"เซ็กซ์ทอย"และกรณีศึกษา วิธีระดมทุนผ่านโลกออนไลน์

"เซ็กซ์ทอย"และกรณีศึกษา วิธีระดมทุนผ่านโลกออนไลน์

"เซ็กซ์ทอย"และกรณีศึกษา วิธีระดมทุนผ่านโลกออนไลน์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     คอลัมน์ คลื่นคิดข่าว โดย วรรณมณี บัวเทศในยุคที่สังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญเช่นในปัจจุบัน หนึ่งในแนวปฏิบัติที่เกิดใหม่และได้รับความนิยมอย่างยิ่ง คือ การระดมทุนผ่านโลกโซเชียลด้วยวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป

     การระดมทุนในลักษณะนี้เรียกว่าวิธีการ Crowdfunding มักใช้เป็นทางออกเวลาใครริเริ่มสร้างสรรค์ทำโปรเจ็กต์หรือสินค้าอะไรขึ้นมา แต่ขาดทุนรอนในการดำเนินการ โดยคนที่ต้องการระดมทุนจะนำแผนงานและแนวคิดของตัวเองไปนำเสนอทางเว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้งที่มีผู้เปิดให้บริการไว้ พร้อมเสนอสิทธิประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ร่วมบริจาคจะได้จากการร่วมสมทบทุนนั้นๆ


     เช่น บริษัทผลิตเกมเสนอไอเท็มพิเศษเพื่อใช้ในเกมกับคนที่ร่วมบริจาคหลังจากเกมดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์แล้ว หรือสิทธิในการทดลองใช้สินค้าก่อนใครหลังการผลิต

     เมื่อปี 2013 มีการประเมินว่าการระดมทุนทางอินเตอร์เน็ตประสบความสำเร็จงดงาม คิดเป็นเม็ดเงินที่บริจาคกันในโครงการต่างๆ ทั่วโลกรวมแล้วประมาณ 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (168,300 ล้านบาท) และยิ่งน่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน

     เมื่อไม่นานมานี้มีตัวอย่างโปรเจ็กต์ซึ่งกลายเป็นกรณีศึกษาของวงการเศรษฐกิจโลก เมื่อนักธุรกิจหญิง 2 คน จับมือกันเขย่าโลกออนไลน์ด้วยการนำเสนอ "เซ็กซ์ทอย" หรือของเล่นผู้ใหญ่ สำหรับผู้หญิง โดยผู้หญิง และเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ

     สินค้าตัวนี้ชื่อว่า เอวา (Eva) มาจากมันสมองของ อเล็กซานดร้า ไฟน์ ซึ่งจบสาขาจิตวิทยาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ เจเน็ต ลีเบอร์แมน วิศวกรจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที)

     ทั้งคู่นำโปรเจ็กต์ "เอวา" พร้อมเครื่องต้นแบบโพสต์หาทุนทางเว็บไซต์ อินดี้โกโก ในแคลิฟอร์เนีย โดยตั้งเป้าหาทุนให้ได้ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (6.6 ล้านบาท) แต่ไปๆ มาๆ กลับทำยอดทะลุเป้าได้ถึง 750,000 ดอลลาร์สหรัฐ (24.75 ล้านบาท) หรือมากกว่าที่คาดหวังไว้ถึง 375 เปอร์เซ็นต์ และมียอดจองล่วงหน้าจากผู้สนใจใน 91 ประเทศทั่วโลก!

     อินดี้โกโกระบุว่า นี่เป็นการระดมทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดจากทีมงานหญิงล้วน และเป็นยอดบริจาคที่ท่วมท้นที่สุดสำหรับสินค้าในกลุ่มของเล่นผู้ใหญ่ด้วย

     ไฟน์กับลีเบอร์แมนเชื่อว่า ความสำเร็จของโปรเจ็กต์นี้มาจากความตรงไปตรงมา ไม่ปกปิดข้อมูลที่ผู้บริจาคหรือว่าที่ลูกค้าควรรับรู้ เช่น ปัญหาของอุปกรณ์และวิธีแก้ไข รวมถึงพูดถึงจุดขายของสินค้า ซึ่งในที่นี้คือวัตถุประสงค์เกี่ยวกับ "เซ็กซ์" แบบไม่เหนียมอาย เพื่อเป็นการทลายกำแพงความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิง

     นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมบริจาคได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนการผลิต เช่น เลือกว่าเอวาควรมีสีใด ระหว่างแดง, ขาว, น้ำเงิน หรือเทอร์ควอยส์ โดยเลี่ยงสีชมพูที่ดูเป็นการจงใจขายแบบเกินกว่าเหตุ

     คนที่ร่วมบริจาคจะได้สินค้ารุ่นแรกไปทดลองและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อดี-ข้อเสียของเอวา เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข โดยสองสาวเชื่อว่าฟีดแบ๊กที่ดีจากผู้ร่วมบริจาคทั้งหญิงชายเป็นเพราะเอวาช่วยให้ภาพของเซ็กซ์ทอยเดิมๆ ที่ถูกมองว่าเป็นของต้องห้าม ของน่ารังเกียจ หรือของเล่นเฉพาะฝั่งผู้ชายหมดไป ให้เหลือเพียงภาพของสินค้าที่ช่วยเติมเต็มความสุขแก่ผู้ซื้อเท่านั้น

     เคล็ดลับอีกประการที่สองสาวแนะนำคนที่คิดจะขายไอเดียทางโลกโซเชียลได้ลองทบทวน คือการพยายามไม่ขายฝันหรือเสนอเรื่องเกินจริง ควรเป็นอะไรที่จับต้องได้ สามารถอธิบายอย่างเห็นภาพ และมีความคืบหน้าให้ผู้บริจาคได้เห็นจริง ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆ โดยไม่มีอะไรเป็นเครื่องยื่นยัน อีกทั้งต้องทำด้วยความมั่นใจ ถ้าหวังเงินบริจาคจำนวนมหาศาล ก็ต้องมีข้อมูลสนับสนุนว่าอะไรคือความคุ้มค่า เหนือสิ่งอื่นใดคือทำสินค้าที่ว่าออกมาให้ดีด้วย

     อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า การระดมทุนหรือคราวด์ฟันดิ้งนั้นยังเป็นเพียงก้าวแรกในโลกธุรกิจเท่านั้น กรณีของ "เอวา" ถือว่าเป็นก้าวกระโดดที่ไปได้สวย แต่เมื่อผลิตออกมาแล้วจะรักษามาตรฐานไปได้ขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับหัวทางธุรกิจของทั้งคู่นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook