Smartwatch ใช่สำหรับเราแล้วแน่เหรอ?!?

Smartwatch ใช่สำหรับเราแล้วแน่เหรอ?!?

Smartwatch ใช่สำหรับเราแล้วแน่เหรอ?!?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ปีที่แล้วมาจนถึงปีนี้ เราได้เห็นกระแสร้อนแรงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ไอทีตระกูลใหม่ที่เรียกว่า Wearable device กัน โดยเฉพาะในหมวดหมู่ที่เรียกว่า Smartwatch หรือภาษาไทยเขาชอบเรียกกันว่านาฬิกาอัจฉริยะ มีหลายแบรนด์ผลิตออกมาในหลากหลายรูปแบบทีเดียว

     กระแสมันแรงจนขนาดที่ว่า Apple เองก็ทนไม่ไหว ต้องลงมาลุยตลาดด้วย Apple Watch และแม้ว่าจะยังไม่มีของออกมาจำหน่าย ก็ยังต้องเอามาเปิดตัวแว้บๆ ยั่วให้คนอยากได้ก่อนเลยล่ะ

     พอเห็นของใหม่ออกมา เราก็อยากได้ อยากใส่กัน แต่พอเอาเข้าจริงๆ ผมว่าบางครั้งเราก็ต้องถามตัวเองก่อนนะว่า “มันใช่สำหรับเราหรือเปล่า?!?” เพราะแม้มันจะชื่อวา่นาฬิกาอัจฉริยะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะกับทุกคน มันจะตอบโจทย์ของทุกคนนะครับ

     เอางี้ … หากคิดว่าจะซื้อ Smartwatch ไว้ใช้ซักเรือน ลองอ่านตามนี้ดูก่อนแล้วกัน เผื่อจะได้รู้ว่าแบบไหนเหมาะกับเรา หรือเราไม่เหมาะกับอะไรเลย (ฮา)

Standalone หรือ Companion ดี

     ถ้าจะให้แบ่งประเภทเป็นแบบสองกลุ่มใหญ่ๆ เลย Smartwatch ก็พอจะแบ่งออกได้เป็นแบบที่ใช้งานได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเชื่อมต่อกับอะไร หรือที่เรียกว่า Standalone กับแบบที่ต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนถึงจะใช้งานได้ หรือที่เรียกว่า Companion ครับ

     แบบ Standalone นั้นมักจะมาพร้อมกับฮาร์ดแวร์สเปกแรงๆ หน่อย เพราะว่าต้องใช้ในการประมวลผลการทำงานต่างๆ แต่ก็แลกมาด้วยความสามารถที่มากขึ้น สามารถติดตั้ง App ได้ ปกติก็มักจะมากับหน้าจอแสดงผลขนาดใหญ่ และสามารถใส่ SIM card ได้ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ได้เลย ไม่ต้องง้อการ Tethering มาจากสมาร์ทโฟน

     บางตัวก็จะมีเซ็นเซอร์เพิ่มเข้ามาด้วย ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์นับก้าว หรือเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น บางตัวก็มีกล้องดิจิตอลมาให้ด้วย กลายเป็นเหมือนกับอุปกรณ์สายลับกันเลยทีเดียว

     แต่ Smartwatch แบบนี้ไม่ค่อยมีใครเขาทำมาก เท่าที่เห็นก็จะมี Samsung Galaxy Gear S และ Neptune Pine นี่แหละ และพวกที่เป็น Standalone นี่ แบตเตอรี่จะไม่อึดครับ อย่างเก่งก็อยู่ได้ข้ามวันแต่อย่างมากก็ไม่เกินสองวันครับ อันนี้เป็นเพราะความที่มันมีหน่วยประมวลผลที่แรงระดับนึง

     และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่าวโทรศัพท์มือถือนี่แหละ และเพื่อให้แบตเตอรี่อยู่ได้อึดๆ หน่อย มันก็เลยต้องใส่แบตเตอรี่เข้าไปเยอะนิดนึง และนั่นทำให้น้ำหนักของตัวเครื่องแอบหนักในระดับนึง

     ส่วนจำพวก Companion เนี่ย เป็นแบบที่ต้องใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนครับ โดยมากก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือน “หน้าจอที่สอง” ของสมาร์ทโฟนครับ คือ เอาไว้แสดงข้อความแจ้งเตือนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมีสายเข้า มีคนส่งอีเมล์มา ใครโพสต์ Facebook อะไรแบบนี้ หรือบางยี่ห้อบางรุ่นก็จะมีพวกเซ็นเซอร์ต่างๆ เพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเซ็นเซอร์นับก้าว และเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อใช้ในฐานะ Health tracker ครับ


     แต่ก็มีบ้างที่เพิ่มลูกเล่นให้มากกว่านั้น เช่น Samsung Galaxy Gear และ Samsung Galaxy Gear 2 ที่มีไมโครโฟนและลำโพงในตัว สามารถใช้คุยโทรศัพท์ได้ หรือ Huawei TalkBand B1 ที่สามารถปลดส่วนที่เป็นหน้าจอแสดงผลออกมากลายเป็น Bluetooth headset ใช้โทรศัพท์ได้

     พวกที่เป็น Companion นี่จะไม่ได้ใช้หน่วยประมวลผลสเปกสูงๆ เพราะไม่จำเป็นต้องประมวลผลอะไรมาก และนั่นก็เลยทำให้ไม่ต้องใส่แบตเตอรี่เข้าไปเยอะมาก แบตเตอรี่ก็ยังอึดพอที่จะใช้งานได้หลายวัน เช่น Pebble นี่อยู่ได้เป็นสัปดาห์ หรือ Samsung Galaxy Gear Fit อยู่ได้ราวๆ 4 วัน

ยึดติดกับแบรนด์ดีหรือเลือกแบบใช้กับแบรนด์ไหนก็ได้ดี

     พวกแบรนด์สมาร์ทโฟนหลายๆ แบรนด์ก็ทำ Smartwatch ขึ้นมาเพื่อใช้เป็น Companion ของสมาร์ทโฟนของตัวเอง บางยี่ห้อ เช่น Samsung ก็ทำขึ้นมาให้ใช้กับสมาร์ทโฟนของตัวเองและใช้ได้เฉพาะบางรุ่นที่สนับสนุนเท่านั้น

     พวกนี้มักจะใช้ได้กับเฉพาะสมาร์ทโฟนระดับกลางๆ ไปจนถึงระดับไฮเอนด์ของแบรนด์นั้นๆ เป็นหลัก พวกนี้จะมีข้อดีตรงที่ทำงานร่วมกับ App เฉพาะทางของแบรนด์นั้นๆ ได้ เช่น Samsung Galaxy Gear ก็จะทำงานเป็นเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลให้กับ S Health ของ Samsung ได้ เป็นต้น

     Smartwatch พวกนี้มักจะมีความสามารถเยอะหน่อย เพราะแบรนด์เป็นคนทำเอง จึงสามารถเตรียม API สำหรับใช้งานเอาไว้ให้พร้อมได้ เปิดให้เข้าถึงฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ได้หลากหลายกว่า

     Apple Watch หรือ Samsung Galaxy Gear เป็นตัวอย่างของ Smartwatch ในประเภทนี้ครับ มันเหมาะสำหรับคนที่เป็นติ่งของแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งโดยเฉพาะซะมากกว่า ใครที่ชอบเปลี่ยนยี่ห้อสมาร์ทโฟนไปเรื่อยๆ ไม่เหมาะกับ Smartwatch แบบนี้นะครับ

     อีกแบบนึงจะเป็นพวกไม่ยึดติดกับแบรนด์ ขอแค่ดาวน์โหลด App ของตัว Smartwatch มาติดตั้ง ก็พร้อมจะเชื่อมต่อแล้วใช้งานแล้ว พวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นของ Third party ครับ แต่ก็มีบางแบรนด์ที่ทำออกมาเช่นกัน พวกนี้จะมีข้อจำกัดตรงที่มีความสามารถได้เท่าที่ API ของตัวระบบปฏิบัติการของสมาร์ทโฟนเขาเตรียมไว้ให้เท่านั้น

     ซึ่งมักจะไม่ได้เปิดให้เข้าถึงฟังก์ชั่นการทำงานลึกๆ ซักเท่าไหร่ (เช่น Apple เองก็ไม่ให้ App ที่ไม่ใช่ของตนเข้าถึง TouchID … อย่างน้อยก็ในตอนนี้ … เป็นต้น)

ความเห็นส่วนตัวของผมในการเลือก Smartwatch

จากที่ผมได้ลองใช้มาหลากหลายแบบ หลากหลายแบรนด์ ผมพบว่า ณ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะซื้อ Smartwatch ในแบบที่เป็น Standalone ครับ อะไรทำให้ผมคิดแบบนี้น่ะเหรอ? มันก็เพราะว่า

- เทคโนโลยียังไม่พร้อมที่จะสร้าง Smartwatch แบบ Standalone ดีๆ ได้ … อย่างน้อยๆ แบตเตอรี่ก็ไม่อึดพอที่จะใช้งานหลายๆ วันแล้ว … จริงอยู่ การชาร์จแบตเตอรี่ทุกวันไม่ใช่เรื่องลำบากอะไรนัก แต่ผมมองว่านาฬิกามันควรจะเป็นอะไรที่แบตเตอรี่ควรจะอึดอยู่ได้หลายๆ วันน่ะ … ส่วนเรื่องของฮาร์ดแวร์ก็ยังไม่แรงพอที่จะใช้งานได้อย่างเนียนๆ (พิจารณาจากการใช้งาน Neptune Pine)

- ผมยังไม่เห็นแบรนด์ไหนที่ตีโจทย์เรื่อง Wearable device ที่เป็น Standalone แตกเลย … แนะนำว่าควรรอต่ออีกพักใหญ่ๆ เพื่อดูว่ามีใครที่ตีโจทย์นี้แตกบ้าง

- ทั้งหน้าจอแสดงผล ทั้ง User Interface ทั้งการออกแบบอินพุต และท่วงท่าในการใช้งาน Smartwatch เพื่อทำหน้าที่แทน มันยังไม่ถูกหลักการยศาสตร์ซักเท่าไหร่ การใช้งาน Smartwatch ในฐานะ Standalone เป็นเวลานานๆ ไม่ใช่อะไรที่สะดวก แม้แบรนด์อย่าง Neptune ที่ออกตัว Neptune Duo มา โดยออกแบบให้มีส่วนที่เรียกว่า Pocket เข้ามาเสริมในการแสดงผลและอินพุต แต่ผมก็ยังรู้สึกว่ามันยังมีอะไรขาดอยู่บางอย่างน่ะ

     สำหรับคนที่อยากลองใช้ Smartwatch ผมอยากแนะนำว่าลองเริ่มจากพวกที่เป็นแนว Companion จะดีกว่า ซึ่งแทบทุกแบรนด์มีฟังก์ชั่นความสามารถคลัายๆ กันอยู่แล้ว คือ เป็นได้ทั้งนาฬิกา ตรวจจับข้อมูลเรื่องการออกกำลังกาย และคอยแสดงการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนให้ได้แบบสบายๆ

     อยากให้ลองแบบนี้ดูก่อน เพราะว่าสนนราคาค่าตัวจะไม่แพงมากแบบพวก Standalone อยากให้ลองดูว่าฟังก์ชั่นความสามารถต่างๆ เนี่ยมันเพียงพอกับความต้องการแล้วหรือยัง

สนับสนุนเนื้อหา: 

สามารถรับข่าวสารเพิ่มเติมได้อีกทางที่ www.facebook.com/kafaakBlog

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook