คู่มือการเลือกซื้อ มือถือ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2555

คู่มือการเลือกซื้อ มือถือ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2555

คู่มือการเลือกซื้อ มือถือ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2555
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คู่มือการเลือกซื้อ มือถือ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ ประจำไตรมาสที่ 1 ปี 2555

เกริ่นนำถึงที่มาที่ไปของคู่มือการเลือกซื้อ มือถือ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์

ก่อนอื่นก็ต้องขอกราบสวัสดีปีใหม่สมาชิกเว็บไซต์ไทยโมบายเซ็นเตอร์ และบรรดาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือทุกท่าน เมื่อขึ้นปีใหม่ ปีงูใหญ่ พ.ศ. 2555 นี้แน่นอนว่าหลายๆ ท่านก็คงจะสรรค์หาของขวัญให้กับตนเอง คนพิเศษ หรือคนที่ท่านรักเพื่อต้อนรับปีใหม่ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิตในปีใหม่นี้ ซึ่งหนึ่งในของขวัญที่น่าจะประทับใจทั้งผู้ให้และผู้รับก็คือบรรดาอุปกรณ์ไอที หรือสินค้าไฮเทคต่างๆ โดยเฉพาะ โทรศัพท์มือถือ นั้นถือว่าได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว ด้วยราคาค่าตัวที่นับวันมีแต่จะถูกลง ในขณะที่ความสามารถเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ สมาร์ทโฟน รุ่นต่างๆ นั้น หากเป็นเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว ก็อาจจะต้องแลกมาด้วยค่าตัวหลักหมื่น แต่ในยุคนี้ กำเงินไปเพียงไม่กี่พันบาท ก็สามารถจับจองเป็นเจ้าของ สมาร์ทโฟน ดีๆ ได้แบบสบายๆ

แต่อย่างไรก็ดี เงินทองก็ใช่ว่าจะหามาได้ง่ายๆ ผู้ซื้อก็จำเป็นที่จะต้องเลือกซื้อสิ่งที่คุ้มค่า และเหมาะกับตนเองให้มากที่สุด หากเป็น โทรศัพท์มือถือ ก็ต้องเป็น โทรศัพท์มือถือ ที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงมีค่าตัวที่ไม่เกินงบที่ตั้งไว้ ดังนั้นการเลือกซื้อ โทรศัพท์มือถือ ในปี 2555 นี้ ก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะตัดสินใจซื้อเช่นเดียวกัน และในฐานะที่เว็บไซต์ไทยโมบายเซ็นเตอร์ของเราก็อยู่คู่กับผู้ซื้อมือถือมาอย่างยาวนาน มีบทความการเลือกซื้อมือถือ สเปคมือถือ และ ราคามือถือ ให้ติดตามกันมาโดยตลอด ในต้นปี 2555 นี้ก็เห็นควรที่จะทำอะไรซักอย่างเพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้เลือกซื้อมือถือ เสมือนเป็นสมุดคู่มือที่ผู้เลือกซื้อมือถือทุกท่านสามารถพกติดตัวไปได้ทุกที่ทุกเวลา ในขณะที่ท่านกำลังเดินเลือกซื้อมือถืออยู่นั่นเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่มือนี้ก็ไปประจวบเหมาะกับช่วงเวลาของมหกรรมมือถือครั้งใหญ่ประจำต้นปีอย่างงาน Thailand Mobile Expo 2012 ซึ่งจัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 26-29 มกราคม 2555 พอดิบพอดี เรียกได้ว่าสามารถนำคู่มือนี้ไปใช้ประโยชน์ได้อย่างทันท่วงที

แนะนำระบบปฏิบัติการ และ สมาร์ทโฟน Android OS มีอะไรใหม่ให้ลิ้มลองในปีนี้

ก่อนที่จะเข้าประเด็นในเรื่องของการเลือกซื้อมือถือ ก็ขอมาแนะนำ และอัพเดทความเคลื่อนไหวของตัวระบบปฏิบัติการตัวเด่นบนมือถือกันก่อน เพราะต้องยอมรับว่าประเภทของ โทรศัพท์มือถือ ที่ได้รับความนิยมกันมากที่สุดในปัจจุบัน ก็คงหนีไม่พ้น โทรศัพท์มือถือ ที่เรียกว่า สมาร์ทโฟน นั่นเอง ด้วยการใช้งานที่หลากหลายยืดหยุ่น และมีราคาค่าตัวที่ถูกลงกว่าแต่ก่อนอย่างมาก จนแทบจะทำให้ ฟีเจอร์โฟน นั้นหายไปจากตลาดเลยทีเดียว โดยระบบปฏิบัติการแรกที่ต้องพูดถึงก็คือ ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ (Android OS) จากค่ายกูเกิล (Google) ซึ่งใน 1-2 ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าตีคู่มากับระบบปฏิบัติการยอดนิยมอย่าง iOS จากค่ายแอปเปิ้ล (Apple) มาโดยตลอด หากพูดกันเฉพาะในเรื่องของยอดขาย หรือส่วนแบ่งทางการตลาด ก็ต้องบอกว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา สมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ นั้นทำยอดขายได้ดีกว่า สมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการ iOS และหากนับเฉพาะในปี 2555 นี้ ทางบริษัทวิจัยชื่อดังอย่าง Gartner ก็ได้วิเคราะห์ไว้ว่า สมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ นั้นจะมีส่วนแบ่งในตลาดรวมของ สมาร์ทโฟน ทั้งหมด เกือบ 50% เลยทีเดียว เรียกได้ว่าครึ่งหนึ่งของ สมาร์ทโฟน ที่ขายได้บนโลกนี้ในปี 2555 นั้นเป็น สมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ แต่หากลองนึกดีๆ เหตุผลสำคัญที่ทำให้ยอดขายเยอะมากมายขนาดนี้ก็เป็นเพราะว่า สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ นั้นมีหลากรุ่น หลากยี่ห้อ แบรนด์ชั้นนำล้วนนำ แอนดรอยด์ ไปใส่ไว้ใน สมาร์ทโฟน ของตัวเอง และทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบ แต่สำหรับ สมาร์ทโฟน ระบบปฏิบัติการ iOS นั้นรู้กันดีว่ามีเพียง iPhone เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งแม้จะมีเพียงรุ่นเดียว แต่ก็ทำยอดขายแบบถล่มทลายมาโดยตลอด เรียกได้ว่าออกมาแค่รุ่นเดียวก็กินส่วนแบ่งในตลาด สมาร์ทโฟน ไปไม่น้อย

การวิเคราะห์ตลาด สมาร์ทโฟน ตั้งแต่ปี 2010-2015 โดย Gartner

ในปี 2554 ที่ผ่านมา มี สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ เปิดตัวออกมาให้เลือกสรรค์กัน หลายรุ่น หลายยี่ห้อ หลายระดับราคา สามารถตอบโจทย์ได้ตั้งแต่ผู้ซื้อที่มีงบประมาณจำกัด งบประมาณระดับกลางๆ ไปจนถึงผู้ซื้อที่มีงบประมาณไม่อั้น หากแบ่งระดับให้ดูกันง่ายๆ สำหรับ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ ราคาประหยัด ที่เหมาะสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นใช้งาน สมาร์ทโฟน ความเร็วของซีพียูก็จะมีความเร็วที่ต่ำกว่า 1 GHz หน้าจอเล็กๆ เช่น Samsung Galaxy Y, LG Optimus Hub, Motorola Defy หรือ HTC Wildfire S เป็นต้น ส่วน สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ ที่ใช้งานได้ดีขึ้นมาหน่อย อยู่ในระดับกลางๆ ก็ควรจะต้องมีซีพียูความเร็ว 1 GHz เป็นอย่างน้อย และมีหน้าจอที่ใหญ่ขึ้น แต่ก็ยังเป็นซีพียูแบบ Single Core เช่น LG Optimus Black, Sony Ericsson Xperia Arc S, HTC Incredible S หรือ Samsung Galaxy S Plus เป็นต้น และหากเป็นกลุ่มสุดท้ายคือ สมาร์ทโฟน ระดับสูง ก็จะเริ่มกันที่ซีพียูแบบ Dual-Core และมักจะมีหน้าจอที่ใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งรองรับการใช้งานได้อย่างเต็มที่ทุกรูปแบบ เช่น Samsung Galaxy Nexus, Motorola RAZR, HTC Sensation XE หรือ LG Optimus 3D เป็นต้น และแม้ว่า สมาร์ทโฟน ระดับต่างๆ จะมีประเด็นอื่นๆ ให้พิจารณาอีก เช่น ความละเอียดของกล้องดิจิตอล หรือ คุณสมบัติระดับสูงอื่นๆ แต่หากจะดูกันง่ายๆ ก็ให้ดูกันที่ ซีพียู นั่นเอง

ส่วนในตัวของระบบปฏิบัติการ Android OS เอง ในปีนี้ Android เวอร์ชัน 4.0 หรือ Ice Cream Sandwich นั้นจะเริ่มเข้ามาเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ รุ่นใหม่ๆ ในปีนี้ มากขึ้น โดยเริ่มมีให้เห็นอย่างเป็นทางการรุ่นแรกก็คือ Samsung Galaxy Nexus นั่นเอง ส่วน สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ รุ่นเดิมที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็จะมีบางรุ่นที่จะได้รับการอัพเดทเป็น Ice Cream Sandwich เช่นกัน โดยเฉพาะรุ่นที่มีซีพียูแบบ Single Core ความเร็วตั้งแต่ 1 GHz ขึ้นไป แต่ก็ขอให้มีหน่วยความจำ RAM ขนาดใหญ่ซักหน่อยเพื่อความแน่นอน ได้ขนาดซัก 1 GB ไปก็ยิ่งดี ส่วนรุ่นที่มีซีพียูแบบ Dual-Core นั้นแทบทั้งหมดสามารถอัพเดทเป็น Ice Cream Sandwich ได้อย่างแน่นอน ส่วน สมาร์ทโน แอนดรอยด์ ที่มีคุณสมบัติในระดับต่ำกว่าที่กล่าวมา ก็คงลุ้นไม่ขึ้นด้วยข้อจำกัดทางด้านฮาร์ดแวร์นั่นเอง และสำหรับ Android 4.0 หรือ Ice Cream Sandwich เองนั้นก็น่าจะเป็นเวอร์ชันที่เข้าที่เข้าทางมากพอสมควรแล้ว มีการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ให้มีความสมบูรณ์ขึ้นมาก หลังจากที่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ เปิดตัวสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรก มาจนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมากๆ ซึ่งในด้านหนึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ในด้านของผู้ซื้อนั้น หากเป็นผู้ที่เล่น สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ ในยุคแรกๆ ก็อาจจะต้องปวดหัวกับการตามอัพเดทอยู่ตลอดเวลา และไม่แน่อีกว่ารุ่นของตัวเองนั้นจะได้รับการอัพเดทไปได้นานแค่ไหน เพราะในยุคแรกๆ ต้องบอกว่า สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ แต่ละรุ่นนั้นมีอายุที่ค่อนข้างสั้นพอสมควร หากไม่ใช่คนที่ชอบสรรค์หา หรือหัดนั่งอัพรอมนอกอยู่ตลอดเวลาแล้ว ก็มักจะต้องมีการเปลี่ยนมือถือใหม่อยู่เป็นระยะๆ แต่ในปีนี้ก็คงจะไม่เป็นเช่นนั้น เพราะดูๆ ไปแล้ว แอนดรอยด์ ยุคนี้ก็มีความลงตัวมากกว่าแต่ก่อน และมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เจาะลึกฟีเจอร์เด็ดใน แอนดรอยด์ 4.0 (Android 4.0) Ice Cream Sandwich

ไหนๆ เราก็จั่วหัวเรื่องของระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ เอาไว้บ้างพอสมควรแล้ว ก่อนที่จะเข้าไปสู่เรื่องของ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ รุ่นต่างๆ ก็ขอเอาระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ เวอร์ชันล่าสุดอย่าง แอนดรอยด์ เวอร์ชัน 4.0 (Android 4.0) หรือ Ice Cream Sandwich มาแนะนำให้ผู้อ่านทุกท่านได้ทำความรู้จักกันก่อน เพราะปี 2555 นี้ Ice Cream Sandwich จะเข้ามาเป็นพื้นฐานของระบบปฏิบัติการบน สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ รุ่นใหม่ๆ อีกมากมาย ดังนั้นการเตรียมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Ice Cream Sandwich เอาไว้ล่วงหน้าเสียก่อน ก็น่าจะเป็นเรื่องทีดี โดยในเบื้องต้น เราจะมาทำความรู้จักกับฟีเจอร์ใหม่ๆ เด็ดๆ ใน Ice Cream Sandwich กันก่อนว่ามีอะไรที่น่าสนใจบ้าง เผื่อต่อไปได้มี สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ 4.0 มาอยู่ในครอบครอง จะได้ใช้งานได้คล่องมือ

ปรับปรุงและพัฒนา User Interface ให้ดีขึ้น

สำหรับ Android 4.0 นั้น User Interface ได้ถูกปรับปรุงให้ใช้งานได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งในเรื่องของการสัมผัส ภาพแอนนิเมชั่น รวมไปถึง ฟ้อนต์แบบใหม่ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้กับจอแสดงผลความละเอียดสูง ซึ่งทำให้สามารถอ่านได้ง่ายขึ้น และชัดเจนขึ้น

ปุ่มแบบ Virtual button ประกอบด้วยเมนูทั้งหมด 3 ส่วน นั่นคือ Back, Home และ แอพพลิเคชั่นที่เพิ่งถูกใช้งานเมื่อเร็วๆ นี้ (Recent Apps) ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานแอพพลิเคชั่นแบบเต็มหน้าจอ ไฟบนปุ่มทั้ง 3 ปุ่มนี้ จะสลัวลง

การทำงานแบบ Multitasking ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญสำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ที่ทำให้การใช้งานสะดวกสบายมากขึ้น โดยปุ่ม Recent Apps นั้น ผู้ใช้งานสามารถสลับใช้งานจากแอพพลิเคชั่นหนึ่ง ไปยังอีกแอพพลิเคชั่นหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว

ระบบการแจ้งเตือน หรือ Notification ช่วยทำให้คุณไม่พลาดทุกการติดต่อ ทั้งในเรื่องของข้อความที่เข้ามาใหม่, เล่นเพลง, แอพพลิเคชั่นอัพเดทแบบเรียล-ไทม์ และอื่นๆ อีกมากมาย สำหรับอุปกรณ์ที่หน้าจอไม่ใหญ่มาก Notification จะปรากฎอยู่ด้านบนของหน้าจอ ในขณะที่อุปกรณ์หน้าจอขนาดใหญ่ จะปรากฎอยู่ตรงส่วนของ System bar

เพิ่มการจัดการโฟลเดอร์ในหน้า Homescreen และ Favorites Tray

ผู้ใช้งานสามารถจัดกลุ่มให้แอพพลิเคชั่นได้ โดยการลากจากแอพพลิเคชั่นหนึ่ง ไปทับอีกแอพพลิเคชั่นหนึ่ง ระบบจะทำการสร้างโฟลเดอร์ให้โดยอัตโนมัติ (คล้าย iOS) โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเข้าไปสร้างโฟลเดอร์เอง และลากไฟล์ใส่ลงโฟลเดอร์เองเหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป ซึ่งในแต่ละโฟลเดอร์นั้น ผู้ใช้งานสามารถจัดเรียงไอคอนได้ตามใจอีกด้วย

สำหรับอุปกรณ์หน้าจอขนาดเล็ก ที่หน้า Homescreen จะปรากฎ Favorites tray ที่ผู้ใช้งานสามารถลากแอพพลิเคชั่นที่ชื่นชอบ ทั้งในแบบโฟลเดอร์ หรือ shortbuts รวมไปถึงไอเท็มที่ใช้งานบ่อย มาวางไว้ในส่วน Favorites tray เพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องเข้าหน้าแอพพลิเคชั่นรวม (Launcher)

Widgets สามารถปรับเปลี่ยนขนาดได้

หน้า Homescreen บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich นั้น ถูกออกแบบให้ผู้ใช้งานได้จัดเรียง และออกแบบได้ตามใจ ซึ่งนอกจากจะสามารถเพิ่ม shortcuts ได้แล้ว ยังสามารถเพิ่ม Live application ได้อีกด้วย นอกจากนี้ Widgets บนหน้า Homescreen นั้น สามารถให้ผู้ใช้งานเข้าเช็คอีเมล, ดูปฏิทิน, เล่นเพลง, ฟังเพลง, เช็คข้อความอัพเดทจากหน้า Social Network อย่าง Facebook และ Twitter และอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในหน้า Launcher แต่อย่างใด ซึ่งถ้าหาก Widgets ที่แสดงอยู่นั้น ปรากฎเป็นไอคอนที่เล็กเกินไป สามารถขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้นได้

ทำงานได้มากขึ้น แม้ว่าหน้าจอจะถูกล็อค

ปกติแล้ว สมาร์ทโฟนที่ถูกล็อคหน้าจอ จะไม่สามารถทำงานได้ถ้าหากไม่ปลดล็อคเสียก่อน แต่บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich นั้น ผู้ใช้งานสามารถใช้งานในส่วนของการถ่ายภาพ และการเช็คข้อความใหม่ ได้จากหน้าล็อคสกรีนโดยตรง นอกจากนี้ ถ้าหากใช้งานในด้านการฟังเพลงอยู่ สามารถเลือกเพลงใหม่ได้บนหน้าล็อคสกรีนอีกด้วย

ตอบสนองต่อสายเรียกเข้าได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อมีสายเรียกเข้าดังขึ้นมา แต่ไม่สะดวกในการรับสาย ณ ตอนนั้น ผู้ใช้งานสามารถเลือกตอบรับเป็นการส่งข้อความแทนได้ เช่น ประชุมอยู่ เดี๋ยวโทรกลับ พร้อมกับตัดสายในทันที ซึ่งบนหน้าจอขณะมีสายเรียกเข้านั้น จะแสดงอยู่ 3 ส่วน นั่นคือ การรับสาย วางสาย และการส่งข้อความ ในส่วนของการส่งข้อความนั้น ผู้ใช้งานสามารถตั้งข้อความส่วนตัวได้

ยกเลิกการแจ้งเตือน, งานที่ต้องทำ และปิดแท็บบนเบราเซอร์ ได้ด้วยการ Swipe

ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich ทำให้การจัดการในส่วนของการแจ้งเตือน, แอพพลิเคชั่นที่เพิ่งถูกเปิด และแท็บบนเบราเซอร์ได้ง่ายขึ้น ด้วยการ Swipe ถ้าหากไม่ต้องการใช้งาน หรือปิดการใช้งาน

ปรับปรุงในเรื่องการพิมพ์ และระบบการเช็คคำผิด

คีย์บอร์ดแบบ Soft keyboard บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich ได้ปรับปรุงให้ผู้ใช้งานได้ใช้งานได้ง่ายขึ้น พิมพ์ได้รวดเร็ว และถูกต้องแม่นยำมากกว่าเดิม นอกจากนี้ ระบบยังสามารถแก้ไขคำให้อัตโนมัติ อย่างเช่น การขึ้นตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ให้อัตโนมัติ หรือการเว้นวรรคคำ อีกทั้ง ยังแนะนำประโยคหรือคำที่ถูกต้องให้อีกด้วย

ในส่วนของระบบตรวจเช็คคำผิดนั้น ถ้าหากตรวจสอบและพบว่า มีคำใดผิดพลาด ระบบจะขีดเส้นใต้คำนั้นไว้ และระบุคำที่ถูกต้องไว้ ผู้ใช้งานสามารถแท็บที่คำที่ถูกแจ้งว่าผิดนั้น แล้วเลือกคำที่ถูกต้อง นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มคำใน Dictionary ได้อีกด้วย

เพิ่มระบบ Voice Input สั่งการด้วยเสียง

ในส่วนของการสั่งงานด้วยเสียงที่น่าสนใจ บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich นั้น ผู้ใช้งานสามารถสั่งให้ระบบพิมพ์ข้อความตามที่เราพูดได้ โดยการแท็บที่รูปไมโครโฟน และพูด จากนั้น ระบบจะทำการพิมพ์ตามคำพูดของเราให้อย่างอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องพูดทีละประโยค สามารถพูดให้จบได้ภายในครั้งเดียว ระบบจะทำการพิมพ์และแยกประโยคให้เอง และหลังจากที่ระบบได้ทำการพิมพ์เสร็จแล้ว จะมีการแนะนำในส่วนของคำที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ใช้งานได้แก้ไขในภายหลังอีกด้วย

ควบคุมการใช้งานข้อมูล ตามอัตราแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต

ผู้ใช้งาน สามารถตั้งค่าการใช้งานแอพพลิเคชั่นที่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จากการเชื่อมต่อแบบ 3G หรือ Edge ได้ โดยสามารถกำหนดได้ว่า แอพพลิเคชั่นแต่ละตัวนั้น สามารถรับข้อมูลได้สูงสุดเท่าไร เพื่อเป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายไปในตัว ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูข้อมูลการใช้งานทั้งหมดได้จากหน้า Settings

People และโปรไฟล์

People ฟีเจอร์แบบใหม่ที่มาแทนที่ contact ได้ที่มีการปรับปรุงหน้าตาใหม่ โดยการแสดงรูปของผู้ติดต่อไว้ด้านหน้า และเพิ่มข้อมูลให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ อีเมล อัพเดทสเตตัส รวมไปถึงการเพิ่มปุ่มของการเชื่อมต่อเข้า Social network ได้โดยตรง

Calendar และ Visual Voicemail

ในส่วนนี้ ได้มีการปรับปรุงเพื่อให้การจัดการนัดหมายต่างๆ สามารถทำได้อย่างราบรื่น โดยในส่วนของปฏิทินนั้น ได้เพิ่มการนัดหมายได้หลายรูปแบบ เช่น ส่วนตัว หรือสำหรับที่ทำงาน ซึ่งง่ายต่อการตรวจสอบว่า เรามีนัดหมายที่ตรงกัน หรือซ้อนกันหรือไม่ นอกจากนี้ ยังเพิ่มในส่วนของสีสันที่ทำให้ดูได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

สำหรับการใช้งานด้าน Visual voicemail นั้น รองรับการใช้งานในเรื่องของข้อความที่เข้ามาใหม่ ไฟล์เสียงต่างๆ และรองรับแอพพลิเคชั่นภายนอก ที่เจ้าของเครื่องสามารถเพิ่มเสียงของตนเองลงไปได้

ปรับปรุงการใช้งานของกล้องถ่ายรูป

ในส่วนของกล้องถ่ายรูปนั้น ได้มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามา นั่นก็คือ การปรับปรุงในเรื่องการโฟกัส, ลดการ lag ขณะชัตเตอร์ และเพิ่มความเร็วในการชัตเตอร์ นอกจากนี้ ยังมีระบบ Stabilized image zoom ที่ช่วยลดการสั่นไหวของภาพ ทั้งในขณะที่ถ่ายรูป และถ่ายภาพเคลื่อนไหว อีกทั้ง ยังสามารถ capture ภาพนิ่ง พร้อมๆ กับการถ่ายภาพวิดีโอในเวลาเดียวกันได้อีกด้วย

สำหรับการถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ได้เพิ่มฟีเจอร์ Face detection ที่ช่วยโฟกัสใบหน้าคนให้อัตโนมัติ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสามารถกำหนดจุดโฟกัสได้เอง โดยการแท็บไปที่ตำแหน่งที่ต้องการจะโฟกัสได้เลยทันที นอกจากนี้ ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich ยังได้เพิ่มการถ่ายภาพแบบพาโนราม่า เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการภาพในมุมกว้าง อีกด้วย

หลังจากถ่ายภาพ และวิดีโอเสร็จเรียบร้อยแล้ว สามารถอัพโหลดและแชร์ผ่านอีเมล, Bluetooth รวมไปถึงเว็บไซต์ Social Networks ชื่อดังอย่าง Facebook และ Twitter ได้อีกด้วย

Gallery App ออกแบบใหม่ พร้อมเพิ่มฟังก์ชั่น Photo Editor

ในส่วนของ Gallery app นั้น ได้มีการออกแบบ layout ใหม่ เพื่อให้แสดงอัลบั้มได้มากขึ้น พร้อมกับเพิ่มวิธีการค้นหาอัลบั้ม อันประกอบไปด้วย เวลา, สถานที่, ผู้คน และแท็ก นอกจากนี้ ใน Gallery app ยังได้เพิ่ม Photo editor ที่ผู้ใช้งานสามารถแก้ไขภาพได้เลยทันที ไม่ว่าจะเป็นการ crop ภาพ, rotate ภาพ, แก้ตาแดง, เพิ่มเอฟเฟกซ์ และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังสามารถเลือก Gallery เป็น Widget โชว์บนหน้า Homescreen ได้อีกด้วย

เพิ่มลูกเล่นให้กับการใช้งาน Video Chat บน Google Talk ด้วย Live Effects

เปลี่ยนจากความซ้ำซากจำเจ กับการคุยผ่านวิดีโอแบบเก่าๆ ด้วยการเพิ่มเอฟเฟกซ์ให้กับผู้เล่น กับการใช้งาน Video chat บน Google Talk โดยผู้เล่นสามารถเปลี่ยนแบ็คกราวน์ได้ เปลี่ยนรูปหน้าของตนเองให้เป็นใบหน้าแบบตลกๆ ได้ ด้วยฟีเจอร์ที่มีชื่อว่า Live Effects เช่น ทำจมูกโต ตาโต ปากใหญ่ เป็นต้น

แชร์ภาพจาก Screenshot

สำหรับการ screenshot ภาพบน Ice Cream Sandwich สามารถทำได้เลยทันทีโดยการกดปุ่มบนตัวเครื่อง ซึ่งภาพดังกล่าวนั้น สามารถนำมาแก้ไข และแบ่งปันได้เลยทันที

ปรับปรุงการใช้งานด้านเว็บเบราเซอร์

ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich ได้มีการปรับปรุงหน้าเบราเซอร์ให้เสมือนว่ากำลังใช้งานอยู่บนเวอร์ชั่น Desktop โดยรองรับการซิงค์ การจัดการบุ๊คมาร์คบน Google Chrome อีกทั้งยังสามารถเซฟแบบ Offline reading สำหรับเอาไว้อ่านขณะที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ ยังมีได้มีการแยกแท็บภายในเว็บเบราเซอร์ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านและการใช้งาน และรองรับระบบ Pinch-to-Zoom บนหน้าเว็บเพจ เพื่อให้อ่านข้อมูลบนเว็บเบราเซอร์ให้ดียิ่งขึ้น

ปรับปรุงการใช้งานด้านอีเมล

ปรับปรุงทั้งในด้านของการส่ง, การอ่าน และการสร้างอีเมลใหม่ พร้อมเพิ่มระบบค้นหารายชื่ออีเมลที่ต้องการส่งแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าข้อความแบบ Quick response ได้ เพื่อความรวดเร็วในการใช้งาน

Android Beam รองรับการใช้งาน NFC

Android Beam คือ นวัตกรรมใหม่ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายจากการใช้งาน NFC ซึ่งผู้ใช้งาน สามารถแลกเปลี่ยนแอพพลิเคชั่น, รายชื่อผู้ติดต่อ, เพลง, วิดีโอ และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนวิธีการใช้งานนั้น เพียงแค่นำแอนดรอยด์โฟน ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich มาแตะ แล้วกด send เพียงแค่นี้ก็สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้แล้ว

สำหรับการใช้งานในส่วนของการแลกเปลี่ยนแอพพลิเคชั่นผ่าน Android Beam นั้น ทำได้โดยการเลือกลิงค์บน Android Market แล้วส่งไปให้ผู้อื่นได้ดาวน์โหลดต่อ นอกจากนี้ ยังสามารถนำไปใช้งานในส่วนอื่นๆ ได้แก่ การเล่นเกมในรูปแบบของ Multi-player

Face Unlock ปลดล็อคหน้าจอโดยการสแกนใบหน้า

เพิ่มความปลอดภัยให้กับสมาร์ทโฟนมากขึ้น กับฟีเจอร์ ​Face Unlock ที่ผู้ใช้งานสามารถปลดล็อคหน้าจอโทรศัพท์มือถือ โดยการสแกนใบหน้า จากระบบการจดจำใบหน้าของเจ้าของเครื่อง ที่มีอยู่บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich นั่นเอง

Wi-Fi Direct และ Bluetooth HDP

ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 Ice Cream Sandwich รองรับเทคโนโลยี Wi-Fi Direct ที่สามารถส่งไฟล์ระหว่างอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชั่น Wi-Fi Direct ได้ แม้ว่าในขณะนั้นจะไม่มีสัญญาณ Wi-Fi ก็ตาม ส่วนการใช้งาน Bluetooth HDP นั้น จะเป็นการเชื่อมต่อสัญญาณ Bluetooth กับอุปกรณ์ทางการแพทย์, เซนเซอร์ในโรงพยาบาล, ศูนย์ฟิสเนต, บ้าน และสถานที่อื่นๆ อีกมากมาย

ก็ถือว่าเป็นการอุ่นเครื่องกันไปก่อนที่จะเข้าเรื่องการเลือกซื้อ สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ เรียกได้ว่าเยอะแยะมากมายจริงๆ สำหรับฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่พบได้ใน ระบบปฏิบัติการ แอนดรอยด์ เวอร์ชัน 4.0 หรือ Ice Cream Sandwich แต่ละฟีเจอร์ล้วนน่าสนใจและมีประโยชน์ในการใช้งานทั้งสิ้น แม้ว่าตอนนี้จะมีให้เลือกใช้อยู่เพียงรุ่นเดียวคือ Samsung Galaxy Nexus แต่เร็วๆ นี้จะมีให้เลือกใช้กันหลายรุ่น หลายยี่ห้อ อย่างแน่นอน ส่วนตอนนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะเริ่มมาดูกันแล้วว่าแต่ละระดับราคานั้น มี สมาร์ทโฟน แอนดรอยด์ รุ่นใด ยี่ห้อใด ที่น่าสนใจเป็นพิเศษบ้าง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook