ความพยายามครั้งใหม่ ของ...ยักษ์มือถือ

ความพยายามครั้งใหม่ ของ...ยักษ์มือถือ

ความพยายามครั้งใหม่ ของ...ยักษ์มือถือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความพยายามครั้งใหม่ ของ...ยักษ์มือถือ

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.....เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าทรูมูฟ และดีพีซี (ดิจิทัลโฟน) มีปัญหา "ซิมดับ" หลังสัมปทานที่ได้รับสิทธิ์จาก บมจ.กสท โทรคมนาคม สิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.นี้

ซีอีโอยักษ์มือถือ "เอไอเอส" (เครือเดียวกับดีพีซี) "วิเชียร เมฆตระการ" ระบุว่า เห็นด้วยในหลักการในเกณฑ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคของ กทค.แต่การเยียวยาต้องเน้นที่ลูกค้า ไม่ใช่ผู้ให้บริการ เพราะ กทค.คือคนชี้ว่าใครควรได้ใช้คลื่นต่อไป ไม่ใช่ผู้ประกอบการ ดังนั้นจึงขอแค่ให้ชัดเจนว่าจะให้ใครดำเนินการ

สำหรับบริษัทมองว่าไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ปี เพราะหลักการของ กสทช.ต้องการให้เริ่มการกำกับดูแลด้วยระบบใบอนุญาต หากยื้อไว้เท่ากับทำให้ระบบสัมปทานต่อไปไม่มีเหตุผล

"เราไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า กทค.มีสิทธิ์แค่ไหนที่จะให้ความถี่ต่อ อาจมีคนท้าทาย และสุดท้ายไปจบกันที่ศาลปกครอง หลายคนอาจบอกว่าดีพีซีพูดได้ เพราะมีลูกค้าแค่หลายหมื่น อย่าลืมว่าเราใช้คลื่นนี้เพื่อโรมมิ่งให้ลูกค้าเอไอเอสหลายล้านรายด้วย ความถี่ 900 ที่มีอยู่ไม่พอถึงไม่ใช่ลูกค้าโดยตรง แต่จ่ายเงินใช้โครงข่ายนี้"

เรื่องผลประโยชน์ตอบแทนระหว่าง กสทฯ กับดีพีซี ควรอ้างอิงตามเงื่อนไขสัมปทานเดิม เมื่อเป็นมา 15 ปี 30 ปี จะต่อไปอีกปีจะเป็นอะไรไป ไม่เกี่ยวกับลูกค้ามากหรือน้อย เพราะรายได้จากการโรมมิ่งแบ่ง กสทฯ 30% เหมือนกันต่อให้ใช้น้อย ในสัมปทานประกันรายได้ขั้นต่ำอยู่แล้ว

"ถ้าต้องแก้เงื่อนไขเยอะจะกลายเป็นเยียวยาผู้ประกอบการ แม้ผู้ประกอบการจะอยากได้รับการเยียวยา แต่ในความเป็นจริงทำได้ถูกต้องหรือไม่ มีใครยืนยันได้บ้าง ถ้าต้องเจรจาส่วนแบ่งรายได้ใหม่ เพิ่มโน่นขอลดนี่อีกปีก็ไม่จบ ไม่มีการตีความด้วยซ้ำว่าเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนหรือไม่ เพราะเกินพันล้าน"

หลักการที่ "เอไอเอส" เสนอไป คือจบทุกอย่างใน 1 ปี มีการประมูลความถี่ทันที ให้รู้ผลผู้ชนะภายใน 15 ก.ย. 2557 จะได้ไม่ต้องเยียวยาต่อ ในฐานะผู้บริหารเอไอเอส ยินดีให้คลื่น 900 MHz ที่จะหมดในปี 2558 มาประมูลพร้อมกัน เพื่อให้รู้ว่าใครจะใช้คลื่นต่อ การบริการจะได้ไม่สะดุด

"ไม่ได้หมายความว่าเรายอมให้สัมปทานหมดก่อนกำหนด เรายังใช้ต่อจนสัมปทานสิ้นสุด มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว แต่ให้นำไปประมูลพร้อมกันจะได้ประหยัดงบฯจัดประมูล ถ้ารู้ล่วงหน้า คลื่น 900 MHz

ก็ไม่ควรต้องขอเวลาเยียวยา จะอ้างว่าลูกค้า 30 ล้านรายไม่ได้ ในฐานะนักธุรกิจ

ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ก่อน ซีอีโอควรโดนไล่ออก ไม่ใช่อ้างว่าเพื่อความเสมอภาค เยียวยา 1800 MHz แล้วต้อง 900 ด้วย"

"วิเชียร" บอกว่า คลื่นที่มีกำลังจะไม่พอ แม้เพิ่งได้ 2100 MHz ทุกรายเจอปัญหาว่าโทรศัพท์มือถือ 3G วันนี้ต่างจาก 5 ปีก่อนมาก ไอโฟน 5 แท็บเลต และ Line ใช้ความเร็วมากกว่า 2-3 ปีก่อน ทำให้ต้องใช้แบนด์วิดท์มาก ทางออกคือหาความถี่เพิ่ม หรือหาแพลตฟอร์มใหม่ ๆ มาให้บริการ เช่น 4G LTE

"หากลูกค้าเอไอเอสย้ายมาใช้ 3G 2100 MHz ทั้ง 30 ล้านราย คลื่น 2100 MHz ก็จะติดขัด ที่ต้องเร่งให้โอนย้าย เพื่อกระจายการใช้คลื่น 900 MHz ใช้ได้อีก 2-3 ปี 1800 MHz ไม่รู้จะออกมาแบบไหน ลูกค้าเอไอเอสย้ายไปใช้ 2100 MHz 2 ล้านรายแล้ว โดย Call Transit แทนย้ายด้วย MNP (คงสิทธิเลขหมาย) เพราะปัญหาเคลียริ่ง

เฮาส์ไม่ใช่ปัญหาเราหรือลูกค้า จะให้ปัญหาของระบบเคลียริ่งเฮาส์มาดึงลูกค้าไว้ไม่ได้ เมื่อศักยภาพระบบเสร็จปัญหาก็จบ เราพร้อมจ่ายค่าพอร์ต 29 บาทให้ลูกค้า"

เป้าหมาย 3G 2100 MHz ของเอไอเอส ในแง่ฐานลูกค้าอยู่ที่ 10 ล้านรายภายในสิ้นปี ผ่านมา 1 เดือน ได้ 2 ล้านราย อีก 6 เดือน เดือนละ 2 ล้านราย คงเฉียดเป้าหมาย ส่วนการใช้คลื่น 2300 MHz ของทีโอที คงต้องแล้วแต่เจ้าของคลื่น จุดยืนเอไอเอสอยู่ที่ว่าแนวทางใดที่ผู้บริโภคได้ประโยชน์

ถ้ามีการประมูลคลื่นใหม่ "เอไอเอส" พร้อมร่วมด้วย ทุกวันนี้ผู้ถือหุ้นกดดันทุกครั้งว่าหลังหมดสัมปทานจะทำอย่างไรต่อ การประมูลทำให้ตอบนักลงทุนได้ ถ้าประมูลแค่ 1800 MHz เฉพาะ 25 MHz ก็ถือเป็นโอกาส แต่ต้องถามความเห็นผู้ถือหุ้นด้วยว่าสู้ไหม

"หน้าที่ซีอีโอคือทำอย่างไรไม่ให้หลุดมือ เพื่อให้บริษัทมีทรัพยากรมาทำธุรกิจต่อเนื่อง แต่ถ้าผู้ถือหุ้นเห็นว่าแพงเกินก็ต้องปล่อย"

ฟังความในใจซีอีโอ "เอไอเอส" แล้ว ชัดเจนตรงไปตรงมาเป็นอย่างยิ่งว่าสเต็ปถัดจากนี้คือการเดินหน้าหาคลื่นใหม่ต่อไป น่าจับตาข้อเสนอที่ว่ายินดีให้คลื่น 900 MHz ประมูลพร้อมกันกับ 1800 MHz จะลงเอยอย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook