เสรีภาพส่วนบุคคล กับการตรวจสอบ "ไลน์"

เสรีภาพส่วนบุคคล กับการตรวจสอบ "ไลน์"

เสรีภาพส่วนบุคคล กับการตรวจสอบ "ไลน์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เสรีภาพส่วนบุคคล กับการตรวจสอบ "ไลน์"

ครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา มีผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง ชื่อ เจ. เอดการ์ ฮูเวอร์ สั่งสมอิทธิพลบารมีได้สูงส่งจากการเก็บงำความลับส่วนตัวของบุคคลระดับสูงในวงสังคมสหรัฐ ผ่านกลไกข่าวกรองของรัฐ ตั้งแต่ดาราเรื่อยไปจนถึง ส.ส.กระทั่งประธานาธิบดีนำมาใช้เพื่อการต่อรองทางการเมือง จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีอิทธิพลมากที่สุดของยุค


หลังจากเรื่องเท็จบ้างจริงบ้างเกี่ยวกับความลับที่ฮูเวอร์ซุกงำไว้สร้างอิทธิพลกระจ่างชัดออกมาต่อสาธารณชน การตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลจึงยกระดับขึ้นสูงมากในสังคมอเมริกัน

สิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล (ไพรเวซี่ ไรท์) ในสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายสูงสุดรองรับ อยู่ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 1

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมคนอเมริกันถึงได้ "แคร์" กับกรณีที่รัฐบาลของพวกเขาเองแอบ "สอดแนม" ทุกอย่างที่ตัวเองกระทำผ่านโลกออนไลน์ด้วย "ปริซึม" โปรแกรมพิเศษที่เขียนขึ้นเพื่อการนี้โดยเฉพาะ แล้วถูก เอ็ดเวิร์ด สโนวเดน นำออกมาเปิดเผยชนิดเถียงไม่ออก

ในเมืองไทยเราการตระหนักในเรื่องสิทธิส่วนบุคคล แม้ไม่มากมายอย่างในสหรัฐอเมริกา แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าสิทธิของผู้ใช้ในโลกออนไลน์อยู่ตรงไหน หน้าที่อยู่ที่ใด มีส่วนน้อยนิดจากจำนวนทั้งหมดเท่านั้นที่จงใจใช้โลกออนไลน์ไปในทางที่ผิด

กระนั้นก็มีความพยายามที่จะใช้เงื่อนไขต่างๆ เข้ามาตรวจสอบ ที่ตรงกันข้ามกับในสหรัฐอเมริกาก็คือ ทางการไทยประกาศเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ไม่ต้องรอให้ใครมาล้วงความลับ เหมือนกับว่านั่นคือสิทธิของทางการและทุกผู้คนต้องยอมรับโดยดุษณีจนชื่อเสียงเรื่องการละเมิดด้านนี้แพร่สะพัดออกไปทั่วโลก

กรณีที่ตำรวจแสดงเจตจำนง "สอดแนม" ไลน์ครั้งนี้ก็คล้ายๆ กัน เป็นการออกมาบอกหน้าตาเฉย แล้วก็แสดงออกประหนึ่งว่าทุกคนต้องยอมรับหน้าตาเฉยเหมือนกัน

ที่ต่างกันไปก็คือ กรณีของไลน์ ในทางเทคนิคทำได้ยาก แถมขั้นตอนทางกฎหมายก็ยุ่งยาก นอกเหนือจากนั้นยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าทำไปก็ไม่รู้จะได้อะไร คุ้มกับที่ทำหรือไม่อีกต่างหาก

ไลน์ที่พูดถึงนี้เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับการแชตแบบเรียลไทม์ ที่บางทีก็เรียกกันว่า อินสแตนท์ เมสเสจจิ้ง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยโปรแกรมจำเพาะในการ "จับคู่" คู่สนทนา และส่งผ่านข้อมูลที่ต้องการไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ ซอฟต์แวร์ดังกล่าวอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ ข้อมูลที่ส่งผ่านเข้ารหัสในแบบที่มีแต่ซอฟต์แวร์ดังกล่าวเท่านั้นที่ "เข้าใจ" ได้ว่าต้องการไปยังที่ใด

เมื่อตอนที่มีข่าวคราวกันใหม่ๆ บริษัท ไลน์ จากญี่ปุ่น ที่เป็นที่ตั้งเซิร์ฟเวอร์และเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ แถลงอย่างเป็นทางการ ผ่านทางอีเมล์สอบถามของผู้สื่อข่าวหลายคน ความว่า "เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีคำร้องขออย่างเป็นทางการใดๆ จากไทย จึงยังไม่สามารถให้ความเห็นในประเด็นที่สอบถามมาได้" วรรคถัดมา ถ้อยแถลงย้ำเอาไว้ว่า "ไลน์ไม่ได้เก็บรวบรวม หรือจัดเก็บข้อมูลใดๆ ของผู้ใช้เอาไว้ เพราะเราคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และรักษามาตรฐานด้านความปลอดภัยในระดับโลก"

ถ้อยแถลงดังกล่าวแม้ยังคงกำกวมอยู่มาก ไม่สามารถใช้อธิบายในกรณีที่ทางตำรวจอ้างเอาไว้ในหลายๆ ทาง แต่มีความชัดเจนจนยึดถือเป็นข้อเท็จจริงได้อยู่ 2 เรื่อง หนึ่งคือ ไลน์ไม่ได้จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลใดๆ ในการพูดคุยผ่านแอพพลิเคชั่นเอาไว้ เพราะนั่นเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้ อีกอย่างหนึ่งก็คือ มาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับข้อมูลของ

ผู้ใช้ที่ไลน์ยึดถืออยู่นั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ขั้นตอนในการ "ขอความร่วมมือ" จากไลน์จึงไม่ได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน ทางตำรวจเองก็ยอมรับว่าต้องมีความชัดเจนว่าผู้นั้นต้องกระทำผิด แล้วก็ต้องทำเรื่องขอเป็นกรณีๆ

คำถามก็คือ ถ้าขอไปอย่างนั้นแล้วไลน์ให้ความร่วมมือมา ทางตำรวจจะได้อะไรกลับมา? เพราะไลน์ไม่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลอื่นใดไว้

เพียงแค่การเก็บ "คอนแทคต์" เพื่อการจับคู่สนทนาของสมาชิก 200 ล้านรายทั่วโลก หรือ 15 ล้านรายในไทย ก็มีปัญหากับเซิร์ฟเวอร์ไลน์มากพอแล้ว นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไม "กลุ่ม" ของไลน์ถึงจำกัดให้มีได้แค่ 100 คนต่อกลุ่มเท่านั้น

ถ้าได้เพียงแค่ข้อมูลว่า บุคคลต้องสงสัยติดต่อกับใคร จะมีประโยชน์อะไรกับตำรวจ? ลำพังเพียงการติดต่อ ไม่ได้บอกว่าเป็นการกระทำผิด แล้วทุกคนที่ติดต่อกับผู้ต้องสงสัยก็ใช่ว่าจะกระทำผิดทุกคนไป (หรือตำรวจคิดว่าอย่างนั้น)

การจะให้ไลน์แยกคู่สนทนา หรือกลุ่ม มาตั้งเซิร์ฟเวอร์จัดเก็บข้อมูลให้ไทย แทบเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ มีอยู่ทางเดียวที่จะทำได้ นั่นคือ ขอเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ของไลน์แล้วตั้งเซิร์ฟเวอร์ จัดเก็บเอง

ตรงนี้อ่อนไหวอย่างยิ่ง เพราะใครจะเป็นคนแอ่นอกรับประกันว่า การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลชัดแจ้งเช่นนี้ จะจัดเก็บแค่ข้อมูลของผู้ต้องสงสัย ไม่ใช่การเก็บข้อมูลทั่วไปแบบเหวี่ยงแห ซึ่งง่ายกว่ากันมาก

ข้อมูลตรงนี้สามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการปรักปรำการกระทำผิดได้หรือไม่ ศาลจะรับฟังหรือไม่ ไลน์จะยืนยันความถูกต้องของข้อมูลที่ว่านี้หรือไม่

อย่าลืมว่า ธุรกิจของไลน์ขึ้นอยู่กับศรัทธาของผู้ใช้เท่านั้น ไลน์เองต้องบอกผู้ใช้ทั่วเมืองไทยให้ชัดเจนออกมาว่า มีจุดยืนในส่วนนี้อย่างไร ก่อนที่ธุรกิจทั้งหมดจะพังลงง่ายๆ

ผมไม่เคยพบว่ามีการใช้ไลน์กระทำความผิดสมบูรณ์แบบตามฐานความผิดที่ตำรวจไทยต้องการมาก่อน และผมเชื่อว่าอย่างมากที่สุด ไลน์ ก็ทำได้เพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิด ตำรวจยังมีหนทางอื่นๆ อีกมากมายในการเล่นงานผู้กระทำผิด ตามฐานความผิดที่ต้องการ

ที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเอง ออกมายืนยันว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายให้สอดแนมไลน์

ถ้าไม่ปากว่าตาขยิบ ก็ต้องมีคำสั่งระงับการกระทำเรื่องนี้ เพราะขัดนโยบายรัฐบาลชัดเจนครับ

ที่มา นสพ.มติชน โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook