5 เทรนด์การท่องเที่ยวแห่งปี 2559

5 เทรนด์การท่องเที่ยวแห่งปี 2559

5 เทรนด์การท่องเที่ยวแห่งปี 2559
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บทความประชาสัมพันธ์นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 207 เดือนมีนาคม 2559  ผู้เขียน : falcon_mach_v

    คาดว่ากว่าต้นฉบับนี้จะถึงมือท่านผู้อ่านก็เข้าล่วงเดือนมีนาคมอันแสนร้อนแห่งปี ซึ่งอากาศอย่างนี้หมายถึงอย่างเดียวคือ แสงแดดและหาดทราย ฤาขุนเขาลำเนาไพรตามแต่จะชอบ ใช่แล้วครับ ผมหมายถึงการเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวช่วงซัมเมอร์ที่มักมีวันหยุดติดต่อกันหลายวันนั่นเอง

    ปัจจุบันเห็นได้ชัดเจนว่าคนหนุ่มสาวเจนวาย (หรือแม้แต่บรรดา สว. สูงวัยทั้งหลาย) ต่างนิยมเดินทางกันมากขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องสะดวก ตลอดจนมีช่องทางสื่อสารออนไลน์มากมายที่เปิดโอกาสให้นักเดินทางสามารถแบ่งปันเรื่องราวความประทับใจและภาพถ่ายสวยๆ งามๆ กระตุ้นให้คนอยากท่องเที่ยวมากขึ้นไปอีก แต่ทราบหรือไม่ครับว่านอกจากการจองที่พักกับตั๋วเครื่องบินออนไลน์แล้ว ก็ยังมีนวัตกรรมมากมายที่กำลังเข้ามาช่วยเสริมประสบการณ์เดินทางให้ต่างไปจากเดิม ซึ่งในวันนี้ผมขอรวบรวม 5 แนวโน้มการท่องเที่ยวที่น่าสนใจมาฝากครับ

 โมบายล์มาก่อน เสริมประสบการณ์เดินทางเฉพาะบุคคล

    จะว่าไปนี่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เพราะส่วนมากเราก็ใช้มือถือจองตั๋วพาหนะเดินทางและที่พักออนไลน์กันอยู่แล้ว Giorgos Zacharia ซีทีโอ (CTO: Chief Technology Officer) ของ Kayak เสิร์ชเอ็นจิ้นออนไลน์ด้านการท่องเที่ยวชื่อดัง ให้ความเห็นว่าโมบายล์ดีไวซ์คือแรงขับเคลื่อนทิศทางของบริษัท เพราะได้ค้นพบว่ามีผู้ใช้งานมากมายที่ทำการค้นหาข้อมูลการเดินทางบนมือถือก่อนที่จะจ่ายเงินผ่านช่องทางออนไลน์ให้ครบกระบวนการบนดีไวซ์เครื่องอื่น หรือบนคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป สอดคล้องกับผลสำรวจของ Hotels.com ที่พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจองห้องพักผ่านสมาร์ทโฟนคิดเป็น 1 ใน 3 ของการจองห้องพักทั้งหมดบน Hotels.com แสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยต้องการความคล่องตัวในการเดินทาง ซึ่งดีไวซ์บนมือนั้นก็ตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี และด้วยเหตุนี้นั่นเองที่ทำให้หลายบริษัทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหันมาให้ความสำคัญกับการต่อเติมประสบการณ์เดินทางให้ตรงใจผู้ใช้งานมากขึ้น โดยใช้ข้อมูลที่ถูกทิ้งเอาไว้ในโลกออนไลน์

    การเกิดขึ้นของข้อมูลมากมายมหาศาลหรือ "บิ๊กดาต้า" (Big Data) ทำให้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าสามารถนำมาใช้เพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการได้หากมีการจัดระเบียบที่ดีพอ ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่น Hopper สามารถวิเคราะห์รายละเอียดเที่ยวบินนับไม่ถ้วนเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับส่วนลดกับช่วงเวลาเดินทางและซื้อตั๋วที่ดีที่สุด เป็นต้น เช่นเดียวกับผู้ให้บริการจองห้องพักที่สามารถนำข้อมูลออนไลน์มาใช้สร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวตามที่ลูกค้าแต่ละคนต้องการ เช่น โรงแรมสามารถเก็บและวิเคราะห์สิ่งที่ผู้เข้าพักแต่ละคนชอบ แล้วนำข้อมูลดังกล่าวมาประยุกต์เป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายและนำเสนอบริการเสริมต่างๆ ในภายภาคหน้า เช่น รับบริการจองตั๋วงานเทศกาลต่างๆ ในพื้นที่หากทราบว่าลูกค้ารายนี้มักเดินทางมาพักเพื่อเข้าชมงานเป็นส่วนใหญ่ บริการรถรับ-ส่งระดับเฟิร์สคลาสจากสนามบินสำหรับนักเดินทางธุรกิจ หรือบริการแนะนำร้านอาหารสำหรับลูกค้านักชิม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดสามารถนำเสนอได้โดยตรงถึงลูกค้าแต่ละคนผ่านการแจ้งเตือนในแอพพลิเคชั่น

    นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบด้วยว่าผู้คนสมัยนี้เดินทางอย่างเร่งรีบ (Spontaneous Travel) ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วน (On-demand) มากขึ้น เช่น จองตั๋วเครื่องบินเพียงไม่กี่วันก่อนออกเดินทาง หรือจองห้องพักหลังจากเดินทางมาถึง โดยข้อมูลจาก Hotels.com ระบุว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน 2558 มีนักท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 25 จากทั่วโลกจองห้องพักในนาทีสุดท้ายผ่านเว็บไซต์ เนื่องจากคิดว่าจะได้รับส่วนลดและห้องพักที่ดีที่สุด และมีแนวโน้มจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ผู้ให้บริการจึงสามารถใช้ประโยชน์จากพฤติกรรมดังกล่าวด้วยการมอบโปรโมชั่นโดยอิงกับตำแหน่งของผู้ใช้ เช่น มอบส่วนลดให้กับผู้ที่จองห้องพักเมื่อเครื่องเพิ่งถึงสนามบิน ตลอดจนร่วมมือกับบริการรับส่งอย่าง Uber หรือ Grab ในการรับ-ส่งถึงโรงแรม เป็นต้น

 หนังสือเดินทางบนกลุ่มเมฆ (Cloud Passports)

ปัจจุบันทุกท่านคงคุ้นเคยกับหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Passport) กันอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันได้มีผู้เสนอแนวคิดหนังสือเดินทางบนกลุ่มเมฆ โดยข้อดีคือ ไม่ต้องมีการถือหนังสือเดินทางรูปเล่มอีกต่อไป เพราะข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางชีวภาพ ภาพถ่ายดิจิทัล และหลักฐานระบุตัวตนต่างๆ จะถูกเก็บไว้บนคลาวด์ทั้งหมด ช่วยตัดปัญหาหนังสือเดินทางหายหรือถูกขโมยไปได้ โดยขณะนี้รัฐบาลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์กำลังอยู่ในระหว่างการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการนำไปใช้จริง แต่ Julie Bishop รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลียก็เน้นย้ำเกี่ยวกับประเด็นการรักษาความปลอดภัยที่อาจต้องมีการพัฒนามากกว่านี้ หากข้อมูลนักเดินทางทั้งหมดถูกเก็บไว้บนคลาวด์อนาคต

    นอกจากแนวคิดดังกล่าว สนามบินที่แอตแลนตา, ชิคาโก, ไมแอมี, ซานฟรานซิสโก และซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบแอพพลิเคชั่น Mobile Passport Control ที่ให้ผู้เดินทางส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดย QR Code จะถูกสแกนโดยเจ้าหน้าที่ประจำด่านศุลกากรและป้องกันชายแดน ซึ่งช่วยประหยัดเวลาขึ้นเครื่องไปได้มาก แต่ก็ยังต้องถือหนังสือเดินทางรูปเล่มอยู่ในตอนนี้

 ภาพถ่ายผ่านโดรน

    ไม้เซลฟี่คืออุปกรณ์เสริมสำหรับถ่ายภาพที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในปีนี้เราอาจเห็นโดรนถูกนักเดินทางนำมาใช้ถ่ายภาพมากยิ่งขึ้น เพราะมีแนวโน้มราคาถูกลงกว่าที่เคยและสามารถให้มุมมองที่แปลกตากว่าอุปกรณ์ใดๆ จะสามารถทำได้ นอกจากนี้ โดรนบางรุ่นยังสามารถออกคำสั่งให้บินตามผู้ใช้และคอยบันทึกภาพนิ่งกับวิดีโอเป็นระยะอีกด้วย

    อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่พิสมัยโดรน เพราะอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุบินชนนั่นนี่ หลายสถานที่ท่องเที่ยวในต่างประเทศจึงเริ่มออกกฎจำกัดปริมาณการใช้โดรนกันบ้างแล้ว ทางออกสำหรับช่างภาพมุมสูงจึงเป็นการหาโดรนตัวเล็กๆ สักตัวและฝึกบินให้คล่อง หัดหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางให้ดี แล้วภาพสวยๆ มุมแปลกๆ ก็จะตามมาเองครับ

 ห้องพักทางเลือก

    จุดเด่นของนักเดินทางรุ่นใหม่คือ ไม่จำเป็นต้องพักโรงแรมหรูหราราคาแพงแต่อย่างใด แต่เป็นการพักในสถานที่ทำให้ใกล้ชิดกับผู้คนท้องถิ่นเพื่อให้ได้ประสบการณ์แปลกใหม่และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม เหล่านี้จึงทำให้เกิดห้องพักทางเลือกมากมาย ทั้งแบบโฮมสเตย์ หรือการเช่าห้องว่างในบ้านของคนพื้นที่

    ปฏิเสธไม่ได้ว่า Airbnb คือผู้นำการจองห้องพักลักษณะดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่ว่าบริการจองโรงแรมอื่นจะปฏิเสธเทรนด์นี้ไปเลยเสียทีเดียว เพราะมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ต้องการห้องพักลักษณะนี้นอกเหนือจากห้องพักตามโรงแรมแบบเดิม โดยอาจใช้วิธีการจับมือเป็นพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการอื่น เช่น Kayak จับมือกับ HomeAway เพื่อแสดงผลห้องพักทางเลือกในผลการค้นหาของตน

ระบบอัตโนมัติ

    พนักงานต้อนรับของโรงแรมถือว่าเป็นด่านแรกในการสร้างความประทับใจแรกต่อผู้มาเยือน แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็อาจทำให้ในอนาคตการบริการทุกอย่างดำเนินไปโดยอัตโนมัติปราศจากการติดต่อกับพนักงาน ที่กล่าวแบบนี้ผมไม่ได้หมายความว่าจะมีการนำหุ่นกระป๋องมาหิ้วกระเป๋าให้นะครับ แต่ผมหมายถึงผู้เข้าพักจะสามารถเรียกใช้บริการของโรงแรมผ่านทางสมาร์ทโฟน


    เพราะขณะนี้เครือข่ายโรงแรมขนาดใหญ่อย่าง Marriott, Starwood, Hilton และ IHG กำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้เช็กอิน/เช็กเอาท์ออนไลน์ ร้องขอพนักงานทำความสะอาด ใช้มือถือปลดล็อกประตูผ่านเทคโนโลยี Internet of Things หรือควบคุมโทรทัศน์โดยไม่ต้องควานหารีโมทอีกต่อไป

สรุป

    การเดินทางถูกฝังอยู่ในสายเลือดของมนุษย์อยู่แล้ว และเทคโนโลยีปัจจุบันก็ช่วยให้การแพ็กกระเป๋าออกไปสู่โลกกว้างเป็นเรื่องง่ายขึ้นกว่าที่เคย ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟนที่ถูกนำมาใช้จองห้องพักออนไลน์และผู้ให้บริการสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เสนอโปรโมชั่นให้ตรงใจลูกค้าแต่ละคน การเดินทางข้ามประเทศที่อาจไม่ต้องมีหนังสือเดินทางรูปเล่มอีกต่อไปในอนาคต การถ่ายภาพทางอากาศผ่านโดรนช่วยกระตุ้นต่อมความอยากเดินทางของผู้ที่ได้รับชม การจองห้องพักทางเลือกสำหรับผู้มีงบจำกัด ขณะที่โรงแรมหรูหราก็กำลังคิดมอบประสบการณ์แปลกใหม่ด้วยการให้ผู้ใช้ร้องขอบริการและควบคุมอุปกรณ์ในห้องพักผ่านสมาร์ทโฟน ทั้งหมดนี้คือเทรนด์การท่องเที่ยวแห่งปี และในอนาคตอันใกล้ครับ

 สามารถติดตามเนื้อหาเพิ่มเติมได้ที่ นิตยสาร digital Age ฉบับที่ 207 หรือทาง http://www.digitalagemag.com/

ข้อมูลผู้เขียน

falcon_mach_v (สรนาถ รัตนโรจน์มงคล) จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 ชื่นชอบและติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็กและบ้าคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่จำความได้ แต่เนื่องจากชอบอ่านข่าวและบทความตามเว็บไซต์มากกว่านั่งเขียนโปรแกรมจึงได้ตัดสินใจเรียนด้านนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพรับราชการ และเป็นนักเขียนบทความไอทีอิสระให้กับสื่อต่างๆ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook