ปิดตำนาน "ฮอตเมล์" อวสานและการเริ่มต้นใหม่

ปิดตำนาน "ฮอตเมล์" อวสานและการเริ่มต้นใหม่

ปิดตำนาน "ฮอตเมล์" อวสานและการเริ่มต้นใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปิดตำนาน "ฮอตเมล์" อวสานและการเริ่มต้นใหม่

ข่าวสารในแวดวงไอทีทุกค่ายยืนยันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า "ฮอตเมล์" เว็บเมล์อันดับต้นๆ ของโลก นั้นเดินทางมาถึงคราวอวสาน-ปิดตัวลงในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้แน่นอน หลังให้บริการมานานกว่า 16 ปี มียอดผู้ใช้งานปัจจุบันกว่า 360 ล้านแอ๊กเคาต์ทั่วโลก

นับเป็นข่าวสะเทือนวงการอีกครั้งจากฟาก "ไมโครซอฟท์" ยักษ์ใหญ่วงการคอมพิวเตอร์ที่กำลังดิ้นรนแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดของตัวเองกลับคืนมา

ต่อเนื่องจากประกาศสุดช็อก ขีดเส้นตายปิดให้บริการ "วินโดว์ส ไลฟ์ เมสเซ็นเจอร์" (ดับเบิ้ลยูแอลเอ็ม/เอ็มเอสเอ็น) ทำให้ผู้บริโภคต้องหันไปใช้ "สไกป์" แทน จนผู้ใช้บางส่วนรู้สึกปรับตัวไม่ทัน

การปิดตัวลงของ ฮอตเมล์ เกิดขึ้นหลัง ความพ่ายแพ้ต่อ "จีเมล์" เว็บเมล์ที่พัฒนาโดย "กูเกิ้ล" บิ๊กเบิ้มวงการเสิร์ชเอ็นจิ้น ที่มียอดผู้ใช้งานแซงทะลุ 425 ล้านแอ๊กเคาต์ไปตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 คว้าอันดับเว็บเมล์ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกมาครองแทน ฮอตเมล์

ส่งผลให้ไมโครซอฟท์ตัดสินใจปฏิรูประบบการให้บริการอีเมล์ของตัวเองอีกครั้ง แม้จะเพิ่งผ่าตัดใหญ่ ฮอตเมล์ ไปเมื่อเดือนต.ค. 2554

โดยการปรับปรุงระบบ "ฟรีอีเมล์" ครั้งล่าสุดนี้ มีข่าวว่าไมโครซอฟท์หวังจะได้ใจ ผู้บริโภคกลับคืนมา ภายใต้ชื่อแสนคุ้นเคยอย่าง "เอาต์ลุก" ที่ไส้ในนั้นถูกดีไซน์มาแบบใหม่ถอดด้าม เน้นความเรียบง่ายและทันสมัย มีการตอบสนองว่องไว กระฉับกระเฉง

ไมโครซอฟท์ ระบุว่า เสียงตอบรับ "เอาต์ลุก" ตัวใหม่ ซึ่งจะมาใช้แทนที่ฮอตเมล์นั้น "เสียงตอบรับ" อยู่ในขั้นน่าพอใจมากทีเดียว

เพราะหลังการเปิดตัวทดลองใช้เพียง 6 เดือน ก็สามารถดึงดูดให้มีผู้มาลงทะเบียนกว่า 60 ล้านแอ๊กเคาต์ไปเรียบร้อย และกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย 1 ใน 3 ของผู้ลงทะเบียนเปลี่ยนมาจากจีเมล์ ทำให้ไมโครซอฟท์ออกมาประกาศแผนให้เอาต์ลุก "เขมือบ" ฐานข้อมูลแอ๊กเคาต์ของผู้ใช้บริการฮอตเมล์ ทั้งหมดภายในเดือนเม.ย.นี้ เป็นต้นไป ถือเป็นการประกาศศึกท้าชนรอบใหม่กับจีเมล์!

ฮอตเมล์ นับเป็นหนึ่งในเว็บไซต์ให้บริการอีเมล์ หรือเว็บเมล์แบบ "สแตนด์-อโลน" ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก รุ่นราวคราวเดียวกับ "ยาฮู! เมล์" (ร็อกเกตเมล์) ก่อตั้งโดยชาวสหรัฐ 2 คน ได้แก่ นายซาเบียร์ บาเตียร์ และ นายแจ๊ก สมิธ

เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ 4 ก.ค. 2539 ตรงกับ "วันชาติสหรัฐ" เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพในการใช้บริการอีเมล์ที่ไม่ขึ้นตรงกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต หรือไอเอสพี และทำให้ผู้ใช้บริการทั่วโลกสามารถเข้าถึงอีเมล์ของตัวเองได้ทุกที่ ทุกเวลา

ซึ่งคำว่า "ฮอตเมล์" ถูกเลือกขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับ "เอชทีเอ็มแอล" ที่เป็นภาษาดิจิตอลซึ่งใช้เขียนเว็บไซต์ (HoTMaiL) โดยให้พื้นที่เก็บข้อมูลแก่ผู้ใช้บริการ แอ๊กเคาต์ละ 2 เมกะไบต์

ต่อมาเพียง 1 ปี หลังเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ฮอตเมล์มีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกถึง 8.5 แอ๊กเคาต์ทั่วโลก ก่อนจะถูกขายให้กับไมโครซอฟท์ไปในราคา 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.2 หมื่นล้านบาท (ค่าเงินปัจจุบัน) เมื่อเดือนธ.ค. 2540 และถูกผนวกรวมกับเข้ากับบริการ "ไมโครซอฟท์ เน็ตเวิร์ก" หรือเอ็มเอสเอ็น ต่อมาเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในระยะเวลา 2 ปี มีแอ๊กเคาต์เพิ่มเป็น 30 ล้านแอ๊กเคาต์ ผงาดเป็นเว็บเมล์ที่มียอดผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก

กระทั่งในปี 2547 บริษัทกูเกิ้ล ได้เปิดตัว "จีเมล์" ที่มีจุดเด่นเหนือกว่าทั้งในด้านขนาดความจุ ความรวดเร็ว และความยืดหยุ่นของข้อมูล ก่อให้เกิดกระแสการแข่งขันการพัฒนานวัตกรรมด้านการให้บริการอีเมล์อย่างดุเดือด ระหว่างจีเมล์ ยาฮู!เมล์ และฮอตเมล์ ที่ต่างทยอยเพิ่มขนาดความจุ ปรับปรุงความเร็ว และเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้อย่างต่อเนื่อง

แต่ในที่สุดยอดผู้ลงทะเบียนของจีเมล์แซงหน้าฮอตเมล์ และยิ่งทิ้งห่างไปอีก ภายหลังสมาร์ตโฟนที่ใช้โอเอส "แอนดรอยด์" ของ กูเกิ้ล ซึ่งแนะนำให้ผู้ใช้งานสมัครเป็นสมาชิกจีเมล์ ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น

ไมโครซอฟท์ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านจากฮอตเมล์สู่เอาต์ลุกดังกล่าวจะมีความราบรื่น โดยอีเมล์ แฟ้มงาน และข้อมูลการติดต่อ รวมทั้งการตั้งค่าต่างๆ ตลอดจนระบบตอบกลับอัตโนมัติ จะยังคงอยู่เหมือนเดิม

สมาชิกฮอตเมล์สามารถเข้าใช้แอ๊กเคาต์ของตัวเองได้ตามปกติที่ www.outlook.com แทน ด้วยชื่อแอ๊กเคาต์และรหัสผ่านเดิม

นอกจากนี้ ตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ได้นำข้อติชมต่างๆ จากผู้ใช้บริการจริงมาปรับปรุงระบบและรูปแบบต่างๆของเอาต์ลุกด้วย ดังนั้นผู้ใช้ ฮอตเมล์ ทั้งหลายอย่างเพิ่งอึดอัด สับสน ตระหนก วิตก ระแวง จนเกินไป

สําหรับฟีเจอร์เด่นๆ ของ เอาต์ลุกใหม่ ได้แก่ "สวีป" ที่ทำให้ ผู้ใช้ตั้งค่าการปฏิบัติต่างๆ ต่ออีเมล์แต่ละฉบับที่ถูกส่งเข้ามาโดยอัตโนมัติ เพื่อแก้ไขปัญหา "ขยะท่วม" กล่องอีเมล์ เนื่องจากพบว่า อีเมล์กว่าร้อยละ 80 ในกล่องของผู้ใช้นั้นเป็นอีเมล์เกี่ยวกับการโฆษณาและธุรกิจเชิญชวน


อีกฟีเจอร์หนึ่ง คือ การลดโฆษณา หรือ "แอดส์" ที่ติดมากับอีเมล์ ซึ่งสร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้

และเอาต์ลุก ยังสามารถเชื่อมต่อกับแอ๊กเคาต์ของบริการเครือข่ายสังคมที่ได้รับความนิยมสูง เช่น Facebook, LinkedIn, Sina weibo และ Twitter ของผู้ใช้ได้ ซึ่งทำให้ลดปัญหาแอดส์น่ารำคาญลงได้เฉลี่ยร้อยละ 60

ขณะที่ "สกายไดรฟ์" หรือ บริการสำหรับเก็บข้อมูลไว้บนเซิร์ฟเวอร์ (คลาวด์) ก็จะเชื่อมต่อเข้ากับเอาต์ลุกด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่ผู้ใช้เคย "อัพโหลด" ไว้ สามารถถูกนำไปแบ่งปันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

ที่สำคัญคือ ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแนบไฟล์ส่งที่มีขนาดสูงสุดได้ถึง 300 เมกะไบต์! (จีเมล์ให้แค่ 25 เมกะไบต์) และความจุกล่องอิน บ็อกซ์ 5 กิกะไบต์ ที่จะเพิ่มขึ้นตามการใช้งาน พร้อมระบบ "เอ็กซ์เชนจ์ แอ๊กทีฟ ซิงก์" ที่เชื่อมต่อครบวงจรทั้งอีเมล์ รายชื่อติดต่อ และปฏิทินในสมาร์ตโฟนที่ใช้โอเอสเป็นวินโดว์ส หรือที่นิยมเรียกว่า "วินโดว์ส โฟน"

ด้านรูปลักษณ์ใหม่ของเอาต์ลุก นั้นมีลักษณะเหมือนกับ "วินโดว์ส 8" ระบบปฏิบัติการ หรือโอเอสใหม่ ของไมโครซอฟท์ คือเป็น "เมโทร-สไตล์" ที่เน้นความเรียบหรู แลดูไม่รกหูรกตา

โดยผู้ใช้สามารถเข้าสู่เมนูหลักได้ที่บริเวณมุมซ้ายบน จะมีเมนูเลื่อนลงมา ประกอบด้วย 4 โหมด ได้แก่ "Mail" "People" "Calendar" และ "SkyDrive" สำหรับตรวจอีเมล์ เชื่อมต่อเว็บไซต์เครือข่ายสังคม สร้างปฏิทินเตือนความจำ และบริการเก็บข้อมูลแบบคลาวด์ ตามลำดับ

นอกจากนี้ แอ๊กเคาต์ของเอาต์ลุกจะผนวกเข้ากับแอ๊กเคาต์ของ "เอ็กซ์ บ็อกซ์ ไลฟ์" และแอพพลิเคชั่นพื้นฐานต่างๆ ในวินโดว์ส 8 ด้วย

ส่วนลักษณะภายใน "อิน บ็อกซ์" ที่เป็นส่วนเก็บอีเมล์ทั่วไป ถูกออกแบบมาให้มีความรวดเร็วและง่ายต่อการอ่าน ผู้ใช้เลือกปรับเปลี่ยนสีพื้นฐานต่างๆ ได้ โดยบริเวณขอบด้านบนสุดถูกออกแบบใหม่ให้มีขนาดกะทัดรัด เพื่อเพิ่มเนื้อที่แสดงอีเมล์ด้านล่างให้แลเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น

ไมโครซอฟท์ระบุด้วยว่า จะไม่มีโฆษณา หรือแอดส์ติดมาอย่างสิ้นเชิง และจะ "ไม่มีการเก็บข้อมูลใดๆ ของผู้ใช้เพื่อนำไปจำหน่ายต่อให้โฆษณาต่างๆ" เหมือนกับที่จีเมล์ทำอยู่

รวมทั้งเอาต์ลุก ยังทำงานอยู่บนโปรโต คอลแบบ "เอชทีทีพีเอส" ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่าโปรโตคอลแบบ "เอชทีทีพี" ที่ใช้กันทั่วไป เมื่อผู้ใช้เปิดอีเมล์ของผู้ที่มีรายชื่อบันทึกอยู่ใน "คอนแท็กต์" ระบบจะแสดงข้อมูลทางด้านเครือข่ายสังคมที่ผู้ใช้มีกับรายชื่อนั้นเพื่อให้สามารถติดต่อกันได้อีกทางหนึ่งด้วย

นายไมเคิล มัชมัวร์ กูรูไอทีจากเว็บไซต์พีซีแม็กของสหรัฐ ระบุภายหลังทดลอง ใช้ว่า บริการเว็บเมล์ใหม่ของไมโครซอฟท์ เป็นการผสมผสานกันระหว่างความรวดเร็ว เรียบง่าย และเครื่องมือการคัดกรองอีเมล์ที่ยอดเยี่ยม การเชื่อมต่อเครือข่ายสังคม และสกายไดรฟ์ แต่มีข้อเสียอยู่ตรงที่ไม่มีตัวเลือก และลูกเล่นให้ผู้ใช้ปรับแต่งมากเท่าที่ควร

นายมัชมัวร์กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ใช้บริการเว็บเมล์ต้องการส่วนใหญ่ คือ ความสะดวกรวดเร็ว ความสะอาดตา และความชัดเจน รวมทั้งความง่ายในการใช้งาน ตลอดจนการเชื่อมต่อเครือข่ายสังคม การบริการเก็บข้อมูลคลาวด์ พร้อมระบบการสนทนาออนไลน์ และความเร็วที่เหนือชั้นในการเปิดอ่านอีเมล์...

เอาต์ลุกเป็นเว็บเมล์ที่มอบสิ่งเหล่านี้ให้กับผู้บริโภค! "เรียบง่าย แต่เปี่ยมด้วยพลัง" นายมัชมัวร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายชาลส์ คิง นักวิจัยการตลาดไอทีจากบริษัท พันด์-ไอที เห็นว่า ผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปลี่ยนผ่าน ครั้งนี้ คือ ผู้ใช้บริการฮอตเมล์ เนื่องจากจะถูกย้ายไปใช้แพลตฟอร์มใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงมาจากข้อบกพร่องของฮอตเมล์

จุดมุ่งหมายของไมโครซอฟท์ คือ มุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้บริโภคใหม่และทำให้คนกลุ่มนี้ภักดีกับแบรนด์เอาต์ลุก

นายคิงชี้ว่า เอาต์ลุกเป็นเว็บเมล์ที่ดี และอาจถึงขั้นยอดเยี่ยมด้วย ทว่าเอาต์ลุกยังขาดเสน่ห์แรงๆ ที่จะจูงใจให้ผู้ใช้บริการเก่าอื่นๆ ยอมสละเวลามาสมัครอีเมล์ใหม่ เว้นเสียแต่ว่าผู้ใช้บริการเก่าเหล่านั้นจะผิดหวังกับเว็บเมล์ปัจจุบันเอามากๆ นอกจากนี้ การสมัครใหม่ยังหมายถึงปัญหาการติดต่อจากผู้อื่น ทำให้ผู้สมัครใหม่ต้องเสียเวลามานั่งคอยบอกอีเมล์ใหม่ให้กับผู้ติดต่อทุกคน

"นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมไมโครซอฟท์ถึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการเชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ รวมทั้งการใช้เรื่องไม่มีแอดส์เป็นจุดขาย เพราะต้องการทำให้ผู้บริโภคมองว่าการใช้อีเมล์ของเจ้าอื่นๆ ทำให้ข้อมูลของตนถูกละลาบละล้วง จนรู้สึกไม่พอใจ และในที่สุดก็อาจเปลี่ยนมาใช้เอาต์ลุกแทน" นายคิงกล่าว

จันท์เกษม รุณภัย รายงาน  ที่มา : นสพ.ข่าวสด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook