เมื่ออุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ยังไม่อัจฉริยะพอ!
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    https://s.isanook.com/hi/0/ud/278/1394413/14232070981423207118l.jpgเมื่ออุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ยังไม่อัจฉริยะพอ!

    เมื่ออุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ยังไม่อัจฉริยะพอ!

    2015-02-10T08:16:52+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ pairat@matichon.co.th

        อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถสวมใส่ได้ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า "แวเรเบิลดีไวซ์" ได้รับการคาดหมายจากหลายๆ ฝ่ายว่าจะเป็น "เดอะ เน็กซ์ บิ๊ก ธิง" เป็นสินค้าสำคัญที่จะได้รับความนิยมสูงในอนาคตอันใกล้

        เครดิตสวิส หน่วยงานด้านวิจัยของธนาคารเพื่อการลงทุนชื่อดังระดับโลก ถึงกับประเมินเอาไว้เมื่อปีที่แล้วว่า ตลาดของ "แวเรเบิลดีไวซ์" จะขยายตัวทะลุถึงมูลค่า 50,000 ล้านดอลลาร์ ภายในระยะเวลา 5 ปี

        มอร์แกน สแตนเลย์ วาณิชธนกิจอีกรายไปไกลถึงขนาดที่ว่า ขนาดของตลาดอุปกรณ์สวมใส่พกพาอัจฉริยะเหล่านี้ สามารถทะลุถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ได้



        ไม่ว่าจะเป็น 5 หมื่นล้านเหรียญใน 5 ปี หรือขีดความสามารถที่จะขยายมูลค่าตลาดได้สูงถึง 1.6 ล้านล้านก็ดี ไม่ใช่ตลาดเล็กๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่บรรดายักษ์ใหญ่ของวงการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น แอปเปิล กูเกิล ไมโครซอฟท์ อินเทล แม้กระทั่ง ควอลคอม ต่างพากันพัฒนาอุปกรณ์สวมใส่ทั้งหลายออกสู่ตลาดกันคึกคัก ทั้งนาฬิกาอัจฉริยะ, อุปกรณ์สวมใส่เพื่อการออกกำลังกาย ฯลฯ

        ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในแวดวงไอทีจริงๆ กลับไม่เชื่อว่าอุปกรณ์ทำนองนี้จะมีโอกาสเติบโตได้ถึงขนาดนั้นจริงๆ "เทคครันช์" เว็บไซต์ไอทีชื่อดังในต่างประเทศบอกเอาไว้เมื่อไม่นานมานี้ว่า "แวเรเบิลดีไวซ์" มี "ความลับที่น่าเกลียด" อยู่อย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยอยากให้ใครได้รับรู้กันเท่าใดนัก นั่นคือกว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้ที่ซื้อหาบรรดาอุปกรณ์สวมใส่เหล่านี้มาใช้งาน พากันวางทิ้งไว้เฉยๆ เลิกใช้ไปภายใน 6 เดือน

        เทคครันช์ชี้ว่าปัญหาหลักของอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องราคาหรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ไม่เข้าท่าเข้าทางเท่าใดนักแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะว่า อุปกรณ์ที่อ้างว่าอัจฉริยะเหล่านี้ ไม่ได้อัจฉริยะจริงๆ ต่างหากครับ

        ผมเห็นด้วยกับแนวความคิดที่ว่า ปัญหาหลักของอุปกรณ์สวมใส่เหล่านี้เกิดขึ้นจากความเป็นจริงที่ว่า มันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรมากมายนักกับผู้ใช้ แน่นอน ตอนเริ่มใช้ใหม่ๆ อาจรู้สึกดีไม่น้อยที่เราสามารถรู้ได้ว่า แต่ละวันเราก้าวเท้าไปกี่ก้าว หรือเรามีรูปแบบการนอนหลับอย่างไร หรือชีพจรของเราเต้นสม่ำเสมอมากน้อยแค่ไหน แต่พอนานวันเข้า ความรู้สึกตื่นเต้น อยากรู้อยากเห็นจะกลายเป็นคำถามเป็นเชิงกังขาต่อว่าแล้วยังไง?

        นั่นคือ เรารับรู้ข้อมูลที่ได้รับรู้อยู่จนกลายเป็นเรื่องไม่ตื่นเต้นอีกต่อไปแล้ว ในเวลาเดียวกันก็เริ่มกังขาขึ้นมาว่า ข้อมูลที่เราได้รับมาแต่ละวันนั้น มีความหมายกับตัวเรามากน้อยแค่ไหน เราควรทำอย่างไรกับตัวเองต่อไป ไม่ใช่แต่ละวันก็จะได้ดูกราฟใหม่ๆ อยู่อย่างนั้นทุกวันไป

        ผู้ใช้ไม่ต้องการได้แต่ข้อมูล แต่ต้องการความหมายของข้อมูลเหล่านั้นด้วย อย่างเช่น เราไม่ต้องการรับรู้อีกต่อไปว่าเราวิ่งไปกี่มากน้อย เผาผลาญแคลอรีไปเท่าไหร่ แต่เราต้องการสิ่งที่บอกเราได้ว่า สิ่งที่เราทำลงไปนี้ดีเพียงพอแล้วหรือไม่ อะไรคือส่วนที่ขาดหายไปที่ควรจะเพิ่มเติมเข้ามาเพื่อให้การออกกำลังกายของ เราสมบูรณ์พร้อมทุกด้านและเหมาะสมกับสภาพร่างกายของเราเองเป็นต้น

        ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาในเชิงซอฟต์แวร์ที่หลายๆ ฝ่ายเริ่มตระหนัก และเริ่มพัฒนาไปในทิศทางนี้กันแล้ว เริ่มต้นจากแอพพลิเคชั่นที่สามารถนำเอาข้อมูลฟิตเนสส่วนบุคคลเข้ามาผสมผสานกับความเชี่ยวชาญในด้านการออกกำลังกาย โภชนาการ เรื่อยไปจนถึงการนอนหลับและการพักผ่อนหย่อนอารมณ์ ที่มีเป้าหมายร่วมเดียวกันคือนำผู้ใช้ไปสู่สภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น

        อุปกรณ์และแอพพลิเคชั่นที่สามารถบอกเราได้ว่า เราควรออกกำลังกาย "อย่างไร" และ "เมื่อใด" ถ้าหากเราต้องการเพียงรักษาสุขภาพ หรือถ้าหากเราต้องการลงแข่งขันในอีก 2 เดือนข้างหน้า อุปกรณ์ที่ไม่เพียงรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับฟิตเนสของร่างกายเราไปแสดงผล หากแต่ยังสามารถ "ตีความ" ความฟิตของเราได้ด้วย

        ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ว่า อุปกรณ์สวมใส่พกพาที่ "อัจฉริยะ" จริงๆ จะสามารถขยายตลาดอย่างรวดเร็วอย่างที่คาดหวังกันไว้ได้

    แต่ตอนนี้ ยังไม่มีอุปกรณ์อัจฉริยะไหนๆ ทำได้ในลักษณะนี้ครับ!