ปะทะเดือดชิงลูกค้าข้ามค่าย "ซิมดับ" ลาม ศึกศักดิ์ศรี "AIS-ทรู"

ปะทะเดือดชิงลูกค้าข้ามค่าย "ซิมดับ" ลาม ศึกศักดิ์ศรี "AIS-ทรู"

ปะทะเดือดชิงลูกค้าข้ามค่าย "ซิมดับ" ลาม ศึกศักดิ์ศรี "AIS-ทรู"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

      เดดไลน์ซิมดับงวดเข้ามาทุกขณะ หลังจาก กสทช.ได้มอบใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ชุดที่ 2 คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz กับบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด แล้ว เช้าวันที่ 14 มี.ค. 2559 มีผลนับ 16 มี.ค. 2559-15 มี.ค. 2574 รวม 15 ปี

      โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ เลขาธิการ กสช.ระบุว่า จะทำให้เบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้ 2G คลื่น 900 MHz ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) ไม่สามารถใช้ได้ หรือซิมดับ ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 15 มี.ค. เป็นต้นไป


      "ประชาชนที่ใช้บริการเอไอเอส 2G คลื่น 900 MHz ให้รีบมาโอนย้ายก่อนที่ซิมจะดับ ก่อนเที่ยงคืนวันที่ 15 มี.ค.เพราะถ้ายื่นขอย้ายค่ายไว้ แม้กระบวนการย้ายจะยังไม่เสร็จ แต่จะยังมีสิทธิ์ใช้เบอร์เดิมได้ต่อไป"

จับตาโรมมิ่งเครือข่ายดีแทค

      นายฐากรกล่าวว่า ข้อมูลที่เอไอเอสแจ้งเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมาระบุว่า มีลูกค้าค้างในระบบราว 3 แสนราย ส่วนใหญ่มีการใช้งานน้อย กสทช.จึงมั่นใจว่าไม่จำเป็นต้องขยายระบบบริการ MNP แต่อย่างใด เพราะปัจจุบันรองรับการขอย้ายค่ายได้ราว 60,000 เลขหมายและในจำนวนลูกค้าคงเหลือทั้งหมดน่าจะมีเบอร์ที่ยังมีการใช้งานราวแสนกว่าเลขหมายเท่านั้น ส่วนกรณีที่เอไอเอสขอให้ กสทช.อนุมัติการย้ายลูกค้าให้มาใช้ AIS 3G ของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) โดยอัตโนมัติไม่สามารถทำได้

      "การย้ายลูกค้าออกจากระบบเดิมต้องมีหลักฐานยืนยันว่า ลูกค้ายินยอมย้ายไปใช้ระบบอื่น และมีหลักฐานบัตรประชาชน ไม่อนุญาตให้ย้ายแบบออโต้พอร์ต"

      สำนักงาน กสทช.เตรียมตั้งคณะทำงานมอนิเตอร์กรณีที่ AWN จะเปลี่ยนการโรมมิ่งลูกค้าเดิมที่มี 7.6 ล้านราย ไปใช้งานโครงข่ายของดีแทคแทนเพื่อตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบดังกล่าว

"เอไอเอส"ลั่นพร้อมดูแลลูกค้า

      นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้พยายามเต็มที่ที่จะให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการสิ้นสุดสัมปทาน โดย ณ สิ้นปี 2558 มีเลขหมายที่มีการใช้บนคลื่น 900 MHz จำนวน 12.9 ล้านเลขหมาย แต่จากการเร่งประชาสัมพันธ์และทำตลาดต่อเนื่อง โดยแจกเครื่อง 3G และ 4G ทำให้มีผู้ใช้มารับเครื่องใหม่และซิมใหม่กว่า 5 ล้านราย รวมถึงโรมมิ่งเครือข่ายกับดีแทค เพื่อให้ลูกค้ากว่า 8 ล้านราย ใช้ต่อได้ และเตรียมเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ติดตั้งโครงข่าย 2G เพิ่มเติมในพื้นที่ที่ดีแทคไม่ครอบคลุม

      "กสทช.บอกว่า เมื่อผู้ชนะคนใดคนหนึ่งมาชำระค่าประมูลแล้ว ซิม 900 MHz ต้องดับทันที เพื่อไม่กระทบผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ เราเคารพสิทธิ์ในการใช้คลื่นอย่างชอบธรรม ซึ่งคลื่น 900 MHz อีกลอตที่ยังไม่มีใครมาชำระ และยังไม่ชัดเจนว่าจะมาชำระหรือไม่ยังมี จึงอยากให้ กสทช.ขยายเวลาเยียวยา โดยนำคลื่นช่วงนั้นมาใช้เพราะมองว่าหน้าที่กสทช. คือกำกับการแข่งขันเป็นธรรม, หาเงินเข้ารัฐ และดูแลประชาชน"

      กรณีที่กลุ่มทรูยื่นข้อเสนอให้เช่าใช้คลื่นที่ประมูลไปได้ จากปัจจัยทางกฎหมายทำให้บริษัทไม่สามารถรับข้อเสนอได้ เพราะผิดมาตรา 46 ที่กำหนดให้ผู้ได้ใบอนุญาตไม่สามารถขายต่อช่วงคลื่นได้ ทั้งมองว่า การตั้งไตรภาคีที่มีบริษัท, ทีโอที และกลุ่มทรูมาแก้ปัญหาซิมดับเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

      "กรณีที่ให้ใช้คลื่นฟรีเป็นเพียงคำพูดที่สวยหรู แต่ทำได้จริงยาก และไม่มีความชัดเจนในการคำนวณค่าใช้จ่าย แต่เอไอเอสต้องขอบคุณทรูที่ให้โอกาสนี้ แต่คงทำไม่ได้เพราะ 1.เอไอเอสไม่ได้ใช้คลื่นช่วงที่ทรูได้ไป และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ในการจูนสัญญาณ และ 2.เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย เรื่องนี้จึงเป็นแค่แนวคิดที่ดี แต่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ"

      นายสมชัยย้ำว่า ลูกค้าที่ใช้ 2G คลื่น 900 MHz ที่อยู่กับเอไอเอสราว 4 แสนเลขหมายจะได้รับผลกระทบจากซิมดับ ส่วนผู้ใช้บริการ TOT 3G 2 แสนเลขหมาย และ "เอดับบลิวเอ็น" อีก 7.6 ล้านเลขหมายได้โรมมิ่งไปใช้เครือข่ายของดีแทค

      อย่างไรก็ตาม บริษัทจะเข้าไปหารือกับ กสทช.เพื่อขอโอนย้ายเลขหมายที่อยู่กับเอไอเอส 4 แสนเลขหมายให้มาอยู่ในเครือข่ายเอดับบลิวเอ็นอัตโนมัติ

      "ผู้ใช้ที่อยู่ในเครือข่ายเอไอเอส 4 แสนเลขหมายมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/เดือนเพียง 100 บาท ทำให้การลงทุนมหาศาลเพื่อดึงลูกค้ากลุ่มนี้ให้อยู่ในระบบไว้จึงไม่ได้ช่วยให้รายได้เพิ่ม เรามองว่า หากมาตรการเยียวยาไม่มีการยืดเวลาออกไป อุตสาหกรรมโทรคมนาคมน่าจะเดือดร้อนมากกว่าภาพลักษณ์แบรนด์เอไอเอส เพราะแม้ว่าแจสจะมาจ่ายตังค์ค่าคลื่นก็ยังไม่มีเครือข่าย"

"เอไอเอส" พึ่งศาลปกครอง

      รายงานข่าวแจ้งว่า บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2559 เพื่อคัดค้านมติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่ไม่อนุมัติให้ขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการคลื่น 900 MHz หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน พร้อมยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เอไอเอสยังให้บริการบนคลื่น 900 MHz ในช่วงความถี่ที่ 1 ที่ยังไม่ได้จัดสรรให้ผู้ชนะการประมูล ตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการต่อไปอีกระยะ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ กสทช. ที่ต้องการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและผู้บริโภค หลังจากสำนักงาน กสทช.แจ้งให้เอไอเอสยุติการให้บริการในเวลา 00.00.01 น. ของวันที่ 16 มี.ค. 2559

      โดยศาลปกครองกลางได้เรียกคู่กรณีไปชี้แจงเพื่อพิจารณาจะรับคำร้องหรือไม่ เวลา 09.00 น. วันที่ 15 มี.ค. 2559


ศึกดึงลูกค้าย้ายค่ายปะทุ

      รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า หลังจากกลุ่มทรูได้รับชัยชนะในการประมูลคลื่น 900 MHz ตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นต้นมา ก็ได้เปิดเกมรุกทำตลาดเพื่อดึงลูกค้าให้ย้ายเข้ามาใช้บริการค่ายตนอย่างเต็มที่ ทั้งการจัดโปรโมชั่นแจกเครื่อง, ลดราคาพิเศษสำหรับลูกค้าที่ต้องการย้ายค่ายมาใช้บริการของทรูมูฟ เอช รวมถึงใช้เครือข่ายร้านสะดวกซื้อ "เซเว่นอีเลฟเว่น" เป็นจุดในการให้บริการย้ายค่ายเบอร์เดิม โดยทั้งเอไอเอสและดีแทคได้ร้องเรียนไปยัง กสทช.ว่า เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามประกาศ กสทช. แต่ที่ประชุม กทค.มีมติว่าดำเนินการได้ แต่ต้องถูกต้องตามขั้นตอนประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และพ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 อีกทั้งในเวลาต่อมายังมีการโปรโมตด้วยว่าหากย้ายค่ายมาใช้บริการทรูมูฟ เอช จะไม่เจอกับปัญหาซิมดับ

      อย่างไรก็ตาม การย้ายค่ายจะสำเร็จได้ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ให้บริการต้นทางด้วย ซึ่งทรูมูฟ เอชระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้บริการในเครือข่ายเอไอเอส และดีแทค ทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติที่ประสงค์จะย้ายค่ายเบอร์เดิมมายังทรูมูฟ เอช แต่ไม่สามารถโอนย้ายได้สำเร็จภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยระหว่าง 27 ก.พ.-2 มี.ค. 2559 ที่ผ่านมา มีผู้บริโภค 1,000 รายร้องขอให้ ทรูมูฟ เอช ช่วยดำเนินการส่งเอกสารร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน กสทช., สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นต้น เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

      ด้านนายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท เอไอเอส กล่าวว่า มีเพียง 1-2 แสนเลขหมายต้องการย้ายไปเครือข่ายทรูมูฟ เอช ผ่านช่องทางเซเว่นอีเลฟเว่นแต่ไม่สำเร็จ เพราะรายละเอียดไม่ครบ เช่น ไม่มีลายเซ็นยินยอมหรือถ่ายรูปไม่เห็นบัตรประชาชนจึงตีเรื่องกลับไป

      ขณะที่ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่ผ่านมามีการกระตุ้นผู้บริโภคให้ย้ายค่ายต่อเนื่อง เช่น โฆษณาว่า รายอื่นซิมจะดับแต่ซิมกลุ่มทรูไม่ดับ เป็นต้น ทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียม แม้ภายหลังได้เปลี่ยนวิธีเป็นการชักชวนเมื่อผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการเติมเงินออนไลน์ที่เคาน์เตอร์ชำระเงิน



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook