"เทนเซ็นต์" ส่ง "WeChat" จับกลุ่มขาแชตคนไทย

"เทนเซ็นต์" ส่ง "WeChat" จับกลุ่มขาแชตคนไทย

"เทนเซ็นต์" ส่ง "WeChat" จับกลุ่มขาแชตคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เทนเซ็นต์" ส่ง "WeChat" จับกลุ่มขาแชตคนไทย

ตบเท้าเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ หลังประสบความสำเร็จมาแล้วในจีน, ไต้หวัน และฮ่องกง สำหรับ "WeChat"

"เดนนิส โหว" ผู้จัดการทั่วไป ศูนย์ผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ WeChat กลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท เทนเซ็นต์ จำกัด กล่าวว่า เปิดตัว WeChat ในจีนเมื่อต้นปี 2554 เมื่อประสบความสำเร็จจึงมุ่งขยายตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีคนจีนจำนวนมากในประเทศแถบนี้ ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคยังมีความคล้ายคลึงกัน โดยส่วนใหญ่นิยมใช้แอปพลิเคชั่น "อินสแตนต์เมสเซนเจอร์"

สำหรับในประเทศไทยมีข้อดีคือผู้บริโภคชื่นชอบความสนุก ชอบลองของใหม่ และติดตามเทรนด์

ปัจจุบันเทนเซ็นต์เริ่มทำตลาด WeChat ในประเทศไต้หวันและเขตปกครองพิเศษฮ่องกงมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งในประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 โดยมอบหมายให้บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด เริ่มทำตลาดมา 3-4 เดือนแล้ว ตั้งเป้าจับกลุ่มผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 22% จากตลาดมือถือ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 70 ล้านเครื่อง

"กฤตธี มโนลีหกุล" กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ เนื้อหาและการบริการ บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด เสริมถึงกลยุทธ์การทำตลาด WeChat ว่า ช่วงแรกเน้นการนำเสนอแอปพลิเคชั่นให้กลุ่มคนทำงานออฟฟิศแถบสีลม, อโศก, รัชดา แต่จากนี้จะเน้นเข้าไปทำตลาดกับกลุ่มผู้ใช้งานในมหาวิทยาลัย โดยส่วนตัวมองว่าแอปพลิเคชั่นด้านการสนทนามีโอกาสในตลาดอยู่แล้วใน 1-2 ปีนี้ ขณะที่ตลาดแอปพลิเคชั่นในประเทศไทยมีโอกาสให้เติบโตอีกมาก

ผู้บริหาร "เทนเซ็นต์" บอกว่า จุดประสงค์ของ WeChat คือทำให้มีผู้ใช้งานมากที่สุด เน้นเรื่องการพัฒนาแอปพลิเคชั่นตามความต้องการของกลุ่มผู้ใช้งานเป็นหลัก เมื่อมี

ผู้ใช้มาก นักธุรกิจ และแบรนด์ต่าง ๆ จะเริ่มให้ความสนใจ และเริ่มเข้ามาโฆษณาแบรนด์ของตนเองใน WeChat คาดว่า ในไทยจะมีลักษณะเดียวกันนี้

"WeChat ยังอยู่ในช่วงทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้ฐานลูกค้าที่ใหญ่และมีประสิทธิภาพเพียงพอ จากนั้นจึงจะคิดเรื่องรูปแบบการหารายได้ โดยระหว่างนี้จะหารายได้จากการให้บริการในเซอร์วิสรูปแบบอื่น ๆ เข้ามาทดแทน"

แอปพลิเคชั่น WeChat มีผู้ใช้ทั่วโลก 200 ล้านคน รองรับการใช้งานบนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการไอโอเอส, วินโดวส์โฟน, แอนดรอยด์ และซิมเบี้ยน และจะพัฒนาให้รองรับระบบปฏิบัติการแบล็คเบอร์รี่ในอนาคตด้วยโดยแอปพลิเคชั่นจะทำหน้าที่เป็น "แพลตฟอร์ม" เชื่อมผู้คนเข้าหากันและหาเพื่อนใหม่ มีฟังก์ชั่นรองรับการส่งข้อความตัวอักษร, รูป, วิดีโอ, ข้อความเสียง, การสนทนาเป็นกลุ่ม รวมถึงการสนทนาสดด้วยเสียงทั้งแบบที่เห็นหน้าและไม่เห็นหน้า โดยรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook