iPad Air 2 (iPad 6) Review [ที่สุดของแท็บเล็ต ก่อน iPad Plus จะมา]

iPad Air 2 (iPad 6) Review [ที่สุดของแท็บเล็ต ก่อน iPad Plus จะมา]

iPad Air 2 (iPad 6) Review [ที่สุดของแท็บเล็ต ก่อน iPad Plus จะมา]
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

    แท็บเล็ตอย่าง iPad เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์จาก Apple ที่หลายๆ คนรอการกลับมาของรุ่นใหม่ ที่ในตอนนี้ก็เปิดตัวและวางขายกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับ iPad Air 2 ที่ถือเป็น iPad รุ่นที่ 6

    ซึ่งมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปไม่มากนัก คือหน้าตาจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับ iPad Air เหมือนเดิม ในเรื่องของวัสดุงานประกอบ แต่ที่แตกต่างออกไปจะเป็นในเรื่องของดีไซน์ที่บางเบากว่าเดิม รวมไปถึงติดตั้งเทคโนโลยีสแกนลายนิ้วมืออย่าง Touch ID อย่างที่ใช้ใน iPhone 6/6 Plus โดยยังคงใช้ความละเอียดหน้าจอและขนาดหน้าจอเท่าเดิมอยู่

    ในส่วนของสเปกภายใน iPad Air 2 ก็เรียกได้ว่าจัดเต็มด้วยชิปประมวลผลรุ่นใหม่ล่าสุด อีกทั้งยังมาพร้อมกับชิปประมวลผลตัวช่วย

    เพื่อให้การทำงานโดยรวมนั้นดียิ่งกว่าเดิม ทำให้พูดได้เลย ว่า iPad Air 2 เครื่องนี้เป็นอีกหนึ่งสุดยอดแท็บเล็ตในตลาดที่น่าสนใจ สนนราคา iPad Air 2 เริ่มต้นอยู่ที่ 16,900 บาท เทียบกับรุ่นก่อนหน้าก็เรียกได้ว่าเท่าเดิม แต่ได้ประสบการณ์ใช้งานที่ดีมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าใครสนใจจะซื้อ iPad เครื่องใหม่อยู่แล้ว ห้ามพลาดชมบความรีวิวนี้กันเลย

Specification

    iPad Air นั้นนอกเหนือจากจะอัพเกรดชิปประมวลผลเป็น Apple A8 Triple-Core ความเร็ว 1.6 GHz ทำงานแบบ 64-bit มาพร้อมชิปประมวลผลกราฟิกPowerVR GXA6850 ที่เป็นแบบ Quad-core พร้อมแรมขนาด 2GB (เพิ่มขึ้นเท่าตัว)

    แน่นอนว่าในส่วนของการประมวลผลกราฟิกที่เพิ่มขึ้นนี้ต้องทำมารองรับการทำงานกับหน้าจอ Retina Display  ให้มีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงระบบการทำงานของเกม 3 มิติ ต่างๆ ที่จะให้ภาพที่แสดงออกมานั้นมีความสวยงามมากกว่าเดิม และเปลี่ยนเป็นพอร์ต Lightning หน้าตาใหม่แล้ว

    รวมไปถึงยังเสริมด้วยชิปประมวลผล Apple M8 ที่ช่วยในการทำงานของเซ็นเซอร์เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวลักษณะต่างๆ เรียกได้ว่า iPad Air 2 นั้นแรงกว่า iPhone, iPad ทั้งหมด เท่าที่เคยมีมาทีเดียว

    โดย iPad Air 2 แบ่งเป็นรุ่นเริ่มต้นราคาถูกสุดก็คือตัว Wi-Fi 16GB และไล่มาเป็น 64GB, 128GB ซึ่งเราก็ต้องเลือกตามลักษณะการใช้งานของเรานะครับ ว่าต้องการความจุมาขนาดไหน

    หรือถ้าใครจำเป็นต้องนำ iPad ไปใช้งานนอกสถานที่บ่อยๆ แล้วล่ะก็ ทาง Apple ก็จัดรุ่นที่รองรับการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ไร้สายไว้ให้ โดยใน iPad Air 2 นี้ สนับสนุนการใข้งานระดับ 4G (แน่นอนว่าใช้ 3G, 4G ในเมืองไทยได้แน่นอน) ซึ่งในส่วนของความจุนั้น ก็แบ่งเป็น 16GB, 64GB, 128GB เช่นกัน ซึ่งรวมแล้ว iPad Air 2 นี้แบ่งออกเป็น 6 รุ่นด้วยกันนะครับ

-  Wi-Fi 16GB : 16,900 บาท
-  Wi-Fi 64GB : 20,400 บาท
-  Wi-Fi 128GB : 23,900 บาท
-  Wi-Fi + Cellular 16GB : 21,400 บาท
-  Wi-Fi + Cellular 64GB : 24,900 บาท
-  Wi-Fi + Cellular 128GB : 28,400 บาท

Hardware / Design

    ว่าด้วยเรื่องอุปกรณ์ภายในกล่องของ iPad Air 2 กันก่อน ซึ่งประกอบไปด้วยตัวเครื่อง, สาย USB > Lightning, อแดปเตอร์ USB, คู่มือการใช้งานเบื้องต้น และสติ๊กเกอร์โลโก้ Apple ซึ่งแน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ iPad นั้น ไม่มีหูฟังแถมมาให้อย่างใน iPhone หรือ iPod นะครับ ต้องซื้อแยกเองอีกทีหากต้องการใช้งาน

    iPad Air 2 เครื่องที่ทีมงานใช้ในการรีวิวนั้นเป็นรุ่น WiFi ความจุ 16 GB สีทองหรืออีกชื่อทางการก็คือ Gold ที่จัดได้ว่าเป็นสีใหม่เหมือนกับ iPhone 6/6Plus สำหรับงานประกอบตัวเครื่องนั้นก็มีความแน่นหนาตามมาตรฐานของ Apple โดยด้านหน้าเป็นกระจก Gorilla Glass ที่มีคุณสมบัติกันรอยกันกระแทกในระดับนึง

    ซึ่งมีการสะท้อนแสงอยู่พอสมควรแต่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ขอบของตัวเครื่องด้านหน้าจะเป็นขอบเงาๆ ที่เกิดจากการใช้เพชรเจียระไนขอบอะลูมิเนียมเช่นเดียวกับ iPhone 5s, iPad mini, iPod Touch รุ่นล่าสุด

    ที่นอกเหนือจะให้ในเรื่องความสวยงามหรูหราแล้ว ยังส่งผลให้จับถือได้ถนัดมือมากยิ่งขึ้นจากที่ดีไซน์แบบนี้ รูปทรงโดยรวมถ้าจะบอกว่าเป็น iPad Air ที่มีความบางกว่าเดิม รวมไปถึงยังมีน้ำหลักเบาลงกว่าเดิมเล็กน้อย

    นอกจากนี้ ยังมีกล้องหน้าและเซ็นเซอร์วัดแสงอยู่ตรงกลาง ส่วนบนของจอ และปุ่ม Home ก็อยู่ตามตำแหน่งเดิมๆ แต่มีความพิเศษตรงที่ปุ่ม Home นั้นเป็น Touch ID ไปเรียบร้อยแล้ว แน่นอนว่าสามารถใช้งานได้อย่าง iPhone 6/6 Plus ไม่กแตกต่างกัน

    วัสดุที่ใช้เป็นฝาหลังของ iPad Air 2 ก็คืออะลูมิเนียมที่ผ่านการอะโนไดซ์มาแล้ว ที่แน่นอนว่าผิวสัมผัสจึงแทบจะไม่ต่างกับผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ ของ Apple เลย

    ส่วนสีของฝาหลังนั้นก็จะเป็นไปตามสีเครื่องครับ อย่างรุ่นสีทอง ก็จะมีฝาหลังสีทองอ่อนๆ ส่วนรุ่นสีขาวก็จะมีฝาหลังสีขาวๆ เงินๆ ส่วนสี Space Gray ก็จะเป็นสีเทา เรียกได้ว่าสีสันแบบเดียวกับ iPhone 6/6Plus ก็ว่าได้

    ตำแหน่งของปุ่มกดต่างๆ ก็ยังคงเดิมไม่ว่าจะเป็น Wake/Sleep อยู่ตรงมุมบนขวาของเครื่อง (เทียบจากด้านหน้า) และปุ่มเพิ่ม/ลดเสียง

    โดยมีสิ่งที่ต่างไปจาก iPad รุ่นก่อนๆ ก็คือ สวิตช์เปิด/ปิดเสียง (หรือจะตั้งค่าเป็นปุ่มล็อกการหมุนหน้าจอก็ได้) ที่ปกติอยู่ทางฝั่งขวาของเครื่อง ใน iPad Air 2 นั้น ได้ถูกตัดทิ้งไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


    ส่วนทางด้านซ้ายที่โล่งไม่มีปุ่มหรืออะไรใดๆ เลย และช่องเสียบหูฟังจะอยู่ทางด้านบนของตัวเครื่องตามมาตรฐาน สุดท้ายกับด้านล่างของตัวเครื่องก็เป็นตำแหน่งของพอร์ต Lightning และลำโพงสเตอริโอ เรียกได้เป็น iPad ขนาดปกติตัวรุ่นที่สองที่มาพร้อมกับลำโพงแบบสเตอริโอทีเดียว นอกจากนี้ยังติดตั้งไมโครโฟนมาถึง 2 ตัวด้วยกันตรงบริเวณกล้องด้านหลัง

    พร้อมกันนั้นบริเวณกลางตัวเครื่องจะมีโลโก้ Apple แบบมันวาว และข้อมูลเกี่ยวตัวเครื่องตรงด้านล่างของโลโก้ ตามแบบฉบับของผลิตภัณฑ์ iDevice ที่เรามักคุ้นกันดี ที่สำคัญ iPad Air 2 ที่นำมารีวิวนั้นไม่ได้ใส่เคสแต่อย่างใดนะครับ

    ซึ่งเท่าที่เล่นมาเป็นเดือนก็ไม่พบว่าขอบตัวเครื่องหรือด้านหลังมีรอยขนแมว แต่อย่างใดเลย ถือว่ามีความทนทานระดับหนึ่ง ไม่ใช่แค่ว่าสวยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

    ขอบของเครื่องด้านหลังจะมีความโค้งมนเข้ามือ ทำให้สามารถถือ iPad Air 2 อยู่ในมือได้อย่างสบายๆ ไม่ต้องกังวลว่าจะหลุดร่วงจากมือเท่าไหร่นัก เรียกได้ว่าไม่แตกต่างจาก iPad Air รุ่นแรกที่ถือมือเดียวก็ถนัดเหมือนกัน

    ส่วนตัวกล้องหลังของ iPad Air 2 จะฝังแนบมาเป็นเนื้อเดียวกับฝาหลัง มีอะลูมิเนียมเนื้อเดียวกับฝาหลังเป็นขอบแยกออกมา ที่ส่วนกล้องจะนูนขึ้นมาอย่างชัดเจน เนื่องจากตัวเครื่องที่บางมากนั่นเอง

Screen / Speaker

    ในส่วนของหน้าจอแสดงผลของ iPad Air 2 มีขนาด 9.7 นิ้ว และความละเอียด 2048 x 1536 พิกเซล หรือ 264 พิกเซลต่อตารางนิ้ว (PPI) สัดส่วนจอเป็น 4:3 แบบเดิมๆ ซึ่งต่างจากสัดส่วนจอของ iPhone 6/6Plus รุ่นล่าสุดที่เป็น 16:9 รวมไปถึงแท็บเล็ต Android ที่ส่วนมากเป็น 16:9 เรียกได้ว่าสัดส่วนหน้าจอ 4:3 นี้เหมาะมากๆ ที่จะใช้อ่าน E-Book หรือ แอพพลิเคชั่น แม็กกาซีนที่ให้ดาวน์โหลดได้ต่างๆ

    ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่มีความหนาแน่นเท่ากับ iPhone 6/6 Plus ซึ่งค่าอยู่ที่ 326 ppi/401 ppi หรือ iPad mini 3 แต่ก็เรียกได้ว่าเพียงพอต่อการใช้บนแท็บเล็ตแล้วครับ เพราะปกติเราจะใช้ห่างตากว่าบนสมาร์ทโฟนอยู่แล้วครับ ฉะนั้นความละเอียดมากไปกว่านี้ก็จะไม่เห็นความแตกต่าง

    iPad Air 2 มีหน้าจอที่เป็นการรวมเลเยอร์ที่แต่เดิมมี 3 เลเยอร์เข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งนอกจากจะได้จอภาพที่บางกว่าเดิมแล้ว ยังส่งผลดีต่อการแสดงผลด้วยครับ สีสันที่ได้จากหน้าจอมีความสดใสยิ่งขึ้น คอนทราสต์จัดกว่าเดิม และที่สำคัญมีการเคลือบสารกันสะท้อน

    โดย Apple เคลมว่าจอภาพของ iPad Air 2 เนี่ยเป็นจอภาพที่มีแสงสะท้อนน้อยที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับแท็บเล็ตรุ่นอื่นๆ ซึ่งจากการใช้งานจริงก็ต้องบอกว่า iPad Air 2 นี่ทำออกมาได้เนียนจริงๆ แสงสะท้อนที่หน้าจอมีน้อยกว่าเดิมมาก ต่อให้ใช้งานกลางแดดจัดก็ยังเร่งแสงหน้าจอสู้แดดได้สบายๆ


    ลำโพงที่ติดตั้งมาใน iPad Air 2 ถือว่าเป็นลำโพงระบบสเตอริโอ (มีลำโพงสองตัว) ตัวที่สองใน iPad ขนาดปกติ โดยจากเท่าที่ทดลองฟัง พบว่ามีความแตกต่างจากลำโพงใน iDevice ตัวอื่นๆ เล็กน้อย แต่ที่สำคัญคือให้เสียงค่อนข้างดัง แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีคุณภาพเสียงมากมายอะไรนัก (แต่ก็ดีกว่าเดิมแบบรู้สึกได้)

    แนะนำว่าถ้าให้ดีก็ควรต่อหูฟัง หรือเชื่อมต่อกับลำโพงจะเหมาะกว่า ซึ่งคุณภาพจัดได้ว่าไพเราะกว่าการใช้ iPhone ฟังเพลงแน่นอน ไม่ว่าจะเชื่อมต่อด้วยสายหรือแบบไร้สายด้วยสัญญาณ Bluetooth ก็ตามที และสำหรับไมโครโฟนที่ไว้ใช้งานสนทนา VDO Call หรืออัดเสียงเป็นหลักจะอยู่บริเวณขอบกล้องหลังของเครื่องที่ช่วยในการตัดเสียงรบกวน ซึ่งเพิ่งติดตั้งมาให้ครั้งแรกบน iPad Air 2 เครื่องนี้

Connector / Thin And Weight

    iPad Air 2 ก็เป็นอีกเป็น iPad ขนาดปกติรุ่นที่ 3 แล้ว ที่หันไปใช้พอร์ต Lightning โดยตัวพอร์ตเองนั้นได้ถูกติดตั้งบริเวณขอบด้านล่างของตัวเครื่องโดยอยู่กึ่งกลางลำโพงสเตอริโอ ในส่วนของการใช้งานนั้นต้องบอกว่ามีความสะดวกสบายมากกว่าเดิมพอสมควร เพราะด้วยขนาดที่เล็กลง

    ซึ่งการเชื่อมต่อนั้นยังไม่จำเป็นต้องมาคอยดูว่าเสียบถูกด้านไหน เพราะว่าทาง Apple ออกแบบให้พอร์ต Lightning เชื่อมต่อได้ทั้งสองด้านเลย ไม่ต้องพลิกบนล่างอย่างที่เคยมีมา

    สำหรับสาย เชื่อมต่ออีกด้านก็จะเป็นแบบ USB ที่เองนั้นสามารถใช้งานในการซิงค์ข้อมูลกับคอมพิวเตอร์หรือชาร์จพลังงานก็ สามารถทำได้ทั้งชาร์จด้วย USB จากคอมพิวเตอร์ หรือชาร์จจากอแดปเตอร์ก็ทำได้ทันที

    โดยตัวอแดปเตอร์ที่ทาง Apple ให้มามีขนาด 2.1A เช่นเดียวกับที่ให้มาใน iPad Air รุ่นแรกส่วนมุมบนซ้ายก็เป็นตำแหน่งของช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5 มิลลิเมตร

    iPad Air 2 มีเรื่องที่เป็นจุดเด่นเลยก็คือ การปรับเปลี่ยนรูปทรงให้มีความบางและเบาลงอย่างรู้สึกได้และเห็นได้ด้วยตา เปล่า โดยมีน้ำหนักเพียง 437 กรัมเท่านั้น (iPad Air หนัก 469 กรัม)

    เรียกได้ว่าเบามากๆ ซึ่งจากการทดลองใช้งานจริงก็ถือใช้งานมือเดียวได้อย่างสบายๆ ไม่ล้ามือมากนัก ต่างกับ iPad รุ่นก่อนในแง่ของตัวเลขสเปก

    แต่ก็รุ้สึกได้เล็กน้อยว่าดีขึ้นกรณีที่ถือมือเดียวนานๆ นอกเหนือไปจากนี้ตัวเครื่องยังมีความบางที่บางลงกว่าเดิมเพียง 6.1 มิลลิเมตรเท่านั้น (iPad 4 หน้า 7.5 มิลลิเมตร)

    แม้ว่ามิติตัวเครื่อง iPad Air 2 จะได้รับการออกแบบให้เล็กและแคบลงกว่าเดิม เพื่อการพกพาที่สะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร จนหลายๆ คนอาจจะคิดว่ามันไม่เห็นจะเป็นนวัฒกรรมอะไรเลย

    แต่ก็ต้องบอกว่าการที่เราได้ iPad ที่ประสิทธิภาพดีขึ้นโดยที่น้ำหนักเบาลงและตัวเครื่องเล็กลงนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ผู้ผลิตรายไหนจะทำก็ได้ ที่แม้พูดไปอาจจะเห็นภาพไม่ชัดเจนมากนัก เราก็สามารถชมได้จากภาพประกอบเทียบ iPad Air 2 ระหว่าง iPhone 6 Plus และ MacBook Pro Retina 15 ได้เลย

* iPad Air รุ่น Wi-Fi + Cellular จะมีน้ำหนักมากกว่ารุ่น Wi-Fi ปกติ 7 กรัม

Batt / Heat

    ด้วยการที่ iPad Air 2 เปลี่ยนไปใช้ชิปประมวลผลจาก Apple A7 เป็น Apple A8 พร้อมเพิ่มชิปช่วยประมวลอีกตัวอย่าง M8 ยังคงมีอัตราการใช้พลังงานต่ำลงกว่าเดิม

    ด้วยมาตรฐานของ Apple ระยะเวลาการใช้งานต่อเนื่องก็ยังต้องเป็น 10 ชั่วโมงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ด้วยขนาดที่เล็กและบางลงเบาลง จึงทำให้ iPad Air 2 นี้ มีความจุของแบตเตอรี่น้อยลงกว่าเดิม

    เรียกได้ว่าหากเทียบความจุแบตเตอรี่กับโน้ตบุ๊กทั่วไปจะเห็นได้ชัดเจนว่ามี ความจุมากกว่า 2-3 เท่าทีเดียว

    โดยจากการทดสอบใช้งานเล่นอินเตอร์เน็ตด้วย Wi-Fi สลับกับการเล่นเกม 3 มิติบ้างตลอดทั้งวัน ตัวของ iPad Air 2 ก็สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนานเกือบ 10 ชั่วโมงจริงๆ ยิ่งสำหรับคนที่ไม่เล่นต่อเนื่องขนาดนี้ 2-3 วันชาร์จไฟครั้งหนึ่งก็ยังได้ ส่วนการชาร์จไปเข้า iPad Air 2 จาก 10% ถึง 100% จะใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมงได้ครับ ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่นานจนเกินไป

    ด้วยชิปประมวลผลที่มีประสิทธิภาพที่ดียิ่ง ส่งผลให้มีความร้อนมีมาก โดยส่วนที่ร้อนที่สุดจะเป็นส่วนของมุมซ้ายล่างของเครื่อง (หันจอเข้าหาตัว)

    เนื่องด้วยเป็นตำแหน่งของชิปประมวลผลต่างๆ ของเครื่อง ทำให้เป็นบริเวณที่มีความร้อนสะสมมากที่สุดของเครื่อง อีกทั้งฝาหลังที่ใช้เป็นอะลูมิเนียมอีก ซึ่งช่วยให้ความร้อนภายในถ่ายเทออกมาได้เร็ว แต่ทั้งนี้ก็จะทำให้รู้สึกร้อนมือได้เร็วเช่นเดียวกัน

    โดยเท่าที่ลองใช้งานมาระยะหนึ่ง พบว่าความร้อนของเครื่องน้อยกว่า iPad Air รุ่นแรกอยู่เล็กน้อย ขณะเล่นเกมก็ยังพอสามารถจับเครื่องเล่นได้อยู่ (นั่งในห้องแอร์หรือห้องที่มีพัดลม) แต่ถ้าอยู่ในนอกสถานที่ที่ค่อนข้างร้อน ตำแหน่งซ้ายล่างของเครื่องจะร้อนมากขึ้น แต่ก็ไม่ขนาดที่จับไม่ได้นะครับ เรียกได้ว่ามีการปรับปรุงเรื่องความร้อนได้ดีกว่าเดิมพอตัว

Camera

    กล้องด้านหน้าของ iPad Air 2 จะอยู่บริเวณด้านหน้าส่วนบนของตัวเครื่อง พร้อมรองรับความละเอียดที่ 1.2 ล้านพิกเซล (1280 x 720 พิกเซล) ที่ 30 เฟรม แน่นอนว่าไว้สนับสนุนการใช้งาน VDO Call อย่าง FaceTime

    ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ส่วนตัวกล้องหลักเองก็สามารถถ่ายภาพความละเอียดได้ที่ 8 ล้านพิกเซล ที่เรียกได้ว่าความละเอียดเทียบเท่ากับ iPhone 6/6Plus ซึ่งเป็นระบบ Autofocus ซึ่งเราสามารถเลือกจุดโฟกัส (Tab to Focus) พร้อมวัดแสงได้เอง

    ด้วยการใช้นิ้วจิ้มไปยังบริเวณในภาพที่ต้องการ โดย iPad Air 2 นั้น ได้ใช้เซ็นเซอร์และชุดเลนส์ที่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ ด้วยสเปก รูรับแสงขนาด ƒ/2.4, ชุดเลนส์ห้าชิ้น, ฟิลเตอร์ Hybrid IR, เซ็นเซอร์รับแสง ด้วยส่วนหลัง ส่งผลให้คุณภาพของภาพที่ได้ออกมานั้นมีความสวยงามและชัดเจนกว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้สวยงามไปกว่า iPhone 6/6 Plus แต่อย่างใด

    นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติถ่ายวีดีโอได้ความละเอียด 1080P แบบ 30 เฟรม ยังสามารถถ่ายโหมด Time Lapse และ Slo-Mo รวมไปถึงภาพนิ่ง Panorama ได้อีกด้วย แต่ในเรื่องของแฟลชก็ยังไม่ได้ติดตั้งมาให้ครับ ยังไงในส่วนของคุณภาพของไฟล์ภาพ

    คงต้องไปดูในส่วนของตัวอย่างภาพถ่ายที่อยู่ทางด้านข้างนะครับ (สามารถกดคลิกเข้าไป เพื่อชมภาพขนาดจริงได้ โดย 2 ภาพบนจะเป็นกล้องหน้านะครับ) ที่ต้องบอกว่าน่าประทับใจทีเดียวกับภาพจากบนแท็บเล็ตเครื่องนี้

    ในตัวแอพพลิเคชั่น Camera เองมีระบบ Auto Focus ที่ใช้เป็นแบบ Tab to Focus (โฟกัสตรงตำแหน่งนั้นๆ พร้อมกับการวัดค่าแสง) ซึ่งมีความเร็วในการประมวลผลไวพอสมควรด้วยหน่วยประมวลผล Apple A8 ทำให้กดปุ๊ปถ่ายปั๊ป สำหรับ User Interface นั้น ก็ดูเรียบง่ายตามสไตล์ของ iOS8

    เรียกได้ว่าคล้ายกับที่อยู่ใน iPhone เลยก็ว่าได้ โดยเพียงแค่ปรับปุ่มชัตเตอร์ไว้ด้านข้างเท่านั้น (ใช้งานถนัดขึ้นเยอะเวลาถือสองมือ) ฉะนั้นใครที่ใช้ iPhone อยู่แล้วก็ไม่ยากที่จะเรียนรู้เลยครับ

    พร้อมกันนั้นเมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้วก็สามารถจัดการแต่งภาพเบื้องต้นได้เลย เช่น หมุนภาพแนวตั้งแนวนอน, ปรับความสว่างของภาพ, แก้ตาแดง และ Crop ภาพตามต้องการ อย่างที่ก่อนหน้านี้แล้ว

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook