสียงที่มีให้เลือกเลยก็คือ การตั้งเลือกคุณภาพของภาพ ปกติ/สูง/ธรรมดา, เลือกขนาดภาพตั้งแต่ 120x160/240x320/480x640, เลือกความยาววิดีโอคลิป (Video clip length) แบบค่าที่ตั้งมา/ค่าสูงสุด, คุณภาพคลิปวิดีโอ (Video clip quality) แบบ สูง/ปกติ/ธรรมดา, ความละเอียดวิดีโอ (Video resolution) ตั้งแต่ 128x96/176x144, ตั้งเวลาแสดงภาพตัวอย่าง (Image preview time) ตั้งแต่ 3/5/10 วินาทีหรือเลือกไม่แสดงตัวอย่าง และจบแล้วดูตัวอย่างด้วยตัวเอง (ถ่ายแล้วตัวตัวอย่างภาพก่อนแบบอัตโนมัติ), เปิด-ปิดเสียงกล้องถ่ายรูป, ชื่อที่ตั้งไว้ (สำหรับการตั้งค่าชื่อหลักของภาพที่ถ่าย), เลือกที่เก็บภาพและวิดีโอใน ความจำเครื่อง/การ์ดความจำ/แฟ้มข้อมูลอื่นๆ (ใช้เลือกโฟลเดอร์สำหรับเก็บภาพ) โดยปุ่มกดที่ต้องเกี่ยวข้องกับการใช้งานกล้องนั้นจะมีทั้งปุ่มควบคุมเมนู 5 ทิศทาง ( 5 Navi.-keys) กดขึ้น-ลง สำหรับการปรับซูมภาพ, กดซ้าย-ขวาสำหรับเปลี่ยนโหมดกล้องแบบถ่ายภาพนิ่งและภาพวิดีโอ กดตรงกลางสำหรับจับภาพ หรือจะใช้ปุ่มชัตเตอร์ด้านข้างเครื่องก็ได้แล้วแต่สะดวก ส่วนการเลือกเข้าใช้งานกล้องนั้นทำได้โดยเลือกเข้าไปที่ เมนู (Menu) > สื่อ (Media) > กล้อง (Camera) หรือจะกดที่ปุ่มด้านข้างค้างไว้ก็ทำได้แบบทันใจ เครื่องเล่นเพลง จะเป็นเครื่องเล่นเพลงที่มีหน้าตาการใช้งานที่ใช้ง่ายโดยจะแสดง ลำดับเพลง, ชื่อเพลง, ชื่อศิลปิน, โหมดอีควอไลเซอร์, ปุ่มควบคุมการเล่นเพลง และแสดงเวลาเล่นเพลง รวมถึงสถานการณ์เล่นต่างๆ บนหน้าจอ ส่วนการเลือกปรับตั้งการเล่นนั้น มีทั้งการเข้าดูรายการชื่อเพลง, ตัวเลือกการเล่นแบบ สุ่มเพลง (Shuffle)/เล่นซ้ำ (Repeat), เลือกปรับรูปแบบเสียงด้วยอีควอไลเซอร์ (Equalizer) ที่มีให้เลือกทั้งแบบ ปกติ (Normal)/Pop/Rock/Jazz/Classic/ชุด1และชุด2 (สำหรับให้ผูใช้เลือกตั้งค่าชื่อและอีควอไลเซอร์แบบละเอียดแล้วบันทึกค่าได้เองตามชอบใจ) นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มระบบขยายเสียงสเตอรีโอไว้ให้เลือกใช้งานด้วย โดยการตั้งค่านั้นให้เลือกเข้าที่ ตัวเลือก (Option) ได้เลยครับ ทั้งนี้เครื่องเล่นเพลงนี้สามารถรองรับไฟล์ประเภท MP3, MP4, AAC, AAC+, eAAC+, WMA ได้อย่างครอบคลุมทีเดียว ที่สำคัญมีออปชั่นการเลือกเล่นเพลงผ่านบลูทูธ (Play via Bluetooth) ด้วยระบบ A2DP สำหรับใช้กับหูฟัง หรือชุดลำโพงที่รองรับบลูทูธได้ด้วย และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นยังมีวิทยุ FM radio ที่สามารถรองรับรูปแบบ Visual Radio แถมมาให้สำหรับการเลือกฟังเพลงตามสถานีวิทยุได้ด้วย หน่วยความจำรองรับ มีรองรับให้ทั้งในเครื่องที่ขนาดเพียง 4 MB ซึ่งเหมาะเพียงแค่สำหรับการเก็บข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้รวมถึงข้อมูลภาพและแอปพลิเคชั่นต่างๆ สำหรับพวก Contact, บันทึก Note และ รายการบันทึกปฏิทินเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ซึ่งหากยังไม่เพียงพอก็สามารถเพิ่มพื้นที่หน่วยความจำด้วยการ์ดความจำจากภายนอกแบบ microSD ได้เช่นกัน ข้อสังเกต ถึงแม้ว่าอะไรหลายๆ อย่างใน Nokia 6085 นั้นดูจะลงตัวไปซะทุกอย่างก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ดูจะเป็นจุดอ่อนก็คือ การออกแบบ และการเลือกใช้วัสดุตัวเครื่องนั้นยังถือว่ายังเรียบง่าย และธรรมดาจนไม่อาจจะสะกิดสายตาเมื่อแรกเห็นได้ดีเท่าที่ควร อีกทั้งงานประกอบนั้นยังไม่ค่อยเรียบร้อยอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งหากจะถามถึงความสวยงามนั้นก็คงต้อบอกตามตรงว่ายังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่หากถามถึงคุณสมบัติรวมถึงคุณภาพแล้วนั้นต้องยกนิ้วโป้งขึ้นงามๆ ให้เลยครับเพราะถ้าไม่นับรูปลักษณ์ภายนอกแล้วถือว่า เจ้า Nokia 6085 เครื่องนี้ทำได้ดี ตั้งแต่ฟังก์ชั่นเครื่องทางด้านมีเดียที่มากันครบโดยเฉพาะกับเครื่อเล่นเพลง ที่รองรับไฟล์เพลงได้หลากหลาย และวิทยุ FM ที่รองรับ Visual Radio ด้วย แต่ก็ต้องขอตัดคะแนนเรื่องกล้องถ่ายรูปที่ยังเป้นขนาด VGA อยู่ อันนี้น่าเสียดายน่าจะสัก 1.3 ล้านผมว่ากำลังน่าใช้ดีทีเดียว แต่เมื่อหักกลบลบหนี้กับเครื่องมือ และคุณสมบัติเพิ่มเติมอื่นๆ ที่อยู่ในเครื่องแล้วก็ถือว่าพอให้อภัยกันได้ครับกับเรื่องแค่นี้ สรุปผลการทดสอบ จะว่าไปแล้วความน่าสนใจของ Nokia 6085 นั้นอยู่ที่เครื่องเล่นเพลง และวิทยุ FM ที่มีโหมดการตั้งค่าการเล่นที่หลากหลายครบถ้วนตามความจำเป็นสำหรับผู้หลงใหลในเสียงดนตรีโดยเฉพาะ ซึ่งการออกแบบนั้นอาจจะดูขัดหู ขัดตาไปบ้างแต่ก็ยังถือว่าไม่ขี้เหร่ซะจนรับไม่ไหว ความสามารถในด้านการใช้งานนั้นต้องขอบอกตามตรงเลยว่าค่อนข้างมีฟังก์ชั่นที่หลากหลายและครอบคลุมทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทางด้านมีเดีย เครื่องมือผู้ช่วยอย่างพวกออกาไนเซอร์ การจัดการไฟล์ต่างๆ ทั้งในเครื่องและในการ์ดความจำเสริม หรือแม้แต่สมุดโทรศัพท์นั้นก็มีรูปแบบการเลือกตั้งค่าได้ตามความสะดวกของผู้ใช้กันเลยทีเดียว ที่สำคัญช่องรองรับการ์ดความจำ microSD นั้นยังเป็นแบบ HotSwap ที่ให้ผู้ใช้สามารถถอดการ์ดได้ทันทีโดยไม่ต้องปิดเครื่องก่อนอีกด้วย ส่วนเรื่องของคุณภาพ และราคานั้นต้องขอบอกว่าคุ้มค่าใช้ได้ทีเดียว เพราะเท่าที่ได้ทดสอบการใช้งานนั้นคุณภาพของเครื่องสามารถตอบสนองได้ดีในทุกๆ ด้าน และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่ไม่ถึงหมื่นบาทด้วยแล้วถือว่าต้องยกให้กับความคุ้มค่าด้วยราคาที่ย่อมเยาเลยทีเดียว เอื้อเฟื้อเครื่องทดสอบ : Nokia (Thailand) & Ogilvy (Thailand)

สนับสนุนเนื้อหาโดย

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ รีวิว Nokia 6085

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook