การป้องกันไฟฟ้าดูด ในภาวะน้ำท่วม

การป้องกันไฟฟ้าดูด ในภาวะน้ำท่วม

การป้องกันไฟฟ้าดูด ในภาวะน้ำท่วม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การป้องกันไฟฟ้าดูด ในภาวะน้ำท่วม

นอกจากโรคภัยต่างๆที่มากับน้ำท่วมแล้ว ภัยจากกระแสไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งอันตรายที่ควรระมัดระวัง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง และไม่ประมาท


ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.vcharkarn.com

ผศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่างกายคนเสมือนเส้นทางเดินไฟฟ้า มีอานุภาพร้ายแรงเมื่อไฟฟ้าไหลต่อเนื่องอย่างครบวงจร ซึ่งผู้หญิงและคนที่มีรูปร่างอวบมีโอกาสเสี่ยงถูกไฟฟ้าดูดมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากปริมาณน้ำในตัวมีมาก และมีความชื้นในตัวสูงที่จะเป็นตัวนำไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี
  
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีบริเวณความชื้นมาก ควรระมัดระวังในการใช้งานเป็นพิเศษ เช่น บริเวณบ่อปลา ปั๊มน้ำ เครื่องซักผ้า ตู้กดน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น ตัวอย่างเช่น เครื่องซักผ้าที่เกิดไฟฟ้ารั่วโดยไม่ติดตั้งสายดิน ขณะเดียวกันผู้ใช้งานไม่สวมใส่รองเท้า ทำให้กระแสไฟฟ้าไหลครบวงจร โดยไหลผ่านตัวคนลงสู่พื้น ส่งผลต่อการเต้นของหัวใจ และทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี
  
กรณีเกิดไฟฟ้ารั่วตอนน้ำท่วมฉับพลัน อันดับแรกให้รีบสับสวิตช์ลงเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้ารั่ว ความเข้มข้นของกระแส ไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการกระจายของกระแสไฟฟ้า ถ้าใกล้กับจุดที่ไฟฟ้ารั่วกระแสไฟฟ้าก็จะมีความเข้มข้นมาก ห่างออกไปก็จางลงไปตามลำดับ การที่จะพิสูจน์ว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วหรือไม่นั้นห้ามเอาหน้ามือสัมผัส เพราะโดยธรรมชาติของคนเมื่อโดนไฟฟ้าดูดก็จะกำมือลง ร่างกายจะหดตัวกำแน่น ทางที่ดีควรใช้หลังมือสัมผัส
  
อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหลังโดนน้ำท่วมถ้าจะนำมาใช้ควรจะตรวจสอบให้แน่ใจก่อน ว่าอยู่ในสภาพที่ยังใช้การได้อยู่หรือไม่ สิ่งแรกต้องทำให้แห้งก่อนที่จะเสียบปลั๊ก หากไม่แน่ใจควรให้ช่างผู้ชำนาญมาตรวจสอบก่อน แต่ถ้าอุปกรณ์เหล่านั้นเกิดความเสียหายมาก ก็ไม่ควรเสี่ยงที่จะนำมาใช้งาน
  
วิธีป้องกันตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดไฟฟ้าดูด หากจะเสียบปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ต้องมั่นใจว่าร่างกายแห้งสนิทไม่เปียกชื้น บริเวณเต้ารับควรดูแลรักษาให้แห้งอยู่เสมอ หากไม่แน่ใจก่อนเสียบปลั๊กก็ควรสวมรองเท้า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง และไม่ประมาท

ก่อนเกิดเหตุ ควรมีการป้องกันไม่ไปสัมผัสกับกระแสไฟฟ้าที่รั่ว และห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วมมาแล้ว ถ้าบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อไฟฟ้ารั่วหรือมีโอกาสเกิดไฟรั่วได้ง่ายควรติด ตัวเบรกเกอร์ป้องกันไว้ก่อน
  
ระหว่างที่เกิดเหตุ บุคคลที่มาช่วยไม่ควรจะไปสัมผัสร่างกายผู้เคราะห์ร้ายโดยตรง ควรหาฉนวน เชือกแห้ง เสื้อแห้ง ๆ ดึง หรือ ผลักออกไป และสิ่งสำคัญควรรู้จักการปฐมพยาบาลเบื้องต้นที่เหมาะสม โดยปกติผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดจะหมดสติ กล้ามเนื้อเกร็ง เราต้องปั๊มหัวใจหรือผายปอด โดยการเป่าปาก  
  
“การเสียชีวิตที่เกิดจาก  กระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่เกิดจาก ไฟฟ้าช็อตตายอย่างฉับพลัน และไฟฟ้ารั่วปริมาณกระแสไฟฟ้าวิ่งเข้าสู่หัวใจเกินค่ามาตรฐาน”
  
การช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายจากการถูกไฟฟ้าดูด คือเมื่อมีผู้ถูกไฟฟ้าดูดห้ามเอามือไปสัมผัสโดยตรง ให้สวมรองเท้าแล้วนำวัสดุที่เป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้งกระชากหรือดันตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกไป ถ้าเราสัมผัสตัวผู้ประสบภัยโดยตรงไม่มีเครื่องป้องกันกระแสไฟฟ้าก็จะวิ่ง เข้าสู่ตัวเราอีกคน ลักษณะแบบนี้ทางเทคนิคเรียกว่า แบบขนาน ทำให้ทั้งสองคนเสียชีวิตเร็วขึ้น เหมือนเป็นการแบ่งความแรงของไฟฟ้ากันคนละครึ่ง เพราะความต้านทานรวมลดลง กระแสไฟฟ้าจะแบ่งไหล วิธีการช่วยชีวิตแบบเร็วที่สุด คือการสับสวิตช์เบรกเกอร์ หรือสับตัวต้นทางทิ้งไป โดยปกติทางการแพทย์ศึกษามาแล้วว่าคนที่ถูกไฟฟ้าดูดประมาณ 0.01-0.04 วินาที แล้วสับสวิตช์เบรกเกอร์ทันจะปลอดภัย ถ้าเกินกว่านั้นจะทำให้เสียชีวิตทันที แต่ละคนระยะเวลาการเสียชีวิตจะเฉลี่ยกันไป คนอ้วนมีโอกาสเสียชีวิตเร็วกว่าปกติ
  
ปัจจุบันมีเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่มีคุณสมบัติทนต่อน้ำท่วม โดยจะมีค่ามาตรฐานสากล สังเกตได้จากรหัส IP ที่ติดไว้ด้านข้างเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยแสดงด้วยตัวเลขสองหลัก ตัวเลขหลักแรก  บอกการป้องกันการกระแทกจากของแข็ง ตัวเลขหลักที่สองบอกการป้องกันของเหลว เช่น น้ำ หากตัวเลขสองหลักมีค่าสูงสามารถ ป้องกันฝุ่นละอองได้
  
ตัวอย่างเช่น IP56 สามารถป้องกันของแข็งได้ระดับ 5 และสามารถป้องกันน้ำได้ระดับ 6 ซึ่งเป็นค่ามากที่สุด ทนทานต่อความเค็มของน้ำทะเล
  
นพ.อรรถ นิติพน ศัลยแพทย์ทั่วไป โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า คนไข้ที่ถูกไฟดูดส่วนใหญ่มีอยู่ 2 กรณีคือ

1. มีอาการหมดสติ การปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรตรวจดูว่ายังมีลมหายใจหรือไม่ โดยการจับชีพจรหรือฟังการหายใจ หากคนไข้ถูกไฟดูดนานกว่า 5 นาที มีโอกาสเสียชีวิตสูง ซึ่งควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นควรตรวจดูในช่องปากและจมูก ไม่ให้สิ่งใดตกค้างและทำการผายปอดและปั๊มหัวใจ และต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที

 2. คนไข้ที่มีสติ อาจมีกล้ามเนื้อภายในสุก โดยควรตรวจดูบริเวณข้อพับต่าง ๆ ซึ่งหากมีการผิดปกติพับงอไม่ได้ต้องไปพบแพทย์ทันที
  
“หมอมักพบคนไข้ที่ถูกไฟดูดเกิดอาการหัวใจขาดเลือด โดยคนไข้เจ็บหน้าอกและมีอาการหายใจไม่เต็มที่ อาการเหล่านี้อย่าประมาทควรไปพบแพทย์ทันที”
  
อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไม่ประมาท เพราะนั่นอาจหมายถึงอีกหลายชีวิตที่ต้องเสียไป

ขอขอบคุณข้อมูลเนื้อหาและภาพจาก
งานพัฒนาการสื่อสารสุขภาพทางสารสนเทศ
http://samathi4life.com/smf/index.php?topic=127.0
http://www.google.co.th

 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook