32 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ Notebook ตอนที่ 1

32 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ Notebook ตอนที่ 1

32 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ Notebook ตอนที่ 1
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

32 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ Notebook ตอนที่ 1

ถึงช่วงหยุดยาวแบบนี้พี่มิ้งค์กลัวทุกคนจะเหงา เลยขอนำทิปเกี่ยวกับโน้ตบุ๊กมาฝาก กันเป็นไตรภาค ยาวหน่อย แต่เนื้อล้วนๆ มีประโยชน์สุด โดยได้รวบรมประสบการณ์เกี่ยวกับปัญหาข้อสงสัยที่ทุกคนอยากรู้มาฝากกัน 32 ข้อ มาดูกันเลยยยย

1. ลงวินโดวส์โน้ตบุ๊กใหม่ แต่บูตไม่เข้า

อาการดังกล่าวอาจจะเป็นได้จากฮาร์ดดิสก์หรือแรมมีปัญหา เนื่องจากไม่สามารถรับ-ส่งข้อมูลได้ตามปกติ ซึ่งก็จะส่งผลตั้งแต่การใช้งานในเบื้องต้น ซึ่งในกรณีนี้หากเป็นโน้ตบุ๊กใหม่ที่เพิ่งซื้อ ก็อาจจะแนะนำให้ติดต่อกับศูนย์จำหน่ายโดยตรง แต่ถ้าเป็นโน้ตบุ๊กที่ใช้งานมานานแล้ว ก็อาจจะต้องลองให้ที่ร้านลองถอดฮาร์ดดิสก์หรือถอดแรมออกมาทำความสะอาดเสียใหม่ จากนั้นค่อยติดตั้งวินโดวส์อีกครั้งหนึ่ง

2. โน้ตบุ๊กรีสตาร์ทตลอดหรือบางทีก็หน้าจอค้าง

เป็นปัญหาที่เจอกันค่อนข้างบ่อย โดยส่วนใหญ่ที่เจอ มักจะพบเมื่อติดตั้งไดรเวอร์เป็นที่เรียบร้อย แต่ที่เจอมากที่สุดก็คือ เมื่อลงวินโดวส์ใหม่อีกครั้ง อาการดังกล่าวก็จะหายไป แต่ถ้าไม่อยากเสียเวลา อาจจะต้องมานั่งเช็กดูการลงไดรเวอร์ให้ได้ตามสเต็ป ว่ากันตั้งแต่ไดรเวอร์ชิปเซต การ์ดจอ เสียง เน็ตเวิร์ก ไปจนถึงบรรดาคอมโพเนนต์ต่างๆ เสร็จปิดงานด้วยการลงยูทิลิตี้ ซึ่งส่วนใหญ่หากลงตามขั้นตอนและไดรเวอร์ที่ถูกต้อง ตรงกับโน้ตบุ๊กแล้ว ปัญหาก็จะไม่เกิด

3. ซื้อโน้ตบุ๊กมาใหม่มีวินโดวส์ อัพเกรดเวอร์ชันได้ไหม

โน้ตบุ๊กที่จำหน่ายในท้องตลาดหลายรุ่นมาพร้อม Windows Genuine หรือจำหน่ายพร้อมวินโดวส์ โดยมีชุด Recovery มาให้ ด้วยการแบ่งไดรฟ์เอาไว้เฉพาะสำหรับเก็บไฟล์ดังกล่าว แต่ต้องการใช้วินโดวส์ใหม่ ที่เป็นรุ่นใหญ่กว่า อย่างเช่น เดิมเป็น Starter อยู่ แล้วจะอัพเกรดเปลี่ยนเป็น Home Premium ก็สามารถทำได้เลย ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ หากเป็นแบบ OEM ด้วยกันทั้งคู่ ก็สามารถฟอร์แมตและติดตั้งวินโดวส์ลงไปใหม่ได้

อีกกรณีหนึ่งคือ หากซื้อวินโดวส์มาติดตั้งใหม่เป็นแบบ FPP หรือแบบกล่อง ก็อาจจะใช้วิธีทำแผ่น Recovery เอาไว้ก่อน เพื่อสำรองระบบ เสร็จแล้วก็ให้ติดตั้งวินโดวส์ตัวใหม่เข้าไป ซึ่งหากไม่ต้องการใช้โน้ตบุ๊กตัวดังกล่าวและจะเปลี่ยนตัวใหม่ ก็สามารถ Recovery ให้กลับไปเป็น OEM ตัวเดิมได้และนำวินโดวส์แบบ FPP ใหม่ไปติดตั้งกับโน้ตบุ๊กใหม่ที่ซื้อมาแทน

4. ต่อไฟที่เครื่องตอนลงวินโดวส์ได้หรือไม่ ไม่อยากเสียบแบตฯ

หลายคนอยากจะให้การชาร์จไฟโน้ตบุ๊กครั้งแรก แบบต่อไว้อย่างน้อย 6 ชั่วโมง แต่ก็อยากจะลงวินโดวส์ให้เสร็จ เลยยังไม่อยากจะต่อแบตฯ ไว้ ก็สามารถทำได้ ก็ไม่ต้องติดตั้งแบตฯ เข้าไปที่ตัวเครื่อง เพียงแค่ต่อสายไฟจากตัวแปลง เข้ากับตัวเครื่องโดยตรง แล้วก็ติดตั้งวินโดวส์ไปตามปกติ แต่ต้องแน่ใจว่าปลั๊กที่ใช้แน่นพอและไฟต้องไม่ดับ ไม่อย่างนั้นอาจจะต้องมาเริ่มต้นติดตั้งกันใหม่ ซึ่งถ้าคิดว่ามีความเสี่ยง ก็แนะนำให้ต่อแบตฯ เข้าไปด้วย ดีกว่าต้องมานั่งเสียทำใหม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ต่อแบตฯ อย่างเดียวแล้วติดตั้ง ควรต่อสายชาร์จในขณะที่ติดตั้งไปด้วยเพื่อความปลอดภัย

5. โน้ตบุ๊กเสียงไม่ออกลำโพง

ปัญหาของเสียงที่ไม่ดังหรือเสียงไม่ออกลำโพง หลังจากการติดตั้ง อาจเกิดได้จากการที่ยังไม่ได้ลงไดรเวอร์หรือลงยังไม่ครบ โดยดูง่ายๆ ที่บริเวณ System Tray จะไม่มีไอคอนรูปลำโพงแสดงขึ้นมา แต่บางกรณีที่มีไอคอนแสดงแล้ว แต่จะแจ้งว่าไม่ได้ติดตั้งฮาร์ดแวร์เข้าไป ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ให้ติดตั้งไดรเวอร์เข้าไปใหม่ โดยอาจใช้วิธีดาวน์โหลดไดรเวอร์ตัวใหม่จากเว็บไซต์ของโน้ตบุ๊กมาติดตั้ง แล้วต้องไม่ลืมติดตั้งไฟล์รายละเอียดของไดรเวอร์เสียงให้ครบ เช่น บางรุ่นก็อาจจะต้องใช้ไดรเวอร์ High Definition Audio ร่วมด้วย แต่หากยังหาไม่เจออีก ก็อาจใช้ Automatic Search ของวินโดวส์ เพื่อให้ค้นหาบนอินเทอร์เน็ตแบบอัตโนมัติ

6. อยากให้แบตฯ อยู่ได้นานๆ

การต่อสายชาร์จไว้ตลอดเวลา ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการเก็บประจุ เนื่องจากจะมีระบบตัดการทำงาน เมื่อแบตฯ เต็มอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะช่วยยืดอายุของแบตฯ ได้ก็คือ ชาร์จขณะทำงานไว้ก็ได้ แต่เมื่อถึงช่วงหนึ่งที่เต็มแล้ว ก็อาจจะถอดสายชาร์จออกบ้าง แล้วใช้งานจนแบตฯ ใกล้หมด จากนั้นจึงต่อสายชาร์จใหม่อีกครั้ง เพื่อให้ประจุภายในแบตฯ ได้ทำงานอย่างทั่วถึง

สุดท้าย สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือ ถ้าเป็นเช่นนี้ ไม่ต้องต่อแบตฯ เข้ากับเครื่องเลยดีไหม ต่อแต่สายไฟเข้าเครื่องและใช้งานโดยตรง แบตฯ จะได้อยู่นานๆ ข้อนี้ก็สามารถทำได้ เพียงแต่อาจจะไม่สะดวกนัก รวมถึงแบตเตอรี่ปกติ ต้องมีการชาร์จและคายประจุบ้าง จึงจะสามารถใช้งานได้นาน ซึ่งหากทิ้งไว้ ใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง แต่ภายในแบตฯ ก็มีประจุอยู่บ้างแล้ว น่าจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะถึงเวลาหนึ่ง ก็ต้องเสื่อมสภาพไปอยู่ดี

อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยยืดอายุการใช้งานโน้ตบุ๊กให้ยาวนานขึ้น ต่อการชาร์ตไฟหนึ่งครั้งก็คือ การตั้งค่าระบบจัดการพลังงาน (Power Management) ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมการใช้พลังงานในรูปแบบของซอฟต์แวร์ นอกเหนือจากฟีเจอร์ของซีพียูที่ทำหน้าที่จัดการในตัวอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น Enhance Intel SpeedStep, C1E หรือ C State ก็ตาม

โดยการตั้งค่าก็สามารถเข้าไปตั้งค่าได้ง่ายๆ คือ หากเป็นโน้ตบุ๊กบางค่าย ก็จะมีซอฟต์แวร์ยูทิลิตี้ให้มาด้วย อย่างเช่น Power4Gear ของทาง ASUS หรือ ACER ePower Management แต่หากไม่ได้เป็นรุ่นที่มีมาให้ก็เพียงเข้าไปที่ Control Panel > Hardware and Sound > Power Options ซึ่งจะเข้าไปที่หน้าต่าง Select a Power Plan คลิกเลือกที่ Change Advance Power Setting โดยสามารถเข้าไปตั้งระบบพลังงานของอุปกรณ์แต่ละชิ้นได้เลย ไม่ว่าจะเป็น การแสดงผล หน้าจอ ฮาร์ดดิสก์ เครือข่าย ไปจนถึงการ Sleep ของระบบ แต่ถ้าไม่อยากเข้าไปแก้ไขรายละเอียดให้ยุ่งยาก ก็อาจเลือกเป็นหมวดหลักๆ ได้ทั้งแบบ Balance, High Performance และ Power Saver

7. ปัญหาที่จอโน้ตบุ๊ก เปิดเครื่องแล้วจอเป็นคลื่่น

ถ้าเป็นเครื่องที่ใช้มาไม่นาน ก็ไม่น่าจะเกิดจากการเสื่อมของจอ แต่เท่าที่ดูก็น่าจะมีอายุอย่างน้อย 2 ปี สิ่งที่อยากให้ดูในตอนแรกคือ เป็นตลอดการใช้งานหรือเปล่า อย่างเช่นในช่วง Standby หน้าจอปกติหรือการดูหนัง เล่นเกม ก็ยังเป็นเหมือนกันไหม ถ้าเป็นก็แสดงว่าไม่ได้เกิดจากการปรับรีเฟรชหน้าจอหรือซอฟต์แวร์ แต่อาจจะเกิดจากฮาร์ดแวร์ สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดก็คือ สายแพที่ต่อขั้วสัญญาณจอบนบอร์ดอาจจะหลวมหรือเสียหาย จากบานเปิดฝาพับของเครื่อง ซึ่งอาจจะต้องขอคำปรึกษากับทางร้านหรือต้องเปิดเครื่องลองดูว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนหรือแค่ขยับใหม่ก็หาย

8. โน้ตบุ๊กลง XP แล้วมีปัญหา

ปัญหาของ Windows XP ที่หนักที่สุดก็คือมันไม่สามารถติดตั้งลงในเครื่องที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ SATA ใน AHCI โหมดได้ เนื่องจากมันไม่มีไดรเวอร์ในการติดตั้งนั่นเอง เดิมทีในเครื่อง Desktop จะมีไดรฟ์สำหรับใส่แผ่น Floppy Disk A: อยู่ ซึ่งสามารถใส่ไดรเวอร์ให้ XP มองเห็นฮาร์ดดิสก์ได้

แต่ในโน้ตบุ๊กนั้นไม่สามารถทำได้ ทางแก้ไขก็คือปิดโหมด AHCI ไป ซึ่งก็จะทำให้ฮาร์ดดิสก์ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในด้านความเร็วอาจจะไม่ส่งผลกระทบมาก แต่เทคโนโลยีอย่าง Hot Swap หรือ NCQ จะไม่สามารถเรียกใช้งานได้นั่นเอง วิธีการแก้ไขคือเปลี่ยนไปใช้ Windows รุ่นใหม่ๆ อย่าง 7 หรือไม่อย่างนั้น ก็ต้องเอาแผ่น XP มาปรับแต่งเพิ่มไดรเวอร์ AHCI ลงไปในแผ่น โดยใช้โปรแกรมอย่างพวก nLite ก็ได้ครับ

9. ติดตั้งวินโดวส์บนโน้ตบุ๊กผ่าน External DVD Drive ไม่ได้

เป็นปัญหาที่มักจะเจอบ่อยๆ โดยเฉพาะกับโน้ตบุ๊กที่เป็น Ultra Slim หรือ Netbook ที่ไม่มีไดรฟ์ติดตั้งมาบนเครื่อง จึงจำเป็นต้องใช้ DVD Drive สำหรับติดตั้งแทน ปัญหาก็คือ บางครั้งไม่ได้ต่อพ่วงสายสัญญาณให้เรียบร้อย จึงใช้งานไม่ได้หรือบางครั้งไม่ยอมอ่านแผ่น ทางแก้ไขง่ายๆ ก็คือ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าต่อสาย USB เข้ากับตัวเน็ตบุ๊กแน่นดีหรือไม่ ที่สำคัญหากเป็นสาย USB แบบ 2 หัว แนะนำว่าต่อทั้ง 2 หัวคู่ เข้ากับเน็ตบุ๊กทั้งคู่ เพื่อให้จ่ายไฟกับตัวไดรฟ์อย่างเต็มที่ เมื่อเสร็จแล้วก็ให้เข้าไปดูในไบออส ว่ามีการตรวจสอบไดรฟ์เจอถูกต้องหรือไม่ ส่วนใหญ่ถ้าเจอ ก็มักจะรายงานเป็นชื่อและรุ่นของไดรฟ์ให้เสร็จสรรพ ที่เหลือก็คือ ตั้งค่า USB ให้เป็นตัวบูตเท่านั้นเอง

10. ทาส์กบาร์บนหน้าจอโน้ตบุ๊กกะพริบ

หากไม่ได้กะพริบแค่ในส่วนของไอคอนตัวใดตัวหนึ่ง เพื่อแสดงสถานะในการทำงานแล้ว ก็น่าจะเกิดจากปัญหาของหน้าจอ ที่อาจเกิดการเสื่อมหรืออาจเป็นหลังจากเกิดการกระแทก จนเสียหาย ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ก็คงต้องส่งซ่อม เนื่องจากพาแนลอาจจะเสียหรือผิดปกติ อย่างไรก็ดี อาจจะไม่ได้เสียหายโดยสิ้นเชิง แต่อาจจะเกิดจากสายแพสัญญาณของจอภาพที่ส่งมาจากเมนบอร์ด อาจจะหลวมหรือหลุด อันเนื่องมาจากการใช้งานมานาน บางครั้งใช้แค่เพียงขยับหรือเปลี่ยนสายแพใหม่ ก็หายแล้ว

 เนื้อหายังไม่จบ ค่อยอ่านกัน ไว้พรุ่งนี้พี่มิ้งค์จะเอาฝากกันต่อครับ แต่ถ้าอยากอ่านแบบเต็มๆ ก็ตามไปซื้อได้ในนิตยสาร Commart ฉบับล่าสุดครับ

32 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับ Notebook ตอนที่ 2

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook