รีวิว Samsung Z560

รีวิว Samsung Z560

รีวิว Samsung Z560
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เชื่อขนมกินได้แน่นอนเลยว่ามีหลายๆ คนที่รอคอยระบบ 3G ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะเดี๋ยวนี้มีโทรศัพท์มือถืออยู่มากมายหลายรุ่นที่ถูกทำออกมาให้สามารถรองรับการใช้งานได้ทั้งแบบ 3G และ GSM ได้ในเครื่องเดียวกัน แล้วยิ่งกับระบบระบบการรับส่งข้อมูลแบบ HSDPA ที่เป็นการเพิ่มสมรรถนะในการรับ-ส่งข้อมูลที่ความเร็วกว่าในปัจจุบัน 3- 7 เท่าหรือที่เรียกว่า 3.5G นั้นดูก็จะได้รับความสนใจไม่น้อยอีกเช่นกัน แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่ตอนนี้บ้านเรายังไม่รองรับระบบนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดที่ทำให้บ้านเรามิอาจสามารถใช้ระบบ 3G หรือ 3.5G ก็ตาม แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ทาง Samsung (ซัมซุง) ประเทศไทย ได้ปล่อยมือถือ HSDPA ที่น่าสนใจออกมาถึงสองรุ่นในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่น i600 สมาร์ทโฟน และ Z720 มือถือฝาสไลด์สไตล์เก๋ และที่เราจะแนะนำกันต่อไปนี้ก็คือ Z560 มือถือ HSDPA ทรงฝาพับที่ดูแล้วน่าสนใจไม่เบาทีเดียวกับ Korian Style เช่นนี้ ซึ่งโดยรวมแล้วก็ดูน่าสนใจที่เดียว แต่ดูภายนอกนั้นคงไม่รู้หรอกว่าความสามารถของเครื่องนั้นจะมีมากน้อยเช่นใด นอกจากจะทดลองใช้งานจริงๆ แกะกล่องลองเครื่อง สัมผัสแรก ในตอนแรกนั้นค่อนข้างให้ความรู้สึกที่อาจจะดูใหญ่กว่ามือถือแบบทรงฝาพับทั่วๆไป ก็จริงที่เมื่อจับถือตัวเครื่องแล้วกลับให้ความรู้สึกที่ลงตัวกว่า กับการสัมผัสใช้งานตัวเครื่องได้ถนัดมือดีแม้จะใช้งานด้วยมือเพียงข้างเดียวก็ตามที โดยเราสามารถใช้มือเพียงข้างเดียวเปิดฝาพับได้ สำหรับวัสดุตัวเครื่องนั้นถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์แบบด้วยการใช้วัสดุประกอบที่แน่นหนา ดูแล้วบึกบึน แบบสุขุมนุ่มลึก มาในรูปทรงขนาดที่ถือว่าค่อนข้างเหมาะมือมากทีเดียว (หรืออาจจะดูใหญ่ไปบ้างกับคุณผู้หญิง) สำหรับรูปทรงขนาด 97.3 x 51.3 x 16 มิลลิเมตร น้ำหนัก 94 กรัม เช่นนี้ โดยสีตัวเครื่องที่นำมาทดนั้นจะเป็นสีดำซึ่งจะมีเพียงสีเดียวเท่านั้นที่ออกวางจำหน่าย ในส่วนด้านหน้านั้นจะมีการติดตั้งทั้งเลนส์กล้องถ่ายรูป ซึ่งจะอยู่เหนือจอแสดงผลด้านหน้าขึ้นไป และถัดจากจอก็จะเป็นปุ่มสำหรับใช้ควบคุมเพลงที่เป็นปุ่มรูปแบบสัมผัสเบา (Touch Sensitive Button) ส่วนด้านหลังเครื่องนั้น จะมีส่วนที่เป็นฝาหลังแบบดันเลื่อนอยู่เท่านั้น สำหรับด้านในฝาพับก็ยังคงมีช่องลำโพงหูฟังอยู่เหนือจอแสดงผลหลักขนาด กว้าง 2.3 นิ้ว โดยถัดลงมาจากหน้าจอจะเห็นกล้องตัวที่สองแบบ VGA สำหรับใช้โทรแบบเห็นหน้าผ่านเครือข่าย 3G (ซึ่งบ้านเราไม่รองรับ) รวมถึงใช้ถ่ายรูปตัวเองก็ได้ด้วย โดยทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะอยู่ในส่วนของฝาพับบน และในส่วนของฝาพับส่วนล่างนั้นจะเป็นส่วนของแผงควบคุม และปุ่มกดตัวเลข และตัวอักษรที่ยังคงครบถ้วนด้วยปุ่มกดที่ใช้ทำงานได้ตามหน้าที่ๆ กำหนด สำหรับด้านข้างตัวเครื่องทั้งสองด้านจะมีการติดตั้งปุ่มกด และช่องรองรับการ์ดความจำไว้โดยทางด้านซ้ายมือจะมี ทั้งช่องเสียบต่อแบบ Muti-Port สำหรับรองรับสายเสียบต่อได้หลายประเภทในช่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นสายชาร์จแบตเตอรี่, สายดาต้า และหูฟังสเตอรีโอเป็นต้น โดยถัดลงมาจะเป็นปุ่ม Volume ที่ใช้ควบคุมความดังลำโพง ทางด้านขวามือจะมีช่องรองรับการ์ดความจำเสริมแบบ microSD และถัดลงมาจะเป็นปุ่มชัตเตอร์กล้องถ่ายรูป ที่ใช้สำหรับเข้าใช้งานกล้อง และกดเพื่อถ่ายภาพได้ทันที นอกจากนี้แล้วที่ด้านข้างเครื่องทั้งด้านซ้าย และขวามือก็มีการซ่อนลำโพงคู่แบบสเตอริโอไว้ด้วย (สังเกตตรงส่วนปลายฝาพับบน) ทดสอบการใช้งาน เริ่มการใช้งาน ใช้การกดเปิด หรือ ปิดเครื่องโดยกดค้างที่ปุ่มวางสายสีแดงค้างไว้สักครู่เครื่องก็จะทำงานโดยมีการประมวลผลต่างๆ ของเครื่องทั้งภาพกราฟิก เสียงเพลงรวมถึงข้อความต้อนรับ (สามารถตั้งค่าได้ทั้งกับหน้าจอหลัก และหน้าจอนอก) รวมถึงการค้นหาสัญญาณเครือข่ายสักประมาณ 12 วินาที ก็จะเข้าสู่หน้าจอหลักให้เราใช้งานพร้อมแถบบาร์เมนูได้ในทันที หน้าจอ จะมีหน้าจอแสดงผลทั้งด้านนอก และด้านใน ซึ่งทั้งสองจอจะเป้นจอสี โดยจอนอกนั้นจะใช้แบบ TFT-LCD 65,536 สี ความละเอียด 96x96 พิกเซล กว้างประมาณ 1.1 นิ้ว สามารถตั้งค่าเลือกแสดงนาฬิกาแบบต่างๆ ได้, ตั้งชื่อข้อความจอนอก และเลือกภาพแสดงวอลเปเปอร์ได้ด้วย ซึ่งรวมถึงการแสดงสถานะต่างๆ ของเครื่องได้เหมือนกับจอหลักนั่นเอง ส่วนหน้าจอหลักนั้นจะเป็นหน้าจอแสดงผลแบบ TFT-LCD 262,000 สี ความละเอียด 240 x 320 พิกเซล หรือมีความกว้างโดยประมาณ 2.3 นิ้ว สามารถตอบสนองทางสี และความคมชัดของตัวอักษรได้อย่างดี ซึ่งตัวเมนู รวมถึงการแสดงตัวอักษรบนจอนั้นมีขนาดใหญ่ชัดเจนดีแม้แต่คนสายตาสั้น หรือสายตาไม่ปกติก็สามารถใช้งานได้ดีทีเดียว นอกจากนี้ยังมีการตั้งค่าเลือกได้มากมายไม่ว่าจะเป็นตั้งข้อความทักทาย, วอลเปเปอร์, เปิด-ปิดการแสดงปฏิทิน, ตั้งค่าความสว่างหน้าจอ, เลือกเปิด-ปิด และตั้งเวลาไฟแสดงหน้าจอได้, ตั้งค่าแสดงการโทรออก ทั้งการเลือกชนิดอักษร/ขนาดตัวอักษร/สีอักษร/สีพื้นหลัง, เลือกรูปแบบเมนูแบบกริด (Grid), เมนูแบบแฟลช (Flash), เลือกเปิด-ปิดแสงสัมผัส และก็ยังรวมถึงการตั้งค่าเวลา และ วันที่ด้วย ซึ่งจุดเด่นของจอแสดงผลของ Z560 เครื่องนี้ก็คือการเลือกแสดงขนาด หรือสีอักษรบนหน้าจอได้หลากหลาย ฉะนั้นจึงเหมาะกับคนทุกประเภททั้งสายตาดี, สายตายาว หรือสายตาสั้นก็ตาม รูปแบบเมนู จะมีรูปแบบเมนูมาให้ผู้ใช้ได้เลือกใช้ตามความถนัดทั้งแบบ กริด (Grid) ซึ่งจะแสดงเมนูแบบตารางพร้อมไอคอนประกอบแบบ 3x4 ซึ่งจะแสดงแบบ 4 แถว แถวละ 3 เมนู ส่วนอีกแบบที่มีให้เลือกก็คือแบบ แฟลช (Flash) ซึ่งจะแสดงเมนูแบบภาพแฟลชเคลื่อนไหว พร้อมๆ กับมีแถบรูปภาพเมนูอื่นๆ อยู่ด้านล่างด้วย สามารถเข้าตั้งค่าเลือกเมนูที่ การตั้งค่า (Settings) > จอภาพ (Display) > รูปแบบเมนูหลัก (Main menu style) โดยใช้งานควบคุมด้วยปุ่มเมนูสี่เหลี่ยมแบบ 5 ทิศทาง เลื่อนได้ทั้งขึ้น-ลง และซ้าย-ขวา ใช้งานง่ายทีเดียว ส่วนเมนูหลักๆ นั้นก็จะมีเมนูอย่าง เมนูบันทึกข้อมูลการโทร (Call log) สำหรับการเลือกดู หรือจัดการรายการโทรต่างทั้งที่รับสาย/ไม่ได้รับสายหรือโทรออกเป็นต้น, เมนูรายชื่อ (Contact) สำหรับสมุดโทรศัพท์ และข้อมูลเบอร์โทรอื่นๆ, เครื่องเล่นมีเดีย (Media player) สำหรับเข้าใช้เครื่องเล่นเพลง, อินเตอร์เน็ต (Internet) สำหรับเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่าน GPRS, เมนูข้อความ (Messages) สำหรับ SMS, MMS และ Email, เมนูระบบจัดการไฟล์ (File manager) สำหรับจัดการไฟล์ รวมถึงการ ลบ หรือสร้างโฟลเดอร์ทั้งในเครื่อง และในการ์ดความจำเสริม, เมนูการจัดการงาน (Organiser) สำหรับเครื่องมือปฏิทิน/บันทึกเตือนสิ่งที่ต้องทำ หรือวันครบรอบต่างๆ มากมาย, เมนูกล้องถ่ายรูป (Camera) สำหรับเข้าใช้กล้องถ่ายรูป และวิดีโอ, เมนูบลูทูธ (Bluetooth) สำหรับเข้าใช้งาน และตั้งค่าต่างๆ ที่เกี่ยวกับบลูทูธ, เมนูแอพพลิเคชั่น (Applications) เครื่องมือถือเสริมพิเศษอย่าง เครื่องคิดเลข/บันทึกเสียง/แปลงหน่วย/เวลาโลก และอื่นๆ อีกมากมาย, เมนูการเตือน (Alarms) สำหรับนาฬิกาปลุก และการเปิดเครื่องอัตโนมัติ, การตั้งค่า (Settings) สำหรับการตั้งค่าต่างๆ ของเครื่องทั้งรูปแบบการใช้งานหรือโปรไฟล์/เวลา & วันที่/โทรศัพท์/จอภาพ/การโทร/การเชื่อมต่อ/การตั้งค่าแอพพลิเคชั่น/ระบบป้องกัน และอื่นๆ นอกจากนี้ภาษาเมนูนั้นก็มีให้เลือกทั้งอัตโนมัติ (ภาษาไทย), อังกฤษ, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และภาษาไทย โดยเลือกเปลี่ยนภาษาเมนูโดยเข้า การตั้งค่า (Settings) > โทรศัพท์ (Phone) > ภาษา (Language) สัมผัสปุ่มกด สำหรับปุ่มกดของ Samsung Z560 นั้นถือว่ามีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ใช้งานได้สะดวกดีทีเดียว โดตัวปุ่มกดตัวเลข และตัวอักษรนั้นมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ สามารถใช้งานได้ถนัดมือ แถมยังมองเห็นได้ชัดเจน สำหรับคนสายตาไม่ปกติอีกด้วย ที่สำคัญเสียงไฟบนปุ่มกดนั้นค่อนข้างสว่างดีทีเดียว ซึ่งปุ่มกดแต่ละปุ่มนั้นจะมีการแบ่งแยกไว้ตามหน้าที่ ตั้งแต่ปุ่มซ็อพท์คีย์ซ้าย-ขวา ถัดลงมาจะมีปุ่มเข้าใช้งานโทรแบบเห็นหน้า (Video Call) ผ่านเครือข่าย 3G ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ ส่วนทางขวามือนั้นจะเป็นปุ่ม i สำหรับเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ตามด้วยปุ่มโทรออก/รับสายสีเขียว และปุ่มวางสาย/เปิด-ปิดเครื่องสีแดง โดยจะมีปุ่มตัว C สำหรับใช้ยกเลิกคำสั่ง/รายการต่างๆ นอกจากนี้ก็ยังจะมีปุ่มควบคุมเมนูแบบ 5 ทิศทางทรงสี่เหลี่ยมคั่นกลางอยู่ด้วย ทั้งนี้ปุ่มกดต่างๆ นั้นสามารถตั้งค่าปุ่มลัด (Short cuts) สำหรับปุ่มควบคุมเมนูได้, เลือกเปิด-ปิดระบบเปิดฝารับสายอัตโนมัติ (Active folder), เปิด-ปิดรับสายปุ่มใดก็ได้ (Anykey answer), เลือกการจัดการคีย์ (Key management) สำหรับตั้งการจัดการปุ่มกดต่างๆ หรือจะตั้งล็อกปุ่มกดด้านนอก (Cover keypad lock) ก็ได้เช่นกัน และที่สำคัญผู้ใช้ยังสามารถตั้งค่าการพิมพ์ข้อความด้วยระบบ T9 ทั้งภาษาไทย, อังกฤษ และอินโดนีเซียได้ด้วย การเชื่อมต่อ มีการรองรับทั้งการโอนถ่ายข้อมูลแบบไร้สาย หรือใช้จับคู่กับอุปกรณ์อื่นๆ อย่าง Bluetooth 1.2 และยังสามารถต่อผ่านช่อง USB ที่เสียบกับ PC ด้วยสายดาต้าเฉพาะของทางซัมซุง Z560 ก็ได้เช่นกัน ส่วนการเข้าอินเตอร์เน็ตนั้นสามารถเข้าใช้ได้โดยใช้ WAP 2.0, xHTML Browser บนความเร็วของ GPRS Class 10, EDGE Class 10 หรือผ่าน HSDPA ความเร็วสูง (1.8 mbps) นอกจากนี้ยังสามารถรองรับการรับ-ส่งข้อความ SMS, EMS, MMS ไปจนถึงการรับ-ส่ง Email รวมถึงการรองรับจาวาได้ด้วย นับว่าครบเครื่องเรื่องการเชื่อมต่อทีเดียว กล้องถ่ายรูป ระดับ 2 ล้านพิกเซล แบบ CMOS ถ่ายได้ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอ แถมด้วยระบบปรับภาพอัตโนมัติ (Auto Focus) เรื่องคุณภาพของกล้องถ่ายรูปนั้นถือว่าชัดเจนมากอีกรุ่นหนึ่งทีเดียว สีที่ได้ก็สด และคมชัดทีเดียวครับ เรียกว่าใครที่อยากได้กล้องในมือถือแบบชัดๆ ละก็รับรองไม่ผิดหวังครับ นอกจากนี้การปรับตั้งกล้องถ่ายรูปนั้นก็มีให้มากมายทั้งการเลือกถ่ายรูป (Take photo) หรือ ถ่ายวิดีโอ (Record video), เลือกเปลี่ยนกล้อง (Switch camera) สำหรับการเลือกว่าจะใช้กล้องหลัก หรือกล้องตัวที่สองถ่ายภาพ, เลือกโหมดถ่ายรูป (Shooting mode) แบบช็อตเดียว//มัลติช็อต/โมเสกช็อต, เลือกใส่เอฟเฟ็ค (Effects) แบบภาพขาว&ดำ/ภาพสีน้ำตาลแดง/ภาพโซลาไรส์/ภาพเนกาทีฟ/ภาพกลางคืน หรือเลือกไม่มีก็ได้, สามารถใส่กรอบเฟรม (Frames) ลงในภาพได้หลากหลาย, ตั้งเวลาถ่ายภาพ (Timer), ตั้งแสดงหรือซ่อนการปรับซูม (Zoom), ตั้งแสดงหรือซ่อนการปรับความสว่าง (Brightness), ตั้งค่ากล้องอื่นๆ อย่างชื่อพื้นฐาน (Default name), เลือกพื้นที่จัดเก็บพื้นฐาน (Default storage) ในเครื่องหรือในการ์ดความจำ, เลือกแสดงตัวอย่างภาพ (Viewfider) แบบปกติ/เต็มจอ, เลือกโหมดโฟกัส (Focus mode) แบบออโต้โฟกัส/แพนโฟกัส, เลือกเสียงชัตเตอร์ (Shutter sound) หรือเลือกปิดเสียงชัตเตอร์ก็ได้, เลือกคุณภาพการจับภาพ (Capture Quality) แบบปกติ/ดี/ดีมาก, เลือกขนาดรูปภาพ (Image size) ตั้งแต่ 176x144 / 320x240 / 640x480 / 800x600 / 1024x768 / 1280x960 / 1600x1200, เลือกความเร็วมัลติช็อต (Multi shot speed), เปิด-ปิดเครื่องมือวัดตำแหน่ง (Spot metering), สมดุลสีขาว (White balance) แบบอัตโนมัติ/แสงแดดมาก/มีเมฆมาก/ฟลูออเรสเซนท์/ทังสเตน ส่วนการตั้งค่ากล้องวิดีโอนั้นโดยรวมแล้วเหมือนกับการตั้งค่ากล้องถ่ายรูปแทบจะทั้งหมดมียกเว้นก็คือการเลือกเวลาการบันทึก (Recording time) แบบปกติ/จำกัดสำหรับ MMS, เลือกขนาด (Size) แบบ 128x96/176x144, เลือกเปิด-ปิดการบันทึกเสียง (Audio record) เป็นต้น เครื่องเล่นเพลง จุดเด่นก็คือสามารถใช้เล่นเพลงแล้วฟังผ่านหูฟังบลูทูธสเตอริโอแบบไร้สายได้, เลือกการเล่น (Play options) แบบปกติ/สับเปลี่ยน/ซ้ำเพลงเดียว/เลือกรูปแบบเครื่องเล่นออดิโอ แถมยังมีการเลือกโอนเพลงผ่านบลูทูธ/อีเมล์/ข้อความ MMS/ผ่านการรับส่งไฟล์ซิงค์ หรือจะเลือกเปิดดูรายการเพลงทั้งหมด พร้อมกับระบบจัดการเพลง, การเลือกดูรายละเอียดเพลงอย่างครบถ้วน รวมถึงการตั้งค่า VOD สำหรับการเชื่อมสู่ GPRS ของผู้ให้บริการด้วย โดยรวมแล้วถือว่าค่อนข้างใช้ง่าย แล้วยิ่งได้ปุ่มควบคุมเพลงด้านหน้าเครื่องเป็นแบบสัมผัสเบา (Sensitive Touch) แล้วด้วยยิ่งสะดวกเข้าไปใหญ่ ที่สำคัญเสียงที่ได้นั้นก็อยู่ในขั้นคมชัด สดใส ไม่แตกพล่าทั้งการฟังผ่านลำโพงในตัวที่เป็นลำโพงคู่สเตอริโอ หรือแม้แต่ในหูฟังก็ตาม ข้อสังเกต ในขณะที่บ้านเรานั้นยังไม่สามารถรองรับเทคโนโลยีแบบ 3G หรือ 3.5G แต่ก็ดูเหมือนว่าช่วงนี้จะมีโทรศัพท์มือถือที่สามารถรองรับ 3G ออกมาจำหน่ายมากมายหลายรุ่นด้วยกัน รวมถึง Z560 จากซัมซุงที่เป็นมือถือแบบ 3.5G รุ่นแรกๆ ของประเทศไทยด้วย ซึ่งความน่าสนใจหลายๆ อย่าง ของมือถือในกลุ่มนี้นั้น นอกเหนือไปจากการออกแบบที่น่าใช้แบบ Korian Style และความสามารถทางด้านการเชื่อมต่อหลายๆ อย่างแล้วเรื่องของการใช้งานจริงที่ง่าย และเหมาะมือนั้นก็ถือว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องยอมรับ สรุปผลการทดสอบ หากว่าใครที่กำลังมองหาโทรศัพท์มือถือที่พรั่งพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีไร้สายยุคใหม่ แถมด้วยเครื่องมือทางด้านมีเดีย อย่างกล้องถ่ายรูปกวัสดุคุณภาพผ่านมาตรฐาน พร้อมกับเครื่องเล่นมีเดียที่ครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นกล้องถ่ายรูปดิจิตอล 2 ล้านพิกเซลพร้อมกับลูกเล่นของกล้องระดับสูง ไปจนถึงเครื่องเล่นเพลง หรือวิดีโอเพลย์แบ็กก็มีให้อย่างครบถ้วนที่สุด ที่สำคัญโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ยังเหมาะที่จะใช้งานกับผู้มีสายตาสั้น หรือสายตาที่ไม่ปกติที่สุดด้วย ไม่ว่าจะเป็นปุ่มกดที่ใหญ่ เห็นได้ชัด รวมถึงการแสดงผล เมนู หรือตัวหนังสือบนหน้าจอนั้นก็มีขนาดใหญ่ชัดเจนสุดๆ เชียวละครับ เอื้อเฟื้อเครื่องในการทดสอบ : บริษัท ไทย ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด และ JWT Pubic Relations.

สนับสนุนเนื้อหาโดย

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ รีวิว Samsung Z560

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook