แจกแน่คูปองส่วนลดทีวีดิจิทัล "Set-Top-Box"ลงตลาดพรึ่บ

แจกแน่คูปองส่วนลดทีวีดิจิทัล "Set-Top-Box"ลงตลาดพรึ่บ

แจกแน่คูปองส่วนลดทีวีดิจิทัล "Set-Top-Box"ลงตลาดพรึ่บ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แจกแน่คูปองส่วนลดทีวีดิจิทัล "Set-Top-Box"ลงตลาดพรึ่บ

"กสทช." เตรียมดีเดย์แจกคูปอง 690 บาท แลกซื้อ Set-Top-Box ดู "ทีวีดิจิทัล" คาดสิ้นปีมีกล่องวางขายในตลาดแตะ 1 ล้านกล่อง ขณะที่กระบวนการปิดระบบทีวีแอนะล็อกจะเริ่มในปี 2558 ก่อนยกเลิกการออกอากาศภายในปี 2563 ทั้งสั่งชะลอการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์ครองสิทธิ์ข้ามสื่อหวั่นผู้เข้าร่วมประมูลสับสน

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่า ภายในเดือน เม.ย.ปีหน้า กสทช.จะทยอยแจกคูปองส่วนลดให้ประชาชนทุกครัวเรือน เพื่อนำไปใช้เป็นส่วนลดในการซื้อเครื่องรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัลหรือกล่องแปลงสัญญาณ (Set-Top-Box) ระบบดิจิทัลเพื่อนำไปใช้กับโทรทัศน์เครื่องเก่าที่มีอยู่ เพื่อสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านสู่การแพร่ภาพโทรทัศน์ระบบดิจิทัล คาดว่าจะเริ่มแจกให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่สัญญาณออกอากาศครอบคลุมก่อน

โดยปัจจุบันมีเครื่องรับโทรทัศน์ที่รับสัญญาณทีวีดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.ให้วางจำหน่ายทั้งหมด 68 รุ่น จาก 8 บริษัท ทั้งเริ่มวางขายในตลาดแล้วประมาณ 200,000 เครื่อง ส่วน Set-Top-Box ได้รับอนุญาต 18 รุ่น จาก 8 บริษัท และวางขายแล้ว 500,000 กล่อง คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีทีวีบิวต์อินระบบดิจิทัลวางขายในตลาด 450,000 เครื่อง และ Set-Top-Box 1 ล้านกล่อง

สำหรับความคืบหน้าในการตรวจคุณสมบัติผู้ขอเข้าประมูลทีวีดิจิทัล 24 ช่องธุรกิจ

ในขณะนี้ตรวจเอกสารไปแล้ว 80-90% คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลได้เร็ว ๆ นี้ ส่วนกรอบเวลาประมูลยังอยู่ในกลางเดือน ธ.ค.-ต้น ม.ค.นี้ และผู้ชนะประมูลต้องเริ่มออกอากาศภายใน 30 วันหลังประกาศผู้ชนะประมูล และกระบวนการปิดการออกอากาศทีวีแอนะล็อกจะเริ่มขึ้นปี 2558 ก่อนยุติการออกอากาศไม่เกินปี 2563

นอกจากนี้ในการประชุมบอร์ด กสท. วันที่ 25 พ.ย. 2556 ที่ผ่านมา ยังเห็นชอบให้ชะลอกระบวนการออกร่างประกาศ กสทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ทั้งการกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาด การผูกขาด การครองสิทธิ์ข้ามสื่อ และการครอบงำในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ออกไปก่อนเพื่อป้องกันความสับสน เนื่องจากมีผู้เข้าใจว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล

"กฎเกณฑ์ดังกล่าว กสทช.ต้องออกมาตรการกำกับดูแลตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่เพื่อไม่ให้สับสน และไม่ให้กระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ขัดหรือแย้งกับข้อกำหนดเรื่องไซเรนต์พีเรียดตามประกาศเชิญชวนเข้าประมูลทีวีดิจิทัลจึงให้ชะลอกระบวนการออกไปก่อน และให้สำนักงาน กสทช.ระมัดระวังเรื่องการเชิญผู้ประกอบการเข้ามารับฟังความเห็นสาธารณะในประเด็นต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการประมูลทีวีดิจิทัล" พ.อ.นทีกล่าวและว่า

อย่างไรก็ตามแม้ยังไม่มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการผูกขาดหรือครองสิทธิ์ข้ามสื่อ แต่ กสทช.ได้กำหนดเงื่อนไขป้องกันการผูกขาดในเบื้องต้นไว้แล้ว โดยห้ามไม่ให้ผู้ประกอบการเข้าประมูลมากกว่า 3 ช่องรายการ ขณะที่ความกังวลเรื่องครองสิทธิ์ข้ามสื่อ เนื่องจากในกฎหมายระบุข้อห้ามไว้เฉพาะกิจการที่ใช้คลื่นความถี่จึงมีผลเฉพาะผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีและวิทยุเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการออกใบอนุญาตวิทยุให้ใคร รวมถึงไม่เกี่ยวกับการเป็นเจ้าของสื่อในระบบเคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม หรือหนังสือพิมพ์ จึงยังไม่มีกรณีที่อาจเข้าข่ายการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ และหากต่อไปมีพฤติกรรมเข้าข่ายตามกฎหมายระบุให้มีมาตรการเยียวยาภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดอยู่แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook