"SMS"หมดเสน่ห์ยอดใช้งานลดฮวบ สารพัดแอป"แชต"ดับรัศมีเบนเข็มจับลูกค้าองค์กร

"SMS"หมดเสน่ห์ยอดใช้งานลดฮวบ สารพัดแอป"แชต"ดับรัศมีเบนเข็มจับลูกค้าองค์กร

"SMS"หมดเสน่ห์ยอดใช้งานลดฮวบ สารพัดแอป"แชต"ดับรัศมีเบนเข็มจับลูกค้าองค์กร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"SMS"หมดเสน่ห์ยอดใช้งานลดฮวบ สารพัดแอป"แชต"ดับรัศมีเบนเข็มจับลูกค้าองค์กร

"เอสเอ็มเอส" สิ้นมนต์ขลัง หลังสารพัดแอปพลิเคชั่น "แชต" แจ้งเกิดยุคโซเชีย ลเน็ตเวิร์กบูม ค่ายมือถือยอมรับถึงยุคขาลง-อัดฉีดแพ็กเกจกระตุ้นไม่ได้ผล "เอไอเอส" เผยเห็นสัญญาณตั้งแต่ปีที่แล้ว ยอดใช้ช่วงเทศกาล"ปีใหม่-วาเลนไทน์" วูบไตรมาสละ 7% "ดีแทค" เบนเข็มจับกลุ่มองค์กร ฝั่ง"ทรู" ไม่เน้นทำตลาดแล้ว


ความนิยมในการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก และสารพัดโปรแกรม "แชต" ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, ไลน์, วอตส์แอป และที่จะมีตามมาอีกมากมาย ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริการพื้นฐานดั้งเดิม อย่างการส่งข้อความสั้น หรือ "เอสเอ็มเอส" (SMS)

การใช้งานลดเกือบ 10%

นายปรัธนา ลีลพนัง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริการดิจิทัล บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ยอดการใช้งานเอสเอ็มเอสของผู้บริโภคลดลงจากความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน หลังจากราคาสมาร์ทโฟนปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเครื่องที่ใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มีราคาเหลือเพียง 5-8 พันบาทเท่านั้น ทำให้การใช้แอปพลิเคชั่นประเภท "แชต" ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนเอื้อมไม่ถึงอีกต่อไป รวมถึงการใช้โซเชียลมีเดียที่ทำให้ผู้บริโภคใกล้ชิดกันมากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ยอดการใช้เอสเอ็มเอสลดลงเฉลี่ยไตรมาสละประมาณ 7% มาระยะหนึ่งโดยเฉพาะที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนเป็นช่วงเทศกาล เมื่อก่อนลูกค้ามีการส่งข้อความสั้นเพิ่มขึ้นมาก เช่น ช่วงปีใหม่, ตรุษจีน และวาเลนไทน์ เป็นต้น แต่เมื่อถึงยุคสมาร์ทโฟนได้รับความนิยม ยอดการส่งเอสเอ็มเอสลดลงกว่า 15-20% เมื่อนำไปเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในแง่จำนวนผู้ส่งยังอยู่ในปริมาณเดิม แต่ที่ลดลงเป็นจำนวนข้อความต่อคน แต่ในทางกลับกัน การใช้งานดาต้าบนแอปพลิเคชั่น เช่น ไลน์, เฟซบุ๊ก และ

วอตส์แอป เพิ่มขึ้นกว่า 200%

"เอสเอ็มเอสถือเป็นบริการพื้นฐานที่มีการใช้งานมากที่สุด รองลงมาจากการใช้วอยซ์ เพราะเป็นการสื่อสารที่ผู้รับและผู้ส่งไม่ต้องกังวลเรื่องรุ่นของโทรศัพท์มือถือ แม้แต่กลุ่มที่มีการใช้ Social Network หรือ Chat หากต้องการสื่อสารนอกกลุ่ม บริการ SMS ยังเป็นบริการพื้นฐานที่มีการใช้งาน จึงเชื่อว่า SMS จะยังอยู่ในฐานะบริการพื้นฐานที่ยังมีการใช้งานเสมอเช่นเดียวกับ Voice แต่อาจไม่เติบโตแบบก้าวกระโดด เพราะมีทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มขึ้น"

สำหรับ "เอสเอ็มเอส" ในรูปแบบคอนเทนต์ เช่น การรายงานข่าวสาร, ผลฟุตบอล หรือดูดวง ก็มีการใช้งานลดลงเช่นเดียวกัน แต่ไม่มากนัก เพราะมีเพียงลูกค้ากลุ่มเล็ก ๆ ที่เลิกใช้ เพราะหันไปรับข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องการได้รับข่าวด่วนผ่านระบบเอสเอ็มเอสมากกว่าต้องไปค้นหาด้วยตัวเอง ดังนั้น กลุ่มที่ทำธุรกิจด้านคอนเทนต์จำเป็นต้องหาข้อมูลเชิงลึก หรือในรูปแบบเอ็กซ์คลูซีฟ รวมถึงมีการสร้างแอปพลิเคชั่นแบบบอกรับสมาชิก เพื่อไม่ให้รายได้ลดลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองรายได้ของ "เอไอเอส" ในฝั่งนอนวอยซ์ (การส่งข้อความ, เล่นอินเทอร์เน็ต และคอนเทนต์ต่าง ๆ) และบริการรับส่งข้อความสั้นเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งในภาพรวมในไตรมาสสุดท้ายปีที่แล้วยังเติบโต 6.4% มีรายได้ 7,687 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากบริการข้อมูล (ดาต้า) ที่เติบโตกว่า 64%

เบนเข็มจับตลาดองค์กร

อย่างไรก็ตาม บริการ "เอสเอ็มเอส" ไม่ได้มีแค่การใช้งานระหว่างบุคคลต่อบุคคล แต่องค์กรต่าง ๆ ยังมีการนำไปใช้ติดต่อกับลูกค้าของตัวเอง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย โดยนายปรัธนากล่าวว่า การใช้งานในหลายกลุ่มธุรกิจมีการใช้เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มธนาคาร และบริษัทหลักทรัพย์, กลุ่มโรงพยาบาล และธุรกิจบริการยานยนต์ เป็นต้น มีการนำเอสเอ็มเอสไปใช้แจ้งเตือนลูกค้าในกรณีต่าง ๆ เช่น การนัดพบแพทย์ หรือการทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการส่งข้อความในลักษณะโฆษณา ทำให้เมื่อนับรายได้เฉพาะกลุ่มนี้โตขึ้น 10-15% ต่อปี

ด้านนายปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า การส่งข้อความในกลุ่มองค์กรมีการใช้เพิ่มขึ้นชัดเจน เพราะหลายหน่วยงานหันมาใช้เอสเอ็มเอสในการตลาดมากขึ้น รวมถึงการใช้เพื่อแจ้งเตือนข้อมูลลูกค้า โดยเฉพาะกับกลุ่มการเงิน ปัจจุบัน การใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งกำลังเป็นที่นิยม ซึ่งการโอนเงินแต่ละครั้ง ผู้ใช้ต้องมี OTP (One Time Password) เพื่อเข้าใช้ โดยธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์จะส่งรหัสไปทางเอสเอ็มเอสเพื่อยืนยัน เป็นต้น

"การใช้งานในกลุ่มองค์กรเติบโตสวนทางกับการใช้งานของผู้บริโภคทั่วไปที่ค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ ที่องค์กรต่าง ๆ หันมาใช้มากขึ้น เพราะเป็นช่องทางการทำตลาดที่เข้าถึงผู้ใช้โดยตรง ซึ่งไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจ กลุ่มราชการก็เริ่มใช้ เช่น กรณีเรียกมารับวีซ่า หรือกรมสรรพากรใช้ในการแจ้งข้อมูล เรื่องภาษี เป็นต้น จากเดิมมีแต่กลุ่มสถาบันการเงิน และกลุ่มที่ให้บริการข้อมูลซื้อเหมา เช่น กลุ่มสามารถ และเครือโมโน เป็นต้น"

นายปกรณ์กล่าวต่อว่า การส่งเอสเอ็มเอสในกลุ่มองค์กรมีราคาลดลงเหลือไม่ถึง 1 บาทต่อครั้ง และถ้ามีการซื้อไปใช้ในจำนวนมากราคาจะลดลงอีก ดีแทคจึงตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมกว่า 10 ล้านบาท ขยายระบบเพื่อให้สามารถส่งข้อความได้พร้อมกันมากขึ้น เพราะถือเป็นช่องทางสร้างรายได้ใหม่ทดแทนบริการ "เอสเอ็มเอส" ระหว่างบุคคลที่ลดลง แต่ปัจจุบันการใช้งานของกลุ่มองค์กรเมื่อเทียบกับบุคคลยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยรายได้บริการนอนวอยซ์ในไตรมาสแรกของดีแทคอยู่ที่ 5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 12.8% แบ่งเป็นรายได้จากการใช้อินเทอร์เน็ต 69% ส่วนเอสเอ็มเอสมีสัดส่วน 14% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ 2% คาดว่าภายใน 2-3 ปี การใช้งานจะไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง และเหลือเพียงผู้ใช้กลุ่มเล็ก ๆ กับกลุ่มองค์กร

เลิกอัดแพ็กเกจกระตุ้นการใช้งาน

"ถ้าจะพูดว่าเอสเอ็มเอสไม่มีคุณค่าต่อลูกค้าอีกต่อไปก็คงไม่ผิด เพราะไม่สามารถจูงใจให้ลูกค้ามาใช้ได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น ทั้งเราและลูกค้าจึงมองบริการนี้เป็นเพียงบริการขั้นพื้นฐานที่ต้องใช้ ไม่ได้มีความจำเป็นอะไร มีทางเลือกที่ดีกว่า คือดาต้า กับแอปพลิเคชั่นแชตต่าง ๆ จากนี้จะไม่เน้นทำตลาดอีก แต่จะหันไปคิดแพ็กเกจเกี่ยวกับดาต้า เพื่อดึงดูดการใช้งานเพิ่มขึ้นมากกว่า"

นางสาวกิรณา ชีวชื่น รองผู้อำนวยการสายงานไวร์เลส คอนเทนต์ และแอปพลิเคชั่น บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า การใช้เอสเอ็มเอสในกลุ่มองค์กรยังเติบโตชัดเจน โดยกลุ่มที่นำไปใช้เพื่อการโฆษณา เป็นกลุ่มที่ใช้เยอะที่สุด เพราะทำตลาดได้ถึงผู้บริโภคโดยตรง ผ่านการระบุเป้าหมายจากข้อมูลการใช้งานของบริษัท อีกทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี และองค์กรขนาดกลาง เมื่อเป็นลูกค้ากับบริษัทจะเลือก "เอสเอ็มเอส" เป็นบริการแรก ๆ ที่ต้องการใช้ เพราะสื่อสิ่งที่ต้องการได้ถึงผู้รับแน่นอน และพัฒนาได้ทั้งการส่งภายในองค์กร และทำตลาดกับผู้บริโภคได้ บริษัทจึงให้ความสำคัญนี้ เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป

"เมื่อผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟน การใช้เอสเอ็มเอสลดลงอย่างเห็นได้ชัด มีบางส่วนใช้อยู่ แต่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต้องการความมั่นใจว่าได้รับข้อความที่ส่งไป"

สำหรับรายได้จากการใช้เอสเอ็มเอสในไตรมาสแรกที่ผ่านมาอยู่ที่ 218 ล้านบาท หรือ 7% ของรายได้กลุ่มน็อนวอยซ์ มากกว่าไตรมาสก่อน 1.4% แต่ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วลดลง 23.4% รายได้ที่มากที่สุดยังมาจากอินเทอร์เน็ต ทำได้ 2.3 พันล้านบาท คิดเป็น 78% โตกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเกิน 100%

"จากนี้ไปเราคงไม่มีเน้นทำตลาดแพ็กเกจเอสเอ็มเอส เพราะลูกค้าไม่มีความต้องการใช้อีกแล้ว ในกลุ่มน็อนวอยซ์จะเน้นแพ็กเกจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต เพราะจูงใจผู้บริโภคได้ พร้อมบริการเสียงรอสายที่ยังเติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี ขยับจากกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นในเมืองไปต่างจังหวัด เน้นเพลงลูกทุ่งมากขึ้น ถ้าจะพูดว่าไม่มีค่าก็คงไม่ผิด ตอนนี้เอสเอ็มเอสมีการใช้งานลดลง

เรื่อย ๆ ในทุกไตรมาส ช่วงเทศกาลยังมีการใช้งาน แต่จำนวนข้อความที่ส่งน้อยลง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook