GT 200 เป็นเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดหรือไม้ล้างป่าช้า?

GT 200 เป็นเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดหรือไม้ล้างป่าช้า?

GT 200 เป็นเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดหรือไม้ล้างป่าช้า?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่สามารถใช้งานได้จริงหรือ?



เครื่อง GT200 เป็นเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดที่มีลักษณะเป็นกระบอกพลาสติกมีช่องสำหรับใส่ซิมการ์ดสำหรับตรวจหาวัตถุระเบิดหรือสารเสพติด  มีเสาอากาศเป็นตัวตรวจจับคลื่นและเป็นตัวชี้ทิศทาง ไม่ต้องใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ แต่อ้างว่าใช้ไฟฟ้าสถิตจากตัวคน ซึ่งฟังแล้วก็แปลกอยู่ ทำงานโดยหลักการการสั่นสะเทือนของโมเลกุลของสารระเบิดหรือสารเสพติด จะให้พลังงานออกมาในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้เสาอากาศชี้ไปหาแหล่งกำเนิดพลังงาน ถ้าฟังกันอย่างผิวเผินก็อาจรับฟังได้ แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้งตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็ยังไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจนถึงหลักการที่แท้จริง เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เครื่องมือตรวจหาทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนใด ๆ จะไม่ใช้พลังงานเลย และไฟฟ้าในร่างกายคนก็ไม่มากพอที่จะทำให้เครื่องมือใด ๆ ทำงานได้ อีกทั้ง เสาอากาศต้องมีความยาวสัมพันธ์กับความยาวคลื่น ตามหลักของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รวมถึงโมเลกุลในวัตถุจะสั่นสะเทือนจนเกิดคลื่นแม่เหล็กต้องใช้พลังงานที่เพียงพอ
   
กระทรวงยุติธรรมของอเมริกาไม่รับรองผลจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว เพราะมีโอกาสเกิดความผิดพลาดสูง อีกทั้ง เครื่องมือดังกล่าวน่าจะมีหลักการคล้ายเครื่องตรวจหาโดยใช้วัตถุชี้นำทิศทาง ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ เรียกว่าวิธีดาวน์ซิ่ง (dowsing )      

แล้ว ดาวน์ซิ่ง คืออะไร  

ดาวน์ซิ่ง คือ อุปกรณ์ดังกล่าวอาจมีลักษณะเป็นโลหะทอง แดงสองชิ้นรูปตัวแอล ถือด้วยมือทั้งสองข้าง หรือเป็นรูปตัววาย หรือมี ลักษณะเป็นลูกดิ่งแกว่งประกอบแผนที่ หรือเป็นกระดาน มีลักษณะคล้ายอุปกรณ์ที่นักพรตจีนใช้ทำนายเพื่อเดาหาแหล่งน้ำใต้ดิน แร่ธาตุ หรือตำแหน่งสถานที่ที่มีพลังงานที่เหมาะสม

โดยหลักการทำงานของ ดาวน์ซิ่ง จะทำงานตามแนวความคิดที่เชื่อว่า ในโลกของเราประกอบด้วยเส้นแรงแม่เหล็กมากมาย วัตถุทุกอย่างมีพลังศักย์สะสมอยู่ในตัว มีประจุบวกและลบเสมอกัน จึงอยู่ในสภาพสมดุลหยินและหยาง เมื่อวัตถุมีการเปลี่ยนแปลงสภาพเช่น การระเหย การระเหิด หรือการเน่าสลาย จะมีอนุภาคหรือประจุถูกปลดปล่อยจากวัตถุ และวัตถุที่ขาดสภาพสมดุลจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทิศทางของเส้นแรงแม่เหล็ก ถ้ามีอุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กได้ก็จะทราบตำแหน่งของวัตถุที่ปลดปล่อยพลังงานนั้นได้ 

วัตถุระเบิด น้ำมันเชื้อเพลิง ซากพืชซากสัตว์ แหล่งน้ำใต้ดิน สารเคมีที่ระเหยง่าย ของแข็งที่ระเหิดได้สารกัม มันตรังสี ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กโลก จะมีผลต่อการทำงานของการตรวจโดยหลักการดาวน์ซิ่ง ทั้งสิ้น

การตรวจหาวัตถุระเบิดที่น่าเชื่อถือได้ในปัจจุบัน มี

1. สุนัขดมกลิ่นที่ได้รับการฝึกดมกลิ่นระเบิดมาอย่างดี ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ลาบราดอร์ เยอรมันเซพเพิร์ด เพราะจมูกมีความไวต่อกลิ่นมากกว่ามนุษย์นับพันเท่า และการฝึกสุนัขดังกล่าวก็สามารถฝึกง่ายกว่าสุนัขจูงคนตาบอดหรือสุนัขดมยาเสพติด การตรวจหาวัตถุระเบิดวิธีนี้นับว่าเหมาะสมกับบ้านเรามากที่สุด เพราะสุนัขพันธุ์ไทยก็สามารถฝึกให้ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เช่นกัน
   
2. เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดจากกลิ่นอาย ละอองระเบิด (Iron scan) โดยใช้หลักการการตรวจสอบส่วนประกอบของละอองระเบิด สามารถตรวจหาระเบิดหลายชนิดได้อย่างแม่นยำ
   
3. เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดด้วยการใช้แสงความถี่พิเศษ (Spectom) ไปยังละอองสารระเบิด และวัดพลังงานที่ปลดปล่อยจากวัตถุระเบิดมาเป็นตัวบ่งบอกชนิดของวัตถุระเบิด

4. เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดโดยคลื่นพลังงานสูง (Contraband) เช่น คลื่นไมโครเวฟ คลื่น   เอกซเรย์
 
ใช้หลักการส่งคลื่นพลังงานไปยังละอองระเบิด และวัดพลังงานที่ปลดปล่อยจากการสั่นของโมเลกุลเมื่อได้รับพลังงาน

5. เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดด้วยรังสี (Nuc lear) เป็นการใช้รังสีแกรมมา ส่งคลื่นพลังงานไปยังละอองระเบิด และวัดพลังงานที่ปลดปล่อยออกมาจากธาตุที่ประกอบเป็นโมเลกุลของสารระเบิด

6. เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดด้วยสารเคมีเฉพาะด้าน โดยการใช้สารโพลีเมอร์โทรเกอร์ ไปจับไอละอองของระเบิด แล้วใช้แสงยูวีส่องให้เกิดการเรืองแสง
   
ทั้งหมดนี้ นับเป็นวิธีตรวจหาวัตถุระเบิดที่ใช้กันอยู่ เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ ราคาไม่แพง สามารถซ่อมบำรุงรักษาง่าย  

เพราะเหตุใดเราจึงไม่นำอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ในการตรวจหาวัตถุระเบิด นักวิทยาศาสตร์ในฐานะเป็นผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องเหล่านี้ น่าจะเข้ามามีส่วนผลักดันและวางกรอบแนวทางการใช้เครื่องมือเหล่านี้มาใช้ต่างหาก มิใช่พนักงานขายมาเป็นผู้ชี้นำ.

พ.ต.ท.กฤษฎากร เชวงศักดิ์โสภาคย์
นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาวัสดุศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook