′สมาร์ทวอทช์′ จุดเริ่มสงคราม′แวร์เอเบิล ดีไวซ์′

′สมาร์ทวอทช์′ จุดเริ่มสงคราม′แวร์เอเบิล ดีไวซ์′

′สมาร์ทวอทช์′ จุดเริ่มสงคราม′แวร์เอเบิล ดีไวซ์′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

′สมาร์ทวอทช์′ จุดเริ่มสงคราม′แวร์เอเบิล ดีไวซ์′

โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

"แวร์เอเบิล ดีไวซ์" คืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สวมใส่ติดตัวไปไหนมาไหนได้ ครอบคลุมตั้งแต่ ริสต์แบนด์ที่สามารถตรวจวัดชีพจร วัดระยะทาง (การจ๊อกกิ้ง) วัดอุณหภูมิร่างกายได้ เรื่อยไปจนถึง "นาฬิกาอัจฉริยะ" หรือสมาร์ทวอทช์ และ "แว่นตาอัจฉริยะ" อย่างกูเกิล กลาส เป็นต้น

ข้าวของอิเล็กทรอนิกส์พวกนี้มีมาให้เห็นกันพักใหญ่แล้ว แต่ถ้ามองในแง่ของ "ความจริงจัง" ในการคิดค้น พัฒนาและออกแบบอุปกรณ์แวร์เอเบิลของบรรดาบริษัทต่างๆ กันแล้วละก็ แวร์เอเบิล ดีไวซ์ เริ่มถูกมองว่าเป็น "อุตสาหกรรม" ที่มีอนาคตกันจริงๆ ก็ในปี 2011 ปีนั้น "ซีบี อินไซท์ส" บริษัทวิจัยเวนเจอร์ แคปิตอล ในสังกัดฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สคูล ของสหรัฐอเมริกา บอกว่า เม็ดเงินลงทุนรวมของแวร์เอเบิล ดีไวซ์ พุ่งพรวดขึ้นเป็น 283 ล้านดอลลาร์ จากปีก่อนหน้าที่มีการลงทุนกันแค่ 25 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง

ปี 2014 นี้ปริมาณเงินลงทุนรวมของแวร์เอเบิล ดีไวซ์ เพิ่มขึ้นเป็นก้าวกระโดดอีกครั้งครับ แค่ยังไม่ครบปีลงทุนกันไปแล้วถึง 502 ล้านดอลลาร์ จากที่ในปี 2013 ทั้งปีลงทุนกันอยู่ที่ 362 ล้านดอลลาร์

ว่ากันว่าถ้าครบปีแล้วเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดขึ้นไปแตะ 1,000 ล้านดอลลาร์ ก็ไม่น่าแปลกใจกันเลยทีเดียว

ข้อมูลที่ว่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมไอที กำลังมอง "แวร์เอเบิล ดีไวซ์" เป็นเซ็กเมนต์ใหม่ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอนาคต และน่าจะ "ทำเงิน" ให้เป็นกอบเป็นกำ ทำนองเดียวกับที่ "สมาร์ทโฟน" เคยเป็น และ "แท็บเล็ต" เคยทำได้มาแล้ว

แนวโน้มที่ว่านี้จริงจังขนาดไหน เกจิบอกว่าให้ดูข้อเท็จจริง 3 อย่างที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้ แรกสุดก็คือ การกระโจนลง "สมรภูมิ" ของยักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิล (ซึ่งจริงๆ นำหน้ามาก่อนนี้แล้ว) ก่อนที่จะเติมเต็มภาพการแข่งขันให้สมจริงมากขึ้นด้วยการออกแอปเปิล วอทช์ ของค่ายแอปเปิล เมื่อเร็วๆ นี้ อย่างที่ 2 ก็คือพัฒนาการในเรื่องซอฟต์แวร์ และสุดท้ายก็คือ การแห่กันลงมาละเลงในตลาดสมาร์ทวอทช์กันถ้วนหน้าของผู้ผลิตทั้งรายเล็กและรายใหญ่ทั้งหลาย

ในส่วนของซอฟต์แวร์นั้น จริงจังกันถึงขนาด เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา กูเกิลเปิดตัว "แอนดรอยด์ แวร์" ระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์สวมใส่ติดตัวออกมาอย่างเป็นงานเป็นการ ในขณะที่แอปเปิล ก็ไม่ยอมน้อยหน้า พร้อมๆ กับที่วางตลาด แอปเปิลวอทช์ ออกมา ก็เปิดตัวชุดคิทสำหรับนักพัฒนาให้นำไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับทำงานบน "สมาร์ทวอทช์" ออกมาพร้อมๆ กันแล้วด้วย

"แอนดรอยด์ แวร์" ของกูเกิลนั้น มีฟีเจอร์ใหม่ๆอยู่ในตัวหลายอย่าง อาทิ ความสามารถในการเล่นไฟล์เพลงออนไลน์และการรองรับจีพีเอส นัยว่าทำให้ แอนดรอยด์ แวร์ วอทช์ มีขีดความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของบรรดาผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลัง เข้าฟิตเนส หรือจ๊อกกิ้งได้นั่นเอง

ในส่วนของสมาร์ทวอทช์ เท่าที่เปิดตัวกันออกมาในปีนี้มีนับสิบ ลองไล่เรียงกันดูว่าใครมีจุดเด่นที่น่าสนใจอย่างไรบ้าง 4 ตัวแรกเป็นแอนดรอยด์ แวร์ วอทช์ที่มีในตลาดครับ

เริ่มจาก "โมโต360" จากค่ายโมโตโรลาของกูเกิล (ที่ยังไม่จบดีลกับเลอโนโวจนกว่าจะถึงปีหน้า) ได้เครดิตเป็น แอนดรอยด์วอทช์ เจ้าแรกที่ตัวเรือน "กลม" เปิดตัวออกมาชิมลางเมื่อต้นเดือนกันยายน ปรากฏว่าขายเกลี้ยง จุดเด่นนอกจากองศาในการมองหน้าจอดีเยี่ยมแล้ว ยังได้ชื่อว่าเป็นสมาร์ทวอทช์ที่ผสมความเป็นอนาล็อกเอาไว้ได้ลงตัว

โซนี่ "สมาร์ทวอทช์3" เป็นรุ่นที่ 3 ของสมาร์ทวอทช์จากโซนี่ นอกจากโอเอสที่เปลี่ยนใหม่แล้ว ยังดีไซน์ใหม่ให้ดูน่าสบายเวลาสวมอีกต่างหาก

แอลจี "จีวอทช์อาร์" หน้าปัดกลมเหมือน โมโต360 แต่ดีไซน์แบบมาไม่เหมือนใครถือเป็นจุดเด่นและความกล้า แต่บางคนอาจรู้สึกว่า เหมือนทำมาให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น

เอซุส "เซนวอทช์" ถ้าไม่นับความเหลี่ยมแล้วว่ากันว่า เซนวอทช์ พอฟัดพอเหวี่ยงกับโมโต360 ในหลายๆ อย่างทั้งหน้าตารูปลักษณ์และราคา แม้จะไม่ถึงกับทำให้ใครต่อใครร้อง "ว้าว" ได้เมื่อแรกเห็น แต่ก็มีหลายๆ อย่างดีพอที่จะทำให้ "ฮิต" ได้เหมือนกัน

หมดจากแอนดรอยด์ แวร์ วอทช์ ก็มาถึงยักษ์อีกรายอย่างซัมซุง

โดยซัมซุงนั้นเพิ่งเปิดตัว "เกียร์ เอส" ออกมา ที่พัฒนาไปไกลมากจาก แกเล็กซี่ เกียร์ ก่อนหน้า แต่มันใช้ระบบปฏิบัติการ "ไทเซน" ของซัมซุงเอง จึงสามารถเชื่อมโยงไร้ที่ติกับสมาร์ทโฟนของซัมซุงเองเท่านั้น เด่นอย่างมากตรงที่ในเครื่องมี จีเอสเอ็ม การ์ด ที่เป็นซิม 3จีอยู่ด้วย ทำให้เป็นสมาร์ทวอทช์เรือนเดียวที่ไม่ต้องใช้คู่กับสมาร์ทโฟน คือเก็บโทรศัพท์ไว้บ้านได้เลยทีเดียว

แล้วก็มาถึง "แอปเปิลวอทช์" ที่ใช้ไอโอเอส ซึ่งไม่ต้องพูดอะไรมากมายเพราะหลายคนพูดถึงกันเยอะ ข้อสังเกตของผมมีสองอย่าง อย่างแรกคือ แอปเปิลยังพยายามรักษาบางอย่างที่เป็นอนาล็อกไว้ตรงเม็ดมะยม (ที่ทำงานได้จริง ไม่ได้ทำไว้เฉยๆ) อีกอย่างก็คือ แอปเปิลเลิกหลักการ "วัน โฟน ฟอร์ เอฟวรี่บอดี้" ไปโดยเด็ดขาด เพราะทำแอปเปิล วอทช์ ออกมา 2 ไซซ์ ครับ

พูดถึงอนาล็อกแล้ว ยังมีอีกเรือนที่ดูดีมีสไตล์ กึ่งอนาล็อก กึ่งดิจิตอล คือมีหน้าปัดเป็นแบบอนาล็อกตายตัว แต่มีคุณสมบัติบางอย่าง เช่น วัดชีพจร ฯลฯ นั่นคือ "วิธธิงส์"

มีออกมาดูคลาสสิกทีเดียว เพราะออกแบบในฝรั่งเศสแล้วทำในสวิสครับ

สมาร์ทวอทช์ ที่ว่ามาทั้งหลายนี้ราคาจัดว่ายังคง "แพง" อยู่สำหรับคนทั่วไป

แต่คงแพงอยู่ได้ไม่นานหรอกครับ ลงได้เปิดศึกกันเต็มตัวแบบนี้!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook