ใครๆ ก็อยากใช้แอพฯ

ใครๆ ก็อยากใช้แอพฯ

ใครๆ ก็อยากใช้แอพฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ใครๆ ก็อยากใช้แอพฯ

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ต้องหันมาใช้สมาร์ทโฟน เพราะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และเข้าถึงสื่ออินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา รวมถึงใช้ในการทำงาน ติดต่อกับเพื่อนๆ และที่สำคัญ มีแอพพลิเคชั่นให้เล่นกันมากกว่าการใช้โทรศัพท์เพื่อการพูดคุยสื่อสาร ด้วยการขยายตัวของการใช้แอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ทำให้แบรนด์สินค้าหันมาทำสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงผู้ใช้มากขึ้น

แอพพลิเคชั่นของแบรนด์สินค้าทั่วไปที่มีอยู่ในท้องตลาด จะมีอยู่ไม่กี่ประเภท ส่วนใหญ่จะเน้นการให้ข้อมูลของร้านค้า สินค้าที่จำหน่าย หรือโปรโมชั่น บางแบรนด์อาจมีเกมให้ผู้ใช้ร่วมสนุกโดยการแชร์ผ่าน Social Media อื่นๆ อย่าง Facebook Twitter หรือ Tumblr

ในครั้งนี้ เราขอยกตัวอย่างของแอพพลิเคชั่นอย่าง IKEA ที่เพิ่งมีการเปิดตัวแคตตาล็อกไปเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยปกติแล้ว IKEA แบรนด์เฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้าน จากประเทศสวีเดนที่เปิดทำการมาแล้วกว่า 60 ปี และมีสาขาอยู่ทั่วโลกกว่า 330 สาขา ใน 38 ประเทศ IKEA จะทำการแจกแคตตาล็อกทุกๆ ปี ปีละ 1 ครั้ง ซึ่งถือเป็นสื่อที่ IKEA ให้ความสำคัญมากที่สุดในการเข้าถึงผู้บริโภค กว่า 60 ปีที่ผ่านมางบประมาณที่ใช้ทำแคตตาล็อกนั้น แค่ยอดการพิมพ์และการแจกก็ทุบสถิติทุกสิ่งพิมพ์ของโลกไปหลายรอบ และปี 2011 นี้ก็ได้ตีพิมพ์แคตตาล็อกทั่วโลกไปแล้ว 208,000,000 เล่ม

ปี 1997 IKEA ก็หันมาใช้สื่อออนไลน์เป็นครั้งแรก โดยเริ่มที่เว็บไซต์ www.ikea.com และปรับเปลี่ยนเป็นระบบ IKEA Retail Website ที่ใช้กันในปัจจุบันในปี 2006 ที่สามารถเข้าดูรายละเอียดสินค้า และเช็กสต็อกได้จากบ้าน แต่ IKEA เองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่เทคโนโลยีเข้าถึงทุกคนด้วยโทรศัพท์มือถือ จึงได้เกิดแคตตาล็อก IKEA ฉบับแอพพลิเคชั่นขึ้นมาในปี 2009 ที่มีฟังก์ชั่นในการดูแคตตาล็อกแต่ละส่วน และสามารถค้นหาสโตร์ที่ใกล้ที่สุดได้ สามารถส่งต่อหน้าแคตตาล็อกใน Social Media และอีเมลหาเพื่อนได้เลย สามารถเลือกหน้าที่ต้องการได้

และในเวอร์ชั่นปี 2011 นี้ เป็นครั้งแรกสำหรับแคตตาล็อกในระบบปฏิบัติการ Android และเป็นครั้งแรกของภาษาไทยที่ได้อยู่ในแอพพลิเคชั่น ซึ่งอาจมีข้อผิดพลาดในการตัดคำภาษาไทยอยู่บางส่วนในเมนูสารบัญ ซึ่งเนื้อหาได้ยกเอาไฟล์แคตตาล็อกเวอร์ชั่น PDF มาใส่ในแอพฯ เลย การเปลี่ยนหน้าก็ใช้วิธีสไลด์ หรือจะเลือกไปที่หน้าที่ต้องการโดยใส่เลขหน้าที่ต้องการจากเมนู หรือจะดูแบบ Thumbnail มีเมนูในการค้นหาด้วยชื่อสินค้าหรือประเภทสินค้า สามารถตั้ง Bookmark หน้าที่ชื่นชอบได้และแชร์ให้กับเพื่อนๆ ได้ 3 วิธีคือ อีเมล เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ และเมื่อเราแตะไปที่เครื่องหมายบวกจะมีรายละเอียดของสินค้าและราคาโดยละเอียดให้อ่านด้วย

นอกจากนี้ ระบบการดาวน์โหลดจะเป็นแบบ Streaming Download ที่ผู้ใช้สามารถใช้งานในขณะที่ดาวน์โหลดไปด้วย โดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดให้เสร็จทั้งหมดจึงจะใช้งานได้ และฟังก์ชั่นสุดท้ายที่ทุกแอพฯ ของสินค้าในแบรนด์ค้าปลีกจะต้องมีก็คือ ค้นหาสโตร์ที่อยู่ใกล้ที่สุด แต่ตอนนี้ยังมีอยู่ 1 สโตร์ จึงค้นหาได้ง่าย แอพฯ ของ IKEA สำหรับประเทศไทยนั้นมีเฉพาะเวอร์ชั่น iPhone แต่สำหรับผู้ที่ใช้ iPad ก็สามารถโหลดมาใช้ได้เช่นกัน โดยไม่มีปัญหา ขอเพียงระบบปฏิบัติการ iOS 3.2.1 ขึ้นไปเท่านั้น

เมื่อมามองตลาดแอพพลิเคชั่นของไทย ก็มีการแข่งขันไม่น้อย  ทางด้าน SB แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของไทยก็ได้เปิดตัวแอพพลิเคชั่นบน iPhone ที่มีฟังก์ชั่นเด็ดๆ ที่ทำเอาทึ่งกันเลยทีเดียว (กรุณาโหลดโดยใช้คอมพิวเตอร์จะเร็วขึ้น) เมื่อโหลดเสร็จแล้ว เราจะพบ 4 เมนูคือ LIVE INTERACTIVE, ROOM SIMULATION, GET YOUR STYLE และ GALLERY ซึ่งรูปแบบในแอพฯ ของ SB จะเน้นการใช้เฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งห้องคล้ายกับการเล่นเกม The Sims ที่เราสามารถเลือกสไตล์ของห้องได้จากแบบห้องที่มี หรือจะเลือกถ่ายรูปห้องจริงที่เราอยากลองตกแต่งดู จากนั้นก็เลือกสไตล์ที่เราชอบ และเลือกเซฟลงในอัลบั้มของเราได้ เป็นเหมือนสไตล์ห้องที่เราชื่นชอบเอาไว้เป็นไอเดียได้เลย

มื่อพูดถึงสถิติ ขอยกตัวเลขที่น่าสนใจในแคตตาล็อกของ IKEA มาเล่าสู่กันฟัง โดยปกติแล้ว แอพพลิเคชั่นแคตตาล็อกของ IKEA จะเปิดตัวเวอร์ชั่นใหม่ทุกๆ ปี ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน สำหรับสถิติในการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น iPhone ปี 2012 จากทั่วโลก มีการดาวน์โหลดและติดตั้งไปแล้ว 1,779,861 ครั้ง (สถิติตั้งแต่ 1 ส.ค.-2 ต.ค. 54) ส่วนผู้ที่อัพเดตเวอร์ชั่นจากเวอร์ชั่นเก่ามาเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน กว่า 4 ล้านครั้ง และมียอดดาวน์โหลดแคตตาล็อกออนไลน์ฉบับพกพาด้วย iPhone ไปแล้วกว่า 1,410,894 ครั้ง แต่ยังไม่รวมสถิติของไทย เนื่องจากเพิ่งจะมีการเปิดให้ดาวน์โหลดตั้งแต่วันที่ 3 ต.ค. 54 ที่ผ่านมา

จากสถิติพบว่า ประเทศญี่ปุ่นและอเมริกาเป็นสองประเทศที่มียอดการดาวน์โหลดสูงสุด 2 อันดับแรก แต่เมื่อรวมยอดทั้งหมด อเมริกาจะมากกว่าญี่ปุ่นอยู่เล็กน้อยเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบสถิติโดยรวมของญี่ปุ่นกับประเทศในเอเชียอย่างจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเลเซีย ญี่ปุ่นก็ชนะสถิติอย่างขาดลอย แต่เป็นที่น่าสนใจสำหรับประเทศจีน ที่มียอดการติดตั้งแอพฯ ใหม่มากเป็นอันดับ 1 ในสถิติทั้งหมด ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่า นี่เป็นปีแรกที่จีนเปิดให้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นหรือไม่ แต่น่าจับตามองสถิติโดยรวมทั้งผู้ดาวน์โหลดใหม่และอัพเดตเวอร์ชั่นในปีต่อมาว่าจะแซงหน้าญี่ปุ่นไปเป็นผู้นำได้หรือไม่ สำหรับคนไทยหลังจากปีนี้ คงต้องมองกันอีกที ว่าตลาดแอพพลิเคชั่นในไทยจะเติบโตเท่ากับหรือมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย

ส่วน Android นั้นเป็นปีแรกที่มีการเปิดให้ดาวน์โหลดของ Android ซึ่งต้องใช้เวอร์ชั่น 2.0 ขึ้นไป จึงจะดาวน์โหลดได้ สำหรับสถิติของแอนดรอยด์นั้น ตัวเลขทั่วโลกยังอยู่ในหลักแสนเท่านั้น ประเทศที่มีการดาวน์โหลดใช้งานมากที่สุดก็คือ สหรัฐอเมริกา และในเอเชียก็หนีไม่พ้นญี่ปุ่น

ตัวเลขการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนั้น สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงข้อมูลของคนในปัจจุบันที่ใช้มือถือเป็นมากกว่าโทรศัพท์ จะเห็นได้ว่าประเทศที่มีการใช้สมาร์ทโฟนจำนวนมากก็คือ อเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาในเรื่องของเครือข่ายและเทคโนโลยีไปไกลกว่าเรา สำหรับไทยที่เพิ่งมี 3G ให้ใช้กัน และมือถือสมาร์ทโฟนที่ราคาถูกลงเรื่อยๆ ทำให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น ก็ต้องคอยดูกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้บริษัทที่รับทำแอพพลิเคชั่นก็เริ่มผุดมากขึ้น เพราะตลาดขยายตัวเพิ่มขึ้น เราก็คงได้เห็นแอพพลิเคชั่นดีๆ จากฝีมือคนไทยเพิ่มขึ้นอีกแน่นอน

นักเขียน Pompoko-ปาริชาติ นัคเรศ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook